Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
หลงไปในประวัติศาสตร์ by หมอเอ้ว ชัชพล
•
ติดตาม
31 ม.ค. 2020 เวลา 11:00 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
เข้าใจโรคติดเชื้อผ่านทฤษฎีวิวัฒนาการ
ตอนที่ 3 เชื้อที่เปลี่ยนยุงเป็นซอมบี้
หมายเหตุ: เรื่องนี้เรียบเรียงขึ้นใหม่ จากหนังสือเหตุผลของธรรมชาติ ที่ผมเขียนไว้ในปี พ.ศ. 2554 ครับ
1.
โดยปกติเมื่อมนุษย์เราพูดถึงยุง เราจะนึกถึงสิ่งมีชีวิตที่มีขนาดเล็กแต่ร้ายกาจ เพราะยุงนอกจากจะกัดเจ็บแล้ว ยังเป็นพาหะนำโรคที่อันตรายมาสู่คนได้ด้วย
แต่น้อยคนจะรู้ว่า ยุงเองก็เป็นเหยื่อของสิ่งมีชีวิตอื่นด้วยเช่นกัน
และการเป็นเหยื่อของยุงต่อสิ่งมีชีวิตอื่นนี้
ยังมีผลกระทบมาถึง การเจ็บป่วยของมนุษย์ อีกด้วย
2.
ในมุมมองของยุง การที่ยุงจะกินเลือดเราตัวมันเองก็ต้องเสี่ยงชีวิตเช่นกัน
เมื่อยุงเจาะผ่านผิวหนังของเราลงไปได้ ไม่ใช่ว่ามันจะเจอเส้นเลือดในทันที หลายครั้งมันต้องใช้ปาก (จริงๆคืออวัยวะที่เรียกว่า proboscis ออกเสียงว่า โพร-บอส-ซิส) เข้าไปควานเพื่อหาเส้นเลือด ซึ่งช่วงเวลาที่มันกำลังควานหาเส้นเลือด ก็เป็นช่วงเวลาอันตรายที่ยุงอาจจะโดนตบตายคาที่ได้ง่ายๆ
ยิ่งควานนานเท่าไหร่ โอกาสที่จะตายยิ่งมีสูง ดังนั้นยุงต้องการที่จะดูดเลือดให้เร็วที่สุด แล้วรีบบินหนีจากไป
แต่ทันทีที่ปากของมันจะทะลุเส้นเลือดของมนุษย์ได้ ร่างกายของเราก็จะรับรู้ว่าบัดนี้ เส้นเลือดมีรอยแตกเกิดขึ้นแล้ว และตอบสนองอย่างรวดเร็ว
ตัวหลอดเลือดจะหลั่งสารเคมีบางอย่างออกมาเพื่อระดมเกล็ดเลือดให้เข้าอุดรอยรั่วนั้น
กลไกการแข็งตัวของเลือดก็จะเริ่มทำงาน เลือดที่ไหลเวียนในบริเวณนั้นจะค่อยๆหนืดขึ้นเรื่อยๆ เตรียมที่จะแข็งตัวเพื่อช่วยยับยั้งการเสียเลือดออกไปจากหลอดเลือด
การดูดเลือดของยุง จึงเป็นไปอย่างยากลำบากมากขึ้นเรื่อยๆ ยิ่งดูดช้าเลือดจะยิ่งหนืด ยิ่งเลือดหนืดการดูดก็จะยิ่งช้าลงไปอีก
อย่างไรก็ตามยุงเองก็มีกลไกที่วิวัฒนาการมารับมือภาวะเลือดหนืดนี้เช่นกัน
โดยยุงจะมีกลไกที่จะหลั่งสารเคมี (ชื่อ apyrase ออกเสียงว่า อะไพเรส) ซึ่งป้องกันไม่ให้เลือดของเราแข็งตัวออกมาเช่นกัน โดยสารเคมีนี้จะปนลงไปกับน้ำลายของยุง
การดูดเลือดของยุงในแต่ละครั้งจึงเหมือนเป็นสงครามเคมีระหว่างมนุษย์และยุง
แต่ก็มีหลายครั้งที่ ยุงควานหาเส้นเลือดไม่เจอ หรือ ดูดเลือดไม่ขึ้น จนต้องยอมถอดใจ แล้วบินหนีไปหาเหยื่อรายอื่น
แต่การถอดใจ แล้วบินหนีไปเช่นนี้ กลับเป็นที่ไม่พอใจของสิ่งมีชีวิตหนึ่ง
สิ่งมีชีวิตนั้นคือ ... เชื้อก่อโรคมาลาเรีย
3.
เชื้อที่ทําให้เกิดโรคไข้มาลาเรียหรือไข้ป่ามีชื่อวิทยาศาสตร์ว่าเชื้อ Plasmodium (อ่านว่า พลาส-โม- เดียม) แต่เพื่อความง่ายเราจะเรียกมันว่ามาลาเรียเฉยๆ
เชื้อที่ทําให้เกิดโรคมาลาเรียนี้ก็เป็นปรสิตชนิดหนึ่งที่ต้องย้ายบ้านไปมาเพื่อความอยู่รอดเช่นเดียวกับปรสิตอื่นๆ
เริ่มจากยุงก้นปล่องจะไปดูดเลือดจากคนที่ป่วยเป็นโรคมาลาเรีย (มีเชื้อในเลือด) เสียก่อน เมื่อเชื้อมาลาเรียเข้าไปในทางเดินอาหารของยุง มันก็จะใช้ทางเดินอาหารของยุงเป็นสถานที่สำหรับผสมพันธุ์เพิ่มจำนวนลูกหลาน
ตัวอ่อนของเชื้อมาลาเรียรุ่นลูกที่เกิดมา จะอพยพย้ายถิ่นออกจากทางเดินอาหาร จากนั้นจะเดินทางไปรวมตัวกันที่ต่อมน้ำลายของยุง
จากนั้นพวกมันก็จะรอ ....
เมื่อใดที่ยุงไปกัดมนุษย์แล้วปล่อยน้ำลายเข้าไปเพื่อป้องกันไม่ให้เลือดแข็งตัว เชื้อมาลาเรียก็จะถือโอกาสนี้ปนเข้าไปในเลือดของมนุษย์
เชื้อก่อโรคมาลาเรีย (พลาสโมเดียม) จะใช้ร่างกายมนุษย์เป็นที่เติบโตและเพิ่มจำนวน (โดยการแบ่งตัวแบบไม่อาศัยเพศ) เริ่มแรกมันต้องเดินทางจากเลือดไปที่ตับก่อน เพื่อเพิ่มจำนวน จากนั้นมันก็จะกลับเข้าสู่กระแสเลือดแล้วไปเพิ่มจำนวนในเม็ดเลือดแดงอีกรอบ (มีความซับซ้อนนิดนึง)
เมื่อขั้นตอนการเพิ่มจำนวนเสร็จสิ้น มันก็จะระเบิดเม็ดเลือดแดงออก และพร้อมจะกลับไปผสมพันธุ์ในทางเดินอาหารของยุงอีกครั้ง เพื่อเป็นการสิ้นสุดวงจรชีวิต
4.
ทั้งหมดนี้จะเห็นว่า การที่เชื้อพลาสโมเดียมจะเดินทางไปผสมพันธุ์ได้หรือไม่ ขึ้นกับยุงเป็นอย่างมาก
สิ่งที่เชื้อพลาสโมเดียมต้องการคือ ให้ยุงก้นปล่องมาดูดเลือดคนที่ป่วยเป็นโรคมาลาเรียเพื่อมันจะได้กลับเข้าไปสืบพันธุ์ในทางเดินอาหารของยุง
1
คำถามคือ มันจะเพิ่มโอกาสกลับไปอยู่ในทางเดินอาหารยุงได้อย่างไร ?
กลยุทธ์แรกที่เชื้อพลาสโมเดียมทำคือ มันจะสร้างสารเคมีบางอย่างออกมา ซึ่งมีผลให้คนที่ป่วยเป็นโรคมาลาเรียปล่อยกลิ่น(สารเคมี)บางอย่างออกจากผิว สารเคมีนี้จะดึงดูดให้ยุงอยากจะกัดคนนี้มากเป็นพิเศษ
กลยุทธ์ที่สองคือ เชื้อพลาสโมเดียมจะไปรบกวนกลไกการแข็งตัวของเลือดมนุษย์ ทำให้เมื่อยุงมาดูดเลือดคนที่ป่วยด้วยโรคมาลาเรีย จะสามารถดูดได้ลื่นหรือคล่องคอขึ้น ทำให้ยุงอยากดูดเลือดจากคนนี้นานขึ้น ไม่รีบถอดใจบินไปที่อื่น เชื้อพลาสโมเดียม จึงมีโอกาสหลุดเข้าไปอยู่ในทางเดินอาหารของยุงมากขึ้น
5.
เมื่อเชื้อพลาสโมเดียมเข้าไปในยุงได้สำเร็จ มันก็จะเริ่มต้นการผสมพันธุ์ แต่ขั้นตอนการผสมพันธุ์เพื่อมีลูก และรอให้ลูกเดินทางจากทางเดินอาหารไปฝังตัวที่ต่อมน้ำลายยุง จะกินเวลานานพอสมควร
ในช่วงเวลาที่เชื้อมาลาเรียยังไม่พร้อมนี้ ถ้ายุงเกิดบินไปดูดเลือดแล้วโดนตบตาย ความพยายามสืบพันธุ์ของเชื้อมาลาเรียก็จะสูญเปล่าไปหมด ดังนั้น เชื้อพลาสโมเดียมจะยอมให้ยุงทำเช่นนั้นไม่ได้ !!
ด้วยวิธีการบางอย่างซึ่งนักวิทยาศาสตร์ยังไม่เข้าใจมากนัก เชื้อพลาสโมเดียมสามารถที่จะทำให้ยุงเหล่านี้ หิวน้อยลง จึงออกหากินน้อยลง และเมื่อไปดูดเลือดแต่ละครั้ง ก็จะอิ่มเร็วกว่าปกติ ด้วยเหตุนี้ยุงจึงมีความเสี่ยงที่จะโดนตบตายน้อยลง
6.
แต่ความต้องการของเชื้อพลาสโมเดียมก็เปลี่ยนไปอีกครั้งเมื่อตัวอ่อนของมันเดินทางไปถึงต่อมน้ำลายและพร้อมจะไปเพิ่มจำนวนในร่างกายของมนุษย์
สิ่งที่เชื้อพลาสโมเดียมต้องการในตอนนี้คือ ให้ยุงออกไปดูดเลือดคนให้มากที่สุด ยิ่งจำนวนคนที่ดูดเยอะเท่าไหร่ โอกาสที่เชื้อพลาสโมเดียมจะแพร่กระจายไปในคนก็ยิ่งมาก โอกาสแพร่ขยายพันธุ์ก็จะยิ่งมาก
กลยุทธ์ที่เชื้อพลาสโมเดียมใช้ในขั้นตอนนี้คือ มันจะทำให้ยุงไม่สามารถหลั่งสารป้องกันการแข็งตัวของเลือด (apyrase) ออกมาได้มากนัก
ดังนั้นการดูดเลือดของยุงจะเป็นไปด้วยความยากลำบากเพราะเลือดจะหนืด ดูดได้ยาก ยุงจึงถอดใจบินจากไปหาเหยื่อรายใหม่ตั้งแต่ยังไม่อิ่ม ผลคือ ยุงต้องไปดูดเลือดจากคนเป็นจำนวนมาก
เชื้อพลาสโมเดียม จึงแพร่กระจายไปสู่คนจำนวนมากเช่นกัน
ทั้งหมดนี้จะเห็นได้ว่า โรคมาลาเรียที่มนุษย์กลัวกันและโทษว่าตัวการทำให้ระบาดคือยุงก้นปล่องนั้น จริงๆแล้ว เป็นเชื้อพลาสโมเดียมที่อยู่เบื้องหลังและบงการทุกอย่าง
ยุงก้นปล่องเป็นแค่พาหะ ที่เชื้อพลาสโมเดียมใช้งานแล้วทิ้งไปเท่านั้นเอง
หลังจากที่เราคุยตัวอย่างของ ปรสิตควบคุมสิ่งมีชีวิตอื่นๆไปแล้ว ในตอนหน้าเราจะไปดูว่า สิ่งมีชีวิตอื่นเข้าควบคุมพฤติกรรมของมนุษย์อย่างไรบ้าง
หรือถ้าจะพูดให้จำเพาะกว่านั้นคือ ไวรัส เข้าควบคุมและใช้งานมนุษย์อย่างไรบ้าง ?
(ปิดท้ายด้วยโฆษณา)
สนใจเกี่ยวกับประวัติศาสตร์และวิวัฒนาการของโรคติดเชื้อ แนะนำหนังสือ Bestseller ของผมเอง 2 เล่ม เหตุผลของธรรมชาติ และ สงครามที่ไม่มีวันชนะ
สามารถสั่งซื้อได้จากลิงก์
https://www.lazada.co.th/shop/chatchapolbook/
หรือ
https://shopee.co.th/cthada
อ่านบทความประวัติศาสตร์อื่นๆเพิ่มเติมได้ที่
https://www.facebook.com/HistorybyChatchapol
อ่านบทความวิทยาศาสตร์และการแพทย์ได้ที่
https://www.facebook.com/ChatchapolBook/
คลิปวีดีโอเกี่ยวกับประวัติศาสตร์
https://www.youtube.com/chatchapolbook
เพิ่งเริ่มทำนะครับ ช้านิดแต่จะมีคลิปใหม่ๆตามมาอีกแน่นอน
59 บันทึก
313
33
55
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
โรคระบาด
เข้าใจโรคติดเชื้อผ่านทฤษฎีวิวัฒนาการ
59
313
33
55
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย