1 ก.พ. 2020 เวลา 11:32 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
เข้าใจโรคติดเชื้อ ผ่านทฤษฎีวิวัฒนาการ
ตอนที่ 4 เชื้อโรคที่ควบคุมมนุษย์
หมายเหตุ: เรื่องนี้เรียบเรียงขึ้นใหม่ จากหนังสือเหตุผลของธรรมชาติ ที่ผมเขียนไว้ในปี พ.ศ. 2554 ครับ
1.
เป็นเวลานับพันๆปีมาแล้วที่มนุษย์เรารู้จักกับพยาธิชนิดหนึ่ง ซึ่งปัจจุบันมีชื่อว่า Dracunculus medinensis หรือในชื่อที่รู้จักกันทั่วไปว่า Guinea worm (พยาธิกินี)
พยาธิ Guinea (ภาพจาก wikipedia)
พยาธิชนิดนี้จะพบมากใน ดินแดนที่แห้งแล้งของทวีปแอฟริกา
พยาธินี้ก็เหมือนพยาธิทั่วไป คือต้องย้ายบ้านไปเรื่อยๆ ระหว่างที่กําลังเติบโต
โดยเริ่มแรกพยาธิกินีจะไปใช้ชีวิตอยู่ในสิ่งมีชีวิตที่มีขนาดเล็กมากจนแทบจะมองไม่เห็นด้วยตาเปล่าซึ่งมีชื่อเรียกว่า copepod (อ่านว่า โค-พี-พอด มันคือสิ่งมีชีวิตเล็กๆที่เรานิยมเรียกรวมๆในภาษาทั่วไปว่าไรน้ํา)
แก๊งค์ copepod (ภาพจาก wikipedia)
เมื่อคนดื่มน้ําเข้าไปก็จะ ดื่มไรน้ําที่มีตัวอ่อนพยาธิเข้าไปโดยไม่รู้ตัว
2.
เมื่อ copepod เข้าไปถึงกระเพาะอาหารมันจะโดนกรดในกระเพาะย่อยสลาย
กรดสามารถทําลาย copepod ได้แต่ไม่สามารถทําลายตัวพยาธิกินีได้ ดังนั้นตัวอ่อนของพยาธิจึงเป็นอิสระ และเดินทางไป ที่ลําไส้
ที่ลําไส้ตัวอ่อนของพยาธิจะไชเจาะทะลุผนังลำไส้เข้าไปยังช่องว่างในท้อง และในช่องท้องนี้มันจะค่อยๆ เติบโตจนพร้อมจะผสมพันธุ์
หลังจากผสมพันธุ์ตัวผู้ก็จะตายไป ส่วนตัวเมียที่มีตัวอ่อนอยู่ในท่องก็จะออกเดินทางอีกรอบ ครั้งนี้มันจะมุ่งใต้ ค่อยๆ ลัดเลาะลงไปที่ขา
ระยะเวลาที่พยาธิกินีใช้ในการหาคู่และเดินทางไปที่ขานั้น จะกินเวลานานประมาณหนึ่งปี ดังนั้นช่วงเวลานี้มันต้องทําตัวให้เงียบที่สุด คือไม่ให้ระบบภูมิคุ้มกันของเรารู้ว่ามันมาซ่อนตัวอยู่ภายในร่างกาย ไม่เช่นนั้นมันจะโดนโจมตีจากระบบภูมิคุ้มกันได้
คำถามที่น่าสนใจคือ มันจะเดินทางไปที่ขาเพื่ออะไร ?
3.
เป้าหมายถัดไปที่ พยาธิกินีต้องทำคือ หาทางส่งลูกกลับเข้าไปเติบโตในตัว copepod
แต่พยาธิที่อยู่ในขาของมนุษย์ จะกลับไปหาตัว copepod ที่อยู่ในน้ำได้อย่างไร ? (มนุษย์คิดกันออกไหม ?)
เมื่อพยาธิกินี เดินทางมาถึงบริเวณขา มันจะเริ่มไชขึ้นมาคืบคลานในบริเวณตื้นๆใกล้ผิวหนัง ซึ่งอาจจะทำให้เห็นเป็นรอยนูนยาวหรือเป็นแผลที่ผิวหนังได้
จากนั้นมันจะปล่อยตัวอ่อนออกมาจำนวนหนึ่ง
ตัวอ่อนของพยาธิกินีที่ออกมาชุดแรกนี้ จะทําสิ่งตรงข้ามกับที่พ่อแม่ของพวกมันทํา คือจะไม่พยายามหลบซ่อนตัวเองจากภูมิคุ้มกันของมนุษย์ แต่จะแสดงตัวเหมือนอยากให้เซลล์ในระบบภูมิคุ้มกันเข้าไปทําร้ายมัน
มันทำเช่นนั้นเพื่ออะไร ?
เมื่อภูมิคุ้มกันของร่างกายเราเขาไปรุมสู้กับพยาธิ ก็จะเกิดภาวะที่เราเรียกว่า การอักเสบขึ้น
อาการอักเสบจากพยาธินี้จะรุนแรงคือผิวหนัง บวมแดง พุพอง ปวดแสบปวดร้อนอย่างแสนสาหัส
วิธีบรรเทาอาการง่ายที่สุดคนมนุษย์ทำกันมานานเป็นร้อยๆ พันๆ ปี (หรือนานกว่านั้น) เพื่อบรรเทาอาการคือ การเอาขาไปจุ่มน้ําเย็นๆ
และนั่นคือสิ่งที่พยาธิกีนีรออยู่
1
พยาธิกีนีมีกลไกที่สามารถที่จะรับรู้ได้ว่า บัดนี้ขาถูกแช่ในน้ําเย็นแล้ว ปฎิกริยาตอบสนองที่พยาธิตัวแม่ทำคือ จะไชทะลุผิวหนังออกมา แล้วปล่อยตัวอ่อนจำนวนมากออกมาในแหล่งน้ำแห่งนั้น
ตัวอ่อนของพยาธิกินีก็จะรอเวลา เพื่อที่จะไปเริ่มต้นวงชีวิตในตัวไรน้ำอีกครั้งหนึ่ง
4.
ในหลายวัฒนธรรมทั่วโลกจะมีเรื่องเล่าหรือนิยายปรําปราเกี่ยวกับสัตว์ร้ายหรือปีศาจที่สามารถเปลี่ยนมนุษย์ให้กลายเป็นปีศาจด้วยการกัด ดูดเลือด หรือให้กินน้ำลาย เช่น มนุษย์หมาป่า ผีดิบดูดเลือด ซอมบี้ และผีปอบ
เรื่องเหล่านี้แม้ไม่ใช่เรื่องจริงแต่ในโลกความเป็นจริง ก็มีภาวะติดเชื้อบางอย่างที่ที่พอจะใกล้เคียงตำนานเหล่านี้อยู่บ้าง
5.
โรคติดเชื้อไวรัสชนิดหนึ่งที่เราคุ้นเคยกันดีคือ โรคพิษสุนัขบ้า ซึ่งเกิดจากเชื้อไวรัสที่มีชื่อเรียกว่า Rabies virus (อ่านว่า เร-บีส์)
แสดงโครงสร้าง Rabies virus (ภาพจาก wikipedia)
แม้ว่าจะชื่อพิษสุนัขบ้า แต่โรคนี้ไม่จำเป็นต้องเกิดจากสุนัขกัดแต่เพียงอย่างเดียว สัตว์ที่เป็นพาหะของไวรัสนี้มีมากมาย แต่ที่พบนำโรคมาสู่คนบ่อยก็ เช่น แมว ค้างคาว เป็นต้น
เมื่อไวรัสเรบีส์เข้าไปในร่างกายมนุษย์ได้แล้ว สิ่งที่ไวรัสจะทำเป็นอันดับแรกคือการเดินทางไปที่ต่อมน้ำลาย แล้วกระตุ้นให้ต่อมน้ำลายทำงานเพิ่มขึ้น
1
นอกจากนี้การอักเสบของต่อมน้ำลายจากเชื้อไวรัส ยังทำให้ผู้ป่วยรู้สึกเจ็บอย่างรุนแรงเวลากลืน โดยเฉพาะการกลืนของเหลว ซึ่งก็รวมไปถึงการกลืนน้ำลายด้วย ด้วยเหตุนี้สัตว์และมนุษย์ที่ป่วยจะแสดงท่าทางกลัวเมื่อมีใครยืนน้ำให้ดื่ม
ผลของการที่ไวรัสแบ่งตัวที่ต่อมน้ำลาย + น้ำลายเพิ่มขึ้น + กลืนน้ำลายไม่ได้ คือ
น้ำลายที่เต็มไปด้วยไวรัส ฟูมเป็นฟองเต็มปาก
6.
ไวรัสอีกทีมจะแยกเดินทางขึ้นไปที่สมองเพื่อทำภารกิจที่ต่างไป
ไวรัสทีมนี้จะขึ้นไปเปลี่ยนสารเคมีบางอย่างในสมอง ทำให้สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทั้งหลาย รวมถึงมนุษย์มีอาการตื่นเต้นง่าย ขาดสติและดุร้ายมากขึ้น
พฤติกรรมที่จะเกิดขึ้นตามมาคือ สัตว์หรือมนุษย์ที่ป่วย จะดุร้าย อาละวาด และ กัด
น้ำลายที่เต็มไปด้วยไวรัสก็จะถูกส่งต่อเข้าไปในบาดแผลของเหยื่อที่โดนกัด ทำให้ไวรัสสามารถแพร่กระจายไปยังเหยื่อรายใหม่ได้
ไวรัสจึงสามารถแพร่กระจายและส่งต่อพันธุกรรมไปได้กว้างไกลขึ้นเช่นนี้
7.
ใน 4 ตอนที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ T.gondii ที่ทำให้หนูไม่กลัวแมวในตอนที่ 1 พยาธิ Dicrocoelium ที่ทำให้มดเป็นซอมบี้ยืนรอความตายในตอนที่ 2 เชื้อมาลาเรียที่เปลี่ยนยุงให้เป็นซอมบี้ทำตามที่มันต้องการในตอนที่ 3 และ พยาธิกินีกับไวรัส Rabies ในตอนนี้
1
ทั้งหมดจะมีธีมหรือ โครงเรื่องที่คล้ายกันคือ ปรสิตเปลี่ยนพฤติกรรมเจ้าบ้าน (เหยื่อ) เพื่อประโยชน์ในการส่งต่อพันธุกรรมของปรสิต
ถ้ามองในแง่ความสัมพันธ์ระหว่างระหว่างสิ่งมีชีวิตทั้งสอง เรื่องที่เราคุยกันมาทั้งหมดจะมีลักษณะของฝ่ายหนึ่งได้ประโยชน์ อีกฝ่ายเสียประโยชน์
หรืออาจจะพูดได้ว่า อาการป่วยของเจ้าบ้าน เกิดขึ้นจากฝ่ายรุกรานสร้างความเสียหายให้กับเจ้าของบ้าน
3
แต่อาการป่วยไม่ได้เกิดจากฝ่ายหนึ่งทำร้ายอีกฝั่งเสมอไป
ดังที่เราจะได้เห็นกันในตอนหน้าครับ ...
(ปิดท้ายด้วยโฆษณา)
สนใจเกี่ยวกับประวัติศาสตร์และวิวัฒนาการของโรคติดเชื้อ แนะนำหนังสือ Bestseller ของผมเอง 2 เล่ม เหตุผลของธรรมชาติ และ สงครามที่ไม่มีวันชนะ
สามารถสั่งซื้อได้จากลิงก์
อ่านบทความประวัติศาสตร์อื่นๆเพิ่มเติมได้ที่
อ่านบทความวิทยาศาสตร์และการแพทย์ได้ที่
คลิปวีดีโอเกี่ยวกับประวัติศาสตร์
เพิ่งเริ่มทำนะครับ ช้านิดแต่จะมีคลิปใหม่ๆตามมาอีกแน่นอน
โฆษณา