เข้าใจโรคติดเชื้อผ่านทฤษฏีวิวัฒนาการ
ตอนที่ 5 ทำไมเรามีไข้เมื่อติดเชื้อ
หมายเหตุ เรื่องนี้เรียบเรียงขึ้นใหม่ จากหนังสือเหตุผลของธรรมชาติ ที่ผมเขียนไว้ในปี พ.ศ. 2554 ครับ
1.
ทุกคนรู้จักไข้ดี
มันคือสภาวะที่อุณหภูมิของร่างกายเราสูงกว่าปกติ
แต่ไข้ที่เราคุ้นเคยดีนั้น มีความน่าสนใจให้ชวนสงสัยอยู่หลายข้อด้วยกัน
เมื่อเทียบ ตัวร้อนจากไข้ กับสภาวะอื่นที่อุณหภูมิของร่างกายสูงกว่าปกติ เช่น ตัวร้อนจากการออกกำลังกาย เราจะเห็นความต่างที่น่าสนใจหลายข้อด้วยกัน
1
เวลาเราตัวร้อนจากการออกกำลังกายเราจะรู้สึกอยากถอดเสื้อ ตากพัดลม อยากนอนแผ่กางแขนกางขาอยู่กับพื้น (การนอนท่านี้จะช่วยเพิ่มพื้นที่ผิวให้ร่างกายระบายความร้อนออกได้ดี) ดื่มน้ำเย็นๆ
แต่ถ้าเราตัวร้อนจากการมีไข้ เราจะรู้สึกหนาว เราจะอยากปิดแอร์ปิดพัดลม เราจะรู้สึกอยากเอาผ้ามาห่ม อยากนอนขดตัว (การนอนท่านี้ช่วยลดพื้นที่ผิวที่จะเสียความร้อนออกจากตัว) เราอยากดื่มน้ำอุ่นๆ
ทั้งสองกรณีคือ การที่ร่างกายมีอุณหภูมิสูงขึ้น แต่ทำไมร่างกายและสมองจึงตอบสนองต่างกันไป กรณีแรก สมองอยากให้เราระบายความร้อนออก กรณีที่สอง สมองอยากให้เราสะสมความร้อนไว้กับตัว
ตัวร้อนเหมือนกัน แต่การตอบสนองของร่างกายต่างกัน
และไม่เพียงเท่านี้ การป่วยเป็นไข้บางครั้งอาจมีอาการหนาวสั่นร่วมด้วย ซึ่งการหนาวสั่น จริงๆมันก็คือการทำงานของกล้ามเนื้อที่เพิ่มขึ้น ดังนั้นเมื่อกล้ามเนื้อทำงานเพิ่มขึ้น อุณหภูมิในร่างกายก็ยิ่งร้อนขึ้นไปอีก เหมือนว่าสมองต้องการให้เราตัวร้อนขึ้นไปอีกทั้งๆที่ตัวเราก็ร้อนอยู่แล้ว
ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น ?
ประมาณสัก 130 ปีที่แล้ว เคยมีคนตั้งคำถามนี้
และเพราะคำถามนี้สุดท้าย ก็ส่งผลให้เขาได้รับรางวัลโนเบลในเวลาต่อมา
2.
เมื่อ 130 ปีที่แล้ว อาการป่วยที่เรียกว่าโรคจิตยังเป็นโรคที่ไม่มีใครรู้ว่าเกิดจากอะไร
ความคิดที่ว่าสมองซึ่งเป็นของที่จับต้องได้ เป็นรูปธรรม จะเป็นสาเหตุของอาการทางจิตซึ่งเป็นสิ่งที่จับต้องไม่ได้ ยังเป็นความคิดที่ยังไม่ได้รับการยอมรับทั่วไป นักวิทยาศาสตร์จำนวนมากยังมองว่า กายกับใจแยกเป็นคนละส่วนอย่างชัดเจน
เมื่อความรู้เกี่ยวกับโรคจิตยังมีไม่มากนัก โรคจิตหลายๆโรคที่ทุกวันนี้เรารู้ว่ามีสาเหตุทางสมองที่ต่างกัน จึงถูกเหมารวมเข้าเป็นโรคเดียวกัน
และเมื่อเราไม่เข้าใจกลไกของการเกิดโรค การรักษาจึงไม่ตรงกับสาเหตุและไม่ได้ผลดีนัก
โรงพยาบาลโรคจิตแต่ละที่จึงเป็นเหมือนสถานที่ซึ่งญาตินำคนป่วยโรคจิต (ที่ดูแลไม่ไหวแล้ว) มาขังรวมกันไว้เฉยๆ
mental asylum ก่อนที่วงการแพทย์จะเข้าใจเกี่ยวกับโรคจิต
จวบจนกระทั่งวันหนึ่ง....
3.
วันที่ 28 มีนาคม คศ. 1883 ที่เมืองเวียนนา ประเทศออสเตรีย
ผู้ป่วยโรคจิตขั้นรุนแรงคนหนึ่ง ของหมอ ยูเลียส วากนาร์ ยอเร็กก์ (Julius Wagner-Jauregg) เกิดป่วยแทรกซ้อนด้วยการติดเชื้อที่ผิวหนัง ภาวะติดเชื้อนี้เริ่มต้นเล็กๆ แต่ลุกลามไปอย่างรวดเร็วจนกลายเป็นติดเชื้อในกระแสเลือด ผู้ป่วยจึงมีอาการไข้สูง หนาวสั่นขึ้น
แต่แล้วความแปลกอย่างหนึ่งก็เกิดขึ้น อาการป่วยทางจิตที่เป็นหนักขนาดที่ไม่สามารถสื่อสารกับคนรอบข้างได้ก็ดีขึ้น เขากลับมาสื่อสาร พูดคุยกับคนรอบข้างได้อย่างน่าประหลาดใจ
หมอยอเร็กก์ ไม่รู้ว่าอะไรที่ทำให้ผู้ป่วยอาการดีขึ้นอย่างน่าอัศจรรย์นี้
ปัจจัยเดียวที่เปลี่ยนไปอย่างเห็นได้ชัดคือ การติดเชื้อที่ผิวหนังและมีไข้ เขาจึงอดสงสัยไม่ได้ว่าอาการทางจิตที่ดีขึ้นนี้ เกี่ยวข้องกับการติดเชื้อและมีไข้นี้หรือไม่?
เป็นไปได้ไหมว่า ไข้ จะทำให้อาการป่วยทางจิตดีขึ้น ? หรือว่าจริงๆแล้วไม่ได้เกี่ยวข้องกัน เป็นแค่เหตุการณ์สองเหตุการณ์ที่บังเอิญเกิดขึ้นพร้อมกันเท่านั้น
หมอยอเร็ก เริ่มต้นหาคำตอบ ด้วยการไปค้นรายงานทางการแพทย์เก่าๆ ว่าเคยมีใครเขียนถึงปรากฎการณ์ที่คล้ายกันนี้บ้างหรือไม่
แล้วเขาก็พบว่าเขาไม่ใช่คนแรกที่เคยพบปรากฎการณ์ที่แปลกประหลาดนี้ ก่อนหน้ามีหมอจำนวนไม่น้อยที่สังเกตเห็นปรากฎการณ์ที่คล้ายกัน คือ อาการทางจิตของผู้ป่วยดีขึ้น เพียงแต่ว่า สิ่งที่ทำให้ผู้ป่วยมีอาการทางจิตดีขึ้นไม่จำเป็นว่าต้องเป็นการติดเชื้อทางผิวหนังเสมอไป
ในรายงานต่างๆมีการเขียนถึงการป่วยด้วยโรคติดเชื้ออื่นๆที่ทำให้อาการทางจิตดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็น ไข้จากโรค ไทฟอยด์ มาลาเรีย หรือโรคไข้สการ์เลต (Scarlet fever เป็นโรคติดเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่ง)
ที่น่าสนใจไปกว่านั้นคือ ผู้ป่วยส่วนใหญ่อาการทางจิตดีขึ้นชั่วคราว เมื่อไข้หายไปอาการทางจิตก็กลับคืนมาเหมือนเดิม แต่ก็มีบ้างที่อาการทางจิตดีขึ้นถาวรแม้ว่าอาการไข้จะหายไปแล้ว
หมอยอเร็กก์ จึงเชื่อว่า อาการไข้ตัวร้อนน่าจะเป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้อาการทางจิตดีขึ้น โดยไม่ขึ้นกับว่าไข้นั้นจะเกิดจากการติดเชื้ออะไร หรือติดเชื้อที่อวัยวะไหน เขาจึงคิดว่านี่อาจจะเป็นวิธีใหม่ที่สามารถใช้รักษาผู้ป่วยโรคจิตได้
4.
หลายปีผ่านไป เขาต้องผิดหวังซ้ำแล้วซ้ำเล่ากับการทดลองรักษาผู้ป่วยโรคจิตด้วยการทำให้มีไข้
วิธีการที่เขาใช้เพื่อทำให้มีไข้นั้นจะวนเวียนอยู่กับการนำเชื้อแบคทีเรียไปฉีดให้ผู้ป่วยเพื่อให้มีไข้จากภาวะติดเชื้อ
ในยุคสมัยที่ยังไม่มียาปฏิชีวนะ วิธีการเช่นนี้เป็นวิธีการที่เสี่ยง (และผิดจริยธรรมในมาตรฐานปัจจุบัน) เป็นอย่างมาก เพราะไม่สามารถคาดเดาได้เลยว่า ภาวะติดเชื้อนั้นจะลามไปมากน้อยแค่ไหน แม้ว่าในเวลาต่อมา เขาเปลี่ยนจากการฉีดเชื้อแบคทีเรียโดยตรง มาเป็นใช้วัคซีนในการทำให้เกิดไข้ แต่ผลการรักษาก็ไม่ได้ผลดีอย่างที่คาดหวังไว้ มีเพียงผู้ป่วยจำนวนน้อยมากเท่านั้นที่อาการทางจิตดีขึ้นระหว่างที่มีไข้
อย่างไรก็ตามในความผิดหวังครั้งแล้วครั้งเล่านั้น เขาก็พอจะเห็นความหวังอยู่บ้างรำไร เพราะอย่างน้อยก็มีผู้ป่วยจำนวนหนึ่งที่อาการดีขึ้น
คำถามที่เขาต้องถามตัวเองคือ ผู้ป่วยเหล่านี้มีอะไรที่ต่างไปจากคนอื่น ? ทำไมพวกเขาจึงมีอาการดีขึ้นระหว่างที่มีไข้ ?
และเพื่อพยายามจะตอบคำถามนี้ ในที่สุด หมอยอเร็กก์ ก็มาถึงข้อสรุปที่ว่า ในผู้ป่วยที่หมอวินิจฉัยว่าเป็นโรคจิตทั้งหลายนั้น จริงๆแล้วเป็นโรคที่ต่างกันจึงตอบสนองต่อการรักษาต่างกัน มีเพียงโรคจิตบางประเภทเท่านั้นที่การรักษานี้ได้ผล
ถ้าสามารถวินิจฉัยแยกโรคที่ตอบสนองต่อการรักษาออกมาได้ ก็อาจจะค้นพบว่าผู้ป่วยคนไหนบ้างที่จะได้ประโยชน์จากการรักษาด้วยการทำให้มีไข้
และด้วยความคิดนี้ หลังจากนั้นไม่นานหมอยอเร็กก์ ก็ค้นพบว่าผู้ป่วยจะต้องมีอาการหรือประวัติการเจ็บป่วยแบบไหน ที่จะได้รับประโยชน์จากการรักษาด้วยวิธีการนี้ เขาเรียกโรคจิตกลุ่มนี้ว่า General Paralysis of the Insane หรือเรียกย่อๆว่า GPI (ไม่ต้องสนใจชื่อนี้ก็ได้ครับ เพราะเป็นคำโบราณที่ปัจจุบันไม่ใช้แล้ว เดี๋ยวจะอธิบายว่าทำไม)
ในตอนนั้นยังไม่มีใครรู้ว่าโรคจิต GPI เกิดจากอะไร รู้แต่เพียงว่าโรคนี้ผู้ป่วยจะมีอาการคุ้มคลั่ง ร่วมไปกับความจำเสื่อม มีอาการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อ และมีอาการชักเป็นระยะ ซึ่งผู้ป่วยส่วนใหญ่จะเสียชีวิตในเวลาไม่นานนักและไม่มีวิธีการรักษาที่จำเพาะใดๆทั้งสิ้น
เมื่อหมอยอเรกก์เลือกรักษาเฉพาะผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็น GPI โดยวิธีการทำให้เกิดไข้นั้น เขาเลือกที่จะใช้เชื้อก่อโรคมาลาเรียเพราะเป็นโรคที่ทำให้มีไข้สูงมาก ไข้สูงเป็นระลอกและสามารถให้การรักษาได้ง่ายด้วยยาควินีน (ในยุคนั้นยังไม่มีเชื้อดื้อยา)
รักษาด้วยไข้หรือ pyrotherapy โดยนำเลือดที่มีเชื้อมาลาเรียฉีดให้ผู้ป่วย
คราวนี้ผลการรักษาเป็นที่น่าพอใจอย่างยิ่ง ผู้ป่วยโรค GPI จำนวน 1ใน 3 ตอบสนองดีต่อการรักษา และมีหลายคนที่อาการป่วยหายขาด
หมอยอเรกก์เองก็ไม่รู้ว่าอะไรคือเหตุผลที่อยู่เบื้องหลังของการรักษานี้ เขาเดาว่าภาวะไข้อาจจะไปกระตุ้นระบบอะไรบางอย่างในร่างกาย
ซึ่งการที่เขาไม่รู้เป็นเรื่องที่ไม่น่าแปลกใจ เพราะในยุคนั้นทฤษฎีที่ว่าเชื้อโรคที่เล็กขนาดมองด้วยตาเปล่าไม่เห็นจะทำให้เกิดโรคได้ยังไม่เป็นที่ยอมรับแพร่หลาย ยุคนั้นยังไม่รู้จักระบบภูมิคุ้มกันเสียด้วยซ้ำ
อย่างไรก็ตามแม้ว่าจะไม่มีใครรู้กลไกที่อยู่เบื้องหลัง แต่การค้นพบวิธีรักษานี้ก็ช่วยให้โรคที่ผู้ป่วยตายเกือบ 100% กลายเป็นโรคที่รักษาหายได้ขึ้นมาและด้วยเหตุนี้เองที่ทำให้หมอ Jauregg ได้รับรางวัลโนเบลสาขาการแพทย์ในปี คศ.1927
5.
ในช่วงเวลาที่ไล่เลี่ยกับที่หมอยอเรกก์ค้นพบว่าไข้สามารถใช้รักษาโรค GPI ได้นั้น หมอชาวญี่ปุ่น ฮิเดโยะ โนงูจิ ก็สามารถพิสูจน์ให้เห็นว่าโรค GPI นั้น จริงๆแล้วก็คือ การติดเชื้อก่อโรคซิฟิลิสที่สมองนั่นเอง
การ์ตูน หมอโนงูจิ
ดังนั้นโรคจิต GPI จึงไม่ใช่โรคจิตเวชในแบบที่เรารู้จักกันในปัจจุบัน แต่เป็นโรคติดเชื้อประเภทหนึ่ง
การรักษาด้วยไข้ จึงไม่ใช่การรักษาโรคทางจิต แต่เป็นการรักษาโรคติดเชื้อ
หมอยอเรกก์เสียชีวิตในปีค.ศ. 1940 ขณะที่มีอายุได้ แปดสิบสี่ หลังจากเขาเสียชีวิตได้ไม่นานนัก ก็มีการนำเพนนิซิลลินมาใช้รักษาโรคซิฟิลิสเป็นครั้งแรก การรักษาที่หมอยอเรกก์ ค้นพบจึงถูกเลิกใช้ไปอย่างถาวร แล้วความสนใจเกี่ยวกับไข้ที่สามารถรักษาโรคได้ก็ถูกลบเลือนหายไปกับกาลเวลา
จนกระทั่ง ....
6.
ประมาณ​ปีคศ. 1970 Matt Kluger นักวิทยาศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยมิชิแกน ก็เกิดสนใจอยากเข้าใจเกี่ยวกับภาวะไข้ว่ามันคืออะไรและมีหน้าที่อะไรในร่างกาย
วิธีการทดลองที่เรียบง่ายแต่คลาสสิกของคลูเกอร์ คือการนำตัวอีกัวน่าทะเลทรายมาหลายๆตัวแล้วฉีดเชื้อแบคทีเรียเข้าไปเพื่อให้อีกัวน่าป่วย
ด้วยความที่กิ้งก่าอีกัวน่าเป็นสัตว์เลือดเย็น ร่างกายมันจึงไม่สามารถทำให้เกิดไข้ขึ้นมาได้เอง ในธรรมชาติกิ้งก่าจะทำให้อุณหภูมิร่างกายร้อนขึ้นด้วยการตากแดดและหลบเข้าร่มเมื่อร่างกายร้อนเกินไป
สัตว์เลือดเย็นอย่างอิกัวน่าต้องตากแดดเพื่อเพิ่มอุณหภูมิร่างกาย
ศาสตราจารย์คลูเกอร์ จึงใช้ความจริงข้อนี้ในการทดลอง คือ เขานำอีกัวน่าที่ได้รับเชื้อแบคทีเรียแต่ละตัวไปวางไว้ในตู้ที่มีอุณหภูมิต่างๆกัน ตั้งแต่ 34 องศาเซลเซียสไปจนถึง 42 องศาเซลเซียส จากนั้นก็รอดูผลอย่างใจจดใจจ่อ
สามวันผ่านไป สิ่งที่เขาพบคือ กลุ่มที่อยู่ในตู้ 42 องศาเซลเซียส (มีไข้) รอดตายเกือบทั้งหมด กลุ่มที่อยู่ในตู้ที่อุณหภูมิรองๆลงไปรอดตายลดลงไปตามอุณหภูมิที่ลดลง และกลุ่มที่ต้องอยู่ในตู้ที่เย็นที่สุด ตายจากการติดเชื้อเกือบทั้งหมด
การศึกษาของคลูเกอร์จึงพิสูจน์ให้เห็นว่ากิ้งก่าอีกัวน่า ที่มีไข้สูงจะสามารถต่อสู้กับภาวะติดเชื้อได้ดีที่สุด
การทดลองในระยะต่อๆมาโดยนักวิทยาศาสตร์หลายๆคน พบว่าไม่เพียงแต่กิ้งก่าอีกัวน่าเท่านั้น แต่สัตว์เลือดเย็นอื่นๆก็จะมีวิธีการ (สัญชาตญาน) ที่จะเพิ่มอุณหภูมิของร่างกายเมื่อมีภาวะติดเชื้อ
เช่นเมื่อเราทำให้ปลาไม่สบายมันจะว่ายไปอยู่ในบริเวณน้ำอุ่น เมื่อผีเสื้อป่วยด้วยโรคติดเชื้อจะเพิ่มการขยับปีกเพื่อให้อุณหภูมิร่างกายสูงขึ้น ส่วนตั๊กแตนที่ป่วยก็จะไปยืนตากแดดนานกว่าปกติ
สำหรับในสัตว์เลือดอุ่นที่สามารถเพิ่มอุณหภูมิของร่างกายได้เอง เมื่อมีภาวะติดเชื้อจะมีไข้ คำถามที่นักวิทยาศาสตร์สนใจศึกษาคือ ถ้าเราไปยับยั้งไม่ให้สัตว์มีไข้ขณะติดเชื้อ จะมีผลเสียเกิดขึ้นบ้างไหม ?
การทดลองในกระต่ายและในแพะ เมื่อทำให้เกิดภาวะติดเชื้อค่อนข้างรุนแรง แล้วให้ยาลดไข้เพื่อกดไม่ให้มีไข้ พบว่าโอกาสที่จะตายจากภาวะติดเชื้อมีมากกว่าการปล่อยให้มีไข้ตามธรรมชาติ
7.
ฟังดูเผินๆ เหมือนกับว่า การมีไข้มีแต่ข้อดี แต่ในความเป็นจริงแล้ว ในสภาวะที่อุณภูมิร่างกายสูงก็อาจจะมีผลเสียหลายๆอย่างซ่อนอยู่ (ไม่อย่างนั้นร่างกายเราก็คงวิวัฒนาการให้มีอุณหภูมิที่สูงกว่านี้ไปแล้ว) เช่น อุณหภูมิของร่างกายที่สูงไปอาจมีผลให้ภูมิคุ้มกันมีแนวโน้มจะทำงานมากเกินไป อุณหภูมิของร่างกายที่สูงไปมีผลเสียต่อการทำงานของสมอง
แต่ในสภาวะติดเชื้อการปล่อยให้ร่างกายมีอุณหภูมิที่สูงขึ้นชั่วคราวอาจมีประโยชน์เกินข้อเสีย กลไกของการมีไข้นี้จึงถูกคัดเลือกมา
คำถามที่หลายท่านอาจจะกำลังสงสัยคือ ถ้าเช่นนั้นเวลามีไข้เราไม่ควรจะกินยาลดไข้หรือไม่ ?
2
คำตอบจริงๆคือ สำหรับโลกปัจจุบัน คงไม่มีผลต่างกันมากนัก หรือถ้าการกินยาลดไข้จะมีผลเสียจริงก็คงจะน้อยมาก เพราะกลไกนี้วิวัฒนาการมาในโลกยุคหิน ก่อนที่เราจะมีการแพทย์และยาปฏิชีวนะ
ภาวะไข้ไม่ได้ดีหรือเลวในตัวมันเอง แต่ขึ้นกับแต่ละสถานการณ์ เช่น ถ้าไข้สูงเกินไปจนรู้สึกไม่สบายตัวหรือรบกวนชีวิตประจำวันการกินยาลดไข้ก็ไม่ได้มีผลเสียอะไรมากมาย
ในทางตรงกันข้ามถ้ามีไข้ต่ำๆและไม่รบกวนการทำงานหรือชีวิตประจำวัน เราก็อาจเลือกที่จะไม่กินยาลดไข้ เพื่อให้ร่างกายเรารับมือกับภาวะติดเชื้อได้ดีขึ้น
จะเห็นว่ามันไม่ได้มีทางเลือกที่ดีที่สุดทางเดียว แต่ละทางเลือกก็มีข้อดีและข้อเสียแตกต่างกันไป และเหมาะกับสถานการณ์ที่แตกต่างกันไป
อย่างไรก็ตามนั่นไม่ใช่ประเด็นสำคัญ ที่น่าสนใจกว่าคือ การเข้าใจหลักการ
การมีไข้เป็นตัวอย่างที่แสดงเห็นว่า สิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นในธรรมชาติมันมีที่มาที่ไป หน้าที่ของเราคือการพยายามเข้าใจธรรมชาติของสิ่งนั้นด้วยเหตุและผล เข้าใจว่าแต่ละทางเลือกมีข้อดีหรือข้อเสียอะไรบ้าง ก่อนที่จะไปเปลี่ยนแปลงมัน
อาการไข้เป็นแค่ตัวอย่างแรกเท่านั้น อาการป่วยอื่นๆหลายอาการก็เป็นสิ่งที่ร่างกายสร้างขึ้นเพื่อประโยชน์ในการต่อสู้หรือซ่อมแซมตัวเอง เช่น การไอ การจาม อาการคลื่นไส้อาเจียน ถ่ายเหลวงท้องเสีย ล้วนแล้วแต่เป็นกลไกที่ช่วยขับสารพิษออกจากร่างกาย
8.
ใน 4 ตอนก่อนหน้า เราคุยกันถึงอาการป่วยที่เกิดจากสิ่งมีชีวิตอื่นทำให้เรามีอาการป่วย ในตอนนี้เราคุยถึงอาการป่วย ที่ร่างกายเราสร้างขึ้นมาเพื่อต่อสู้กับเชื้อที่เข้ามารุกราน
จึงเกิดคำถามขึ้นมาว่า แล้วเราจะรู้ได้อย่างไร ว่าอาการป่วยที่เกิดขึ้นนั้น เป็นอาการที่เป็นประโยชน์ต่อเรา หรือเป็นอาการป่วยที่เป็นประโยชน์ต่อเชื้อโรค
เราจะไปหาคำตอบของคำถามนี้ในตอนหน้าครับ ...
(ปิดท้ายด้วยโฆษณา)
สนใจเกี่ยวกับประวัติศาสตร์และวิวัฒนาการของโรคติดเชื้อ แนะนำหนังสือ Bestseller ของผมเอง 2 เล่ม เหตุผลของธรรมชาติ และ สงครามที่ไม่มีวันชนะ สามารถสั่งซื้อได้จากลิงก์
อ่านบทความประวัติศาสตร์อื่นๆเพิ่มเติมได้ที่
อ่านบทความวิทยาศาสตร์และการแพทย์ได้ที่
คลิปวีดีโอเกี่ยวกับประวัติศาสตร์
เพิ่งเริ่มทำนะครับ ช้านิดแต่จะมีคลิปใหม่ๆตามมาอีกแน่นอน
โฆษณา