Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
อมร ทองสุก
•
ติดตาม
31 ม.ค. 2020 เวลา 03:33 • สุขภาพ
ตำราฝังเข็ม (針灸學)
ภาคทฤษฎี
บทที่ 10 สาเหตุแห่งโรคห้าประการ
หนึ่ง หกพิษร้าย
สาเหตุที่ทำให้เกิดโรคมีมากมายหลายสาเหตุ แต่โดยรวมแล้วจะสามารถสรุปสาเหตุการก่อโรคออกเป็น 5 สาเหตุด้วยกันคือ หนึ่ง พิษร้าย 6 (六淫) สอง อารมณ์ 7 (七情) สาม การกินดื่ม ความเหนื่อยล้า และความสบาย (飲食勞逸) สี่ บาดเจ็บจากภายนอกและบาดเจ็บจากแมลงสัตว์กัดต่อย (外傷及蟲獸所傷) ห้า มูกเสมหะ และเลือดคั่ง (痰飲瘀血)
พิษร้าย 6 (六淫)
พิษร้ายหก คือสภาวะอากาศที่มีการเปลี่ยนแปลงที่ภายนอกได้เข้ากระทำต่อร่างกายอย่างเกินความพอดีจนทำให้ร่างกายเกิดความเจ็บป่วย พิษร้าย 6 ประกอบด้วย พิษลม (風) พิษเย็น (寒) พิษร้อน (暑) พิษชื้น (濕) พิษแห้ง (燥) พิษไฟ (火) ปกติพิษทั้งหกนี้จะเรียกพลังหก (六氣) พลังทั้งหกนี้ปกติก็เป็นสิ่งธรรมดาที่อยู่รอบกายเรา ความจริงพลังทั้งหกก็ไม่ได้เป็นพิษเป็นภัยอะไรต่อมนุษย์อยู่แล้ว หากแต่ในสภาวะที่สภาพอาการมีการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน และการเปลี่ยนแปลงนี้เกินกว่าขีดความสามารถในการปรับตัวของร่างกายมนุษย์จะรับไหว หรือในสภาวะที่ภูมิต้านทานของร่างกายเราอ่อนแอมาก ๆ เมื่อนั้นพลังที่ปกติทั้งหกนี้ก็จะเป็นพิษเป็นภัยกับร่างกาย เราจึงเรียกพลังหกอย่างนี้ว่าพิษทั้งหก (六淫)
โดยทั่วไปพิษทั้งหกจะทำร้ายร่างกายด้วยการเข้าตามช่องทางของจมูกปากและผิวหนัง ส่วนใหญ่จะมีความสัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงของฤดูกาล เช่น หน้าร้อนก็จะป่วยด้วยพิษร้อน หน้าหนาวก็จะป่วยด้วยพิษเย็น เป็นต้น
1.พิษลม (風邪)
พิษลมจะเป็นพลังที่เกิดในช่วงฤดูใบไม้ผลิเป็นหลัก เพราะฤดูใบไม้ผลิจะเป็นฤดูที่มีลมโชยอยู่เสมอ เป็นฤดูที่มีอากาศเย็นสบาย แต่ความจริงอาการป่วยที่เกิดจากพิษลมจะสามารถเกิดขึ้นได้ในทุกฤดูกาล เป็นต้นว่า ร่างกายโดนลมเย็นหลังออกกำลังกายและมีเหงื่อ หรือร่างกายโดนลมหลังนอนหลับในช่วงค่ำคืน เป็นต้น ลักษณะเหล่านี้ล้วนทำให้ได้รับพิษลมจนเกิดอาการป่วยขึ้นได้ทั้งสิ้น
จุดเด่นของพิษลมสามารถสรุปได้สี่ประการดังนี้คือ
1.ลมเป็นต้นเหตุของสารพัดโรค
เหตุที่กล่าวว่าลมเป็นต้นเหตุของสารพัดโรคนั้น เพราะในพิษร้ายทั้งหกประการนั้น จะมีอยู่สี่พิษร้ายที่มีลมเป็นตัวพาเข้าสู่ร่างกายทั้งสิ้น ซึ่งก็คือพิษเย็น พิษชื้น พิษแห้ง และพิษร้อน ด้วยเพราะเหตุนี้ ในซู่เวิ่น (素問) จึงกล่าวว่า “อันพิษลม คือต้นเหตุของโรคทั้งหลาย”
ลมนอกจากจะร่วมมือกับพิษร้ายอื่น ๆ เข้ากระทำต่อร่างกายเท่านั้น หากยังสามารถรวมกับเสมหะแล้วเข้าทำร้ายร่างกายได้อีกด้วย เป็นต้นว่าอาการหน้าชา ซึ่งอาการนี้ส่วนใหญ่จะเกิดจากลมและเสมหะเข้าอุดตันเส้นลมปราณจนเกิดอาการชาขึ้นนั่นเอง
2.ลมมีลักษณะเป็นหยางร้าย (陽邪) มีลักษณะของการเปิดระบาย (開泄)
หยางร้ายจะมีลักษณะของการลอยขึ้นบนและกระจายออกนอก ดังนั้นพิษลมมักจะเข้าทำร้ายร่างกายในส่วนของศีรษะและผิวหนัง พิษลมจะทำให้รูขุมขนและร่องกล้ามเนื้อเปิดออก ผู้ป่วยจึงมักจะมีอาการปวดศีรษะ คัดจมูก คันคอ เจ็บคอ หน้าบวม กลัวลม และมีเหงื่อ เป็นต้น
3.ลมมีคุณลักษณะที่เปลี่ยนแปลงไม่หยุดนิ่ง
ลักษณะเด่นของลมคือเคลื่อนไหวรวดเร็วและไม่มีลักษณะตายตัว ดังนั้นผู้ที่ป่วยด้วยพิษลมจึงมักจะมีอาการป่วยที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็วไม่ตายตัว หรือตำแหน่งที่ป่วยก็มีการเปลี่ยนไปมาไม่อยู่นิ่ง อย่างเช่นอาการเหน็บชาที่มักจะมีอาการปวดไขข้อที่มักจะมีการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งปวดไปมาอยู่ตลอดเวลา ก็คือตัวอย่างที่พิษลมชอนไชเคลื่อนย้ายไปมานั่นเอง หรืออย่างเช่นโรคลมพิษที่มีอาการเจ็บแสบตามผิวหนัง คนที่ป่วยด้วยโรคลมพิษจะเดี๋ยวเป็นเดี๋ยวหาย เดี๋ยวผุดทางนั้นเดี๋ยวโผล่ทางนี้ นี่ก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของพิษลมที่มีลักษณะการเคลื่อนย้ายไปมาในร่างกายได้
4.ลมมีคุณลักษณะที่ชอบเคลื่อนไหว
เนื่องจากลมมีลักษณะที่ชอบเคลื่อนไหวไปมา ดังนั้นเมื่อผู้ป่วยที่ป่วยด้วยสาเหตุของพิษลมแล้ว ก็มักจะปรากฏอาการวิงเวียน ตัวสั่น แขนขาชักกระตุก เป็นตะคริวจนร่างกายโค้งงอเป็นรูปคันธนู ยกตัวอย่างเช่นอาการเป็นไข้ตัวร้อนที่มีอาการตะคริวจนร่างกายโค้งเป็นรูปคันธนู หรืออาการใบหน้าชาที่มีอาการปากตาเบี้ยวและกล้ามเนื้อใบหน้าชักกระตุกประกอบ เป็นต้น ทั้งหมดนี้ล้วนมีสาเหตุจากพิษลมที่ชอนไชอยู่ภายในร่างกายนั่นเอง
2.พิษเย็น (寒邪)
พิษเย็นจะเป็นพลังที่เกิดในช่วงฤดูหนาวเป็นหลัก แต่ก็สามารถพบเห็นโรคที่เกิดจากพิษเย็นในช่วงฤดูกาลอื่นด้วยเช่นกัน ส่วนใหญ่มักจะเป็นเพราะสวมใส่เสื้อผ้าไม่เพียงพอในช่วงฤดูหนาว หรืออาจเป็นเพราะตากฝนแล้วไม่รีบรักษาร่างกายให้อบอุ่น หรืออาจจะเล่นน้ำจนเกินกำลังของร่างกาย หรืออาจจะโดนความเย็นหลังจากที่มีเหงื่อโชกโทรมกาย ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นสาเหตุที่ทำให้พิษเย็นแทรกซึมเข้าสู่ร่างกายได้ทั้งสิ้น
จุดเด่นของพิษเย็นสามารถสรุปได้สองประการดังนี้คือ
1.พิษเย็นมีลักษณะเป็นอินร้าย (陰邪) สามารถทำร้ายพลังหยางในร่างกาย
เมื่อพิษเย็นเข้าสู่ร่างกาย พิษเย็นจะมีลักษณะเป็นอินร้าย จึงสามารถทำร้ายพลังหยางภายในร่างกายได้ เมื่อร่างกายสูญเสียพลังหยางซึ่งเป็นพลังที่ช่วยอบอุ่นร่างกายแล้ว ในทางคลินิกจะเห็นผู้ป่วยมีอาการแขนขาเย็น กระเพาะปวดเย็น ถ่ายเหลวเป็นน้ำ หรือปัสสาวะใสยาว เป็นต้น
2.ธาตุเย็นมีลักษณะของการรวบรัดและอุดตัน
เนื่องจากพิษเย็นมีลักษณะของการรวบรัดและอุดตัน จึงทำให้ผิวหนังและร่องกล้ามเนื้อปิด เส้นเอ็น เส้นเลือดและเส้นลมปราณจะหดตัว จึงทำให้เลือดลมเดินไม่สะดวกและทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการขี้หนาว ไร้เหงื่อ แขนขาไม่คล่องแคล่ว เป็นต้น
3.พิษร้อน (暑邪)
พิษร้อนเป็นพลังที่เกิดในช่วงฤดูร้อนเป็นหลัก พิษร้อนจะมีความแตกต่างจากพิษประเภทอื่น ๆ คือจะมีลักษณะของฤดูกาลที่เด่นชัด ดังนั้นจึงพบเห็นได้เฉพาะในฤดูร้อนเท่านั้น ในช่วงฤดูร้อนที่มีอุณหภูมิสูง หรือทำงานอยู่ภายใต้แสงแดดที่ร้อนอบอ้าว หรือสถานที่ทำงานไม่มีอากาศถ่ายเท ล้วนทำให้ป่วยด้วยพิษร้อนนี้ได้ทั้งสิ้น
จุดเด่นของพิษร้อนสามารถสรุปได้สามประการดังนี้คือ
1.พิษร้อนมีลักษณะเป็นหยางร้าย
พิษร้อนเป็นพิษที่เกิดขึ้นจากความร้อนของอุณหภูมิ หลังจากที่พิษร้อนแทรกซึมเข้าสู่ร่างกายแล้ว มักจะทำให้เกิดอาการทางด้านความร้อนขึ้น เป็นต้นว่า อาการเป็นไข้ กระหายน้ำ เหงื่อออก ชีพจรใหญ่ เป็นต้น
2.พิษร้อนมีลักษณะของการลอยกระจาย มักจะทำร้ายสารจินเยี่ย
เมื่อพิษร้อนเข้าสู่ร่างกายก็จะกระทำต่อศีรษะและดวงตา จึงทำให้เกิดอาการวิงเวียนตาลาย และเนื่องจากพิษร้อนมีลักษณะของการกระจาย ดังนั้นหลังจากที่ได้กระทำต่อร่างกายแล้วก็จะทำให้รูขุมขนและร่องกล้ามเนื้อเปิดออก จึงทำให้ผู้ป่วยมีเหงื่อมากกว่าปกติ หากมีการสูญเสียเหงื่อมากจนเกินไป เวลานั้นก็จะทำลายสารจินเยี่ยและเกิดอาการกระหายน้ำ ดื่มน้ำบ่อย ปากและลิ้นแห้ง ปัสสาวะเข้มและน้อย เป็นต้น ขณะเดียวกัน เนื่องจากมีการเปิดร่องกล้ามเนื้อและสูญเสียเหงื่อมากจนเกินไป จึงมักจะทำให้พลังลมปราณรั่วไหลไปพร้อมกับสารจินเยี่ย แลทำให้เกิดอาการเหนื่อยอ่อน แขนขาอ่อนเปลี้ย และไร้เรี่ยวแรงที่จะพูดจาได้ หากพิษร้อนเข้าทำร้ายรบกวนหัวใจ ก็จะทำให้เป็นลมหมดสติ หรือที่เรียกกันว่าโรคลมแดดนั่นเอง
3.พิษร้อนมักจะมาคู่กับความชื้น
ในช่วงหน้าร้อนมักจะมีฝนตกคู่กันเสมอ สภาพอากาศจึงค่อนไปในทางชื้น ดังนั้น หากได้รับพิษร้อนเข้าสู่ร่างกาย โดยทั่วไปมักจะมีการรับพิษชื้นเข้าสู่ร่างกายด้วยในขณะเดียวกัน เมื่อเป็นเช่นนี้ ในเวลาที่ผู้ป่วยป่วยด้วยสาเหตุจากพิษร้อนและเกิดอาการเป็นไข้ตัวร้อนแล้ว โดยทั่วไปยังจะมีอาการวิงเวียนและหนักหัว แน่นหน้าอกและพะอืดพะอม ท้องร่วงหลังทานอาหาร เนื้อตัวหนัก ประกอบอีกด้วย ซึ่งอาการเหล่านี้จะเป็นอาการที่เกิดจากพิษชื้นนั่นเอง
4.พิษชื้น (濕邪)
พิษชื้นเป็นพลังที่เกิดในช่วงฤดูร้อนคาบเกี่ยวฤดูใบไม้ร่วง ในช่วงนี้สภาพอากาศจะร้อนและมีฝนตกบ่อย จึงทำให้สภาพอากาศมีความชื้นสูง ดังนั้นในช่วงเวลานี้จึงทำให้มีผู้ที่ป่วยด้วยพิษชื้นเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ เนื่องจากมีฝนตกปรอย ๆ อยู่เป็นเวลานาน หากถูกฝนหรือไม่ได้ทำการผลัดเปลี่ยนเสื้อผ้าหลังมีเหงื่อ ก็จะทำให้ได้รับพิษชื้นเข้าสู่ร่างกายได้อย่างง่ายดาย
จุดเด่นของพิษชื้นสามารถสรุปได้สามประการดังนี้คือ
1.พิษชื้นจะมีลักษณะขุ่นหนัก
หนักหมายถึงความหนักหน่วง ขุ่นหมายถึงความขุ่นข้น ดังนั้น หลังจากพิษชื้นที่มีลักษณะหนักเข้าสู่ร่างกาย ผู้ป่วยมักจะมีอาการหนักเวียนศีรษะ เสมือนหนึ่งว่ามีผ้าห่อหุ้มศีรษะเอาไว้ ส่วนร่างกายก็มีอาการหนักเสมือนว่ามีการแบกสิ่งของไว้บนร่างกาย ทั้งนี้ยังมีอาการปวดเมื่อยไขข้อต่าง ๆ อีกด้วย แต่หากพิษชื้นที่มีลักษณะขุ่นข้นเข้าสู่ร่างกาย ผู้ป่วยจะมีการหลั่งสิ่งที่มีลักษณะขุ่นข้นออกมาอย่างไม่มีสาเหตุ เป็นต้นว่า ผิวหนังเป็นตุ่มหนอง ผดผื่นและมีน้ำไหลออก ตกขาว ปัสสาวะขุ่นข้น ถ่ายท้องออกมาเป็นน้ำเลือดน้ำหนอง เป็นต้น
2.พิษชื้นมีลักษณะเหนียวหนืด
ผู้ที่ได้รับพิษชื้นจนเจ็บไข้ได้ป่วย มักจะเห็นฝ้าลิ้นมีลักษณะเหนียวไม่ยอมหาย อุจจาระก็มีความเหนียวหนืดถ่ายไม่คล่อง ส่วนปัสสาวะก็มีลัษณะฝืดไม่คล่องเช่นเดียวกัน ช่วงเวลาการป่วยของผู้ป่วยที่ได้รับพิษชื้นจะค่อนข้างยาวนาน เป็นต้นว่า โรคเหน็บชา โรคอุ่นชื้น โรคผิวหนังอักเสบ เป็นต้น
3.พิษชื้นมีลักษณะเป็นอินร้าย จึงมักจะทำร้ายพลังหยางและทำให้ลมปราณอุดอั้นได้ง่าย
เนื่องจากเป็นอินร้าย จึงมักจะอุดอั้นการเดินอย่างเป็นปกติของลมปราณ และทำให้เกิดอาการแน่นหน้าอก ปัสสาวะขัดแสบ อุจจาระไม่คล่อง เป็นต้น ส่วนม้ามที่มีนิสัยชอบความแห้งเกลียดความชื้นนั้น เมื่อมีพิษชื้นเข้าสู่ร่างกายก็จะมีการทำร้ายม้ามได้อย่างง่ายดาย เมื่อพลังหยางของม้ามโดนทำร้ายก็จะทำให้การหมุนเวียนไม่เป็นปกติ จึงไม่สามารถกระจายน้ำและสลายความชื้นได้ ในเวลานี้จะทำให้เกิดอาการปวดแน่นท้อง เบื่ออาหาร อุจจาระเหลว ปัสสาวะน้อย และมีอาการตัวบวมน้ำขึ้นได้
5.พิษแห้ง (燥邪)
พิษแห้งเป็นพลังที่เกิดในช่วงฤดูใบไม้ร่วงเป็นหลัก เนื่องจากสภาพอากาศโปร่งแจ้งและไม่มีฝน จึงทำให้อากาศมีความแห้งแร้ง ผู้คนจึงมักจะได้รับพิษแห้งเข้าไปได้อย่างง่ายดาย
จุดเด่นของพิษแห้งสามารถสรุปได้สองประการดังนี้คือ
1.พิษแห้งมีลักษณะแห้งฝืด จึงง่ายแก่การทำร้ายสารจินเยี่ย
เนื่องจากพิษแห้งมีลักษณะที่แห้งฝืด ดังนั้นหลังจากที่เจ็บป่วยจากพิษแห้งแล้วก็จะทำให้สารจินเยี่ยเกิดความเสียหาย ผู้ป่วยจะมีอาการปากจมูกแห้ง ลำคอแห้ง หรือผิวหนังแห้งกร้าน ผมและเส้นขนไม่สดใส อุจจาระแห้งกรัง ปัสสาวะน้อย ซึ่งอาการเหล่านี้ล้วนเป็นอาการที่สารจินเยี่ยไม่เพียงพอนั่นเอง
2.พิษแห้งทำร้ายปอด
เนื่องจากปอดชอบความสดใสไหลลื่น ดังนั้น เมื่อความแห้งเข้าทางรูจมูกลงไปสู่ปอดก็จะทำร้ายปอดจนบาดเจ็บได้ เมื่อปอดไร้ความไหลลื่นก็จะทำให้ความสามารถในการกดลดและกระจายประสบปัญหา ด้วยเพราะเหตุนี้ จึงทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการไอแห้งไร้เสมหะ หรือไอแบบมีเสมหะเหนียวและคันคอ หรือเสมหะมีเลือดปนได้
6.พิษไฟ (火邪)
เป็นพลังหยางแกร่ง มักจะพบในช่วงฤดูร้อนที่ร้อนจัด ส่วนผู้ที่ป่วยด้วยพิษไฟในฤดูกาลอื่น ๆ ไม่ค่อยจะพบเห็นได้บ่อยนัก
จุดเด่นของพิษไฟสามารถสรุปได้สามประการดังนี้คือ
1.พิษไฟเป็นหยางร้าย มีลักษณะของความร้อนที่ร้อนแรง
ลักษณะของไฟจะมีความร้อนที่ร้อนแรง ความร้อนมักจะเผาขึ้นบน จัดให้อยู่ในส่วนของหยางร้าย เมื่อพิษไฟทำร้ายร่าสงกายก็จะทำให้เกิพดอาการไขขึ้นสูง กระหายน้ำ เหงื่อออกและปากลิ้นเป็นแผล ปวดเหงือก ปวดศีรษะและตาแดง เป็นต้น หากพิษไฟเข้าหัวใจก็จะทำให้หัวใจอึดอัด นอนไม่หลับ กระสับกระส่าย หรือนอนละเมอเพ้อเจ้อได้
2.ทำร้านสารจินประเภทอิน (陰津)
เมื่อพิษไฟรุกโหมอย่างรุนแรงก็จะทำให้สารจินไหลออกสู่ภายนอก ทำให้สารจินพร่องขาดไปอย่างมากมาย ดังนั้น ผู้ป่วยนอกจากจะมีอาการตัวร้อนแล้ว ก็มักจะมีอาการกระหายน้ำ ปากคอแห้ง อุจจาระแห้ง ปัสสาวะเข้มและน้อย ประกอบอีกด้วย
3.พิษไฟทำให้เกิดลมและกระทบต่อโลหิต
เมื่อพิษไฟรุนแรงก็จะเผาเส้นตับ ทำให้เส้นตับขาดการหล่อเลี้ยงและทำให้ตับเกิดลมขึ้น อาการที่พบคือมีลักษณะไข้ขึ้นสูง สลึมสลือ แขนขาเป็นตะคริว ต้นคอแข็ง ตะคริวจนร่างกายโค้งเป็นรูปคันธนู ตากลอกขึ้นบน เป็นต้น อาการเหล่านี้เรียกว่า “ร้อนมากจนทำให้เกิดลม (熱極生風)” นั่นเอง
ส่วนความร้อนรุนแรงที่กระทบต่อโลหิตนั้น จะทำให้มีอาการโลหิตโคจรรวดเร็วมากยิ่งขึ้น ผู้ป่วยจะมีชีพจรที่เต้นเร็ว หรือกระทั่งมีอาการโลหิตไหลออกนอกเส้นโลหิตได้ เป็นต้นว่าอาการกระอักเลือด เลือดกำเดา อุจจาระเป็นเลือด ปัสสาวะเป็นเลือด ตกเลือด ประจำเดือนมากผิดปกติ เป็นต้น ลักษณะที่พิษแทรกซอนเข้าสู่โลหิต ไม่เพียงแต่จะทำให้เกิดอาการที่โลหิตไหลออกนอกเส้นโลหิตเท่านั้น หากยังจะกระทำต่อกล้ามเนื้อและทำให้เกิดอาการกล้ามเนื้ออักเสบและโลหิตเป็นพิษ ซึ่งจะปรากฏในลักษณะของโรคที่เป็นแผลพุผองนั่นเอง
นอกจากพิษร้ายหกที่เป็นพิษร้ายที่ได้รับจากภายนอกแล้ว ก็ยังมีอีกพิษหนึ่งที่เรียกว่าโรคระบาด นอกจากโรคระบาดแล้ว ในทางคลินิกก็ยังมีลักษณะการป่วยที่ไม่ได้เกิดจากการได้รับพิษร้ายหกจากภายนอก แต่อาการที่แสดงออกกลับไม่มีความแตกต่างจากการได้รับพิษร้ายหกจากภายนอกแต่อย่างใด และเพื่อไม่ให้เกิดความสับสนกับอาการป่วยที่เกิดจากพิษร้ายภายนอกหกอย่างแล้ว ทางแพทย์จีนได้จำแนกสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการป่วยไว้อีกหมวดหนึ่งต่างหาก นั่นก็คือ พิษลมภายใน (內風) พิษเย็นภายใน (內寒) พิษชื้นภายใน (內濕) พิษแห้งภายใน (內燥) พิษไฟภายใน (內火)
2 บันทึก
6
10
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
ตำราฝังเข็ม ภาคทฤษฎี บทที่ 10
2
6
10
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย