2 ก.พ. 2020 เวลา 00:43 • สุขภาพ
ตำราฝังเข็ม (針灸學)
ภาคทฤษฎี
บทที่ 10 สาเหตุแห่งโรคห้าประการ
สอง อารมณ์เจ็ด
สาเหตุที่ทำให้เกิดโรคมีมากมายหลายสาเหตุ แต่โดยรวมแล้วจะสามารถสรุปสาเหตุการก่อโรคออกเป็น 5 สาเหตุด้วยกันคือ หนึ่ง พิษร้าย 6 (六淫) สอง อารมณ์ 7 (七情) สาม การกินดื่ม ความเหนื่อยล้า และความสบาย (飲食勞逸) สี่ บาดเจ็บจากภายนอกและบาดเจ็บจากแมลงสัตว์กัดต่อย (外傷及蟲獸所傷) ห้า มูกเสมหะ และเลือดคั่ง (痰飲瘀血)
อารมณ์ 7 (七情)
อารมณ์เจ็ดหมายถึง ดีใจ (喜) โกรธ (怒) กังวล (憂) กลุ้ม (思) เศร้า (悲) กลัว (恐) ตกใจ (驚) โดยทั่วไปนั้น หากเป็นการแสดงอารมณ์ตามปกติ จะไม่ค่อยมีผลต่อร่างกายอย่างเด่นชัดมากนัก แต่หากเป็นการแสดงอารมณ์ที่เกินเลยจากขอบเขตที่ร่างกายสามารถรับไหว หรือจิตใจของผู้คนมีความอ่อนไหวต่ออารมณ์มากจนเกินไปแล้ว เมื่อนั้นก็จะทำให้เกิดผลกระทบต่อการทำงานปกติของอวัยวะภายใน และยังผลให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บขึ้นได้ ผลกระทบขอบอารมณ์เจ็ดที่มีต่อร่างกายจะแตกต่างจากผลกระทบของพิษทั้งหกที่มีต่อร่างกาย เพราะผลกระทบของอารมณ์เจ็ดจะเกิดขึ้นกับอวัยวะภายในและเลือดลมได้โดยตรง ส่วนพิษทั้งหกจะเป็นแบบค่อย ๆ ถ่ายทอดพิษภัยจนเกิดผลกระทบต่ออวัยวะภายใน ดังนั้นอารมณ์จึงเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดการบาดเจ็บภายในได้โดยตรง ด้วยเพราะเหตุนี้ โบราณจึงมีการกล่าวว่า “อารมณ็เจ็ดบาดเจ็บภายใน (內傷七情)” นั่นเอง
อารมณ์เจ็ดจะมีผลกระทบต่ออวัยวะภายใน และทำให้เลือดลมมีการหมุนเวียนอย่างผิดปกติ ดังนั้น อารมณ์ที่แตกต่างก็จะส่งผลกระทบที่แตกต่างตามไปด้วย ปราชญ์ทางการแพทย์แต่โบราณได้สรุปว่า “โกรธทำร้ายตับ (怒傷肝) ดีใจทำร้ายหัวใจ (喜傷心) เศร้ากังวลทำร้ายปอด (悲憂傷肺) กลุ้มทำร้ายม้าม (思傷脾) ตกใจกลัวทำร้ายไต (驚恐傷腎)” นอกจากนี้ก็ยังมีการสรุปอีกว่า “โกรธจะทำให้ลมขึ้นบน (怒則氣上) ดีใจจะทำให้ลมอืด (喜則氣緩) เศร้าจะทำให้ลมสลาย (悲則氣消) กลัวจะทำให้ลมลงล่าง (恐則氣下) ตกใจจะทำให้ลมวุ่นวาย (驚則其亂) กลุ้มจะทำให้ลมอั้น (思則氣結)”
1
แม้นปราชญ์แต่โบราณได้สรุปผลกระทบของอารมณ์ที่มีต่อร่างกายไว้อย่างชัดเจนแล้วก็จริง แต่โดยทั่วไปนั้น ผลกระทบในทางคลินิกที่เห็นได้อย่างเด่นชัดคือหัวใจ ตับ ม้าม เป็นต้นว่า หากดีใจหรือตกใจกลัวจนเกินเหตุ จะทำให้ใจไม่สงบ ใจไม่อยู่กับเนื้อกับตัว ใจเต้นเร็ว นอนไม่หลับ ฝันมาก สลึมสลือ หรือกระทั่งอาจจะมีอาการเดี๋ยวหัวเราะเดี๋ยวร้องไห้ กระสับกระส่ายไม่อยู่นิ่ง เป็นต้น หรืออย่างเช่นมีอารมณ์โกรธแค้นอัดอั้นไม่หาย ก็จะส่งผลต่อการระบายของตับ และทำให้เกิดอาการปวดชายโครงและสีข้าง หงุดหงิดโมโหง่าย เรอและถอนใจ หรือบางทีจะมีอาการจุกที่คอหอย หรือประจำเดือนผิดปกติ หรือบางทีอาจจะกระทบต่อเส้นโลหิตและทำให้มีอาการเลือดออกเป็นต้น สำหรับอารมณ์ที่กลัดกลุ้มวิตกหรือเศร้าโศกจนเกินเหตุ มักจะส่งผลต่อการลำเลียงของม้ามและทำให้เกิดอาการปวดท้อง เบื่ออาหาร เป็นต้น
ผลกระทบที่เกิดจากอารมณ์ทั้งเจ็ดจนทำให้การทำงานของหัวใจ ตับ ม้ามผิดปกตินั้น ไม่เพียงแต่จะเกิดผลกระทบต่ออวัยวะภายในเพียงด้านเดียวเท่านั้น หากยังส่งผลกระทบต่ออวัยวะอื่น ๆ ได้อีกด้วย เป็นต้นว่า หากมีอาการวิตกกังวลมากจนเกินไป ก็จะส่งผลกระทบต่อหัวใจและม้าม หากมีอารมณ์โกรธและอัดอั้นไม่ยอมคลาย ก็จะทำให้ตับม้ามไม่ผสานกัน เป็นต้น

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา