4 ก.พ. 2020 เวลา 02:32 • สุขภาพ
ตำราฝังเข็ม (針灸學)
ภาคทฤษฎี
บทที่ 10 สาเหตุแห่งโรคห้าประการ
สาม การกินดื่ม ความเหนื่อยล้า และความสบาย (飲食勞逸)
สาเหตุการเจ็บป่วยของร่างกาย นอกจากปัจจัยที่เกิดจากสภาวะภายนอกแล้ว ความจริงปัจจัยที่เกิดจากผู้ป่วยที่กระต่อตนเองก็มีอยู่ไม่น้อย เป็นต้นว่า การกินดื่มและการพักผ่อนนั่นเอง
1.การกินดื่ม
การกินดื่มเป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิตอย่างที่สุด เพราะพลังงานที่ใช้ในชีวิตประจำวัน สารจำเป็นที่ต้องใช้ในการซ่อมแซมส่วนสึกหรอของร่างกาย ทั้งหมดล้วนต้องได้จากการกินดื่มในชีวิตประจำวันทั้งสิ้น แต่เนื่องจากมีการกินดื่มอย่างไม่เหมาะสม การกินดื่มของเราสุดท้ายก็กลับมาเป็นโทษต่อร่างกาย จนทำร่างกายเกิดการเจ็บไข้ได้ป่วยได้เช่นกัน
โทษของการกินดื่มที่กระทำต่อร่างกายจนเกิดการเจ็บไข้ได้ป่วยจะสะท้อนออกในสามด้านด้วยกันคือ
1.ทานเกินความเหมาะสม
อะไรที่มากเกินความพอดี หรือน้อยเกินความพอดีล้วนเป็นโทษได้ทั้งสิ้น อย่างเช่นน้ำและอาหารที่เรารับประทานนั้น หากมีปริมาณน้อยเกินความพอดีก็ไม่เพียงพอแก่ความต้องการ หรือหากมากเกินความพอดีก็จะกลับกลายเป็นพิษที่สะสมอยู่ภายในร่างกายได้นั่นเอง
ความหิวคือสัญญาณที่ร่างกายกำลังจะบอกให้รู้ว่าร่างกายกำลังขาดแคลนปัจจัยสำคัญในการดำเนินชีวิต เช่นอาการท้องหิว ก็คือสัญญาณที่บอกว่าร่างกายกำลังขาดแคลนพลังงาน หรืออาการหิวกระหาย ก็คือสัญญาณที่ร่างกายบอกให้รู้ว่ากำลังขาดแคลนน้ำ เป็นต้น สัญญาณความหิวที่ร่างกายแสดงออก ผู้เป็นเจ้าของร่างกายไม่ควรจะปล่อยปละละเลย เพราะเมื่อร่างกายส่งสัญญาณความหิวออกมา นั่นหมายความว่าร่างกายกำลังเรียกร้องให้ปฏิบัติในทันที เราจึงควรสนองตอบร่างกายอย่าได้ล่าช้า เพราะสุดท้ายจะทำให้เกิดปัญญากับร่างกายอย่างแน่นอน เป็นต้นว่า ความหิวกระหาย หลาย ๆ คนมักจะหมกมุ่นติดพันกับหน้าที่การงานจนไม่มีเวลาที่จะดื่มน้ำ แต่สุดท้ายก็หมดสติจนต้องเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาล สาเหตุเพราะร่างกายขาดน้ำนั่นอง ในยามที่ร่างกายขาดน้ำ สารพิษต่าง ๆ ที่เกิดจากการเผาผลาญภายในร่างกายก็เพิ่มสูงขึ้น ความร้อนในร่างกายจะเพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นสารพิษก็ดี หรือความร้อนของร่างกายก็ดี สิ่งเหล่านี้จะต้องอาศัยน้ำมาช่วยในการขับถ่ายออกนอกร่างกายทั้งสิ้น แต่หากในร่างกายเวลานี้ขาดแคลนน้ำ สารพิษในร่างกายก็จะเพิ่มสูงขึ้น ความร้อนจะเพิ่มมากขึ้น สุดท้ายก็จะทำให้ร่างกายเจ็บไข้ได้ป่วยนั่นเอง
แต่หากเรากินดื่มมากเกินความพอดี ความจริงก็เป็นโทษแก่ร่างกายได้เช่นกัน เพราะการทานอิ่มมากจนเกินควร ไม่เพียงแต่จะทำให้สูญเสียพลังงานในการย่อยสลายอาหารเหล่านั้นเท่านั้น หากยังจะต้องสูญเสียพลังงานในการกำจัดอาหารส่วนเกินออกนอกร่างกายอีกด้วย และหากร่างกายไร้ความสามารถในการกำจัดอาหารส่วนเกินออกนอกร่างกาย หรือความสามารถในการย่อยสลายอาหารน้อยกว่าปริมาณอาหารที่ทานเข้าสู่ร่างกายแล้ว เวลานั้นก็จะทำให้เกิดการสะสมของไขมันหรือสารพิษ ซึ่งสุดท้ายก็จะทำให้เกิดการเจ็บไข้ได้ป่วยในภายหลังได้
ไม่เพียงแต่อาหารที่รับประทานอย่างไม่เหมาะสมจะเป็นโทษกับร่างกายได้เท่านั้น ความจริงน้ำที่รับประทานอย่างไม่เหมาะสม ก็จะทำให้เกิดโทษแก่ร่างกายได้เช่นกัน ร่างกายมีส่วนประกอบของน้ำมากถึง 70% จึงเห็นได้ว่าน้ำเป็นสิ่งจำเป็นของร่างกายเป็นอย่างยิ่ง เพราะน้ำเป็นตัวทำละลาย หรือก็คือเป็นตัวละลายสารต่าง ๆ ให้มีการกระจายตัว น้ำเป็นตัวนำพา หรือก็คือเป็นตัวช่วยส่งสารอาหารไปสู่ส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย และน้ำก็ยังตัวผลักดัน หรือก็คือเป็นตัวผลักดันของเสียให้ออกนอกร่างกาย ดังนั้น หากร่างกายขาดน้ำ สุดท้ายก็จะทำให้ร่างกายเกิดการเจ็บไข้ได้ป่วยได้ แต่หากร่างกายมีน้ำมากเกินความพอดี เวลานั้นจะทำให้อวัยวะต่าง ๆ ของร่างกายแช่อยู่ในน้ำจนมีอาการบวมน้ำ เมื่อมีอาการบวมน้ำเกิดขึ้น การหมุนเวียนภายในร่างกายก็จะอืดอาด และทำให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บสารพัดตามมาด้วยเช่นกัน
นอกจากการดื่มน้ำในปริมาณที่ไม่พิดีจะเป็นโทษกับร่างกายแล้ว ความจริงหากทานน้ำอย่างไม่ถูกเวลาก็เป็นโทษกับร่างกายได้เช่นกัน คนทั่วไปมักจะเข้าใจว่าทานอาหารแล้วต้องดื่มน้ำ จึงจะทำให้ย่อยอาหารได้ง่ายยิ่งขึ้น สาเหตุที่ผู้คนมีพฤติกรรมเช่นนี้ก็เพราะผู้คนมักเข้าใจตามสามัญสำนึกว่าน้ำมีส่วนช่วยในการทำให้อาหารอ่อนตัว ดังนั้นการดื่มน้ำหลังทานอาหารจะมีส่วนช่วยให้สามารถย่อยอาหารได้อย่างคล่องตัวมากยิ่งขึ้น ความจริงหาได้เป็นเช่นนั้นไม่ เพราะในระหว่างการทานอาหาร ร่างกายจะมีการผลิตน้ำย่อยออกมาเพื่อรองรับมื้ออาหารโดยอัตโนมัติ โดยร่างกายจะผลิตน้ำย่อยออกมาในช่วงที่ร่างกายเกิดอาการความหิวขึ้น ดังนั้นน้ำย่อยจึงเกิดขึ้นก่อนที่เราจะทานอาหารเสียด้วยซ้ำ
น้ำย่อยที่มีส่วนช่วยในการย่อยอาหารจะมีอยู่สี่อย่างคือ หนึ่งน้ำลาย สองน้ำกรด สามน้ำดี สี่น้ำย่อยในลำไส้ เมื่อเป็นเช่นนี้ หากเราทานน้ำก่อนอาหาร น้ำที่เข้าไปในร่างกายก็จะทำให้น้ำย่อยทั้งสี่นี้เจือจาง และหากเรายังทำการดื่มน้ำหลังทานอาหารแล้วก็ยิ่งจะทำให้น้ำย่อยในร่างกายเจือจางอีกเป็นคำรบที่สอง เมื่อน้ำย่อยในร่างกายเกิดความเจือจางลง ประสิทธิภาพในการย่อยอาหารก็จะน้อยลง เมื่ออาหารยังย่อยไม่ละเอียดแล้วถูกส่งต่อไปที่ลำไส้เล็กแล้ว ในเส้นทางของลำไส้ที่ยาวไกลนับหลายเมตรเช่นนี้ อาหารที่อยู่ภายในก็จะเกิดกระบวนการหมัก อาหารที่ถูกหมักก็จะมีแก๊ส และนี่ก็คือสาเหตุที่ทำให้ผู้คนมีกลิ่นปากที่รักษาไม่หาย หรือมีอาการท้องอืดท้องเฟ้อจนทานอาหารไม่ค่อยลง หรือมีอาการผายลมอยู่ตลอดเวลานั่นเอง อาหารที่ย่อยไม่สมบูรณ์และเกิดกระบวนการหมักนี้จะทำให้เกิดสารพิษในระหว่างการหมัก และสารพิษเหล่านี้จะถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายและกลายเป็นโทษกับร่างกายอีกที ทั้งนี้ อาหารที่ย่อยไม่สมบูรณ์ในร่างกายยังจะทำให้กลายเป็นความชื้นภายในร่างกายได้อีกด้วย ความชื้นเหล่านี้จะถูกหมักหมมจนกลายเป็นเสมหะ (痰) และเสมหะเหล่านี้จะเกิดการสะสมจนกลายเป็นไขมันส่วนเกินของร่างกายนั่นเอง
2.ทานตามใจอยาก
สิ่งที่เราอยากทาน ความจริงเป็นความรู้สึกที่ร่างกายได้รับข้อมูลจากอวัยวะภายในว่ากำลังขาดแคลนอะไรบางอย่าง สิ่งที่อวัยวะภายในกำลังขาดแคลนจะถูกประมวลออกมาเป็นความรู้สึกที่อยากอาหารบางอย่างขึ้น เป็นต้นว่าอยากน้ำ หมายความว่าร่างกายกำลังต้องการน้ำ อยากเปรี้ยว หมายความว่าร่างกายกำลังต้องการวิตามินบางอย่างที่อยู่ในอาหารเปรี้ยว อยากหวาน หมายความว่าร่างกายกำลังขาดแคลนน้ำตาล เป็นต้น
ความอยากในลักษณะนี้เป็นเรื่องธรรมชาติของร่างกาย ในจุดนี้เรียกว่าร่างกายอยาก ซึ่งจะต่างจากใจอยากอย่างสิ้นเชิง ความอยากทางจิตใจเป็นความอยากของกิเลส ดังนั้นการทานอาหารที่เกิดจากความอยากของกิเลสจึงมิอาจสนองต่อความต้องการของร่างกายอย่างเหมาะสมได้ หมายความว่าร่างกายกำลังต้องการวิตามินจากผลไม้ แต่เรากลับทานน้ำส้มน้ำอัดลม ร่างกายกำลังต้องการน้ำตาล แต่เรากลับทานกาแฟน้ำหวาน เป็นต้น ซึ่งการทานอาหารใรลักษณะนี้ไม่เพียงแต่จะทำให้ร่างกายขาดสารอาหารเท่านั้น หากยังจะรบกวนระบบการทำงานของร่างกาย ทั้งยังจะเกิดการสะสมสารพิษที่ไม่จำเป็นสำหรับร่างกายอีกด้วย
ลองจินตนาการนึกภาพดูว่า หากร่างกายกำลังต้องการวิตามินที่อยู่ในผลไม้เปรี้ยว ปรากฏว่าเรากลับทานน้ำส้มปรุงแต่งรสเปรี้ยวเข้าไปแทน ในเวลานี้ ร่างกายไม่เพียงแต่ไม่ได้รับสารอาหารที่ต้องการเท่านั้น มีความเป็นไปได้ว่าร่างกายอาจจะแสดงสัญญาณผิด ๆ ให้เราทานอาหารเปรี้ยวตลอดเวลา และทำให้เราเกิดการเสพติดน้ำส้มปรุงแต่งเลยก็เป็นได้ หรือบางทีร่างกายไม่ได้สะท้อนความอยากอะไรออกมาเลย แต่เป็นความอยากทางจิตใจที่คอยกระตุ้นให้เราทานแต่อาหารที่ร่างกายไม่ต้องการ เป็นต้นว่าเหล้ายา หรือขนมขบเคี้ยว เป็นต้น ปรากฏการณ์เหล่านี้ล้วนสามารถเป็นโทษให้แก่ร่างกายได้ทั้งสิ้น
3.ทานอาหารที่ร้อนเย็นอย่างไม่สมดุลหรือไม่สะอาด
อาหารที่ปรุงไม่สุก หรือมีเชื้อโรค หรือมีสารพิษตกค้าง แน่นอนว่าจะทำให้ร่างกายเจ็บไข้ได้ป่วยอย่างแน่นอน แต่นอกจากอาหารที่ไม่สะอาดหรือปรุงไม่สุกแล้ว ความจริงการทานอาหารที่มีฤทธิ์ร้อนหรือเย็นอย่างไม่เหมาะสมก็เป็นโทษกับร่างกายได้เช่นกัน
มันไม่ได้สำคัญหรอกว่าเราจะต้องทานอาหารที่มีฤทธิ์ร้อนเย็นอย่างเป็นกลางหรือไม่ เพราะอาหารทุกประเภทล้วนมีลักษณะฤทธิ์ร้อนหรือเย็นที่แตกต่างกันไป เราคงยากที่หลีกเลี่ยงได้อย่างแน่นอน หากแต่สำคัญอยู่ที่ว่าหลังจากทานอาหารที่มีฤทธิ์ร้อนหรือฤทธิ์เหล่านี้เข้าสู่ร่างกายแล้ว ได้ทำให้ร่างกายมีลักษณะไปในทางเย็นหรือทางร้อนต่างหาก เพราะหากร่างกายมีลักษณะเย็นเกินก็จะเกิดการเจ็บไข้ได้ป่วย หรือหากมีลักษณะร้อนเกินก็เกิดการเจ็บไข้ได้ป่วยด้วยเช่นกัน ดังนั้นเราจึงควรจะเลือกทานอาหารที่เหมาะสมกับความต้องการของร่างกาย ไม่ใช่ทานอาหารตามที่ปากต้องการ นี่จึงจะเป็นวิถีแห่งการดูแลสุขภาพที่ถูกต้องนั่นเอง
2.ความเหนื่อยล้า
ร่างกายคือกระดูกและเนื้อ ดังนั้นต่อให้แข็งแกร่งอย่างไรก็ย่อมมีขีดจำกัดอยู่ดี และแม้นว่าร่างกายจะมีความสามารถในการซ่อมแซมตนเองได้ก็จริง แต่สุดท้ายความสามารถในการซ่อมแซมตนเองก็ยังมีขีดจำกัด อีกทั้งความสามารถในการซ่อมแซมตนเองก็ยังมีความเสื่อมถอยไปตามอายุขัยอีกต่างหาก ดังนั้น เมื่อความสึกหรอมากกว่าความสามารถในการซ่อมแซมตนเองเมื่อไหร่ เมื่อนั้นก็จะเกิดความเหนื่อยล้าสะสม เมื่อความเหนื่อยล้าสะสมได้เก็บสะสมจนถึงขีดหนึ่ง เมื่อนั้นก็จะเกิดการเจ็บไข้ได้ป่วยได้ ในเวลานี้หากมีการพักผ่อนอย่างเพียงพอ ความสามารถในการซ่อมแซมตนเองก็จะทำการรักษาอาการเจ็บไข้ได้ป่วยจนเป็นปกติ แต่หากความสามารถในการซ่อมแซมร่างกายเสื่อมถอยไปแล้ว เมื่อนั้นก็จะต้องอาศัยการรักษาจากภายนอกเข้าเสริมอีกแรงหนึ่ง
ดังนั้น ไม่ว่าจะทำสิ่งใด เราจึงไม่ควรจะทำจนเกินกำลังที่ร่างกายจะรับไหว การที่เราฝืนสังขารมากเกินไปเป็นเวลานาน ความเหนื่อยล้าสะสมจะทำให้เรารู้สึกไร้ชีวิตชีวา ความไร้ชีวิตชีวานี้อาจจะถูกกลบด้วยการทานกาแฟเพื่อกระตุ้นให้กระปรี้กระเปร่าขึ้นมาอีกก็ได้ แต่การกระทำเช่นนี้ความจริงจะเป็นเหมือนเช่นการปัดฝุ่นซ่อนไว้ใต้พรม ซึ่งหากไม่ทำการแก้ปัญหาความเหนื่อยล้าสะสมนี้ให้หมดไป เมื่อไหร่ที่ความเหนื่อยล้าได้สะสมจนเกินขีดจำกัดของร่างกายแล้ว เมื่อนั้นก็จะเกิดการเจ็บป่วยเป็นโรคเรื้อรังต่อไปในระยะยาวได้
ความเหนื่อยล้านี้สามารถขจัดให้หมดไปด้วยการพักผ่อนอย่างเพียงพอ ช่วงเวลาแห่งการพักผ่อนที่เหมาะสมที่สุดคือควรจะพักผ่อนก่อนสี่ทุ่ม หากสามารถปฏิบัติเช่นนี้จนเป็นนิสัย เราก็จะสามารถสร้างสุขภาพได้ในระยะยาว นอกจากนี้ การออกกำลังกายก็สามารถช่วยขจัดความเหนื่อยล้านี้ให้หมดไป แต่การออกกำลังกายที่ดีควรจะเป็นการออกกำลังกายที่เกิดจากการหมุนเวียนเลือดลมภายในร่างกาย ไม่ใช่การออกกำลังที่มีแต่เสริมความแข็งแรงของกล้ามเนื้อเพียงอย่างเดียว การออกกำลังที่ทำให้เลือดลมเกิดการหมุนเวียนจะต้องเป็นการเคลื่อนไหวร่างกายที่ผสานกับลมหายใจอย่างเป็นจังหวะ หากการออกกำลังนั้นทำให้ลมหายใจปั่นป่วน การออกกำลังประเภทนี้จะไม่นับว่าเป็นการออกกำลังที่มีประสิทธิภาพในการช่วยเสริมสร้างสุขภาพให้แก่ร่างกายได้ เพราะการออกกำลังกายที่ลมหายใจวุ่นวาย สุดท้ายกลับจะเป็นการสร้างปัญหาความเหนื่อยล้าให้กับร่างกายอีกต่างหาก
3.ความสบาย
แม้นว่าความเหนื่อยล้าจะเป็นสาเหตุของโรคภัยไข้เจ็บก็จริง แต่ความจริงความสบายที่มากเกินไปก็เป็นสาเหตุของโรคภัยไข้เจ็บด้วยเช่นกัน ในปัจจุบันนี้ มีโรคเรื้อรังอยู่หลายโรค เป็นต้นว่า โรคเบาหวาน โรคความดัน โรคหัวใจ ความจริงโรคเหล่านี้ล้วนเป็นโรคที่เกิดจากความสบายมากเกินไปทั้งสิ้น มีหลายคนเรียกโรคเหล่านี้ว่าโรคกินดีอยู่ดี สาเหตุเพราะไม่ค่อยมีการเคลื่อนไหวร่างกายนั่นเอง

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา