31 ม.ค. 2020 เวลา 06:01 • ประวัติศาสตร์
ตำนาน/ปกรณัม (Myth) : จุดเริ่มต้นแห่งจินตนาการ
ในอดีตกาลอันใกล้โพ้น มนุษย์ได้ตั้งคำถามต่อสิ่งต่างๆ รอบตัว เช่น ทำไมจึงเกิดฟ้าผ่า โลกใบนี้มาจากไหน ใครสร้างโลก แล้วจะไปสิ้นสุดที่ตรงไหน และคำถามใหญ่ๆ อย่างจักรวาลก็ตาม แต่เมื่อมีคำถาม ก็ต้องมีคำตอบ ใครเล่าจะตอบเราได้ ในยุคสมัยอดีต มีความเชื่อกันว่า มนุษย์มีความใกล้ชิดกับเทพเจ้ามากกว่าในยุคปัจจุบัน ดังนั้น ก็อาจจะเป็นไปได้ครับว่า ตำนานที่ว่า อาจจะมีคนมาตอบแล้วก็ได้ แล้วก็ยังมีการสืบทอดตำนานอย่างนี้เรื่อยมา
เราเชื่อว่ามนุษย์นั้นมีสายสัมพันธ์บางอย่างที่เชื่อมโยงคนที่ไม่เคยรู้จักกันเข้าไว้ด้วยกัน เราก็เชื่อกันว่า พันธุกรรมของเรานอกจากจะบ่งบอกสายสัมพันธ์กันทางวิวัฒนาการในเชิงรูปธรรม (ก็พวก ลักษณะทางร่างกาย) ยังมีสายสัมพันธ์กันทางนามธรรมเช่นกัน หนึ่งในนั้นก็คือ “ตำนาน”
เพราะอะไรน่ะหรือครับ เพราะว่าไม่ว่าจะยุคสมัยจะผ่านพ้นไปเท่าไร มนุษย์ก็ยังมีเรื่องเล่าหรือตำนานสืบต่อกันมาอย่างไม่ขาดสาย ไม่ว่าจะอยู่ในยุคใด ที่ใดบนโลก ก็จะมีเรื่องเล่าในรูปแบบของตำนานเฉพาะตัวในแต่ละพื้นที่ ดังนั้นการสร้างตำนานนั้นอยู่ในธรรมชาติของเรา และเป็นส่วนหนึ่งของเราในฐานะมนุษย์เช่นกันครับ
ตัวเราเป็นใคร? กำเนิดมาจากอะไร? และจะพากันไปที่ไหน? ในยุคที่วิทยาศาสตร์นั้นยังหาคำตอบไม่ได้ มนุษย์อาจเป็นสิ่งมีชีวิตเพียงสปีชีส์เดียวที่สร้างสิ่งที่เรียกว่าตำนานขึ้นมา เพื่อตอบคำถามเหล่านั้น และตำนานที่ถูกสร้างขึ้นมา ยังถูกส่งต้อกันมา รุ่นต่อรุ่นด้วยกลวิธีต่างๆ และตำนานส่วนใหญ่ ยังเป็นตัวกำหนดวิถีชีวิต และรวมไปถึง “ความหมายของการมีชีวิตอยู่” ของแต่ละบุคคล ในยามที่สิ้นศรัทธาต่อสิ่งใดๆ
ดังนั้น ตำนานจึงถือเป็นสิ่งที่ทำให้มนุษย์ทำความเข้าใจโลก ไม่ว่าจะยุคสมัยใด และขจัดข้อสงสัยต่างๆ ที่วิทยาศาสตร์ยังไม่สามารถอธิบายได้ ตำนานยังเป็นเครื่องมือที่ช่วยถ่ายทอดเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ เช่น ตำนานเทพเจ้าในแต่ละพื้นที่ เทพกรีก เทพฮินดู เทพนอร์ส เทพอียิปต์ ล้วนมีจุดร่วมเดียวกันนั่นคือ เป็นคำอธิบายถึงหลักการและที่มาของวัฒนธรรม ความเชื่อ ความคิด วิถีชีวิต ผ่านเรื่องเล่าที่สนุกสนาน และในบางครั้ง ตำนานยังคาดการณ์สิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตเช่นกัน เช่น วันสิ้นโลกก็ตาม ศาสนาฮินดูบอกว่า เมื่อถึงปลายของกลียุค(ยุคที่ศีลธรรมเหลือเพียง 1/4 ของโลก มีแต่คนชั่วช้า ไม่อาจแยกแยะได้ว่าใครเป็นใคร) พระนารายณ์จะอวตารลงมาในรูปของบุรุษขี่ม้าขาว ถือดาบฟาดฟันคนชั่วช้าทั้งหมด และฟื้นฟูโลกขึ้นมาอีกครั้ง ศาสนาพุทธบอกว่า เมื่อจบสมัยของพระโคตมพุทธเจ้า โลกจะอยู่ในความมืดมิด อายุขัยของผู้คนจะเหลือเพียง 10 ปี และในภัทรกัลป์หน้า จะถึงยุคของพระศรีอาริยเมตไตรย หรือพระพุทธเจ้าองค์ที่ห้า โลกจะกลับมาสงบสุขอีกครั้ง ฯลฯ
ตัวอย่างที่ทำความเข้าใจได้ง่ายคือ อวตารของพระนารายณ์ 10 ปาง ที่แต่ละปาง ล้วนมีภารกิจแตกต่างกันไป และในแต่ละปาง ก็ยังมีสาเหตุของวัฒนธรรมและพิธีกรรมที่สืบทอดต่อกันมาในหมู่ศาสนาฮินดู เช่น ทำไมจึงใช้หอยสังข์ในการประกอบพิธีกรรมทางศาสนาฮินดู (ปางที่ 1 มัสยาวตาร) และยังแทรกวิถีชีวิตและความคิดของคนในยุคสมัยที่แต่งขึ้นเช่นกัน ดังเช่นความรักที่พระกฤษณะมีต่อพระนางราธา (ปางที่ 8 กฤษณาวตาร) รวมถึงกรอบความคิดทางศีลธรรมด้วยเช่นกันครับ (ปางที่ 7 รามาวตาร)
อวตารทั้ง 10 ปางของพระนารายณ์ แต่ละปางล้วนมีวัตถุประสงค์แตกต่างกันออกไป
จะเห็นได้ว่า ตำนานมักจะมาคู่กับศาสนาเป็นประจำ เพราะศาสนามีตำนานเป็นเครื่องมือที่ใช้เชื่อมโยงเหล่าผู้ที่นับถือเอาไว้ด้วยกัน ภายใต้ความเชื่อเดียวกัน
ตำนาน ไม่จำกัดว่าจะต้องเป็นสิ่งที่อยู่ในจินตนาการทั้งหมดซะทีเดียวครับ ตำนานบางเรื่องก็อาจมีเค้าโครงหรือแรงบันดาลใจจากประวัติศาสตร์จริง เช่น มหากาพย์รามายณะ ที่เป็นการต่อสู้ระหว่าง “มนุษย์ (พระราม)” กับ “รากษส (ราวณะ หรือ ทศกัณฐ์)” ที่เปรียบเทียบระหว่างการต่อสู้ระหว่างชาวอารยัน (คนขาว) กับ ดราวิเดียน (คนดำ)
และตำนาน มักจะแทรก “ปรัชญา” เอาไว้อย่างแยบคายและกลมกลืนกันอย่างน่าอัศจรรย์ ดังเช่น สงครามทุ่งกุรุเกษตรจากมหากาพย์ก้องโลกอย่าง “มหาภารตะ” ที่รจนาโดยฤาษีวยาส (ตำนานบอกว่าตอนนี้เขาก็ยังมีชีวิตอยู่นะครับ แต่ไม่ทราบว่าอยู่ที่ไหนของโลก) ได้มีการเปรียบเปรยสงครามทุ่งกุรุเกษตรว่าเสมือนสงครามในจิตใจ ระหว่าง จิตฝ่ายธรรมมะ (วิญญาณ) กับจิตฝ่ายอธรรม (อหังการ) และเปรียบเทียบตัวละครของแต่ละฝ่ายในหน้าที่เชิงปรัชญาเช่นกัน เรียกได้ว่าเป็นการรจนาที่ยอดเยี่ยมในการแอบแฝงความหมายที่ยิ่งใหญ่ภายใต้สงครามอันดุเดือดนั่นเองครับ
สงครามทุ่งกุรุเกษตร วันที่ 1 พระกฤษณะกำลังถ่ายทอดภควัทคีตาแก่อรชุน
นี่ก็เป็นภาพรวมคร่าวๆและตัวอย่างของตำนานเรื่องเล่า ที่ผมนำมาฝากทุกท่านในวันนี้นะครับ ตอนต่อไป ผมจะพาทุกท่านไปสู่การยกระดับวรรณกกรรมไปอีกขั้นหนึ่ง เมื่อวรรณกกรรม ถูกแต่งเพื่อจุดประสงค์อันยิ่งใหญ่
“มหากาพย์” (Epic) นั่นเองครับ ติดตามชม เร็วๆนี้

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา