5 ก.พ. 2020 เวลา 15:52 • ประวัติศาสตร์
มหากาพย์ (Epic) part 1 : วรรณกรรมนี้เพื่อชาติ
มหากาพย์ อีเลียด (Iliad) รจนาโดย โฮเมอร์
ใครๆก็รู้จัก รามเกียรติ์ กันใช่ไหมครับ และใครๆก็ล้วนคุ้นเคยกับตำนานเทพนิยายกรีก หรือเทพอินเดียกันใช่ไหมครับ
จากความเดิมตอนที่แล้ว ผมได้เล่าเรื่องเกี่ยวกับตำนานและปกรณัม ว่าแต่งขึ้นมาเพื่อตอบข้อสงสัยต่างๆของมนุษย์ในยุคที่ยังไม่มีวิทยาศาสตร์ และยังส่งต่อตำนานมายังลูกหลานๆต่อไป
แต่คราวนี้ วรรณกรรมไม่ได้ถูกนำมาใช้เพียงเพื่อตอบข้อสงสัยกันแล้ว แต่วรรณกรรมจะต้องรับบทบาทที่ยิ่งใหญ่ทีเดียว
นั่นคือ “มหากาพย์” นั่นเอง
มหากาพย์ในยุคปัจจุบัน มันจะใช้กับอะไรที่ดูยิ่งใหญ่ เช่น ศึกวันแดงเดือด หรือ หนังโรงที่ใช้ทุนสร้างมหาศาล หรือมีภาคต่อมากมาย
ภาพยนตร์ Star Wars ที่มีไตรภาคออกมาแล้วถึง 3 รอบ
แต่ว่า มหากาพย์แต่เดิมนั้น คือรูปแบบหนึ่งของการแต่งวรรณกรรม
นั่นคือ เป็นการแต่งเพื่อสรรเสริญหรือเล่าเรื่องเกี่ยวกับวีรบุรุษและอาจจะมีฉากหลังเป็นเรื่องราวที่มีเค้าโครงมาจากประวัติศาสตร์จริง
1
ทั้งรามายณะ (Ramayana) มหาภารตะ (Mahabharata) อีเลียด (Iliad)โอดิสซีย์ (Odyssey) ดีไวน์ คอมเมดี (Divine Comedy) หรือรู้จักกันในชื่อ ไตรภูมิดันเต (3โลกตามคติของชาวคริสต์) ล้วนเป็นเรื่องราวที่สรรเสริญวีรบุรุษและการเดินทาง และแต่งเพื่อแสดงถึงการเจริญรุ่งเรืองอันยิ่งใหญ่ของแต่ละชาติ
ตัวอย่างเช่น รามายณะ เป็นตำนานของอารยัน เมื่อครั้งสร้างชาติสร้างเผ่า ราม เป็นนักรบของอารยันที่เอาชนะพวก ราพย์ หรือที่เรารู้จักกันในนาม ยักษ์ โดยมีชนพื้นเมืองบางเผ่าที่เรารู้จักกันในนาม ลิง(วานร) เป็นพันธมิตร
มหากาพย์ รามายณะ
หรือมหากาพย์มหาภารตะ ที่เป็นมหากาพย์ที่ยาวที่สุดในโลก (ยาวกว่าเรื่องข้างบนทั้งหมดมารวมกัน) ที่เกี่ยวกับสงครามระหว่างเชื้อพระวงศ์ 2 ฝ่ายที่เป็นญาติกัน นั่นคือ ฝ่ายปาณฑพ(ธรรมมะ) และฝ่ายเการพ (อธรรม) รจนาโดยฤาษีวยาส ที่เป็นปู่ของทั้งสองฝ่าย (เดี๋ยวผมจะมาเล่าในครั้งต่อไป) โดยท่านรจนา และอัญเชิญพระพิฆเนศ มาจดบันทึกเรื่องราว
ฤาษีวยาส (Vyasa) กำลังรจนามหากาพย์มหาภารตะ จดบันทึกโดยพระคเณศ
ด้วยเนื่องที่มหาภารตะเป็นมหากาพย์ที่ยาวที่สุดในโลก เล่าเรื่องยืดยาว ผสมผสานทั้งปกรณัม ประเพณี ศาสนา ปรัชญา วัฒนธรรม และวิถีชีวิตไว้อย่างละเอียด จึงว่ากันว่า สิ่งใดที่มหาภารตะไม่ได้บอกเอาไว้ สิ่งนั้นไม่มีในโลก (ก็จริงครับ มีครบจริงๆ)
โดยเฉพาะ ภควัทคีตา (Bhagavad Gita) บทที่ได้รับความนิยมมากที่สุด เป็นการสนทนาธรรมระหว่างพระผู้เป็นเจ้า (กฤษณะ) และ มนุษย์ (อรชุน) คำถามของมนุษย์ และคำตอบอันพิสุทธิ์ของพระเจ้า คือปัญญาจักรวาล ที่เปิดทางให้มนุษย์เดินทางไปสู่ปรมาตมัน
พระกฤษณะ เผยร่างที่เรียกว่า “วิศวรูป” แก่อรชุน มีเศียรนับไม่ถ้วน สะท้อนถึงสกลจักรวาลอันไร้ขีดจำกัด
นี่เองก็เป็นตัวอย่างที่แสดงถึงความยิ่งใหญ่ของการแต่งมหากาพย์ครับ
อีกหนึ่งตัวอย่างที่มีการสรรเสริญวีรบุรุษและการศึกสงคราม นั่นคือ มหากาพย์อีเลียด (Iliad) รจนาโดย โฮเมอร์ (Homer) กวีตาบอดชาวกรีก เป็นสงครามระหว่างกรีก กับ ทรอย เหตุแห่งสงครามนั้น เกิดจากเหล่าทวยเทพ แต่ปัญหากลับตกอยู่กับมนุษย์ เพียงเพื่อจะตัดสินกันว่า “ใครสวยที่สุด”
ภาพเขียน Le jugement de Pâris โดย Rubens, Pierre Paul (1577-1640)
และมหากาพย์อีเลียด ยังแสดงถึงจิตใจของมนุษย์แต่ละแบบ ที่มองเห็นสิ่งที่สำคัญสำหรับตนแตกต่างกันไป ดังเช่นเจ้าชายปารีส ที่เลือก “ผู้หญิงที่สวยที่สุดในโลก” ซึ่งเป็นพรของเทพีอะโฟรไดท์ที่ตัดสินว่านางสวยที่สุด แทนที่จะเลือก “อำนาจ” จากเทพีเฮรา หรือ “สติปัญญา” จากเทพีอเธนา
แม้ว่าจะมีการสรรเสริญวีรบุรุษ แต่ถึงกระนั้น ก็ยังแสดงถึงจุดบกพร่อง หรือจุดอ่อนของวีรบุรุษ ดังเช่นสำนวน “Achilles Heel” เนื่องจากอะคิลลิส วีรบุรุษฝั่งกรีก มีร่างกายที่คงกระพัน เนื่องจากตอนเด็ก มารดาเคยนำไปจุ่มในแม่น้ำ Styx มีเพียงข้อเท้าที่ไม่ถูกน้ำ จึงไม่คงกระพัน นี่จึงเป็นสาเหตุการตายของอะคิลลิส ไม่ว่าจะแข็งแกร่งแค่ไหน ก็ยังมีจุดอ่อน นี่คือสัจธรรม
Achilles Heel
แน่นอนว่า มหากาพย์ทุกเรื่อง สิ่งที่ขาดไม่ได้ก็คือ “เหล่าทวยเทพ” เพราะเหล่าทวยเทพ ส่วนมากจะย่อมเข้าข้างวีรบุรุษ และคอยมอบพลังหรืออุปถัมภ์วีรบุรุษให้ผ่านพ้นอุปสรรคไปได้ วีรบุรุษจึงนับถือเทพเจ้า ดังเช่น การบำเพ็ญตบะของอรชุนเพื่อรับศรปาศุปัตจากองค์พระศิวะ เพื่อใช้รบกับฝ่ายเการพ ในสงครามทุ่งกุรุเกษตร
พระศิวะ ประทานศรปาศุปัตแก่อรชุน
มหากาพย์ ไม่เพียงแต่เป็นเรื่องของการศึกเพียงอย่างเดียว ยังมีมหากาพย์บางเรื่อง ที่ดูคล้ายกับนิทานปรัมปราอย่างแยกไม่ออก เช่น The Divine Comedy หรือ La divina commedia ของดันเต อาลีกิเอรี กวีชาวอิตาลี แต่งขึ้นเพื่อสะท้อนให้เห็นถึงพัฒนาการทางความเชื่อเกี่ยวกับสามโลก ตามคติของศาสนาคริสต์โรมันคาทอลิกที่นับถือกันอย่างมากในอิตาลีในช่วงที่กำลังเฟื่องฟู (เห็นไหมครับ มหากาพย์มักมาพร้อมการสร้างชาติหรือพัฒนาการของชาติ)
นรกภูมิ (Inferno) ของดันเต วาดโดย Botticelli
และไตรภูมิดันเต ยังเป็นธีมหลักของนิยายสืบสวนแนวประวัติศาสตร์ของนักเขียนขายดีอันดับ 1 แห่งทศวรรษ แดน บราวน์ (Dan Brown) ในเรื่อง Inferno เช่นกัน
จะเห็นได้ว่า มหากาพย์ ไม่ว่าจะยุคไหน สมัยใด มหากาพย์เปรียบเสมือนดาวค้างฟ้าที่ส่องสว่างโชติช่วงที่สุดในโลกวรรณกรรม สร้างแรงบันดาลใจและเผยปรัชญาชีวิตอันล้ำค้าแก่คนรุ่นหลัง และรอคอยให้คนรุ่นต่อๆมา ได้มาพบเจอเรื่องราวอันแสนล้ำค้าที่ผู้คนในอดีตฝากฝังเอาไว้ ทั้งความกล้าหาญและสติปัญญาของวีรบุรุษ รวมถึงปริศนาธรรมอันแยบคายที่ซ่อนไว้ในเรื่องราว เป็นปัญญาอดีต ที่จะส่องสว่างไปยังอนาคต
คงจะยาวเกินไปแล้ว ขอจบไว้แต่เท่านี้ แล้วมาต่อกันใน “มหากาพย์ ตอนที่ 2 : เมื่อทวยเทพพิโรธ” กันนะครับ

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา