Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
The Mythology
•
ติดตาม
29 ก.พ. 2020 เวลา 10:55 • ประวัติศาสตร์
มหากาพย์ (Epic) ตอนที่ 2 : เมื่อทวยเทพพิโรธ
สวัสดีครับ ขออภัยที่หายหน้าหายตาไปนาน พอดีผมเพิ่งสอบเสร็จพอดี ปิดเทอมแล้ว เย้! วันนี้ผมมาต่อเรื่องมหากาพย์ตามสัญญาครับ
จะเกิดอะไรขึ้น หากทวยเทพพิโรธเหล่าวีรบุรุษ
ในวรรณกรรมมหากาพย์ นั้นล้วนเป็นการสรรเสริญการกระทำและวีรกรรมของวีรบุรุษ ดังที่ผมได้เล่าไปในตอนแรก ไปย้อนอ่านกันได้นะครับ
และก็แน่นอนครับ ที่ทวยเทพจะมีเอี่ยวด้วย ทั้งคอยให้พร หรือช่วยเหลือวีรบุรุษ ดังที่พบเห็นใน มหาภารตะ อีเลียด หรือ โอดิสซีย์ ซึ่งเล่าไปแล้วในตอนแรก
แต่ก็แน่ละครับ ถ้าไม่มีอุปสรรค ย่อมไม่ก่อให้เกิดวีรบุรุษ
หนึ่งในอุปสรรคนอกจากเหล่าอสุรกาย คือความพิโรธของทวยเทพ
โอดิสซุส ที่ถูกจองล้างจองผลาญจากเทพแห่งท้องทะเล โพไซดอน
ในมหากาพย์ภาคสองอย่าง โอดิสซีย์ ตัวเอกอย่างโอดิสซุส ซึ่งเป็นคนต้นคิดกลศึกม้าไม้กรุงทรอย เมื่อได้รับชัยชนะ เขาได้กู่ร้องด้วยความดีใจว่า
นี่เป็นชัยชนะของมนุษย์แต่เพียงมนุษย์เท่านั้น มิได้มีมือของเทพเข้ามาช่วยเลย
ถือเป็นการป่าวประกาศว่า มนุษย์นั้นมีความสามารถมากล้นจนไม่ต้องพึ่งพาเทพเจ้า (ก็จริงนะครับ เทพไม่ได้เข้ามายุ่งเลย)
เห็ยแบบนี้ โพไซดอนก็ทรงพิโรธมากสิครับ หมิ่นเกียรติกันขนาดนี้
จึงได้สาปให้โอดิสซุส ต้องร่อนเร่กลางทะเลเป็นเวลากว่า 10 ปี กว่าได้กลับบ้าน แล้วการเดินทางกลางทะเลที่ต้องผ่านอุปสรรคมากมายนานัปการ ก็เป็นการแสดงให้เห็นถึงปรีชาสามารถของโอดิสซุสในการเอาตัวรอดจากสถานการณ์เลวร้ายต่างๆ นี่ก็เป็นสิ่งพิสูจน์ให้เห็นถึงพลังของมนุษย์เอาตัวรอดได้ด้วยตัวมนุษย์เอง
ในมหากาพย์เกือบทุกเรื่อง แม้ว่าตัวเอกจะได้รับการช่วยเหลือจากเหล่าเทพบ้าง แต่สุดท้าย ในส่วนใหญ่ พวกเขาก็ขจัดอุปสรรคด้วยตนเอง
โอดิสซุส กับเหล่าไซเรน
นี่เป็นแง่คิดอันลึกล้ำ ที่ถ่ายทอดกันมาผ่านมหากาพย์อันยิ่งใหญ่
เป็นสัจธรรมแห่งชีวิต ที่ต้องต่อสู้ ฝ่าฟัน และพิชิต ด้วยกำลังของตนเอง เชื่อในศักยภาพของตนเอง พลังอันลึกล้ำที่สำแดงออกมาในตัวมนุษย์
แล้วคุณล่ะ เชื่อในศักยภาพของตัวคุณเองหรือยัง และพร้อมจะฝ่าฟันมหาภัยด้วยพลังของคุณหรือยัง เหมือนดังโอดิสซุส ที่ไม่สิ้นศรัทธาต่อความหวัง และสามารถกลับถึงบ้านได้ในที่สุด
อีกตัวอย่างของเทวาพิโรธ ขอยกตัวอย่างเรื่องราวส่วนหนึ่งของมหาภารตะครับ
ครั้งเมื่อเหล่าเจ้าชายแห่งปาณฑพ ได้ครบกำหนดลี้ภัยในป่าเป็นเวลา 13 ปี จากสกาพนัน ได้กลับมาทวงสัญญาคืนอาณาจักรจากฝ่ายเการพ ญาติผู้ชั่วร้าย
โดยเจรจากันมาแล้ว 2 ครั้ง ก็ยังไม่เป็นผล ฝ่ายปาณฑพจึงได้เชื้อเชิญพระกฤษณะ อวตารปางที่แปดของพระวิษณุ ในนามแห่งพระผู้เป็นเจ้า ไปเป็นฑูตเจรจา โดยขอเพียง 5 หมู่บ้าน แลกกับสันติภาพ
ฝ่ายเการพ ซึ่งมีทุรโยธน์เป็นพี่ใหญ่ ได้ผิดสัญญาอีกครา ลั่นวาจาว่า แม้แต่ที่ดินปลายเข็ม ก็ไม่ยกให้ ในท้องพระโรง แม้แต่ผู้อาวุโสอันทรงเกียรติ ก็ไม่ท้วงติงทุรโยธน์ คำพูดของวิฑูร เสนาบดีผู้ทรงธรรม ในนามของยมราช ก็เป็นแค่เพียงลมปาก
แสดงให้เห็นว่า คนส่วนใหญ่มักจะเมินเฉยต่อการเอารัดเอาเปรียบ ไม่ต่างจากยุคสมัยนี้
นี่ถือเป็นการคอร์รัปชั่นบ้านเมืองในยุคโบราณ
ไม่คืนให้ยังไม่พอ ยังสั่งให้ทหารจับตัวพระกฤษณะเอาไว้
พระกฤษณะทรงพิโรธ ลั่นวาจากลับไปว่า
“เจ้าโง่ทุรโยธน์ คิดหรือว่าจะจับข้าได้”
เห็นดังนั้น องค์ภควันกฤษณะ ก็ได้เผยสำแดงรูปลักษณ์อันแสนน่าพรั่นพรึง เรียกว่า วิศวรูป (Vishvarupa)
การสำแดงรูปนี้ มีเศียรนับไม่ถ้วน แต่ละเศียรล้วนน่าสะพรึงกลัว มีไฟพ่นออกมาจากปาก และปรากฏใบหน้าของเหล่าเทพเจ้าทั้งหมด เปวลไฟแสดงถึงการทำลายล้าง เหล่าทวยเทพหมายถึงสรรพสิ่งต่างๆในจักรวาล และมีกระแสธารแห่งการสรรค์สร้างออกมาเช่นกัน
พระกฤษณะแสดงวิศวรูปกลางราชภาแห่งหัสตินาปุระ
การสำแดงรูปนี้ แสดงให้เห็นถึงสัจธรรมแห่งธรรมชาติอันยิ่งใหญ่ ที่มีสิ่งที่เป็นขั้วตรงข้ามกันรวมอยู่ด้วย มนุษย์เป็นเพียงแค่เศษอณูเมื่อมาอยู่ต่อหน้าธรรมชาติอันน่าสะพรึงกลัว
พวกทุรโยธน์ที่ได้เห็นรูปนี้ ต่างพากันหวาดกลัว แม้แต่ธฤษตราษฎร์ ราชาตาบอด บิดาของทุรโยธน์ ก็ยังได้ประจักษ์ถึงความน่าสะพรึงด้วยสายตาที่มืดบอดนี้
พระกฤษณะบอกว่า นี่เป็นการเตือนถึงจุดจบแห่งวงศ์เการพ
แล้วก็เป็นเช่นนั้นครับ ฝ่ายเการพมากด้วยอวิชชาและกิเลส ได้พ่ายแพ้สงครามอย่างหมดรูป
ความพ่ายแพ้ของทุรโยธน์ ในสงครามวันที่ 18
บทเรียนสำหรับฝ่ายเการพคือ ความอหังการที่แสดงออกมานั้น ล้วนเป็นเพียงเศษอณูแห่งสัจธรรมจักรวาลเท่านั้น และย่อมถูกลงโทษโดยน้ำมือขององค์ภควัน
นี่เป็นอีกหนึ่งบทเรียน ที่ถ่ายทอดกันมาจากมหากาพย์โบราณ ที่ยังตอบโจทย์สังคมในยุคปัจจุบัน ที่ความอหังหารครอบงำจิตใจของมนุษย์ส่วนใหญ่ ดังเช่นทุรโยธน์ จึงทำเกิดงความขัดแย้งกันบนโลกนี้นับไม่ถ้วน
แต่ผู้ที่ภักดีต่อองค์ภควันนั้น ย่อมได้รับการชี้ทางจากพระองค์ เพื่อเดินไปสู่หนทางแห่งชัยชนะ
พระกฤษณะ และเหล่าพี่น้องปาณฑพ ตัวแทนแห่งธรรมะ
นี่ก็เป็นสาเหตุที่วรรณกรรมประเภท “มหากาพย์” ถูกยกย่อง นอกจากเนื้อเรื่องที่น่าสนุกและยิ่งใหญ่แล้ว ยังแฝงแง่คิดทางสัจธรรมอันลึกซึ้ง แต่ก็ยาก ที่จะมีคนมาถอดความมันออกมาได้
สุดท้ายนี้ แม้ว่าในปัจจุบัน เราไม่อาจสร้างสรรรค์ผลงานประเภทมหากาพย์ได้อีก แต่สิ่งที่ทำได้คือ เรียนรู้จากมหากาพย์ที่ผู้สร้างสรรค์ได้ถ่ายทอดออกมาด้วยจิตวิญญาณ และนำคุณค่าที่ได้ ออกสู่การใช้ชีวิตในโลกที่แสนโกลาหลเช่นนี้
เอาล่ะครับ ขอจบเรื่อง มหากาพย์ไว้เพียงเท่านี้ ต่อไป ผมจะนำเสนอเรื่องราวที่แสนหรูหราในโลกวรรณกรรม “โศกนาฏกรรม (Tregedy)” ครับ
บันทึก
5
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
On Literature “ว่าด้วยวรรณกรรม"
5
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย