8 มี.ค. 2020 เวลา 04:16 • ปรัชญา
พระราม พระกฤษณะ : ศีลธรรมประจำยุคสมัย
วันนี้ผมขอนำเสนอเรื่องราวสั้นๆก่อนไปขึ้นประเด็นใหม่นะครับ นี่เป็นเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยเกี่ยวกับ 2 มหากาพย์อย่างรามายณะและมหาภารตะ มหากาพย์ที่ยิ่ใหญ่ของอินเดีย
พระราม (ฝั่งซ้าย) และพระกฤษณะ (ฝั่งขวา)
รามายณะ เป็นเรื่องราวของพระราม อวตารแห่งพระวิษณุปางที่ 7 ทรงอวตารลงมาเพื่อปราบอสูรร้ายนาม ราวณะ หรือ ราพณาสูร (ทศกัณฐ์นั่นแหละ) ในยุคที่ 2 หรือ ไตรดายุค ตามคติฮินดู
พระราม ปราบราพณาสูร
ไตรดายุคเป็นยุคที่ศีลธรรมบนโลกเป็น 3 ใน 4 ส่วน หลังจากกฤตยุค ยุคแรกสุด
กงล้อแทนยุคทั้งสี่ตามคติฮินดู กฤตยุคคือส่วนที่ 1-4 ไตรดายุคคือส่วนที่ 5-7 ทวาปรยุคคือ 8-9 และกลียุค ยุคสุดท้ายคือส่วนที่ 10
ในไตรดายุคนี้ ความชั่วร้ายหรืออธรรมนั้น ล้วนเกิดจากฝีมือของเหล่าอสูรเท่านั้น ไม่ใช่น้ำมือของมนุษย์
ส่วนมหาภารตะ เป็นเรื่องราวของพระกฤษณะ อวตารปางที่ 8 แห่งองค์นารายณ์ ที่อวตารลงมาเพื่อปราบท้าวกังสะ ลุงผู้ชั่วร้ายของพระกฤษณะ และเพื่อมาช่วยเหลือฝ่ายปาณฑพ หรือฝ่ายธรรมมะในการรบกับฝ่ายเการพ หรือฝ่ายอธรรม
พระกฤษณะ ปราบท้าวกังสะ เพื่อปลดปล่อยท้าววาสุเทพและนางเทวกี บิดาและมารดาผู้บังเกิดเกล้า
พระกฤษณะยังได้ถ่ายทอดคัมภีร์ภควัทคีตาแก่เจ้าชายอรชุน พระญาติฝ่ายปาณฑพ เกี่ยวกับเหตุผลที่จะต้องสู้ ความลับในจิตใจ หลักโยคะธรรม การหลุดพ้น และรูปลักษณ์แห่งสกลจักรวาล ซึ่งถือเป็นบทสรุปแห่งคัมภีร์พระเวท และต่อมา ก็เป็นส่วนที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในมหากาพย์มหาภารตะ และยังถูกนำออกมาเป็นคัมภีร์เล่มแยกอีกด้วย
พระกฤษณะ ถ่ายทอดภควัทคีตาแก่อรชุน ผู้บังเกิดความโลเลเมื่อยามจะรบ
พระกฤษณะอวตารลงมาในยุคที่ 3 หรือทวาปรยุค ยุคที่ศีลธรรมบนโลกเหลือครึ่งหนึ่งเท่านั้น และเป็นยุคที่ความชั่วร้ายเริ่มเกิดจากน้ำมือของเหล่ามนุษย์ ดังเช่นท้าวกังสะ หรือ ทุรโยธน์ พี่ชายคนโตของเการพ ฝ่ายอธรรม
คราวนี้ ศีลธรรม กับ ธรรมชาติ ต่างกันเช่นไร
ในคติฮินดู เชื่อว่า ธรรมชาติที่แท้นั้น มีทั้งสิ่งที่ได้รับการขัดเกลา และไม่ได้รับการขัดเกลา
เปรียบเสมือนป่ารกร้างที่ยังไร้ระเบียบ แต่ก็สวยงามเป็นเอกภาพ และยังมิถูกควบคุม
ศีลธรรม ก็คือการเข้าไปควบคุมธรรมชาติ ให้มีความเป็นระเบียบ เหมือนการถางป่าเพื่อสร้างอาณาจักรอันวิจิตร
ศีลธรรม(สี่เหลี่ยม) และ ธรรมชาติ(วงกลม)
คราวนี้ ศีลธรรม ในแต่ละยุค เป็นอย่างไร?
เริ่มที่ ไตรดายุค ยุคของพระราม
ในยุคของพระรามที่อธรรมยังมิเกิดกับมนุษย์ พระรามจึงมีอุปนิสัยเที่ยงตรง หนักแน่นในหน้าที่ และมั่นคงในความยุติธรรม
แสดงให้ว่า ความมั่นคง หนักแน่นในหน้าที่ คือธรรมะ ที่จักเอาชนะอธรรมบริสุทธิ์อย่างอสูรราวัณได้
แม้ว่า ความหนักแน่นในธรรมะ จะต้องสูญเสียนางสีดาไปชั่วชีวิต (รามายณะฉบับ original ไม่เหมือนรามเกียรติ์ไทยนะครับ)
พระราม และ นางสีดา
ด้วยคำสาปมาแต่กาลก่อนของพระนารายณ์ ที่ถูกสาปไว้ว่า จะต้องแยกจากนางอันเป็นที่รัก เมื่อครั้งต้องอวตารลงมาเป็นพระราม
เพื่อความสุขของไพร่ฟ้าประชาราษฎร์ พระรามจึงจำเป็นต้องละทิ้งความสุขส่วนตน เพื่อส่วนรวม ถือเป็นการเสียสละโดยแท้จริง แม้ว่าสิ่งได้มา จะเป็นเพียงความทุกข์ระทม
การเสียสละอันยิ่งใหญ่ จึงมิใช่สิ่งใด หากแต่เป็นการเสียสละเพื่อปวงชน
นางสีดาก็เช่นกัน นางทรงเข้าใจในตัวสามี และเพื่อรักษาเกียรติของสามีเอาไว้ นางจึงจำเป็นต้องจากไป
แต่ถึงกระนั้น องค์รามก็มิได้เกี่ยวพันกับหญิงคนใดอีก ทรงมีแต่นางสีดาอยู่ในหัวใจ จนสิ้นชีวี ตราบสิ้นไตรดายุค
คราวนี้ มาถึงศีลธรรมในยุคที่ 3 ยุคแห่งองค์กฤษณะ
พระกฤษณะเต้นรำกับเหล่านางโคปี(สาวเลี้ยงวัว) กินเวลานานถึง 6 เดือน
พระกฤษณะ คือตัวแทนแห่งศีลธรรมในยุคที่มนุษย์นั้นเป็นสีเทา ไม่มีผ่ายไหนดีบริสุทธิ์ หรือเลวบริสุทธิ์ ดังเช่นเรื่องราวในมหาภารตะ
ทุกตัวละครล้วนมีสองด้าน มีเล่ห์เหลี่ยมแพรวพราว ไม่ใช่ธรรมะ ปะทะ อธรรม ที่แท้
ดังนั้น องค์ภควันในยุคแห่งสีเทานี้ ควรจะเป็นเช่นไร
อุปนิสัยของพระกฤษณะนั้น คือศีลธรรมที่ยืดหยุ่นได้ มีได้เถรตรงเหมือนยุคพระราม แต่กลับมากด้วยเล่ห์เหลี่ยม แพรวพราว ทรงเสน่ห์ และมีชายาหลายองค์ เพื่อเป็นไปตามครรลองแห่งยุคสมัยสีเทา
พระกฤษณะ และเหล่าชายา
การมีชายาหลายองค์นั้น อาจจะเป็นไปเพื่อความสัมพันธ์ทางการเมือง และการผูกสัมพันธ์ไมตรีกับดินแดนต่างๆ เพื่อความมั่นคงของอาณาจักร
แต่ถึงกระนั้น ความรักของพระองค์กลับเป็นความรักที่แสนวิเศษ ไม่ต่างจากความรักของพระรามกับนางสีดา
หากความรักขององค์รามกับสีดานั้นคือความเสียสละแล้วไซร้
ความรักขององค์กฤษณะกับนางราธา ก็คือความรักที่มั่นคง มิต้องการครอบครอง และเฝ้าคอยอย่างเชื่อมั่น
พระกฤษณะ และนางราธา
นางราธา เป็นเพื่อนเล่นกับพระกฤษณะมาตั้งแต่เยาว์วัย และคอยอยู่เคียงข้างพระกฤษณะมาตลอดจนกระทั่งพระองค์จำต้องจากบ้านเกิด ไปเป็นกษัตริย์ ณ แดนห่างไกล
ถึงกระนั้น นางราธาก็ยังรักพระกฤษณะกลับมาอย่างไม่เสื่อมคลาย และเฝ้ารอว่าสักวันหนึ่ง พระกฤษณะจะกลับมาหานาง แม้ว่าเวลาจะผ่านไปนานแค่ไหน พระนางก็ยังเฝ้ารออยู่ ณ ที่เดิมที่เคยอยู่ด้วยกัน ไม่เคยจะหวังว่าจะต้องอยู่เคียงข้างกัน แค่มีความรักให้แก่กัน ก็เพียงพอ
ศีลธรรม กับ ความรัก จึงเป็นสิ่งที่ควรพูดถึงร่วมกันอย่างหลีกเลี่ยงมิได้
พระกฤษณะ ยังมีวีรกรรมที่น่าจดจำอยู่ในสงครามทุ่งกุรุเกษตร คือการช่วยเหลือให้ฝ่ายปาณฑพซึ่งมีกำลังพลน้อยกว่าฝ่ายเการพเกือบเท่าตัว
ด้วยวิถีทางที่ธรรมะจะชนะอธรรม พระกฤษณะก็ไม่ลังเลที่จะใช้เล่ห์กลศึกเพื่อเอาชนะด้านกำลัง
อุบายสังหารท้าวชยัทรถในตอนกลางคืนของพระกฤษณะ โดยใช้จักรสุทรรศน์บังแสงอาทิตย์ ทำให้เหมือนว่าเป็นกลางคืน เพื่อให้ทหารฝ่ายตรงข้ามถอยทัพ
ดังนั้น ศีลธรรมในยุคแห่งสีเทานี้ ก็ไม่ใช่สิ่งใด นอกจากการยืดหยุ่นและปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ ความเถรตรงมิอาจนำมาใช้ได้ ในบางกรณี
กรอบสี่เหลี่ยม แทนศีลธรรม สังเกตว่า ศีลธรรมในยุคพระราม ไม่จำเป็นต้องอยู่ในระนาบเดียวกับพระกฤษณะ แต่อย่างไรก็ตาม ศีลธรรม ก็ยังเป็นศีลธรรมดังเดิม
การจะใช้ชีวิตอย่างถูกวิธีในโลกนี้ก็เช่นกัน คำตอบที่ถูกต้อง มิได้มีอยู่เพียงคำตอบเดียว อยู่ที่ว่า คุณ จะเลือกเส้นทางใด
2
ขอบคุณที่ติดตามนะครับ นี่เป็นเรื่องที่ยังไงก็อยากจะเขียนหากพูดถึงพระกฤษณะกับพระรามจากคราวที่แล้ว ครั้งหน้า สัญญาว่าจะขึ้นเรื่อง โศกนาฏกรรม (Tragedy) แน่นอนครับ
1

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา