29 มี.ค. 2020 เวลา 18:39 • ปรัชญา
Tragedy (โศกนาฏกรรม) : วรรณกรรมอันสูงส่ง
ฉากหนึ่งใน Fate/Zero ซีรีย์ของวรรณกรรมที่แสดงให้เห็นปมโศกนาฏกรรมของตัวละครได้ชัดเจน
สวัสดีครับ ช่วงนี้โลกก็อยู่ในจุดที่น่าเป็นห่วงพอสมควร สถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ทำให้หลายๆคนอยู่ในภาวะที่อาจจะไม่ค่อยน่าจะสบายใจเท่าไหร่กับการกักตัวในบ้าน
และสถานการณ์ก็ค่อนข้างจะตึงเครียด เมื่อกราฟยอดผู้ป่วยยังไม่มีทีท่าว่าจะดิ่งลงในหลายๆประเทศ หลายคนว่า มันเป็นโศกนาฏกรรม
แต่ว่า โศกนาฏกรรม มันคืออะไรนั้น ผมจะมาให้คำตอบแก่ทุกท่านเอง
จะว่าไปนั้น โศกนาฏกรรม ก็ไม่อาจเป็นอะไรไปนอกเหนือจาก วรรณกรรมรูปแบบหนึ่ง แต่มันมีวรรณศิลป์อันสมบูรณ์แบบเหนือวรรณกรรมรูปแบบใดๆ บ้างก็ว่าเป็นจุดสูงสุดของวิวัฒนาการอันยาวนานของวรรณกรรม
อริสโตเติล ปราชญ์ชาวกรีกโบราณ ได้วิจารณ์วรรณกรรมแนวโศกนาฏกรรมไว้ในงานเขียนของเขา ที่ชื่อว่า Poetics
poetics งานเขียนศึกษากลไกของวรรณกรรม โดย อริสโตเติล
อริสโตเติลได้ให้ความเห็นว่า โศกนาฏกรรมนั้น เป็นการลอกเลียนแบบ (mimesis) การกระทำหนึ่ง (หมายความว่า เป็นเรื่องที่เคยเกิดขึ้นแล้วในความเป็นจริง) ที่มีสาระจริงจัง และภาษาที่ใช้นั้นต้องได้รับการขัดเกลาจนเป็นภาษาที่ลึกซึ้ง และเรื่องราวนั้นต้องเข้มข้น ต้องนำเสนอในรูปแบบของละครเท่านั้น (ในสมัยนั้นเชื่อว่าละครจะถ่ายทอดอารมณ์ได้ชัดเจนกว่าตัวหนังสือ ยิ่งเป็นโศกนาฏกรรมก็แสนจะเกินบรรยาย)
และสุดท้าย สิ่งที่โศกนาฏกรรมตั้งใจจะนำเสนอก็คือ อารมณ์สงสาร (Pity) และความหวาดกลัว (Fear) จนถึงสามารถกำจัดอารมณ์แบบนี้ได้หมดสิ้น (ผมจะกล่าวเชื่อมโยงกับงานเขียนของดาไซ โอซามุอีกทีครับ)
Herbert J. Muller
และเฮอร์เบิร์ต เจ มูลเลอร์ (Herbert J. Muller) นักวิชาการละคร ได้ให้คำนิยามที่แสนเฉียบคมว่า โศกนาฏกรรม ไม่ได้ขึ้นอยู่กับเนื้อเรื่อง แต่ขึ้นอยู่กับเป้าหมายที่จะนำเสนอ และสิ่งนั้นก็คือ ความทุกข์ระทมของชีวิตมนุษย์ และชะตากรรม (Fate) อันแสนโหดร้าย ที่มิอาจจะหลีกหนีจากมันได้ และสิ่งนี้ มันอยู่เหนือกฏของกรรม ที่ว่าทำดี-ได้ดี ทำชั่ว-ได้ชั่ว และเชื่อว่าเป็นสิ่งที่ชักนำให้เกิดความสิ้นหวังในหมู่มวลมนุษย์บนโลก
ใน Poetics อริสโตเติลได้ยกตัวอย่างเรื่อง Oedipus Rex ซึ่งเป็นโศกนาฏกรรมที่เขียนขึ้นโดยโซโฟคลีส (Sophocles) กวีชาวกรีกโบราณ
โซโฟคลีส (Sophocles)
เรื่องราวของอีดิปุส (Oedipus) ใช่ครับ คนเดียวกับที่ตอบปัญหาของสฟิงซ์ได้นั่นเอง แต่เราจะไม่สนใจในประเด็นนี้ เพราะเขาคนนี้ มีชะตากรรมที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงอยู่
ผมขอเล่าเรื่องนี้แบบสั้นๆนะครับ เรื่องมีอยู่ว่า เทพพยากรณ์แห่งเดลฟี ผู้มีพลังหยั่งรู้สิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้ พยากรณ์เอาไว้ว่าบุตรที่เกิดจากกษัตริย์ไลอัสและราชินีโจคาสตาแห้งเมืองทีปส์ จะเป็นผู้สังหารบิดา และสมรสกับมารดาตนเอง และจักนำหายนะมาสู่บ้านเมือง นี่เป็นโชคชะตาที่มิอาจหลีกเลี่ยง
และเมื่ออีดิปัสกำเนิด ไลอัส จึงนำเด็กทารกไปทิ้งไว้บนภูเขารอความตาย แต่ถึงกระนั้น โชคชะตาก็ดำเนินไป เด็กทารกนั้นกลับรอดตาย และได้เป็นลูกบุญธรรมของพระราชาและราชินีแห่งเมืองโครินธ์
เมื่อเติบใหญ่ อีดิปุสได้ทราบถึงคำทำนายว่าเขาถูกลิขิตให้ฆ่าบิดาและมารดาของตนเอง (แต่คงจะไม่ได้บอกอีดิปุสว่าพ่อแม่ที่แท้จริงเขาคือใคร) เขาอนุมานว่าคงจะเป็นบิดามารดาของตนที่เมืองโครินธ์ เขาจึงหนีจากเมืองโครินธ์ไปยังเมืองทีปส์ เมื่อไปถึง เขากลับพลั้งมือฆ่าผู้โดยสารรถศึกที่ผ่านมา โดยหารู้ไม่ว่า เขาคือพ่อบังเกิดเกล้าของตนเอง กลายเป็นว่า เขาฆ่าบิดาตามคำทำนายด้วย "อารมณ์ชั่ววูบ"
เขาเดินทางต่อไปจนพบสฟิงซ์ สัตว์ประหลาดที่คอยปลิดชีพนักเดินทางที่ผ่านมาหากตอบคำถามของตนไม่ได้
อีดิปุส และสฟิงซ์
คำถามมีอยู่ว่า สัตว์อะไร เดินสี่ขาในตอนเช้า เดินสองขาในตอนกลางวัน และเดินสามขาในตอนกลางคืน
แต่อีดิปุส กลับแก้ปริศนานั้นได้ นั่นคือ มนุษย์ เพราะวัยทารกเราคลานด้วยสี่เท้า วัยหนุ่มเราเดินด้วยสองเท้า และวัยชราเราใช้ไม้เท้าค้ำ สฟิงซ์อับอายและปลิดชีพตนเอง
เมืองทีปส์สำนึกในบุญคุณของอีดิปุสและแต่งตั้งเขาเป็นผู้ปกครองเมืองทีปส์แทนไลอัสที่เสียชีวิตไป และได้อภิเษกสมรสกับราชินีโจคาสตา ที่เพิ่งตกพุ่มหม้ายไป ตอนนี้ไม่มีใครตระหนักถึงชะตากรรมที่กำลังจะตามมา
อีดิปุสได้มีบุตรกับโจคาสตา เขาเป็นสามีและพ่อที่ดี แต่หลายปีต่อมา เมืองทีปส์กลับมีโรคระบาด ผู้คนล้มตายเป็นบือ (คงจะเหมือน COVID ในยุคนี้) พืชพันธุ์ธัญญาหารปลูกไม่ขึ้น บ้านเมืองเกิดเหตุอาเพศ สตรีมิอาจคลิดบุตรได้ เหมือนดั่งเมืองนี้ต้องคำสาป
อีดิปุส (คนกลาง) เมื่อยามบ้านเมืองเกิดเหตุอาเพศ
เพราะอะไรน่ะหรือ เพราะอีดิปุสได้กระทำสิ่งที่เหล่าทวยเทพมิอาจให้อภัยได้ นั่นคือกระทำปิตุฆาต (ฆ่าบิดาของตนเอง) และการสมสู่ในครอบครัว (แต่งงานกับแม่ตนเอง พร้อมมีบุตรกับมารดาแล้วถึง 4 คน)
เมื่อทั้งคู่ได้ทราบความจริงอันแสนโหดร้ายจากโหรตาบอดเทรีซิอัส โจคาสตาผูกคอตายในห้องที่มีสัมพันธ์ครั้งแรกกับอีดิปุส
ส่วนอีดิปุสนั้น เขาอยู่ในภาวะที่เศร้าโศกเสียใจมากที่สุด กับโชคชะตาที่ถูกลิขิตไว้ ซึ่งเขาไม่อาจหลีกเลี่ยงมันได้เลย
เมื่อเขาได้เห็นร่างของมารดาที่ไร้วิญญาณ เขาจึงคว้าเข็มกลัดของโจคาสตาแทงตาตัวเองจนบอดสนิท และสละราชบัลลังก์ให้บุตรชาย และใช้ชีวิตเยี่ยงขอทาน ถือเป็นสถานะที่ต้อยต่ำที่สุด โดยมีแอนทิโกนี บุตรสาวผู้ภักดีคอยดูแลตัวเขาที่อยู่ในสภาพที่น่าสมเพชจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต
อริสโตเติลกล่าวว่า สิ่งที่จักนำไปสู่โศกนาฏกรรมนั้น ตัวเอกจักต้องเป็นผู้ลั่นไกปืนนั้น เพื่อให้ฟันเฟืองแห่งโชคชะตาที่ตระเตรียมมาแต่แรกได้ดำเนินไปสู่จุดไคลแมกซ์
การลั่นไกครั้งนั้น เขาเรียกมันว่า Harmatia หรือเรียกว่า การตัดสินใจที่ผิดพลาด และมักจะเกิดจากความรู้เท่าไม่ถึงการของตัวเอก หรือบางที อาจจะจำเป็นต้องกระทำอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง (เพราะถ้ารู้ทันหรือตั้งใจกระทำ ก็จะไม่เรียกว่าโศกนาฏกรรม แต่หากรู้และจำใจกระทำ ก็อาจจะเข้าข่ยโศกนาฏกรรมเช่นกัน) สำหรับอีดิปุส ก็คงจะเป็น "อารมณ์โกรธชั่ววูบ" ที่สังหารบิดาของตนเอง
อีดิปุส ในวาระสุดท้ายของชีวิต
สิ่งที่เห็นได้ชัดในเรื่องราวของอีดิปุสคือ เรื่องราวของผู้ที่ถูกโชคชะตาลิขิต และไม่อาจหลีกหนีไปจากมันได้ แม้ว่าจุดพลิกผันที่นำมาสู่หายนะของเขา (Tragic Flaw) จะเป็นเรื่องที่เขามิได้ตั้งใจจะให้บังเกิดขึ้นเลยแม้แต่น้อย โชคชะตาที่เขาต้องเผชิญนั้น ได้สร้างอารมณ์สงสารอย่างจับใจ (Pity) และความหวาดกลัว (Fear) ที่ชะตานั้นอาจจะเกิดขึ้นกับเราในสักวัน
ชาวกรีกเชื่อในเรื่องของโชคชะตา (Fate) ที่บันดาลให้มนุษย์ต้องทุกข์ทน และอยู่เหนือกฏแห่งกรรม ไม่อาจหลีกเลี่ยงมันได้ จนสูญสิ้นความเป็นมนุษย์ไป
แต่ว่า เราจะได้สิ่งใดไปจากโศกนาฏกรรม นอกเสียจากความโศกเศร้าและความสูญสิ้นเหตุผลที่จะมีชีวิตกัน ทั้งจากการชมละคร หรือโศกนาฏกรรมในชีวิต
แน่นอนว่า โซโฟคลีส หรือ อริสโตเติล คงจะไม่ถ่ายทอดโศกนาฏกรรมเพียงแค่มันทำให้มนุษย์ใจสลายเพียงเพราะตนเองมิอาจหลีกหนีโชคชะตาอันแสนโหดร้ายที่ตนเองไม่ต้องการ
สิ่งที่เราจำเป็นจะต้องเรียนรู้ก็คือ การยกระดับจิตใจ หรือ Catharsis การชำระจิตใจหลังชมโศกนาฏกรรมนั้น คือจุดมุ่งหมายที่อริสโตเติลและโซโฟคลีสต้องการจะสื่อถึง
โศลกปริศนาที่เราจำเป็นต้องใคร่ครวญนั่นคือ แม้ว่าจะเป็นวีรบุรุษที่ห้าวหาญ แข็งแกร่งเพียงใด ก็มิอาจหลีกหนีจากชะตากรรมอันแสนโหดร้ายได้ ดังเช่น อะคิลิส หรือ โอดิสซุส วีรบุรุษจากสองมหากาพย์ อีเลียด และ โอดิสซีย์
ฉันใดก็ฉันนั้น คนธรรมดาอย่างเราเล่า ย่อมไม่อาจหนีพ้น หากตระหนักถึงเรื่องนี้ได้ และยอมรับชะตากรรมที่ประดังเข้ามาอย่างไม่หวาดหวั่น ไม่ยอมสยบต่อโชคชะตาที่ไม่อาจบ่ายเบี่ยง และลุกขึ้นมาอีกครั้ง เพื่อต่อสู้กับชีวิตต่อไป เมื่อนั้นแหละ จิตใจ และวิญญาณท่าน ก็จะได้รับการยกระดับให้สูงขึ้น
นี่อาจไม่ใช่สิ่งใด นอกเสียจากเส้นทางแห่งวีรบุรุษ เส้นทางสู่ความเป็นมนุษย์ที่แท้จริง ผู้มิยอมสยบต่อโชคชะตา (Invictus) เหมือนดั่งเนลสัน แมนเดลา (Nelson Mandela) ผู้เอาชนะโชคชะตาอันโหดร้ายสู่สันติภาพที่เขาเฝ้ารอ หรือโอดิสซุส ต้องผ่านอุปสรรคมากมาย บดทดสอบทางจิตที่คอยจะฉุดเขาให้ไหลไปกับชะตากรรม ผ่านกิเลสน้อยใหญ่ ต้องตกตระกำลำบากล่อเรือกลางทะเลเป็นสิบปี จึงจะได้กลับแผ่นดินถิ่นตนเอง
The Return of Odysseus
สุดท้ายนี้ ถึงทุกท่าน ผู้กำลังอยู่ในห้วงแห่งความทุกข์จากโชคชะตาที่ไม่ต้องการ แม้จะสูญเสีย ถูกทำร้าย หรือ สิ้นหวังเพียงใด ไม่มีโศกนาฏกรรมใดคงอยู่กับเราไปตลอดกาล แทนที่จะก่นด่าโชคชะตาที่เผชิญ จงค้นหาแสงสว่างแห่งความหวังนั้น แล้วให้มันนำพาเราไปสู่ปลายทางที่ท่านต้องการ
ท่านมิได้อยู่ในห้วงทุกข์นี้คนเดียวบนโลกใบนี้ ท่านมิได้โดดเดี่ยวในเส้นทางสายนี้ ท่านเพียงแค่ต้องก้าวเดินต่อไป ในเส้นทางสายวีรบุรุษ ที่พวกเขาทั้งหลาย เคยฝ่าฟันไปจนพบจุดหมายที่แท้จริง
โศกนาฏกรรม จึงเป็นวรรณกรรมอันสูงส่งเท่าที่มนุษย์เคยรังสรรค์มา โศลกปริศนาที่อาจนำพาเราไปพบคำตอบของคำถามใหญ่ๆ อาทิ ตัวเราเป็นใคร ชีวิตคืออะไร สิ่งใดนำพาให้เราเป็นมนุษย์โดยแท้จริง เป็นอย่างที่อริสโตเติลว่าเอาไว้ ด้วยประการฉะนี้
1
ขอให้ทุกท่าน ผ่านพ้นโชคชะตาที่เกิดขึ้นกับโลกไปให้ได้นะครับ

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา