18 เม.ย. 2020 เวลา 13:26
การเดินทางของชีวิต
# ชีวิตที่ไร้วินัยทางการเงินจะเป็นอย่างไร
ทิ้งห่างบทความในซีรีย์การเดินทางของชีวิตไปค่อนข้างนาน แต่ด้วยสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในวันนี้ทำให้ผมอยากกลับมาเขียนเรื่องพื้นฐานของวินัยทางการเงินนี้
1
Credit : www.unsplash.com
เชื่อว่าชาว BD ทุกคนคงผ่านวิกฤตการต่างๆกันมาแล้ว อย่างน้อยๆ ก็น่าจะต้องเจอกับวิกฤตน้ำท่วมใหญ่ในปี 2554 (9 ปีก่อน) คงไม่มีใครที่คิดว่าอยู่ดีๆ โลกจะเผชิญกับวิกฤตที่รุนแรงกว่าอย่างที่หำลังเกิดขึ้นทั่วโลกในเวลานี้ ที่ไม่เพียงสร้างความหวาดหวั่นจากการะบาดของโรค แต่อาจจะเป็นตัวเร่งให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจอย่างหนักต่อจากนี้ไป
1
ความจริงประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งในโลกที่ประสบปัญหาเศรษฐกิจมาต่อเนื่องนับสิบปี จึงเกิดการใช้แนวทางประชานิยมเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยพฤติกรรมการบริโภคที่มาจากการใช้เงินในอนาคต ทั้งโครงการบ้านหลังแรก รถคันแรก ควบคู่ไปกับการเติบโตของสินเชื่อบุคคลที่ใช้ง่ายแต่จ่ายคืนยาก จนสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ของไทยเพิ่มขึ้นจาก 52.4% ในปี 2551 เป็น 81.2% ในปี 2558 และคงระดับที่ประมาณ 79% ตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นมา
สัดส่วนที่ลดลงนี้เกิดจากการเข้ามาควบคุมเรื่องการให้สินเชื่อของภาครัฐมากกว่าการลดลงของมูลค่าหนี้สินรวม ภาระหนี้สินจึงยังมีเป็นภาระหนักต่อไป
Credit : www.prachachat.net
ปัญหาหนี้สินเป็นปัญหาที่ใหญ่และก่อกระทบให้เกิดปัญหากำลังซื้อถดถอยในระดับโลก ระดับประเทศจนถึงระดับครัวเรือน เมื่อเรามองปัญหาเพียงระดับผิวน้ำเราจะรู้สึกว่าปัญหาหนี้สินเปรียบเสมือนไก่กับไข่ ระหว่างรายได้กับรายจ่ายที่ไม่สมดุลย์ไม่รู้จะแก้ทางไหนก่อน
หากเราดูข้อมูลให้ลึกลงไป เราจะพบว่าครัวเรือนไทยไม่ได้ประสบปัญหาหนี้สินไปทั้งหมด แน่นอนว่ามีครัวเรือนที่ประสบปัญหารายรับไม่เพียงพอกับรายจ่ายแต่หลายครัวเรือนไม่ได้มีการสร้างหนี้
1
ปลายปี 2562 ที่ผ่านมาก่อนเกิดการระบาดของไวรัส ธนาคารแห่งประเทศไทยออกรายงานเรื่อง 8 ข้อเท็จจริง ปัญหาการเงินของครัวเรือนไทย โดยใช้วิธีศึกษาจากข้อมูลย้อนหลังตั้งแต่ปี 2552 ถึง 2560 ผมขอใช้ข้อมูลบางส่วนจากรายงานนี้รวมกับข้อมูลจากแหล่งอื่นๆ (ระบุแหล่งข้อมูลในภาพ) เพื่อสะท้อนภาพปัญหาการเงินของครัวเรือนไทยว่ามีสาเหตุสำคัญมาจากการขาดวินัยทางการเงิน เพื่อเราทำความเข้าใจสาเหตุของปัญหาและเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขปัญหาระดับครัวเรือนของพวกเรา
1
Credit : www.unsplash.com
1. สัดส่วนครัวเรือนเป็นหนี้ และ ไม่เป็นหนี้
ขณะที่เราเห็นข้อมูลว่าสัดส่วนหนี้สินต่อ GDP ของครัวเรือนโดยรวมอยู่ที่ระดับใกล้ 80% หากเราแยกครัวเรือนออกเป็นครัวเรือนที่มีหนี้สิน และครัวเรือนที่ไม่มีหนี้สิน จะพบว่า ทั้งสองด้านมีสัดส่วนไม่แตกต่างกันมากนัก โดยครัวเรือนที่มีหนี้สินมีสัดส่วน 50.7% ของครัวเรือนทั้งหมด ขณะที่ครัวเรือนอีก 49.3% เป็นครัวเรือนที่ไม่มีหนี้สิน
หนี้สินระดับ 80% ของ GDP นั้นจึงเกิดขึ้นจากครอบครัว 50.7% ที่มีหนี้สิน สะท้อนถึงปัญหาภาระหนี้สินที่สูงมากของครอบครัวเหล่านี้
Credit ตามภาพ
แต่ข้อมูลสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ไม่ได้รวมหนี้ กยศ. และหนี้นอกระบบ ภาพสัดส่วนการเป็นหนี้ของครัวเรือนนี้จึงอาจไม่สะท้อนความจริงทั้งหมด
2. ธนาคารแห่งประเทศไทยพบว่า หนี้ครัวเรือนกระจุกตัวอยู่กับผู้กู้รายเดิม สอดคล้องกับข้อ 1 และผลการศึกษาของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อี๊งภากรณ์ ที่พบว่าการก่อหนี้ใหม่กว่า 80% นั้นเป็นการสร้างหนี้จากครัวเรือนผู้กู้รายเดิม
ศูนย์วิจัยธนาคารกสิกรไทยยังได้ทำการศึกษาว่ารายได้ของครัวเรือนในกรุงเทพประมาณ 39.4% ถูกนำไปใช้กับภาระหนี้สิน ประกอบกัน 48.0% ของรายจ่ายประจำวัน ทำให้มีเงินออมเหลือเฉลี่ย 12.6% ของรายได้ ซึ่งต่ำกว่าอัตราออม 20% ที่ถือเป็นเกณฑ์เฉลี่ย
Credit ตามภาพ
3. ปัญหาการมีรายรับรายจ่ายที่ไม่สมดุลกันเกิดจากการมีรายจ่ายที่ไม่จำเป็นและการจ่ายหนี้
ครัวเรือนที่มีปัญหาหนี้จากรายจ่ายจำเป็นเพียงอย่างเดียวนั้นมีประมาณ 10% ของครัวเรือนที่มีหนี้ทั้งหมด โดยเป็นครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำกว่า 15,000 บาทต่อเดือน ซึ่งไม่สามารถรองรับค่าใช้จ่ายที่จำเป็นของทุกคนในครอบครัว (ครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำนี้มีปัญหาด้านความสามารถในการชำระหนี้ที่รุนแรงด้วย)
Credit : www.bot.or.th
ขณะที่ครัวเรือนอีกกว่า 50% มีปัญหารายรับไม่พอกับรายจ่ายจากการที่มีรายจ่ายไม่จำเป็นและการจ่ายหนี้จากภาระหนี้ที่มีอยู่
4. ความเข้าใจที่ว่าเมื่อรายได้มากขึ้น จะมีหนี้น้อยลง ในความเป็นจริงกลับไม่เป็นเช่นนั้น เพราะการที่ไม่ปรับพฤติกรรมการเงินให้ถูกต้อง ฉะนั้นแม้เพิ่มรายได้ก็ไม่สามารถแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนได้ และยังคงมีสัดส่วนหนี้ไม่ต่างจากคนที่มีรายได้ต่ำกว่า
การศึกษานี้ทำให้เห็นว่าเงินรายได้ที่เพิ่มขึ้นแทนที่จะถูกนำไปแก้ปัญหาภาระหนี้ แต่ถูกนำไปใช้กับรายจ่ายที่ไม่จำเป็น ผลคือหนี้ไม่ลด(และอาจเพิ่มขึ้น) การมีรายได้เพิ่มยังไม่ได้ทำให้มีการออมเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน
Credit : www.bot.or.th
จะเห็นได้ว่าพฤติกรรมการใช้จ่ายของครอบครัวที่มีหนี้และมีปัญหารายรับไม่พอกับรายจ่าย เมื่อเงินรายได้เพิ่มขึ้น จะนำไปใช้จ่าย (ส่วนมากก็คือรายจ่ายไม่จำเป็น) อย่างน้อย 2 ใน 3 และนำเงินส่วนที่เหลือไปใช้หนี้ ขณะที่ครัวเรือนที่ไม่มีปัญหารายรับจะแบ่งเงินส่วนหนึ่งไปออม สะท้อนพฤติกรรมการใช้จ่ายที่สร้างปัญหาการเงินให้เห็นได้ชัดเจน
5. ครัวเรือนไทยมีศักยภาพที่สามารถหลุดพ้นการเป็นหนี้ได้ หากปรับพฤติกรรมการใช้จ่าย
Credit ตามภาพ
บางคนอาจแย้งว่าหนี้บางประเภทมีความจำเป็นจริง เช่นหนี้บ้าน เป็นต้น ซึ่งเป็นความจริงครับ แต่หากเราลองแยกระหว่างความจำเป็น (Need) และ ความต้องการ/ความอยาก (Want) บางครั้งหนี้บ้านนั้นก็อาจไม่จำเป็นต้องมีหรือต้องมีมากขนาดนั้นได้เช่นกัน
คนที่ไม่สามารถหารายได้มากพอ โดยเฉพาะในช่วงที่เศรษฐกิจประสบปัญหาและทำให้เกิดความไม่แน่นอนของรายได้ หรือคนที่มีปัญหาหนี้และปัญหาการเงิน การหันมาปรับลดรายจ่ายในหมวดต่างๆ จะช่วยให้เรามีภาระที่ลดลง และมีสภาพคล่องที่ดีขึ้น รายจ่ายหมวดต่างๆ ที่สามารถลดเพื่อช่วยแก้ไขปัญหาทางการเงินได้ตามคำแนะนำในภาพ
Credit : www.bot.or.th
ปัญหาทางการเงินของคนส่วนใหญ่เกิดจากทัศนคติและพฤติกรรมการใช้จ่าย ไม่ว่าจะมีรายได้มากหรือน้อยก็ใช้ไปแบบวันชนวัน เดือนชนเดือน จึงไม่แปลกว่าคนมีรายได้มากกว่าก็มีสัดส่วนหนี้ไม่ต่างจากคนมีรายได้น้อยกว่า
เพราะฉะนั้นเมื่อประสบปัญหาการขาดหายไปของรายได้จะมีผลกระทบอย่างมากจากการไม่มีเงินออม และมีภาระหนี้สินที่ต้องรับผิดชอบ ไม่รวมถึงอนาคตวัยเกษียณที่จะไม่มีเงินรายได้อีกต่อไป กว่าจะมาคิดก็ไม่ทันการณ์แล้ว ยิ่งในสภาวะดอกเบี้ยต่ำที่จะอยู่กับเราไปอีกหลายปีแบบนี้ การจะสร้างผลตอบแทนจะยากกว่าเดิม หากเราไม่เริ่มปรับทัศนคติและพฤติกรรมที่ไม่จำเป็น
การเปลี่ยนทัศนคติและพฤติกรรมการใช้จ่ายจึงเป็นเรื่องสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่ง วินัยการเงินคือการสร้างพฤติกรรมทางการเงินที่เหมาะสม
ทัศนคติ เป็นสิ่งที่สร้างขึ้นได้ เปลี่ยนแปลงได้และเป็นตัวกำหนดพฤติกรรมของบุคคลที่มีต่อสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ทัศนคติเกิดมาจากการเรียนรู้แล้วรับมาปฏิบัติตามต่อไป หลายครั้งเป็นการเลียนแบบหรือรับเอาทัศนคติของผู้อื่นมาเป็นของตนเอง
ขอยกตัวอย่างจากอาชีพที่สำคัญต่อพื้นฐานของการพัฒนาคุณภาพคนไทยนะครับ ผมเคยฟังผลการวิจัยเรื่องหนี้ของอาชีพนี้ในบางพื้นที่ พบว่าผู้ที่เข้าร่วมการวิจัยมีรายได้รวมสูงกว่าอาชีพอื่นๆในพื้นที่เดียวกัน แต่ทัศนคติของชุมชนที่มองอาชีพนี้คือผู้มีเกียรติ ทำให้ต้องมีรายจ่ายในการให้สูงไปด้วย แล้วยังถูกทำให้เห็นว่าสิทธิการกู้เงินจากสหกรณ์เป็นสิทธิที่ทุกคนต้องใช้แม้ไม่ได้มีความจำเป็นต้องใช้เงินก็ตาม
ผลก็คือทำให้เกิดการใช้จ่ายเกินจำเป็น เกิดดอกเบี้ยและภาระหนี้ตามมา ในการวิจัยพบว่าส่วนหนึ่งที่เข้าร่วมโครงการจะไม่มีวันชำระหนี้ที่มีอยู่ให้หมดไปได้แม้จะเกษียณไปแล้วก็ตาม เมื่อโครงการได้เขเาช่วยเหลือผู้เข้าร่วมโครงการให้ปลดภาระหนี้ไปได้จำนวนหนึ่ง สุดท้ายหนี้ก็เพิ่มขึ้นมาใหม่เพราะทัศนคติที่ยังคงไม่เปลี่ยนแปลง
สำหรับคนรุ่นใหม่ ลองสังเกตตัวเองว่าการเข้าถึงช่องทางการขายได้ง่ายขึ้นโดยเฉพาะช่องทางขายออนไลน์ หรือการเข้าสังคมโซเชียลต่างๆ ทำให้เราเกิดการใช้จ่ายที่มากขึ้น ง่ายขึ้นหรือไม่ การเข้าร่วมชมรมคนรักสิ่งเดียวกัน แทนที่จะทำให้เรามีความสุขกลับทำให้เราเกิดความเหนื่อยที่ต้องวิ่งตามคนอื่นๆ ต้องซื้อต้องเปลี่ยนใหม่แม้ของที่มีจะยังใช้ได้ดี
หรือการนับถอยหลังซื้อในช่วงลดกระหน่ำซัมเมอร์เซลล์ ทั้ง 1.1 2.2 3.3 ...12.12 หรือการอดหลับอดนอนแย่งจองตั๋วโปรทั้งที่ไม่ได้มีแผนจะเดินทางไปไหนเลย ก็มีลักษณะไม่แตกต่างกับการคิดว่าต้องรักษาสิทธิที่มีด้วยการกู้เงินตามสิทธิ
หากจะหลุดพ้นไปจากกับดักหนี้ได้ ต้องเปลี่ยนทัศนคติเป็นสิ่งแรก แนวทางแบบเศรษฐกิจพอเพียงเป็นปรัชญาที่ดีมากที่จะช่วยสร้างทัศคติแนวการดำรงอยู่และปฏิบัติตนของประชาชนในทุกระดับ
เมื่อปรับทัศนคติแล้ว ก็ต้องสร้างวินัยทางการเงินไปพร้อมกัน หากทัศนคติและวินัยทางการเงินไม่ได้เดินไปคู่กัน เราก็คงจะทำได้เพียงช่วงเวลาสั้นๆ ช่วงเวลาหนึ่งเท่านั้น เมื่อปรับทัศนคติแล้วจึงต้องสร้างวินัยทางการเงินไปด้วยทันที
Credit : www.unsplash.com
วินัยทางการเงิน... เราสร้างได้ อยู่ที่ว่าเราจะทำหรือไม่เท่านั้น
การสร้างวินัยการเงินที่ดี เริ่มง่ายๆ จาก
ก. การวางแผนการใช้จ่าย ให้สอดคล้องกับรายได้ เพื่อสร้างการออม เปลี่ยนสมการการเงินที่เราเคยชิน คือ
รายได้ - รายจ่าย = เงินออม
เปลี่ยนให้เป็น
รายได้ - เงินออม = รายจ่าย
หรือก็คือออมก่อนใช้นั่นเอง จะออมเท่าไหร่ ขึ้นกับเป้าหมายทางการเงินของเรา แต่อย่างน้อย ๆ ควรจะออมให้ได้ 20% ของรายได้สุทธิของเรา
ข. ไม่ก่อหนี้โดยไม่จำเป็น
หนี้บางอย่างมีเหตุผลความจำเป็นต้องก่อหนี้ขึ้น หนี้ประเภทที่เกิดขึ้นจากความอยากโดยไม่จำเป็น การมีทัศนคติที่ดีจะช่วยให้เราไตร่ตรองด้วยความเคยชินว่า เรามีความจำเป็นอะไรที่เราต้องก่อหนี้นี้หรือไม่
ค. วางแผนการออมเงินสำหรับค่าใช้จ่ายล่วงหน้า เช่นการซื้อรถ เป็นต้น
การวางแผนซื้อด้วยเงินก้อนใหญ่ หากได้เตรียมการไว้ล่วงหน้าจากการออมและการลงทุนที่เหมาะสม จะทำให้เราไม่ต้องเพิ่มภาระด้านหนี้สินของเรา และเรายังสามารถบริหารด้านรายจ่ายเพื่อออมให้มากขึ้น ไม่เสียวินัยการเงินที่ดี
ขอบคุณข้อมูลประกอบจากธนาคารแห่งประเทศไทย โดย ดร.สรา ชื่นโชคสันต์ นางสาวภาวนิศร์ ชัววัลลี และ นายวิริยะ ดำรงค์ศิริ หากสนใจอ่านรายละเอียดทั้งหมด คลิ๊กได้ที่นี่เลยครับ
สุดท้ายก่อนจบบทความ ขอขอบคุณชาว BD สำหรับ 2000 Followers นะครับ
มีความเห็นอย่างไร ไม่ว่าจะเห็นเหมือนหรือเห็นต่าง สามารถแชร์ความเห็นเพื่อแลกเปลี่ยนได้ ด้วยความยินดีนะครับ ขอบคุณครับ

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา