2 พ.ค. 2020 เวลา 04:58
การเดินทางของชีวิต :
# วางแผนการเงิน ตามรอยพ่อสร้าง ตอนที่ 1/2
Credit : Unsplash.com
ปัญหาด้านเศรษฐกิจที่กำลังกระทบกับชีวิตของเราในช่วงเวลานี้ อาจเปรียบเหมือนช่วงการเดินทางของชีวิตที่กำลังเดินทางอยู่ท่านกลางทะเลทรายที่กว้างใหญ่และเวิ้งว้างสักแห่ง การมีหลักยึดหรือมีแนวทางที่ช่วยบอกเส้นทางและระยะทางที่เราจะต้องเดินทางไป จะให้เราได้ปรับตัวหรือเตรียมสัมภาระและอุปกรณ์การเดินทางให้เราสามารถเดินข้ามเส้นทางนี้ไปได้
ปัญหาเศรษฐกิจครั้งนี้ก็เช่นเดียวกับปัญหาครั้งที่ผ่านๆ มา ที่เราจะได้ยินการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ที่จะช่วยในการดำเนินชีวิตท่ามกลางปัญหาที่ประสบอยู่ ในความจริงแนวทางตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงสามารถนำไปใช้ได้ตลอดเวลาไม่แต่เฉพาะช่วงที่มีปัญหาทางเศรษฐกิจเท่านั้น
ผมไม่แน่ใจว่าทำไมบทความที่กล่าวถึงปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงส่วนมากจะมีลักษณะที่ค่อนข้างเป็นนามธรรม เมื่ออ่านจบคนที่อ่านคงต้องตีความหลักปรัชญานี้เองว่าแค่ไหนคือพอเพียง หลายครั้งมีการตีความที่ผิดไปจากปรัชญาจนมีพระราชดำรัสหลายครั้งเพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง ตัวอย่างเช่น
"...ฟังว่ารัฐบาลหรือเมืองไทย ประชาชน มีเงินเยอะ มีเงินเกิน ก็ใช้สิ เขาหาว่าเราเศรษฐกิจพอเพียง คำว่า พอเพียง ถ้ามีเงินก็ต้องใช้ ไม่ใช่ขี้เหนียว ถ้ามีเงินไม่ต้องขี้เหนียว ซื้อไปเถอะ อะไรก็ตาม เครื่องบิน เรือ รถถัง ซื้อ ถ้ามีเงินเยอะ ก็ถือว่าสนับสนุนให้จ่าย เดี๋ยวนี้เขาบอกว่า ในหนังสือพิมพ์เห็นรึเปล่า ว่าเขาสนับสนุนให้จ่าย ถ้ามีก็จ่าย แต่ถ้าไม่มีก็ระงับหน่อย ..."
จาก..พระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา วันที่ 4 ธันวาคม 2550
การจะปฎิบัติตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง จึงต้องนำหลักทั้ง 3 ข้อ มาใช้ร่วมกับความรู้และคุณธรรมต่างๆ เพื่อให้เราสามารถกำหนดความพอเพียง ความเหมาะสมให้กับตัวเอง ความรู้ทางการเงินระดับพื้นฐานเมื่อนำมาใช้ร่วมด้วยจะทำให้เรามีกรอบในการตัดสินใจและกำหนดความพอดีให้กับตัวเราได้
บทความนี้จะขอนำความรู้ทางการเงินบางส่วนที่เราสามารถใช้ผนวกเข้ากับหลักการทั้งสามเพื่อเป็นกรอบปฎิบัติจากมุมมองของผม และเชิญชวนทุกคนให้มาวางแผนการเงินตามหลักปรัชญาที่พ่อสร้างไว้ให้เราทุกคนครับ
รอยทางที่พ่อสร้างไว้...ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
แก่นหัวใจในการดำรงชีวิตตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง คือ การสร้างสมดุลในการดำรงชีวิตของเราโดยใช้ 3 หลักนี้
1. ความพอประมาณ หมายถึง ความพอดีที่ไม่น้อยเกินไปและไม่มากเกินไป โดยไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น เช่น การผลิตและการบริโภคที่อยู่ในระดับพอประมาณ
2. ความมีเหตุผล หมายถึง การตัดสินใจเกี่ยวกับระดับความพอเพียงนั้น จะต้องเป็นไปอย่างมีเหตุผล โดยพิจารณาจากเหตุปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนคำนึงถึงผลที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากการกระทำนั้นๆ อย่างรอบคอบ
3. ภูมิคุ้มกัน หมายถึง การเตรียมตัวให้พร้อมรับผลกระทบและการเปลี่ยนแปลงด้านต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น โดยคำนึงถึงความเป็นไปได้ของสถานการณ์ต่างๆ ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต
เมื่อเราสามารถสร้างทั้ง 3 หลักให้มีความสมดุลสอดคล้องกับชีวิตของเรา เราก็จะสามารถก้าวผ่านเหตุการณ์ต่างๆ ที่ผ่านเข้ามาสร้างผลกระทบในแต่ละช่วงชีวิตของเรา โดยเราจะได้รับผลกระทบที่น้อยกว่าคนที่มีชีวิตที่ไม่สมดุล
หลักทั้ง 3 ประการจะเกิดสมดุลตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง ต้องนำเอาความรู้ และ คุณธรรม มาใช้ตัดสินในและดำเนินชีวิตให้อยู่ในระดับพอเพียง นอกเหนือจากความรูู้ความชำนาญในอาชีพแล้ว ความรู้ทางการเงินเป็นอีกความรู้ที่ใช้เชื่อมโยงให้เรามีหลักในการดำรงชีวิตตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง
บทความช่วงต่อไปนี้ผมขอนำการวางแผนการเงินมาเชื่อมกับแนวทางหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เผื่อจะเป็นประโยชน์ให้เราสามารถเริ่มลงมือปฎิบัติครับ
หลักความพอประมาณ
ความพอประมาณไม่ได้หมายความถึงการกินอยู่อย่างประหยัดแบบเดียวกัน แต่คือการกิน การอยู่ การดำรงชีวิตที่มีสมดุลเหมาะกับแต่ละคน คงเป็นไปไม่ได้ที่จะให้นาย ก ที่มีรายได้วันละ 300 บาท และนาย ข ที่มีรายได้เดือน 100,000 บาท กินอยู่เหมือนกัน แต่ทั้งนาย ก และ นาย ข ก็สามารถดำเนินชีวิตที่อยู่ในให้อยู่ในกรอบความพอเพียงที่แตกต่างแต่เหมาะสมกับตนเอง ดัวยการใช้อัตราส่วนการเงินต่างๆ เข้ามาช่วย
ความพอประมาณเกี่ยวข้องกับเรื่องการจัดสรรเงินรายได้เพื่อใช้ในแต่ละเรื่อง เราทราบสมการการเงินว่า คือ "รายได้ - เงินออม = รายจ่าย" เราจึงต้องนำเรื่องอัตราส่วนการเงินมาช่วยให้เราจัดสรรรายได้ตามวัตถุประสงค์ให้เกิดความสมดุล อัตราส่วนการเงินที่นำมาใช้ คือ
1. อัตราส่วนการออม
คนมักเข้าใจผิดว่าการมีรายได้มากจะทำให้มีความมั่นคงทางการเงิน แต่ในความเป็นจริงการออมต่างหากที่เป็นหัวใจในการสร้างความมั่นคงทางการเงิน อัตราการออมต่อรายได้ที่ควรจะมีคือ 20% เมื่อเรามีรายได้ 100 บาท ก็ควรจะแบ่งเงิน 20 บาท เป็นเงินออม เพื่อนำไปลงทุนให้เกิด Passive Income และ ความมั่งคั่งระยะยาว ในช่วงเวลาที่ผลตอบแทนจากการลงทุนลดต่ำลง ทำให้เราจำเป็นต้องออมให้มากขึ้น เพราะเรามีข้อจำกัดด้านเวลา ยกตัวอย่างเปรียบเทียบตามภาพ แต่สำหรับคนที่อายุยังน้อยและเริ่มสร้างตัวเองมักจะมีภาระหนี้สินที่สูง การออมในช่วงนี้จะต่ำกว่าเกณฑ์ ก็ไม่ควรลดต่ำกว่า 10% ครับ และสำหรับคนที่ปลดภาระไปได้มากแล้วก็ควรจะเพิ่มอัตราส่วนการออมให้มากกว่า 20% เช่นกัน
ทางเลือกเมื่ออัตราผลตอบแทนลดลง แต่ต้องการให้ได้รับเงินเท่าเดิม คือ ทางเลือก C ที่เพิ่มระยะเวลาออมจาก 10 ปี เป็น 11.3 ปี หรือทางเลือก D ที่เพิ่ม % อัตราการออมเงินจาก 15% เป็น 17.2% ของรายได้ ทางเลือกเหล่านี้จะถูกนำมาพิจารณาเมื่อเราได้กำหนดเป้าหมายทางการเงินต่างๆ แต่เราก็ควรจะยึดเกณฑ์ 20% ไว้เป็นหลักเบื้องต้น
แต่เราอาจไม่สามารถใช้อัตราการออมที่ 20% ไปตลอดทุกช่วงเวลาของชีวิต เพราะในช่วงอายุน้อย ที่เป็นช่วงเริ่มสร้างตัว ยังมีรายได้ไม่มาก แต่มักมีภาระด้านหนี้สินเข้ามาด้วย การออมในช่วงแรกจึงอาจเริ่มในระดับที่ต่ำลง แต่อย่างน้อยออมให้ไม่ต่ำกว่า 10% ของรายได้ และเมื่อมีรายได้เพิ่มขึ้น มีภาระหนี้สินลดลง ก็ควรจะเพิ่มอัตราการออมให้สูงขึ้น หากเป็นไปได้สามารถออมมากกว่า 20% ของรายได้ เพื่อชดเชยการขาดหายไปของการออมในช่วงแรก
2. อัตราส่วนการชำระคืนหนี้สินจากรายได้
หากเราต้องใช้เงินมากกว่า 50% ของรายได้ไปเพื่อชำระหนี้ด้านต่างๆ แสดงว่าเรามีหนี้สินที่สูงและเราอาจเสี่ยงที่จะไม่สามารถชำระคืนหนี้สินได้หากรายได้ที่เรามีอยู่ลดลง จึงไม่ควรสร้างหนี้เพิ่มและในเวลาเดียวกันเราควรหาทางสร้างรายได้เพิ่มเพื่อชำระหนี้ให้หมดโดยเร็ว
เมื่อเรานำอัตราส่วนทั้งสองนี้มาใช้จะทำให้เราทราบจำนวนเงินสำหรับใช้จ่าย และช่วยให้เรากำหนดทางเลือกต่างๆ ด้านหนี้สิน และการใช้จ่าย แต่ทุกคนจะมีรายจ่ายประจำขั้นต่ำที่ไม่สามารถปรับลดได้ หากรายจ่ายขั้นต่ำนี้เกินกว่าจำนวนเงินที่เราสามารถใช้จ่ายได้ เราก็คงต้องหาทางเพิ่มรายได้ และปรับลดอัตราส่วนทั้งสองนี้ หรือในยามที่เราต้องหรือควบคุมค่าใช้จ่าย เราก็สามารถตัดสินใจเลือกตามลำดับความสำคัญของรายจ่ายเพื่อให้เหมาะกับสถานการณ์ และเป้าหมายทางการเงินของเรา
บทความนี้แม้จะเป็นเรื่องพื้นฐานแต่กลับต้องใช้เวลาเขียนหลายวัน และกลายเป็นบทความที่ยาวมาก ปกติผมเป็นคนเขียนยาว แต่บทความนี้ยาวจนต้องขอตัดเป็น 2 ตอนนะครับ ขอยกส่วนที่เหลือไปอยู่ในบทความตอนที่ 2/2 ครับ
ขอบคุณที่อ่านมาจนถึงตอนท้ายบทความครับ หากมีความเห็นหรือมุมมองอะไรสามารถเสริมหรือให้ความเห็นได้เพื่อความถูกต้องและเป็นไปตามแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่พ่อสร้างไว้ให้พวกเราครับ
บทความตอนที่ 2/2
ขอขอบคุณแหล่งที่มาอ้างอิงประกอบบทความ :
ความรู้เกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียง
รวมพระราชดำรัสเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง
หมายเหตุ : บทความนี้อาจใช้ศัพท์ไม่ถูกต้องเพราะไม่ค่อยสันทัด ใครที่มีความรู้สามารถช่วยแก้ไขนะครับ ขอบคุณครับ
และท้ายของบทความ ขอขอบคุณเพจ MovieTalk มูฟวี่ชวนคุย สำหรับ #เพราะเหตุนี้...เราจึงใกล้ชิดพ่อ ด้วยนะครับ เป็นบทความที่คุณมูฟโพสต์ในช่วงระหว่างที่ผมเขียนบทความนี้ (บทความนี้เขียนเป็นอาทิตย์เลยครับ) ทำให้เห็นได้ว่าพวกเราใกล้ชิดพ่อจริงๆ ครับ
โฆษณา