4 ก.พ. 2020 เวลา 00:44 • การศึกษา
ความยาวทางวิ่งมีที่มานะครับ
ทางวิ่ง หรือ Runway ในสนามบินมีเพื่อใช้สำหรับการวิ่งขึ้น และร่อนลงดังนั้นในมาตรฐานการออกแบบสนามบินจึงต้องประเมินความยาวทางวิ่ง สำหรับการบินขึ้น และร่อนลงของอากาศยาน โดยสนามบินจะต้องมีค่า ความยาวทางวิ่งที่เกี่ยวข้อง ดังนี้
ค่าความยาวทางวิ่งสำหรับร่อนลงคือ Landing Distance Available หรือ LDA คือระยะทางตั้งแต่ตำแหน่ง Threshold ของทางวิ่งถึงปลายทาง วิ่งที่กำหนดไว้
ค่าความยาวทางวิ่งสำหรับวิ่งขึ้นคือ Take off Run Available หรือ TORA คือระยะความยาวทางวิ่งตั้งแต่จุดเริ่มต้นวิ่งขึ้นของอากาศยานจนถึงปลายทางวิ่งที่ได้กำหนดไว้ ซึ่งสนามบินก็จะทำ Pavement ไว้เพื่อเป็นส่วนที่มีโอกาสรับน้ำหนักของเครื่องบิน
1
ซึ่ง LDA และ TORA จะใช้สำหรับการร่อนลง และวิ่งขึ้นปกติ นอกจากนี้การบินก็จะเผื่อสำหรับเกิดการผิดพลาด หรือเหตุการณ์ที่เราคาดไม่ถึงขณะปฏิบัติการการบิน เช่น เครื่องยนต์ตัวใดตัวหนึ่งเสียด้วยจึงมีการพิจารณาให้มีความยาวที่เกี่ยวกับทางวิ่งอีก 2 ค่า คือ
Take off Distance Available หรือ TODA คือระยะความยาวทางวิ่ง TORA บวกกับความยาวของ Clearway
Accelerate Stop Distance Available หรือ ASDA คือระยะความยาวทางวิ่ง TORA บวกกับความยาวของ Stopway
ตัวอย่างการกำหนดค่าความยาวทางวิ่งแบบต่างๆ
โดยเจ้า Clearway และ Stopway เป็นพื้นที่ที่สนามบินกำหนดไว้เพื่อใช้ในกรณีเหตุการณ์ไม่ปกติในกรณีอากาศยานวิ่งขึ้น ซึ่งการใช้งานของเจ้า 2 ตัวนั้นขึ้นอยู่กับลำดับเหตุการณ์ฉุกเฉินที่เกิดขึ้น
ในขบวนการนำเครื่องบินบินขึ้นนักบินจะมีค่าของความเร็วต่าง ๆ เพื่อใช้ใน การกำหนดขั้นตอนในการทำการบินขึ้นดังนี้
V1 หรือ Decision Speed เป็นค่าความเร็วที่นักบินเลือก เพื่อใช้ ตัดสินใจนำเครื่องบินบินขึ้นต่อไป หรือจะยกเลิกการบินขึ้น ในกรณีที่เกิด เครื่องยนต์เครื่องหนึ่งมีปัญหา
VR หรือ Rotation Speed เป็นความเร็วที่ ล้อหน้าเริ่มยกส่งผลให้ อากาศยานเริ่มเชิดหัวขึ้น (Nose Gear เริ่มยกตัว)
VLOF หรือ Lift-off Speed เป็นความเร็วที่เครื่องบินเริ่มยกตัวจากพื้น ทางวิ่ง (Main Gear เริ่มยกนั่นแหละครับ)
V2 หรือ Take-off Safety Speed เป็นความเร็วต่ำสุดที่เครื่องบินอยู่สูงจากพื้นดิน 35 ฟุต หรือ 10.7 เมตร โดยคำอธิบายในมาตรฐาน FAA บอกว่า ระยะ 35 ฟุต เป็นระยะที่ปลอดภัยจากที่นักบินจะเกิด Over หรือ Under Rotation ในการบินขึ้น
ความเร็วต่าง ๆ ในการบินขึ้นของเครื่องบิน
แล้วเจ้า Stop way หรือ Clearway เกี่ยวกับ Take off Speed อย่างไร ปกติก่อนทำการบิน นักบินจะกำหนดค่า V1 ของการนำเครื่องบินบินขึ้นโดยคำนึงถึงความยาวทางวิ่ง สิ่งกีดขวางของสนามบิน อุณหภูมิ ฯลฯ ในช่วงเร่ง เครื่องขึ้นก่อนถึง V1 มือข้างหนึ่งของนักบินจะจับที่ Throttle หรือคันเร่งของเครื่องบิน หากมีเครื่องยนต์เครื่องใดเครื่องหนึ่งมีปัญหาก่อนถึง V1 นักบินจะยกเลิกการบินขึ้น และเริ่มทำการลดความเร็วตามขั้นตอน ซึ่งความเร็วก่อนถึง V1 ก็จะอยู่ในช่วงที่ค่อนข้างไม่เร็วมากดังนั้นจึงมีระยะการหยุดที่เป็นไปได้อย่าง ปลอดภัย ดังนั้นสนามบินบางแห่งจะมีการก่อสร้าง Stop way เพื่อเป็นระยะที่เสริมขึ้นของทางวิ่งใช้สำหรับให้เครื่องบินหยุดได้อย่างปลอดภัย และ ในกรณีที่เมื่อถึงหรือเลยช่วงความเร็ว V1 ซึ่งนักบินเปลี่ยนมือจาก Throttle มาที่คันบังคับแล้วเครื่องยนต์เครื่องใดเครื่องหนึ่งมีปัญหา นักบินจะตัดสินใจนำอากาศยานบินขึ้น สนามบินบางแห่งก็จะเตรียมพื้นที่ที่เลยจากปลาย ทางวิ่งให้เป็นพื้นที่ที่ปลอดสิ่งกีดขวางไว้ ซึ่งเรียกว่า Clearway เพื่อให้ นักบินสามารถทำการบินได้สูงพ้น 35 ฟุต ซึ่ง Clearway บางพื้นที่กำหนด เป็นพื้นดิน บางพื้นที่สามารถใช้บนพื้นน้ำได้ เพียงแต่สนามบินต้องควบคุม สิ่งกีดขวางให้ได้ตามมาตรฐาน
การวางแผนสนามบินเกี่ยวกับความยาวทางวิ่ง
นักวางแผนสนามบินจะต้องทราบ Aeroplane Performance โดย หาได้จาก Pilot Operation handbook (POH) นำมาพล็อตกราฟระหว่างค่า Take-off Distance (TOD) ค่า Accelerate Stop Distance (ASD) เทียบกับค่าความเร็วตัดสินใจ V1 และที่ V1 ใดค่า TOD และค่า ASD มีค่า เท่ากัน หรือ จุด Optimum จะเลือกค่านั้นเป็นความยาวทางวิ่ง
กรณีเมื่อการ Operate มีการปรับการเลือกค่า V1 ที่น้อยกว่า V1 (Optimum) หรือ V1 (Low) หากเครื่องยนต์มีปัญหาก่อน V1 พบว่า ความยาวทางวิ่งเดิมสามารถรองรับการยกเลิกการบินขึ้นได้ดังเห็นได้จากค่า ASD มีค่าน้อยกว่าความยาวทางวิ่ง หรือความเร็วที่น้อยสามารถทำให้เครื่องบินสามารถหยุดโดยใช้ระยะทางที่น้อยลงได้ แต่ในทางตรงกันข้าม หาก เครื่องยนต์มีปัญหาที่ V1 หรือหลัง V1 ความเร็วของอากาศยานที่น้อยทำให้ต้องตัดสินใจบินขึ้นที่ความเร็วต่ำกล่าวคือ ความยาวทางวิ่งน้อยกว่าค่า TOD ดังนั้นพื้นที่ที่เป็น Clearway จะมีการวิกฤติ และต้องการความยาว Clearway ที่เพิ่มขึ้น ซึ่งในกรณีนี้ สนามบินจะต้องจัดให้มี Clearway ที่ปลายทางวิ่งเพิ่มขึ้นไป
กรณีเมื่อการ Operate มีการปรับการเลือกค่า V1 ที่มากกว่า V1 (Optimum) หรือ V1 (High) หากเครื่องยนต์มีปัญหาก่อน V1 พบว่า ความยาวทางวิ่งเดิมไม่สามารถรองรับการยกเลิกการบินขึ้นได้ดังเห็นได้จากค่า ASD มีค่ามากกว่าความยาวทางวิ่ง ดังนั้นพื้นที่ Stopway จะมีการวิกฤติ ต้องก่อสร้าง Stopway ที่ปลายทางวิ่งเพิ่ม ในทางตรงข้ามเมื่อพิจารณาระยะ TOD ที่ความเร็ว V1 (High) พบว่าระยะทางวิ่งยังครอบคลุม TOD ไว้ได้ หรือหมายความว่าเครื่องบินมีความเร็วพอที่จะสามารถนำอากาศยานบินขึ้นเมื่อมีปัญหากับเครื่องยนต์เครื่องใดเครื่องหนึ่งของเครื่องบิน
สรุปว่าสนามบินคำนวณความยาวทางวิ่งบนพื้นฐานความคุ้มค่าทาง เศรษฐศาสตร์ บางครั้งเราไม่จำเป็นต้องก่อสร้างทางวิ่งที่ Full Length แต่ สามารถก่อสร้าง Stopway หรือ Clearway ซึ่งมีค่าดำเนินการที่ถูกกว่า และ ค่าความยาว Stopway หรือ Clearway จะได้จากการคำนวณเพื่อความ เหมาะสม ดังนั้น การยกเลิก หรือการก่อสร้างขยาย Stopway หรือ Clearway ออกไป จะส่งผลต่อค่า V1 ที่นักบินใช้ในการตัดสินใจ
"A mile of highway will take you just one mile...
but a mile of runway will take you anywhere!"
โฆษณา