19 ก.พ. 2020 เวลา 02:48 • สุขภาพ
ตำราฝังเข็ม (針灸學)
ภาคทฤษฎี
บทที่ 10 กลไกแห่งโรค
แม้นว่ากลไกการเกิดโรคจะมีมากมายหลายกลไก แต่ก็พอจะสรุปกลไกการเกิดโรคออกเป็นสามประการดังนี้คือ
1.อินหยางเสียสมดุล (陰陽失調)
อินหยางเสียสมดุลหมายถึง การที่ร่างกายได้รับพลังร้ายจากภายนอก หรืออาจจะเกิดจากพลังดีภายในที่ลดลง จนทำให้อินหยางขาดความสมดุลและมีการเพิ่มลดอย่างไม่พอดี
อินหยางที่เสียสมดุลจะทำให้เกิดลักษณะที่มีอินมากอินน้อยหรือมีหยางมากหยางน้อย อาการที่แสดงออกก็จะเป็นอาการที่ค่อนไปทางร้อนหรือทางเย็น หรืออาการที่ค่อนไปทางพร่องหรือทางแกร่ง โดยทั่วไปนั้น เมื่อหยางแกร่งก็จะทำให้เกิดอาการร้อนแกร่ง (實火) เมื่ออินแกร่งก็จะทำให้เกิดอาการเย็นแกร่ง (實寒) เมื่อหยางพร่องก็จะทำให้เกิดอาการเย็นหลอก (虛寒) เมื่ออินพร่องก็จะทำให้เกิดอาการร้อนหลอก (虛火) นอกจากนี้ บางทีก็ยังสามารถเกิดอาการเย็นจริงร้อนหลอก (真寒假熱) ร้อนจริงเย็นหลอก (真熱假寒) หรืออินแกร่งอั้นหยาง (陰盛格陽) และร้อนแกร่งอั้นอิน (陽盛格陰) เกิดขึ้นได้อีกด้วย
ตามทฤษฎีแห่งอินหยางนั้น จะพบว่าลักษณะการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ของร่างกายสามารถใช้หลักแห่งอินหยางในการอธิบายได้ทั้งสิ้น เป็นต้นว่า อวัยวะอิน อวัยวะหยาง เส้นลมปราณอิน เส้นลมปราณหยาง เลือดลม อิ๋งชี่ (營氣) เว่ยชี่ (衛氣) นอกใน (表裡) ขึ้นลง (上下) เป็นต้น ดังนั้น เมื่ออวัยวะอินหยางหรือเส้นลมปราณอินหยางเกิดความผิดปกติ หรืออาการที่เลือดลมหมุนเวียนไม่ดี อิ๋งชี่เว่ยชี่เสียสมดุล ทั้งหมดนี้ล้วนอยู่ในขอบเขตที่อินหยางเสียสมดุลทั้งสิ้น ดังนั้นภาวะการเสียสมดุลแห่งอินหยางจึงเป็นต้นเหตุแห่งโรคทั้งหลาย
2.การประชันกันระหว่างพลังดีและพลังร้าย (邪正鬥爭)
พลังดีหมายถึงพลังที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย เป็นพลังที่อยู่ภายใน ส่วนพลังร้ายเป็นพลังที่อยู่ภายนอก เป็นพลังที่มักจะรุกรานภายในจนทำให้พลังดีอ่อนพร่องลง หากพลังร้ายจากภายนอกรุนแรงกว่าพลังดีที่อยู่ภายใน เป็นต้นว่าความเย็นที่อยู่ภายนอกมีพลังเหนือยิ่งกว่าความอบอุ่นที่อยู่ภายใน เมื่อนั้นก็จะทำให้เป็นหวัดได้ นอกจากนี้ หากพลังดีที่อยู่ภายในอ่อนพร่องลง ยามนั้นก็จะทำให้พลังร้ายที่อยู่ภายนอกแทรกซึมเข้าสู่ภายในได้ เป็นต้นว่า เมื่อทำงานเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าสะสมเป็นเวลานานจนภูมิต้านทานอ่อนแอ เพียงโดนลมเล็กน้อยก็เป็นหวัดแล้วนั่นเอง
การต่อสู้กันระหว่างพลังดีและพลังร้าย หากพลังดีมีความอ่อนพร่องกว่าก็จะทำให้อินหยางในร่างกายเกิดความเสียสมดุล อินหยางที่เสียสมดุลก็จะทำให้การทำงานของอวัยวะอินหยาง การหมุนเวียนของเลือดลม การโคจรของเส้นลมปราณ การขึ้นลงของพลังลมปราณเกิดปัญหา จนสุดท้ายได้พัฒนาจนกลายเป็นอาการป่วยต่าง ๆ มากมาย อาการที่แสดงออกของการต่อสู้กันระหว่างพลังดีและพลังร้ายจะสะท้อนออกมาในรูปแบบของความพร่องและความแกร่งของร่างกาย เช่น เมื่อพลังร้ายแรงพลังดีแกร่ง ก็จะแสดงออกเป็นอาการทางแกร่ง เมื่อพลังร้ายแรงพลังดีพร่อง ก็จะแสดงออกเป็นอาการพร่องหรืออาการพร่องแกร่งที่ปะปนกัน ดังนั้นในซู่เวิ่น (素問) จึงกล่าวว่า “พลังร้ายแรงก็จะแกร่ง พลังจิงอ่อนก็จะพร่อง”
คำว่า “แกร่ง” โดยหลักแล้วหมายถึงพลังร้ายมีความแรง ดังนั้นพลังร้ายจึงเป็นต้นเหตุของความขัดแย้งภายในร่างกาย ส่วนใหญ่จะเป็นเพราะได้รับพิษร้ายหกในเบื้องต้น และพัฒนาจนกลายเป็นมูกเสมหะ ความชื้น และเลือดคั่งในเบื้องกลาง ส่วนคำว่า “พร่อง” โดยหลักแล้วจะหมายถึงพลังดีไม่เพียงพอ ดังนั้นพลังดีจึงเป็นต้นเหตุของความขัดแย้งภายในร่างกาย โดยทั่วไปจะเป็นเพราะสุขภาพอ่อนแอสะสมเป็นเวลานาน จึงทำให้อวัยวะภายในเกิดความอ่อนพร่อง เลือดลมจินเยี่ยไม่เพียงพอนั่นเอง
3.ความผิดปกติของการขึ้นลงแห่งลมปราณ (升降失常)
การขึ้นและลงของลมปราณนั้นจะเกิดจากการแปรสภาพของพลังลมปราณภายในร่างกาย ดังนั้นความผิดปกติของการขึ้นลงแห่งลมปราณจึงเป็นผลที่เกิดการทำงานอย่างผิดปกติของอวัยวะภายใน การเสียสมดุลของอินหยาง การหมุนเวียนที่ไม่คล่องตัวของเลือดลม และการโคจรที่ไม่ลื่นไหลของเส้นลมปราณ
การหมุนเวียนลื่นไหลของเส้นลมปราณที่เชื่อมต่อระหว่างอวัยวะภายในต่าง ๆ หรือการหมุนเวียนของอินหยางและเลือดลม ทั้งหมดล้วนต้องอาศัยการขึ้นและลงของลมปราณทั้งสิ้น
เป็นต้นว่า ปอดมีหน้าที่ในการกดลดและการกระจาย ม้ามมีหน้าที่ในการยกสารใสขึ้น กระเพาะอาหารมีหน้าที่ในการลดสารขุ่น หัวใจไตที่ผสานขึ้นลงระหว่างน้ำและไฟ ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นการขึ้นลงของลมปราณทั้งสิ้น เนื่องจากการขึ้นและลงของลมปราณมีความเกี่ยวข้องกับอวัยวะภายใน เส้นลมปราณ อินหยาง และเลือดลม ดังนั้นหากการขึ้นลงของพลังลมปราณเกิดความผิดปกติ ย่อมจะต้องส่งผลกระทบต่อการทำงานของสภาพร่างกายทั้งหมดอย่างแน่นอน เป็นต้นว่า หากปอดสูญเสียความสามารถในการกระจายก็จะทำให้มีอาการแน่นหน้าอก หากกระเพาะสูญเสียความสามารถในการลดสารขุ่นก็จะทำให้เรอบ่อยและมีกลิ่นเหม็น หากม้ามสูญเสียความสามารถในการยกสารใสและการลำเลียง ก็จะทำให้เกิดอาการท้องร่วง หากหัวใจและไตไม่ผสานกันก็จะทำให้เกิดอาการนอนไม่หลับและหัวใจเต้นเร็ว หากเลือดลมอินหยางวุ่นวายก็จะทำให้เกิดอาการหมดสติ อาการไตมิอาจรับลมหายใจ อาการพลังหยางลอยขึ้นบนโดยไร้อินลงล่าง พลังอินลงล่างโดยไร้พลังหยางขึ้นลน เป็นต้น
ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นอาการที่เกิดจากการขึ้นลงของลมปราณที่ผิดปกติทั้งสิ้น
การขึ้นลงแห่งลมปราณเป็นลักษณะการทำงานโดยรวมของอวัยวะภายในทั้งหมด แต่โดยรวมแล้วต้องนับว่าการขึ้นและลงระหว่างกระเพาะม้ามมีความสำคัญเป็นที่สุด สาเหตุเพราะกระเพาะม้ามเป็นต้นกำเนิดแห่งพลังงานต่าง ๆ ของร่างกาย อยู่ในตำแหน่งจงเจียว มีการเชื่อมโยงระหว่างบนและล่าง จึงนับว่าเป็นแกนกลางของการขึ้นลงแห่งลมปราณเลยทีเดียว เพราะกระเพาะย่อยอาหารจนกลายเป็นสารขุ่น ส่วนม้ามจะทำหน้าที่ในการยกสารใสที่กลั่นออกจากสารขุ่นขึ้นบนไปสู่ปอด และปอดก็จะทำหน้าที่กระจายไปสู่ส่วนต่าง ๆ ของร่างกายอีกที ดังนั้นหากการทำงานของกระเพาะม้ามเสียสมดุลไป ไม่เพียงแต่จะทำให้ร่างกายขาดพลังงานในการดำรงชีวิตเท่านั้น หากยังจะทำให้เกิดมูกเสมหะสะสม และทำให้มีสารพัดโรคภัยไข้เจ็บเกิดขึ้นตามมาอีกมากมาย

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา