20 ก.พ. 2020 เวลา 23:30 • การศึกษา
เมาแล้วขับ ตอนที่ 2 โดย รถชนกัน
อย่างที่บอก คุณจะเมาแอ๋ยังไงไม่รู้ คงจะไม่มีใครไปว่าอะไรคุณ(แต่ยกเว้นเมียคุณนะ อันนี้สำคัญ) เพราะไม่มีกฎหมายห้ามคุณดื่ม (แต่ดื่มผิดที่ไม่ได้นะ เดี๋ยวค่อยเล่าให้ฟังอีกที) สิ่งที่สำคัญยิ่งกว่าคือเมาแล้วอย่าไปขับหรือขี่รถ เพราะเรื่องนี้กฎหมายเค้าห้ามครับ กฎหมายเค้าว่ายังไง
เค้าบอก “.... ห้ามมิให้ผู้ขับขี่รถ ... (๒) ในขณะเมาสุราหรือของเมาอย่างอื่น...”
เราคุยกันเฉพาะเรื่องห้ามขับรถในขณะเมาสุราก่อน คำว่าสุราคือรวมทุกอย่างที่เป็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ไม่ต้องหัวหมอว่ากินเบียร์มา ไม่ผิด เถียงแบบนี้วอนติดคุกเปล่า ๆ
เท่าไหร่ถึงเมา(ตามกฎหมาย)
มาดูกฎหมายก่อน จะเมาเท่าไหร่ต้องไปดูกฎกระทรวง เดิมท่านว่าไว้(ท่านไหนไม่รู้ เอาตามนี้) นักดื่มที่ดื่มมาแล้วมีแอลกอฮอล์ในเลือดเกิน 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ขึ้นไป ถือว่าเมาตามกฎหมาย อันนี้ไม่ต้องเถียง ผมตัวใหญ่ กินแค่กลมเดียวยังเดินตรง ขับรถปร๋อเลย ไม่มีประโยชน์อะไร กฎหมายเค้าว่าไว้ ถือว่าเมาอยู่ดี
50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ คือต้องกินประมาณเท่าไหร่ ถึงจะทำยอดได้ตามนี้
เท่าที่มีการทดลองกันอย่างไม่เป็นทางการ เอาคร่าว ๆ นะ เพราะมันขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง เช่น ขนาดร่างกาย การดูดซึม รวมถึงก่อนดื่มกินอะไรมาด้วย ซับซ้อน ถือว่าเล่าให้ฟังคร่าว ๆ ไม่ใช่เกณฑ์ตายตัวอะไร
ถ้าอยากรู้จริง ๆ ว่าตัวเองดื่มได้เท่าไหร่ ให้ซื้อเครื่องเป่าแอลกอฮอล์พกติดตัวไว้ อันนั้นชัวร์เป็นอันดับสาม (อันดับหนึ่งตรวจเลือด อันดับสองเครื่องตรวจของตำรวจ)
ถ้ากินเบียร์ ประมาณ 1-2 กระป๋อง
ถ้ากินเหล้า ผสมโซดาน้ำ ประมาณ 3-6 แก้ว
มีคนแย้งว่า เฮ้ย แค่นี้ยังจิ๊บ ๆ ไม่เมาเลย เอาเป็นว่าเป็นปริมาณแบบกะประมาณ บวกกับกฎหมายเค้าว่าไว้ ไม่ใช่ความรู้สึกของคนดื่ม
แต่ยังไม่หมดนะครับ เรื่องนี้เมื่อปี 2560 มีการออกกฎกระทรวงใหม่ กำหนดปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดของผู้ที่ดื่มแล้วขับของบุคคลอีกบางประเภทไว้อย่างนี้
สำหรับผู้ที่อายุต่ำกว่า 20 ปี ,ผู้ที่ไม่มีใบขับขี่ พักใช้หรือเพิกถอนใบขับขี่ ใช้ใบขับขี่ผิดประเภท หรือได้รับใบขับขี่ชั่วคราว เรามีโปรโมชั่นลดปริมาณแอลกอฮอล์ให้เหลือแค่เกิน 20 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์
หมายความว่ายังไง
หมายความว่า ถ้าคุณอายุไม่ถึง 20 ปี หรืออายุถึงแต่ไม่มีใบขับขี่ ฯลฯ เมื่อคุณดื่มแล้วไปขับหรือขี่รถ แล้วถูกเรียกตรวจ เมื่อมีการตรวจแอลกอฮอล์ในเลือดแล้วพบว่ามีปริมาณเกินกว่า 20 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ คุณถูกจับทันที
เพราะฉะนั้นพวกน้อง ๆ วัยรุ่น พวกคุณที่ไม่มีใบขับขี่ ฯลฯ ขอเถอะครับ ดื่มแล้วอย่าไปขับเลย เพราะนอกจากจะอันตรายแล้ว ลองคำนวณดูเล่น ๆ เท่ากับว่าดื่มเบียร์ไปกระป๋องเดียวก็เรียบร้อยแล้ว
มาว่ากันต่อ
พอดื่มถึงเกณฑ์แล้วไปขับรถปุ๊บ เจอตำรวจตรวจปั๊บ เป่าแล้วเกิน 50 (หรือ 20) มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ คุณโดนจับดำเนินคดีข้อหา เมาแล้วขับ
ขอบคุณภาพจาก workpointnews.com
โทษเป็นยังไง ว่ากันเฉพาะแค่ถูกตำรวจจับเรื่องเมาแล้วขับ ยังไม่มีเรื่องไปชนกะใครนะ
“... จำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับตั้งแต่ห้าพันบาทถึงสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ของผู้นั้นมีกำหนดไม่น้อยกว่าหกเดือน หรือเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่”
เป็นไง โทษไม่ใช่น้อย ๆ นะ
แต่ความจริงคือ ส่วนใหญ่แล้ว ทำผิดครั้งแรก และไม่เมามาก และไม่ได้เกิดเหตุอะไร ศาลจะลงโทษจำคุกและปรับ โดยโทษจำคุกรอกการลงโทษเสมอ อาจจะมีคำสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ไว้หกเดือน กรณีที่คุณมีใบอนุญาตขับขี่ไว้ด้วย อันนี้บอกได้เลยว่าทุกศาล ก็เป็นตามเหตุผล ตามพฤติการณ์ ศาลยังมองว่ายังไม่เกิดเหตุ ไม่มีความเสียหายเป็นรูปธรรม เมาไม่มาก เป็นวัฒนธรรมของชาติในการเมา(อันนี้ความเห็นส่วนตัว) ก็จะรอการลงโทษให้ทุกกรณีรึเปล่า
ไม่ทุกกรณี ถ้าคุณขับรถยนต์หรือขี่รถมอเตอร์ไซค์ส่วนตัว อันนี้ค่อนข้างแน่นอน ว่าศาลท่านเมตตารอการลงโทษให้ จำคุกและปรับ แต่รอการลงโทษจำคุกไว้(คือไม่ติดคุก) มีกำหนดเวลารอการลงโทษ ส่วนใหญ่สองปี แล้วคุมประพฤติคุณไว้(ไว้เล่าให้ฟังเรื่องนี้อีกที) ถ้าไม่มีการกระทำความผิดขึ้นในระยะเวลารอการลงโทษ และปฏิบัติตามเงื่อนไขคุมประพฤติเรียบร้อย ก็แยกย้าย พ้นจากเรื่องนี้ไป
แต่ถ้าคุณขับรถรับจ้าง รถโดยสาร รถบรรทุก ถูกจับเมาแล้วขับ ศาลมักจะไม่รอการลงโทษให้ เพราะถือว่าเป็นกรณีร้ายแรง ก็ติดคุกสิครับ
เล่าไปเล่ามาชักมัน แต่เรื่องมันยาว ไว้ไปต่อคราวหน้าละกันนะครับ
💑ขอให้ทุกคนโชคดีไม่มีเรื่องครับ😄
ฝากกดไลค์ กดติดตามกันด้วยนะครับ จะได้ไม่พลาดโพสท์ดี ๆ 😄😄
พรบ.จราจรทางบกฯ ม.43
กฎกระทรวง ฉบับที่ 21 ปี 2560
#เมาแล้วขับ #รถชนกัน #ตำรวจจับ #จราจร

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา