22 ก.พ. 2020 เวลา 00:30
เมาแล้วขับ ตอนที่ 3 โดย รถชนกัน
มาต่อกัน
ครั้งก่อนพูดถึงเรื่องเมาแล้วขับ การถูกจับ และดำเนินคดี รวมถึงการตัดสินของศาลไปแล้ว
ทีนี้มาต่อกันถึงผลของคำพิพากษา
ครั้งที่แล้วผมบอกแล้วว่า ศาลจะลงโทษจำคุก และปรับ ส่วนโทษจำคุกรอการลงโทษไว้(คือไม่ติดคุก) มีระยะเวลารอการลงโทษ และคุมประพฤติไว้ตามกำหนดเวลา
ยกตัวอย่าง (อาจมีชื่อพ้องกับบุคคลใด ต้องขออภัยไว้ ณ ที่นี้ด้วย)
นายนีโน่ เมาสุราแล้วไปขับรถ ถูกจับ ส่งดำเนินคดี รับสารภาพ ศาลตัดสินลงโทษจำคุก 2 เดือน และปรับ 5,000 บาท แต่โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 2 ปี คุมประพฤติ 1 ปี โดยให้รายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ 4 ครั้ง และกระทำกิจกรรมบริการสังคม หรือสาธารณะประโยชน์ตามที่พนักงานคุมประพฤติกำหนดเป็นเวลา 24 ชั่วโมง ...”
รายละเอียดในคำพิพากษายังมีต่อ แต่เอาแค่นี้ก่อนเดี๋ยวจะปวดหัว
จำคุกและปรับ แต่โทษจำคุกให้รอการลงโทษ คืออะไร
ตามปกติถ้าศาลตัดสินลงโทษจำคุก พออ่านคำพิพากษาแล้ว เจ้าหน้าที่ตำรวจก็จะพาจำเลย(ถ้าเป็นคุณ) ลงไปควบคุมตัวไว้ในห้องขังใต้ถุนศาล เพื่อรอส่งต่อให้เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์พาตัวไปขังในเรือนจำต่อไป
แต่พอคำพิพากษามีถ้อยคำเกี่ยวกับการรอการลงโทษจำคุก แต่รอการลงโทษจำคุกไว้ แสดงว่ายังไม่ต้องบังคับโทษจำคุกกับคุณ เพราะฉะนั้นเท่ากับว่าคุณยังไม่ต้องไปติดคุกในวันนั้น
คุณเสียค่าปรับตามที่ศาลสั่ง รับทราบการที่ต้องไปรายงานตัวกับพนักงานคุมประพฤติตามคำสั่งศาล แล้วกลับไปดื่มต่อที่บ้านได้ตามปกติ
การรอการลงโทษจำคุกจึงหมายถึง ยังไม่บังคับใช้โทษจำคุกกับคุณ เพราะคุณเป็นคนดีที่มีทางแก้ไขได้ พฤติการณ์ยังไม่ร้ายแรงขนาดที่ต้องเอาคุณไปติดคุก ซึ่งไม่เป็นประโยชน์ต่อคุณและสังคม
แต่มันมีระยะเวลาที่ศาลจ้องมองคุณอยู่
ถ้าในคำพิพากษากำหนดว่าสองปี ช่วงเวลาสองปีนี้ ถ้าไม่ได้ทำผิดกฎหมายและถูกดำเนินคดีอีก และทำตามคำสั่งศาลเกี่ยวกับการคุมประพฤติเรียบร้อย ว่านอนสอนง่าย ก็จบเรื่องไป
แต่ถ้าคุณยังซ่า ไปทำผิดกฎหมายไม่ว่าข้อหาอะไรก็ตาม ถ้าเป็นข้อหาที่มีโทษจำคุกและถูกดำเนินคดีอีก เมื่อศาลจะลงโทษจำคุกในคดีหลัง ศาลจะเอาโทษคดีเก่าที่รอการลงโทษไว้มาบวกกับคดีใหม่ด้วย สองเด้ง
สิ่งที่คุณควรทำก็คือ ช่วงเวลาที่รอการลงโทษ(และเวลาภายหลังจากนั้นด้วย ถ้าไม่อยากก้าวขาเข้าไปในตาราง) คุณต้องไม่ทำผิดกฎหมายที่มีโทษทางอาญาอีก ไม่งั้นก็มีสิทธิเข้าซังเตแน่นอน ซึ่งไม่ใช่เรื่องสนุก
ทีนี้เรื่องคุมความประพฤติ
คำสั่งคุมประพฤติของศาลจะมาพร้อมการรอการลงโทษเสมอ(สำหรับคดีประเภทนี้) เนื่องจากศาลเห็นว่าพฤติการณ์ในคดียังไม่ร้ายแรงถึงขนาดจะนำโทษจำคุกมาบังคับใช้กับผู้กระทำความผิด ว่ากันตามประสาชาวบ้านก็คือความผิดไม่ร้ายแรงก็คุม ๆ ปราม ๆ ไว้หน่อย
เมาแล้วขับเป็นคดีอีกประเภทหนึ่งที่ศาลจะใช้วิธีนี้
การที่ศาลสั่งว่า “ ... คุมประพฤติไว้ 1 ปี โดยให้รายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ 4 ครั้ง และกระทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณะประโยชน์ตามที่พนักงานคุมประพฤติกำหนดเป็นเวลา 24 ชั่วโมง” หมายความว่า
1. ต้องไปรายงานตัว 4 ครั้ง อันนี้พนักงานคุมประพฤติจะเป็นคนนัดคุณเอง
2. ทำงานบริการสังคมฯ 24 ชั่วโมง อันนี้พนักงานคุมประพฤติก็จะกำหนดขึ้นมา อาจให้คุณเลือกหรือบอกให้คุณทำ
แต่ไอ้เรื่องคุมความประพฤตินี่ ต้องขอโม้ต่ออีกหน่อย
💑ขอให้ทุกคนโชคดีไม่มีเรื่องครับ😄
ฝากกดไลค์ กดติตามกันด้วยนะครับ จะได้ไม่พลาดโพสท์ดี ๆ👍👍👍
#รถชนกัน #เมาแล้วขับ #ตำรวจจับ #ค่าปรับ

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา