22 ก.พ. 2020 เวลา 11:02 • ข่าว
ต่างชาติเริ่มไม่เชื่อถือข้อมูล COVID-19 ประเทศไทย
ในขณะที่สถานการณ์ COVID-19 ทั่วโลก โดยเฉพาะในเอเชีย มีแนวโน้มแย่ลงอย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว จำนวนผู้ป่วยใหม่ในประเทศไทยกลับน้อยอย่างประหลาด จากแถลงการณ์กระทรวงสาธารณสุข ผู้ป่วยพบเชื้อยังคงหยุดนิ่งอยู่ที่ 35 ราย
ภาพจาก Facebook group: Covid-19 UPDATES
จึงไม่แปลกใจที่ต่างชาติจะเริ่มสงสัยเรา (เพราะเราก็สงสัยตัวเองเหมือนกัน ใช่ไหมล่ะครับ)
1. "ก็เราเป็นที่ 6 ของโลก ที่ 1 ของเอเชียไงล่ะ"
รองอธิบดีกรมควบคุมโรค เขียนบทความสั้นๆเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ว่าเหตุผลโดยสรุปคือ เรามีระบบการป้องกันควบคุมโรคที่ดี เราเริ่มดำเนินการรวดเร็ว และเรามีมดงานคุณภาพมากมาย
มาตรการต่างๆ ทางบุคโดโจเคยสรุปคร่าวๆไว้ในบทความเก่าก่อน และตอนนี้มาตรการได้ถูกพัฒนาให้เข้มข้นขึ้นทุกวี่วัน เช่น
- เกณฑ์ผู้ป่วยสงสัยถูกอัพเดตตลอดเวลา เพิ่มประเทศเสี่ยงอย่างต่อเนื่อง เพิ่มประวัติการทำงานที่เสี่ยง มีการกระจายการรับแจ้งผู้ป่วยสงสัยไปทั่วทุกพื้นที่
- เมื่อพบผู้ป่วยพบเชื้อจริง มีทีมสอบสวน ลุยตรวจผู้สัมผัสใกล้ชิด
ตรงนี้มีการประสานหน้างานได้ดีมากๆ ถึงขั้นที่ว่า airline ให้ข้อมูลผู้โดยสารสองแถวหน้ากลางหลัง ตม. ประสานรายชื่อผู้เดินทางจากพื้นที่เสี่ยงเช่นเรือสำราญ ด่านติดต่อเก็บเชื้อ กักกัน และส่งกลับ(ไม่รับเข้าประเทศ) ได้ทันที และทีมสืบสวนก็ตามหาผู้สัมผัสเพื่อตรวจเชื้อได้ต่อเนื่อง
- แลปสำหรับตรวจเชื้อจากเดิมทำได้แค่สามที่ ตอนนี้ทำได้ตามศูนย์วิทย์เกือบทุกแห่ง โรงเรียนแพทย์หลายแห่ง และรพบางแห่ง ช่วยกันดำเนินการตลอดเวลา
2. "หรือเราพลาดจริงๆ หาผู้ป่วยกันไม่เจอ?"
หลายคนสงสัยว่าเรากำลังทำงานผิดจุด เกณฑ์แคบเกินไป คัดกรองไม่ทั่วถึง ทำให้หาผู้ป่วยไม่พบเจอ เรามาดูเกณฑ์กันอีกที
+ ไข้ หรืออุณหภูมิ 37.5 ขึ้นไป
+ มีอาการระบบทางเดินหายใจอะไรก็ได้ (ไอ น้ำมูก เจ็บคอ หายใจเหนื่อย ฯลฯ
+ มีประวัติในช่วง 14 วัน ไปอยู่พื้นที่เสี่ยง(จีน ฮ่องกง มาเก๊า ไต้หวัน ญี่ปุ่น สิงคโปร์)(เกาหลีกำลังจะตามมา) หรือ ทำงานใกล้ชิดนักท่องเที่ยวจากพื้นที่เสี่ยง หรือ มีประวัติใกล้ชิดผู้ป่วยพบเชื้อ
นอกจากนี้ยังเพิ่มผู้ป่วยปอดอักเสบที่หาสาเหตุไม่ได้ ที่มีประวัติสัมผัสผู้ป่วยพบเชื้อ หรือเป็นบุคลากรทางการแพทย์ หรือมีอาการเฉียบพลันรุนแรง
โดยที่ผ่านมามีการตรวจ lab ไปแล้วเกือบ 700 คน!
จะเห็นได้ว่าเกณฑ์ถูกปรับให้กว้างขึ้นเรื่อยๆ และกลุ่มผู้ป่วยที่ได้รับการตรวจ lab ก็เสี่ยงจริง เราก็ยังพบผู้ป่วยติดเชื้อเพียง 35 คน(ถ้าแถลงการณ์ update นะ)
หากจะเพิ่มเกณฑ์ เช่น "ไม่ต้องมีไข้ก็ได้" หรือ "ไม่ต้องมีประวัติเดินทางแต่แรก" ก็ต้องคิดต้นทุนว่าคุ้มจริงไหม เพราะตรวจที่เดียวประมาณสี่พันบาทเลยทีเดียว
ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขก็วิเคราะห์กันหัวแทบแตก ว่าเราควรเพิ่มลดอะไรอย่างไรต่อดี
เพราะถ้าคิดง่ายๆ การที่เราจะสงสัยว่า "เอ้ะ คนที่เราไม่ไปตรวจหลายคนมันอาจจะมีเชื้อก็ได้นะ" ก็จะวนกลับไปพบความจริงที่ว่า "เอ้ะ คนที่มันเสี่ยงจริงเราก็ตรวจไปตั้งมาก ก็ไม่ค่อยเจอใครมีเชื้อเลยนะ" นั่นแล
3. เพราะการสื่อสารไงล่ะ
ความเชื่อมั่นย่อมมาจากการสื่อสาร แม้มดงานนิรนามจะบากบั่นทำงานไม่ได้หลับนอน หากไม่มีการสื่อสารที่ชัดเจน คงไม่อาจสร้างความเชื่อมั่นได้ แม้ภายในประเทศเอง
การดำเนินการทั้งหมดมีข้อเสียที่ชัดเจน ในด้าน
- แถลงการณ์ที่ออกจะเชื่องช้า
- การสื่อสาร ประสานงานภายในที่เรียกได้ว่า "ไม่ค่อยคุยกัน" ทั้งที่เนื้องานมีความชัดเจนว่าเป็นระดับกระทรวง แต่กลับมีบางกรมยังหวงผลงาน คอยแง่งอนกรมอื่นๆที่ยื่นมือช่วยเหลืออยู่ตลอด และแม้แต่ระหว่างสำนักภายในกรมเดียวกัน ก็ยังไม่มีการกระจายข้อมูลอย่างทั่วถึง
- การเปิดเผยข้อมูลเราสู้ต่างชาติไม่ได้เลย เกาหลีเปิดเผยรายละเอียด"คุณป้าดื้อ" สิงคโปร์ทำ infographic ชัดเจนว่าใครแพร่เชื้อที่ใดบ้าง เราที่นั่งอยู่บ้านสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ทุกคน แต่มดงานบางท่านที่ทำงานอยู่หน้างาน กลับไม่ทราบข้อมูลภายในประเทศตนเอง
เมื่อเทียบกับประเทศอื่น จึงเห็นได้ชัดว่าไทยเปิดเผยข้อมูลอย่างเชื่องช้าและน้อยนิด เป็นที่มาของความหวาดระแวงจากทั้งในและต่างประเทศ
สาธารณสุขไทยอาจแข็งแกร่งจริงดังคำอวย และเราอาจประสบความสำเร็จในการยื้อ phase 3 ไปอีกยาว เพื่อป้องกันการล่มสลายทางสาธารณสุข(ผู้ป่วยล้นจนดูแลไม่ไหว) เหมือนประเทศอื่นๆ
แต่ถึงเวลาแล้วหรือยัง ที่มดงานนิรนาม จะไม่ทำงานอย่างลับๆอีกต่อไป แต่จะมีการลากเส้นเชื่อมต่อจากทุกๆจุดงานทั้งหมด เพื่อวาดรูปรังใหญ่และสวยงามให้ประจักษ์แก่สายตาประชาชนและประชาชาติ โดยไม่คำนึงถึงชื่อเสียงของนางพญามดเพียงหยิบมือ
โฆษณา