24 ก.พ. 2020 เวลา 01:00 • ข่าว
ต่างชาติเริ่มไม่เชื่อถือข้อมูล COVID-19 ไทย (ภาค 2)
แม้แถลงการณ์ล่าสุดตัวเลขผู้ติดเชื้อในไทยจะหยุดนิ่งมาสักพัก. แต่หน้างานไม่เคยหยุดนิ่งสักวินาที ยังคงปรับเกณฑ์การตรวจเชื้อ คัดกรอง หาผู้สัมผัส และรักษากันไม่หยุดหย่อน
ภาค 2 นี้เราจะมาวิเคราะห์ถึงเกณฑ์คัดกรองในบ้านเรา เทียบกับประเทศอื่นกันครับ
หลายคนคงพอจะทราบข้อมูลคร่าวๆจากประเทศเกาหลีใต้ ซึ่งล่าสุดเพจลงทุนแมนสรุปตัวเลขชัดเจนที่ 556 ราย(23/2).
และเมื่อดูจากตารางข้างต้น เราจะเห็นว่ามีการตรวจทางห้องปฏิบัติการไปแล้วสองหมื่นกว่าราย
ครับ. '22,633 ราย'
เทียบกับบ้านเรา "จำนวนผู้เฝ้าระวัง" 1,355 ราย พบผู้ป่วย 35 ราย มีความแตกต่างห่างไกลอย่างเห็นได้ชัด
เราลองมาเทียบเกณฑ์ผู้ป่วยต้องสงสัยดูนะครับ
1. จะเห็นว่าใช้เกณฑ์หลวมกว่าเรามากครับ เกาหลีใต้ใช้ "ใครก็ตามที่มีไข้ *หรือ* ไอ ภายใน 14 วันหลังจากเข้าพื้นที่ที่พบผู้ติดเชื้อ" (ของเราไข้ และ ไอ อันใดอันหนึ่งเราไม่นับครับ)
2. ข้อสองคือแล้วแต่แพทย์...
และแน่นอนว่ามีการค้นหาและตรวจผู้สัมผัสทั้งหมด เช่นคนในลัทธิป้าดื้อ
ซึ่งแม้เราจะเทียบกันโต้งๆไม่ได้ ว่า 35/1355 ~ 0.026 กับ 556/22,633 ~ 0.025
แต่มันก็อดไม่ได้ที่จะสงสัยว่าหากเราตรวจเพิ่มเป็นสองหมื่นราย จะเจอผู้ติดเชื้อเพิ่มอีกเท่าใด
ในขณะที่สิงคโปร์ (ประชากร ~5.6 ล้านคน) ตรวจจำนวนไม่แตกต่างจากไทย (1246 ราย) และเจอผู้ติดเชื้อเยอะมากถึง 89 ราย
(ถ้าหาเกณฑ์เจอแล้วจะนำมาวิเคราะห์เพิ่มเติมครับ)
การจะเลือกเกณฑ์คัดกรองโรคหนึ่งๆ มีหลักการมากมาย ต้องวิเคราะห์เป็นรายโรค วันนี้มีคำศัพท์สองคำมานำเสนอ คือ "sensitivity" และ "specificity"
Sensitivity (ความไว) ดูจากตารางหมายถึง ในกลุ่มคนผู้ติดเชื้อทั้งหมด เข้าเกณฑ์ตรวจเชื้อกี่เปอร์เซ็นต์
- สมมติว่าจำนวนผู้ติดเชื้อทั้งหมดมีเพียง 35 คนจริงๆ
Sensitivity = 35/35 = 100%
(เปรียบเหมือนตาข่ายดักปลาตาถี่ สามารถดักปลาได้หมดไม่มีตัวไหนหลุดลอดจากตาข่าย)
- แต่ถ้าไทยมีผู้ติดเชื้อซ่อนอยู่ เช่นคนไม่มีอาการ คนมีไข้ไม่ไอ ไม่เข้าเกณฑ์ตรวจ สมมติสัก 15 คน
Sensitivity = 35/(35+15) = 70%
(มีคนติดเชื้อหลุดลอดสวิงดักของเราไป 30%)
Specificity (ความจำเพาะ) ในที่นี้หมายถึง ในกลุ่มผู้ไม่ติดเชื้อทั้งหมด ไม่เข้าเกณฑ์ตรวจเชื้อ คิดเป็นกี่เปอร์เซ็นต์
- ซึ่งในที่นี้สูงมากแน่นอน เพราะนักท่องเที่ยว+คนไทยที่ไม่ติดเชื้อ ~66.5 ล้าน หักออก 1320 คนก็ได้เท่าเดิม
Specificity = เกือบ 100%
เกณฑ์คัดกรองในอุดมคติ ก็เหมือนเครื่องตรวจเชื้อ หรือการซื้อหวย คือถ้าซื้อก็อยากถูกรางวัลทุกครั้ง (sensitivity 100%)
แต่ถ้าในแผงไม่มีใบถูกรางวัล เราก็อยากตัดสินใจไม่ซื้อได้(อย่างถูกต้อง)ทุกครั้ง (specificity 100%)
แต่โลกไม่สมประกอบ เราไม่อาจเอื้อมอุดมคติ การตั้งเกณฑ์คัดกรองกว้างอาจได้ sensitivity สูง แต่ specificity ลดลง จนต้องสูญสิ้นงบประมาณชาติไปกับการตรวจผู้ไม่ติดเชื้อคนแล้วคนเล่า.
แต่หากเกณฑ์แคบ เราอาจปล่อยคนไข้ เที่ยวแพร่กระจายเชื้อไปอีกหลายสิบคนก่อนเราจะรู้ตัว.
เราจึงต้องดูเป้าหมายหลักว่าอยากได้อะไรมากที่สุด
การตรวจเชื้อ HIV หรือโรคมะเร็ง. Specificity สำคัญมาก เพราะคนที่ไม่มีเชื้อ/ไม่มีโรค ก็ควรจะตรวจแล้วได้ผลลบ หรือหากมีการคัดกรอง ก็ไม่ต้องถูกคัดกรอง.
คงไม่สนุกแน่ถ้าเรา "HIV+" ทั้งที่ไม่มีเชื้อ หรือถูกส่องกล้องทางทวารทั้งที่ไม่เสี่ยงมะเร็งลำไส้
ในทางกลับกัน การคัดกรองโรคระบาด เราจำเป็นต้องควบคุมให้ดีที่สุด. Sensitivity จึงสำคัญกว่า เพราะเราอยากมั่นใจว่าไม่มีผู้ติดเชื้อคนใดที่หลุดรอดสวิงดักปลาของเรา
ทุกประเทศล้วนปรับเกณฑ์และมาตรการ เพื่อคัดกรอง COVID-19 อย่างมีประสิทธิภาพ. ประเทศไทยปรับมาหลายครั้งอย่างเท่าทันสถานการณ์. ส่วนเกาหลีใต้ยิงตู้มมด้วย sensitivity สูง ตรวจสองหมื่นราย พบคนไข้ห้าร้อยกว่าราย
บุคโดโจ หวังเหมือนทุกท่าน ว่าเกณฑ์และมาตรการของไทยเราดีที่สุด เหมาะสมที่สุด ไม่สิ้นเปลืองทรัพยากรและงบประมาณ ก็เจอผู้ติดเชื้อได้แทบทุกราย เพื่อการควบคุมโรคที่ดีที่สุด
แต่ยังเผื่อใจไว้สำหรับผลลัพธ์ที่น่ากลัวเช่นกัน
โฆษณา