24 ก.พ. 2020 เวลา 11:07 • ข่าว
"โรคติดต่ออันตราย"
- ปี 2512 อหิวาตกโรค(โรคห่า)ระบาดหนักในยุโรป องค์การอนามัยโลกอัพเกรด "ระเบียบสุขาภิบาลระหว่างประเทศ" (International Sanitary Regulations) วาร์ปเปลี่ยนร่างกลายเป็น "กฎอนามัยระหว่างประเทศ" (International Health Regulation หรือ IHR)
- สาระสำคัญของ IHR จะเน้นควบคุมโรคที่ช่องทางเข้าออกระหว่างประเทศทั่วโลก ตัวโรคเป้าหมายก็ค่อยๆเพิ่มขึ้น จากอหิวาต์(cholera) กาฬโรค(plaque) สู่ไข้เหลือง(Yellow fever)
- พอปี 2548 ฉบับล่าสุดก็มี SARS เข้ามาเพิ่ม และมีความชัดเจนในเรื่องพันธะสัญญาร่วมมือกันจัดการกับการแพร่ระบาดข้ามประเทศ ได้นิยามเหตุการณ์ขึ้นว่า Public Health Emergencies of International Concern (PHEIC) ซึ่งบุคโดโจได้สรุปไว้แล้ว ตามลิ้งข้างล่าง
- รัฐบาลไทยเห็นชอบให้ปฏิบัติตาม IHR ในปี 2550 ตั้งทีมพัฒนาระบบประสานต่างประเทศ เพื่อควบคุม เฝ้าระวัง สอบสวน และตรวจโรค ทุกช่องทางเข้าออกประเทศ โดยร่วมมือกับหลายภาคส่วน (สาธารณสุข ตม. AOT กรมศุลกากร ฯลฯ).
- นอกจาก IHR ด้านการบิน ก็มี International Civil Avition Organisation (ICAO) เขียนกฎอนามัยเกี่ยวกับการบิน ล้อไปกับ IHR (ยังไม่ได้พูดถึง IATA, IMO, MLC ฯลฯ)
- จะเห็นว่าทั้งหมดนี้ ได้ช่วยการควบคุมโรคโดยบังคับให้มีมาตรการควบคุมโรคและอนามัยในหลายประเทศ และเป็นรากฐานในการพัฒนา
"พระราชบัญญัติโรคติดต่อ" (เข้าเรื่องสักทีนะ).
ซึ่งเป็นเสมือนกฎหมายที่แท้จริง เชื่อมโยงสอดคล้องกับ IHR เพื่อนำมาจัดการสาธารณภัย ในประเทศไทย
- "พระราชบัญญัติโรคติดต่อ 2558" พ่อพระเอกของเรา ทำให้การทำงานของเจ้าหน้าที่สะดวก มีอำนาจในการจัดการโรคภัย ยกตัวอย่างสถานการณ์ COVID-19
- มาตรา 34 "เมื่อเกิดโรคติดต่ออันตราย/เกิดโรคระบาด/มีเหตุสงสัยว่าเกิดโรคติดต่ออันตราย โรคระบาดในเขตพื้นที่" เราสามารถดำเนินการแยกกัก กักกัน คุมไว้สังเกตในที่กำหนดได้ เสริมสร้างภูมิคุ้มกันได้ ตรวจซากศพซากสัตว์ต้องสงสัยได้ และอีกหลายได้
- มาตรา 39 เมื่อสงสัย"พาหนะ" (เช่นเครื่องบิน) มาจากท้องที่หรือเมืองท่าที่มีโรคระบาด เราสามารถตรวจสอบพาหนะ และห้ามการเข้าออกจากพาหนะได้ ที่สำคัญเราห้ามการนำผู้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรได้อีกด้วย
- แต่ความจริงแล้วที่ผ่านมา ประเทศไทยยังไม่ได้ประกาศ COVID-19 เป็นโรคระบาด หรือโรคติดต่ออันตราย
- หมายความว่าหากผู้ป่วย/ผู้เดินทาง Berserk วิวาทพังประตูห้องกักตัว ไม่ให้ความร่วมมือ เจ้าพนักงานก็อ้างได้ยากว่าจะยึดตามกฎหมายอันใด
- ก่อนหน้านี้มีโรคที่ประกาศเป็นโรคติดต่ออันตรายแล้ว 13 โรค ได้แก่
1. กาฬโรค (นำโดยหมัดหนู)
2. ไข้ทรพิษ (หมดไปจากโลกแล้ว)
3. ไข้เลือดออกไครเมียนคองโก (เจอในอัฟริกา นำโดยหมัด และการสัมผัสสารคัดหลั่ง)
4. ไข้เวสต์ไนล์ (จากยุง พบได้ในแอฟริกา และอเมริกา)
5. ไข้เหลือง (พบในอเมริกาใต้ และแอฟริกา)
6. ไข้ลาสซา (นำโดยหนู พบในแอฟริกา)
7. โรคติดเชื้อไวรัสนิปาห์ (นำโดยค้างคาว พบในอินเดีย มาเลเซีย)
8. โรคติดเชื้อไวรัสมาร์บวร์ก
9. โรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา (นำโดยค้างคาว พบในแอฟริกา)
10. โรคติดเชื้อไวรัสเฮนดรา (นำโดยค้างคาว พบในออสเตรเลีย)
11. โรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง หรือโรคซาร์ส (ไม่พบอีกหลังการระบาดปี 2003-2004)
12. โรคทางเดินหายใจตะวันออกกลาง หรือโรคเมอร์ส (นำโดยอูฐ พบในตะวันออกกลาง)
13. วัณโรคดื้อยาหลายขนานชนิดรุนแรงมาก (พบได้ในประเทศไทย อยู่ประปราย)
- จึงเป็นเรื่องที่น่ายินดี ไม่ใช่เรื่องน่ากลัว ที่ประเทศไทยได้ประกาศ COVID-19 เป็น "โรคติดต่ออันตราย" ตัวใหม่ เพื่อที่เจ้าหน้าที่จะทำงานต่อได้
- มดงานด่านหน้าทั้งหลายคงโล่งอกโล่งใจกันกว่าเดิม
โฆษณา