ประวัติการค้นพบ “ความลับของชีวิต”
1.
เดินทางย้อนเวลาไปกับผมนะครับ
ผมจะพาไปเมืองเคมบริดจ์ ประเทศอังกฤษ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ ปีคศ. 1953
เราอยู่กันที่ผับซึ่งมีชื่อว่า The Eagle เวลาตอนนี้ก็ .... ก่อนเที่ยงเล็กน้อย
ภาพด้านหน้า The Eagle pub จากเวป BBC
เชื่อว่าหลายท่านโดยเฉพาะท่านที่เรียนมาทางด้านชีววิทยาหรือการแพทย์ อาจจะพอนึกออกแล้วว่าผมพามาที่ผับ The Eagle แห่งนี้กันทำไม
ใช่ครับ เพราะอีกไม่กี่นาทีข้างหน้า จะมีเหตุการณ์บางอย่างเกิดขึ้นที่นี่ แล้วทำให้ผับเล็กๆแห่งนี้ถูกบันทึกไว้ว่า เป็นสถานที่ซึ่ง “การค้นพบความลับของชีวิต” ถูกประกาศให้โลกรู้เป็นครั้งแรก
1
ก่อนอื่น เราไปหาที่นั่งกันก่อนดีกว่า ครับ ใกล้เที่ยงแล้ว อีกสักพักอาจารย์ นักศึกษา และเจ้าหน้าที่จากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์คงจะทยอยเข้ามาจนเต็ม
2.
คอยดูที่ประตูผับไว้ให้ดีนะครับ เพราะอีกสักครู่ จะมีชายหนุ่มสองคนเดินเข้าประตูนั้นมา คนแรกดูหนุ่มหน่อย อายุประมาณสัก 25 ปีหน้าตาไม่หล่อ ผอมสูงเหมือนคนไม่ค่อยยอมกินข้าว ผมเผ้ารุงรัง คนที่สองดูมีอายุมากกว่า ประมาณสัก 30 ปลาย ๆ ดูเนิรด์ๆหน่อย
ระหว่างที่รอพวกเขาผมอยากให้ดูรูปภาพนี้ครับ ภาพนี้มีชื่อว่า Photo 51
ภาพ photo 51 จาก wikipedia
ดูเผิน ๆ เหมือนจะเป็นแค่ภาพกากบาทที่ถ่ายไม่ชัดใช่ไหมครับ แต่ภาพนี้คือภาพที่เปลี่ยนประวัติศาสตร์วิทยาศาสตร์การแพทย์ครับ อาจจจะเรียกว่าเป็นภาพที่สำคัญที่สุดภาพหนึ่งเท่าที่มนุษย์เคยผลิตขึ้นมาเลยก็ว่าได้ เรื่องราวของภาพนี้คือ อ้าว พวกเขา ... มาพอดี
ฟรานซิส คริก และ เจมส์ วัตสัน
ชายสองคนกำลังยืนยิ้มแป้นอยู่ หน้าตาไม่ค่อยน่าไว้ใจ ทั้งคู่ดูเนิรด์พอ ๆ กัน แทนที่ชายสองคนนี้จะเดินเข้ามาดี ๆ เหมือนคนอื่นทั่วไป ชายคนที่สองซึ่งดูมีอายุมากกว่ากลับตะโกนขึ้นเสียงดังลั่นว่า
“พวกเราค้นพบความลับของชีวิตแล้ว!!”
ไม่มีใครในผับรู้หรอกครับว่าสองคนนี้พูดถึงอะไรหรือค้นพบอะไร แต่ทุกคนก็ร้องเฮ เพราะทั้งคู่ประกาศต่อว่าจะเลี้ยงเบียร์ทุกคนในผับ
แต่ผมอยากจะบอกว่า เลี้ยงเบียร์คนละแก้วถือว่าน้อยมาก เพราะเช้าวันนั้น สิ่งที่เขาทั้งสองคนพบอาจถือว่าเป็นการปิดฉากของคำถามที่มนุษย์สงสัยกันมาเป็นพันหรืออาจเป็นหมื่นปี
และในอีกประมาณ 2 เดือนถัดมา คือวันที่ 25 เมษายน ค.ศ. 1953 การค้นพบของเขาทั้งสองคนจะได้รับการตีพิมพ์ลงในวารสารวิทยาศาสตร์ที่ชื่อ Nature
รายงานวิจัยของพวกเขาสั้นมาก หน้าเดียวจบ แต่การค้นพบของพวกเขาถือได้ว่าเป็นการค้นพบที่สำคัญที่สุดครั้งหนึ่งของศตวรรษ และการค้นพบนี้เองที่ทำให้เขาทั้งสองได้รับรางวัลโนเบลสาขาสรีรวิทยาและการแพทย์ในปี ค.ศ. 1962
ใช่แล้วครับ ชายสองคนนี้คือ เจมส์ วัตสัน (James Watson) และฟรานซิส คริก (Francis Crick) และการค้นพบของพวกเขาคือการค้นพบโครงสร้างของ DNA
3.
กำลังสงสัยหรือเปล่าครับว่าการค้นพบโครงสร้างของ DNA มันสำคัญขนาดนั้นเชียวหรือ?
เป็นคำถามที่ดีครับ แต่ก่อนที่ผมจะตอบคำถามนี้ ผมอยากจะเล่าเกี่ยวกับการค้นพบครั้งนี้ให้ฟังกันก่อน
ทั้งหมดเริ่มต้นขึ้นจากสงครามโลกครั้งที่สองครับ
สงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดลงพร้อมกับความตายของมนุษย์มากกว่า 50 ล้านคนซึ่งมากกว่าสงครามครั้งไหนๆในประวัติศาตร์ของมนุษยชาติ
สาเหตุที่สงครามครั้งนี้มีจำนวนคนตายสูงขนาดนี้เพราะมนุษย์เราไม่ได้รบกันด้วยดาบหรือธนูอีกต่อไป แต่เราฆ่ากันด้วย ระเบิด รถถัง เครื่องบินทิ้งระเบิด อาวุธเคมี ซึ่งอาวุธเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นผลผลผลิตของวงการวิทยาศาสตร์ทั้งสิ้น
1
แน่นอนครับอาวุธที่มีพลังทำลายล้างสูงที่สุดในสงครามครั้งนี้คือ ระเบิดปรมาณูซึ่งก็มีที่มาจากทฤษฎีของฟิสิกส์ที่บอกว่ามวลสามารถเปลี่ยนเป็นพลังงานขนาดมหาศาลได้
ฟิสิกส์เป็นวิชาที่สวยงามเพราะเป็นวิชาที่ทำให้เราเข้าถึงความงดงามของธรรมชาติในลักษณะที่ทำไม่ได้ด้วยประสาทสัมผัสทั้ง 5 คือฟิสิกส์สามารถพาเราไปเข้าใจถึงแก่นลึกของธรรมชาติอันยิ่งใหญ่ผ่านสมการทางคณิตศาสตร์
นักวิทยาศาสตร์หนุ่มสาวในยุคนั้นจำนวนมากเลือกเรียนฟิสิกส์เพราะหลงใหลในความสวยงามนี้ พวกเขาทุ่มเทค้นคว้าวิจัยโดยเชื่อว่าความรู้ทางวิทยาศาสตร์จะช่วงให้ชีวิตของมวลมนุษยชาติดีขึ้น
แต่เมื่อเกิดสงครามขึ้น ฟิสิกส์ก็ถูกนำไปใช้เพื่อผลิตทุ่นระเบิด เรดาร์ และระเบิดปรมาณู ความสวยงามที่นักฟิสิกส์หลงใหลจึงกลายสภาพเป็นวิทยาศาสตร์แห่งความตายหรือ science of death
เมื่อสงครามสิ้นสุดลงนักฟิสิกส์จำนวนไม่น้อยจึงตัดสินใจหันหลังให้กับ วิทยาศาสตร์แห่งความตาย แล้วย้ายไปทำงานวิจัยให้กับ วิทยาศาสตร์แห่งชีวิต หรือ biology
4.
การศึกษาวิชาชีววิทยาก่อนหน้านั้นจะเน้นไปที่การสังเกตุ จดบันทึก บรรยายรายละเอียดของธรรมชาติ แล้วพยายามเข้าใจความสัมพันธ์ มองหาเหตุและผลที่อยู่เบื้องหลัง มองภาพใหญ่หรือมองแบบองค์รวม
แต่สิ่งที่นักฟิสิกส์ทั้งหลายนำติดตัวมาสู่วงการชีววิทยาเมื่อพวกเขาย้ายค่าย คือ การมองธรรมชาติแบบที่เรียกว่า Quantitative Perspective คือมองเป็นตัวเลข พยายามเข้าใจธรรมชาติด้วยคณิตศาสตร์ วิเคราห์แบบแยกส่วน มองจากมุมเล็ก
ด้วยมุมมองที่ต่างไปจากเดิมนี้ วิชาชีววิทยาจึงเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว
การศึกษาพันธุกรรมในยุคก่อนหน้าก็เช่นเดียวกัน นักชีววิทยาจะศึกษาผ่านกล้องจุลทรรศน์ คือพยายามสังเกตว่าเห็นอะไรบ้าง มีการเคลื่อนไหวอะไรเกิดขึ้นบ้าง และอะไรคือคำอธิบายที่น่าจะอยู่เบื้องหลัง
จนในที่สุดนักชีววิทยาก็มาถึงข้อสรุปว่า ถ้าเรารู้โครงสร้างของ DNA คือ ถ้าเรารู้ว่าหน้าตาของสิ่งที่เรียกว่า DNA มันเป็นอย่างไร เราน่าจะเข้าใจว่า DNA ทำงานอย่างไร
ถ้าจะเปรียบเทียบก็คงเทียบได้กับเด็กที่ได้ของเล่นมาแล้วอยากรู้ว่าทำไมของเล่นขยับได้ ทำไมของเล่นส่งเสียงได้ สิ่งที่ต้องทำก็คือ แกะของเล่นออกมาดูว่าภายในมีกลไกอะไรบ้าง ถ้าได้เห็นเฟือง ก็อาจจะช่วยให้เข้าใจว่าสิ่งนั้นทำงานอย่างไร
นักวิทยาศาตร์เองก็มองว่าถ้าได้แกะออกมาดูว่า DNA หน้าตาเป็นอย่างไร ก็คงจะรู้ว่า DNA ทำงานยังไง
พูดง่ายแต่ทำจริงยากครับ ปัญหาคือ เรากำลังพูดถึงสิ่งที่เล็กมากๆๆๆๆ
คิดดูนะครับ ถ้าคุณถอนผมตัวเองออกมาสักเส้น ปลายหน้าตัดของเส้นผมจะมีพื้นที่พอให้แบคทีเรียยืนได้ประมาณหลายหมื่นถึงแสนกว่าตัว (แบคทีเรียจะรู้สึกว่าปลายเส้นผมจะเหมือนสนามฟุตบอลที่ใหญ่มาก ๆ )
แบคทีเรียหนึ่งตัวสามารถบรรจุไวรัสในตัวมันได้หลายสิบถึงหลายร้อยตัว (ไวรัสจะรู้สึกเหมือนนั่งในห้องประชุมใหญ่ๆสักห้อง)
สมมติว่าไวรัสมีตา แล้วไวรัสพยายามมอง DNA ไวรัสยังเห็น DNA เป็นแค่เส้นด้ายบาง ๆ เท่านั้น
แต่นี่นักวิทยาศาสตร์พยายามจะมองให้เห็นว่าตัวเส้นด้ายนั้นทำมาจากอะไร เส้นใยของเส้นด้ายมีหน้าตาเป็นอย่างไร โลกที่เล็กขนาดนี้มันเกินกว่ากำลังขยายของกล้องจุลทรรศน์ที่นักวิทยาศาสตร์มีอยู่อย่างมาก
คำถามคือจะศึกษาโครงสร้างของ DNA ได้อย่างไร?
5.
เจมส์ วัตสันและ ฟรานซิสคริกเป็นคู่หูนักวิทยาศาสตร์ที่ค่อนข้างแปลกจากนักวิทยาศาสตร์ทั่วไป
ความแปลกอย่างแรกเลยคือ ทั้งคู่สนใจศึกษาโครงสร้างของ DNA ทั้ง ๆ ที่ไม่ใช่งานหลักของทั้งสองคนเลย คริกต้องทำวิทยานิพนธ์หัวข้ออื่น ส่วนวัตสันก็ได้รับมอบหมายให้ศึกษาโครงสร้างทางเคมีของสารอื่น แต่ทั้งคู่เอาเวลาทำงานหลักมาสนใจเกี่ยวกับโครงสร้าง DNA
ความแปลกอย่างที่สองคือ ทั้งสองคนไม่ได้ทำงานวิจัยเกี่ยวกับโครงสร้าง DNA จริงๆจัง ๆ เหมือนที่นักวิทยาศาสตร์คนอื่นทำ
ทั้งวัตสันและคริกอาศัยว่าอ่านงานวิจัยของคนอื่น พูดคุยขอความรู้จากนักวิทยาศาสตร์คนอื่น แล้วทั่งคู่ก็มาพูดคุย ถกเถียง แลกเปลี่ยนสิ่งที่ได้เรียนรู้มาระหว่างกัน วัน ๆ ทั้งคู่แทบไม่ทำงานอะไรของตัวเองเลย เอาแต่คุยกันเรื่องของ DNA ซึ่งผิดจากที่นักวิทยาศาสตร์ทั่วไปเขาทำกัน
คราวนี้ก็กลับมาหาคำถามที่ว่า ถ้า DNA มันมีขนาดที่เล็กมากแล้วเราจะศึกษาโครงสร้างของมันได้อย่างไร? คำตอบมาจากนักฟิสิกส์ครับ
เริ่มมาจากงานวิจัยของนักฟิสิกส์พ่อลูก วิลเลียม เฮนรี แบรกก์ (William Henry Bragg) และ วิลเลียม ลอว์เรนซ์ แบรกก์ (William Lawrence Bragg) โดยทั้งคู่วิจัยและพัฒนาสิ่งที่เรียกว่า X-ray Crystallography จนได้รางวัลโนเบลในปี ค.ศ. 1915
ชื่อฟังเหมือนจะเข้าใจยากแต่จริง ๆ หลักการไม่มีอะไรยากครับ ก่อนอื่นเลยจะเห็นว่ามีคำสองคำที่เรารู้จักกันดี หนึ่งคือเอ็กซ์เรย์ สองคือคริสตัล ส่วนคำว่า graphy มีหลายความหมาย เช่น เขียน จดบันทึก วาด บรรยาย ดังนั้นคำนี้โดยรวมจึงอาจแปลได้ว่า การบันทึกภาพของคริสตัลด้วยเอ็กซ์เรย์
เนื่องจาก DNA มีขนาดเล็กมาก คือสั้นกว่าความยาวคลื่นของแสง ทำให้ DNA ไม่มีทางที่จะมองเห็นด้วยกล้องจุลทรรศน์ธรรมดาที่ใช้แสงแดดได้เลย
นักวิทยาศาสตร์จึงต้องใช้ทางอ้อมโดยการส่องด้วยเอ็กซ์เรย์ไปที่ DNA หลักการนี้ก็เหมือนกับการส่องไฟไปที่โคมไฟระย้าหรือโคมไฟแชนเดอเลียร์แล้วดูภาพเงาที่เกิดขึ้นที่ผนังห้องด้านหลัง (ซึ่งมีขนาดใหญ่กว่าของจริง) ว่าเป็นอย่างไร
ถ้าเราส่องไฟจากทิศเดียวเราก็จะเห็นเงาจากทิศเดียว ในการทดลองจริงจึงต้องส่องไฟหลาย ๆ ครั้ง จากหลาย ๆ ทิศทาง จากนั้นก็นำภาพทั้งหมดที่ได้มาวิเคราะห์ว่าโคมไฟของจริงควรจะมีรูปร่างหน้าตาเป็นอย่างไร
หลักการฟังดูไม่ยากใช่ไหมครับ แต่เทคนิคในการผลิตภาพชนิดนี้ยากมาก
แล้วหนึ่งในทีมที่สนใจศึกษาโครงสร้าง DNA ด้วยวิธีการนี้คือ ทีมนักวิจัยจาก King’s college ซึ่งนำทีมโดยนักฟิสิกส์ มอริส วิลกินส์ (Maurice Wilkins) และ โรซาลินด์ แฟรงคลิน (Rosalind Franklin)
6.
เหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์ของวิชาพันธุกรรมเกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1952 เมื่อ แฟรงคลินและกอสลิงซึ่งเป็นนักศึกษาปริญญาเอก ถ่ายภาพเอกซเรย์ของ DNA ที่ชัดที่สุดเท่าที่เคยถ่ายได้
ภาพนี้มีชื่อว่า Photo 51 ภาพนี้ตามธรรมเนียมต้องถือว่าเป็นผลงานส่วนตัวของแฟรงคลิน เพราะเทคนิคการถ่ายภาพให้ชัดเช่นนี้เป็นผลงานวิจัยที่พัฒนามาโดยแฟรงคลิน
photo 51
แฟรงคลินจึงมีสิทธิ์ตัดสินใจว่าจะทำอย่างไรกับภาพนี้ก็ได้ เช่น จะให้ใครดู จะให้ใครนำไปใช้ต่อ หรือจะประกาศให้คนอื่น ๆ รับรู้เมื่อไหร่ แต่ในขณะเดียวกันกอสลิงซึ่งเป็นคนถ่ายภาพนี้ (โดยใช้เทคนิคของแฟรงคลิน) ก็มองว่าภาพนี้เป็นผลงานของเขาที่ทำร่วมกับอาจารย์สองคนคือ แฟรงคลินและวิลกินส์
เขาจึงนำภาพก็อปปี้นี้ไปให้วิลกินส์ดู ซึ่งจะว่าไปแล้วก็ไม่เป็นปัญหาอะไรเพราะทั้งแฟรงคลินและวิลกินส์ทำงานวิจัยภายใต้เจ้านายและทุนวิจัยเดียวกัน คือเป็นทีมเดียวกัน แต่เรื่องมันเป็นปัญหาเมื่อวิลกินส์แชร์ภาพนี้ให้คนนอกดู และไม่ใช่คนนอกธรรมดาแต่เป็นคนนอกที่ชื่อเจมส์ วัตสัน
คำถามคือ ทำไมวิลกินส์ทำเช่นนั้น? คำตอบจริงคงตอบยากและคงไม่มีใครรู้แน่ชัดครับ
แต่สิ่งที่เรารู้ค่อนข้างแน่คือมุมมองที่ต่างระหว่างแฟรงคลินและวิลกินส์ แฟรงคลินเป็นยิวอเมริกัน เติบโตมาในยุคที่โอกาสทางการศึกษาของผู้หญิงไม่เท่าเทียมผู้ชาย และวงการวิทยาศาสตร์ยังไม่ต้อนรับผู้หญิงมากนัก (ยุคนั้นยังเชื่อว่าผู้หญิงไม่เก่งวิทยาศาสตร์เท่าผู้ชาย)
แฟรงคลินเรียนรู้มาตั้งแต่เด็กว่าเพราะความเป็นผู้หญิงและเป็นยิว การจะได้รับการยอมรับในโลกของผู้ชายเธอต้องเก่งกว่าผู้ชาย แฟรงคลินจึงมีนิสัยที่ชอบแข่งขัน
ในทางตรงกันข้ามวิลกินส์เป็นนักวิทยาศาสตร์ที่หัวค่อนข้างเอียงซ้าย เคยเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ ขนาดว่าในช่วงสงครามโลกและหลายปีหลังสงครามสิ้นสุดลง เขาถูกหน่วยความมั่นคงแห่งชาติของอังกฤษหรือ MI5 แอบติดตามพฤติกรรมเพราะกลัวว่าจะแอบส่งข้อมูลสำคัญให้กับฝ่ายคอมมิวนิสต์
วิลกินส์มีความเชื่อว่าความรู้ทางวิทยาศาสตร์ไม่ควรเป็นสมบัติของใครแต่ควรแบ่งปันและเปิดกว้าง นอกจากนี้วิลกินส์ยังเป็นเพื่อนที่ดีกับคริกมาหลายปี ทั้งคู่กินข้าวด้วยกันหลายครั้ง พูดคุยกันหลายเรื่องรวมไปถึงเรื่องต่าง ๆ ในครอบครัว
วิลกินส์จึงไม่มองว่าวัตสันและคริกเป็นคู่แข่ง แต่เป็นเพื่อนนักวิทยาศาสตร์ต่างสถาบันที่ศึกษาเรื่องเดียวกัน และนั่นอาจจะเป็นเหตุผลที่เขาแชร์ภาพ photo 51 ให้กับวัตสัน
7.
หลังจากที่วัตสันได้เห็นภาพ Photo 51 เขาก็รีบนั่งรถไฟกลับไปยังเคมบริดจ์ ในช่วงเวลาที่ผ่านมา วัตสันและคริก พยายามจะศึกษาโครงสร้างของ DNA ด้วยการสร้างโมเดลจำลองขึ้นมา
แต่การสร้างโมเดลขึ้นมาจำเป็นต้องมีคำใบ้ ซึ่งคำใบ้ทั้งหลายก็ได้มาจากงานวิจัยของคนอื่นๆ ครั้งนี้ก็เช่นเดียวกัน ภาพที่วัตสันได้เห็น เป็นข้อมูลใหม่ที่ทำให้เขาเชื่อว่าอาจจะทำให้เขาต่อโมเดลได้สำเร็จ
คำใบ้เหล่านี้ไม่ได้ทำให้รู้ทันทีว่าโครงสร้าง DNA มีหน้าตาเป็นอย่างไร แต่จะมีประโยชน์ในการตรวจสอบว่า โมเดลที่ทดลองต่อขึ้นนั้น มีลักษณะที่ตรงกับคำใบ้เหล่านี้หรือไม่
หลังจากทดลองต่อผิดต่อถูกอยู่เดือนกว่า ๆ ในที่สุดเช้าวันที่ 28 กุมภาพันธ์ปีค.ศ. 1953 พวกเขาก็ค้นพบโมเดลที่ดูจะเข้าได้กับคำใบ้ต่างๆที่มีทั้งหมด
และเมื่อมั่นใจว่ามาถูกทางแน่ๆ เหลือแค่ต่อให้เสร็จ แต่พวกเขาก็อดทนรอดต่อไปไม่ไหว จึงวิ่งไปที่ผับ The Eagle แล้วตะโกนบอกทุกคนว่า “พวกเราค้นพบความลับของชีวิตแล้ว!!”
โมเดลต่อเสร็จสมบูรณ์จริง ๆ ในวันที่ 7 มีนาคม ค.ศ. 1953
งานวิจัยของพวกเขาได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร Nature ฉบับวันที่ 25 เมษายน ค.ศ. 1953 เป็นรายงานวิจัยที่สั้นเพียงหน้าเดียวจบ
ในบทความเล่าถึงรายละเอียดของโครงสร้างโมเลกุลของ DNA เช่น อะตอมไหนอยู่ตรงไหน ต่อกันอย่างไร และโมเดลนี้ตรงกับข้อมูลจากเอ็กซ์เรย์อย่างไร
แต่ไฮไลท์ของบทความจริง ๆ ไม่ได้อยู่ที่รายละเอียดว่า DNA มีหน้าตาอย่างไรครับ ความสำคัญของบทความนี้จริง ๆ แล้วอยู่ที่ข้อความย่อหน้ารองสุดท้ายไม่กี่บรรทัด ซึ่งเขียนด้วยสำนวนถ่อมตัวแต่ฟังดูแล้วฉลาดสไตล์อังกฤษเอาไว้ว่า
“It has not escaped our attention that the specific pairing we have postulated immediately suggests a possible copying mechanism for the genetic material”
หรือสรุปใจความได้ว่า โครงสร้างที่เล่ามาทั้งหมดนี้ มันเหมือนจะบอกเราด้วยว่า DNA เก็บข้อมูลและทำสำเนาข้อมูลอีกชุดได้อย่างไร
หรืออาจพูดสั้น ๆ ง่าย ๆ ได้ว่า
“พวกเรารู้แล้วล่ะว่า DNA ทำงานอย่างไร (แต่ตอนนี้ขอเร่งตีพิมพ์ผลงานเพื่อเข้าเส้นชัยเป็นทีมแรกก่อน แล้วว่าง ๆ หลังฉลองชัยชนะเสร็จ จะกลับมาอธิบายเพิ่มเติมให้ฟัง)”
แล้วพวกเขาก็กลับมาอธิบายจริง ๆ อีกหนึ่งเดือนถัดมาวัตสันและคริกก็ตีพิมพ์บทความสั้น ๆ ตามมาอีกบทความในวารสาร Nature เพื่อขยายความประโยคที่ทิ้งค้างไว้ และด้วยบทความนี้
พวกเขาอธิบายให้เห็นว่าโครงสร้างของ DNA มีหน้าตาเหมือนกับเป็นแม่พิมพ์สองอันที่ประกบกันอยู่ เมื่อถึงเวลาต้องสร้างพันธุกรรมขึ้นมาอีกชุด DNA ก็จะแยกตัวออก แล้วแต่ละฝั่งสามารถก็จะทำหน้าที่เหมือนเป็นแม่พิมพ์สร้างพันธุกรรมขึ้นมาอีกชุดได้
ภาพการ copy ของ DNA จาก wikipedia
และด้วยเหตุนี้การทำงานเบื้องต้นของ DNA หรือความลับของการสร้างชีวิตจึงถูกเปิดเผยออกมาเป็นครั้งแรกของโลก ...
(ปิดท้ายด้วยโฆษณา)
ถ้าชอบประวัติวิทยาศาสตร์การแพทย์เช่นนี้ แนะนำอ่านหนังสือ Best seller ที่ได้รับรางวัล 7book award “สงครามที่ไม่มีวันชนะ”
สามารถซื้อได้จากร้านหนังสือทั่วไป หรือสั่งซื้อได้จากลิงก์
อ่านบทความประวัติศาสตร์อื่นๆเพิ่มเติมได้ที่
อ่านบทความวิทยาศาสตร์และการแพทย์ได้ที่
คลิปวีดีโอเกี่ยวกับประวัติศาสตร์

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา