Super Spreader ในตำนาน ไทฟอยด์แมรี่
1.
ปีค.ศ. 1883
แมรี่ มาลอน (Mary Mallon) เดินทางขึ้นเรือออกจากท่าที่ประเทศไอร์แลนด์
ในวันนั้นเธอเป็นแค่เด็กสาววัยรุ่นคนหนึ่งในชาวไอร์แลนด์นับล้านคนที่หนีความอดอยากและหวังว่าจะไปมีชีวิตที่ดีขึ้นในประเทศอเมริกา
ผู้อพยพชาวไอริชนับล้านหนีความอดอยากไปอเมริกา
เธอไม่รู้ตัวเลยว่า สุดท้ายการเดินทางในครั้งนั้นเป็นก้าวแรกของการเดินทางไปถูกกักขังเป็นเวลาหลายปี
เธอคงคิดไม่ถึงว่า สิ่งที่เธอกำลังจะทำ จะกลายเป็นเรื่องราวเล่าขานไปทั่วโลกจนถึงทุกวันนี้
เรื่องราวของเธอจะถูกเขียนไว้ในหนังสือระบาดวิทยาเกือบทุกเล่ม
เพราะในวันนั้นเธอไม่ได้ขึ้นเรือไปแต่เพียงลำพัง
แต่ในร่างกายของแมรี่ ยังมีเชื้อโรคที่ดุร้ายแอบซ่อนอยู่ด้วย
และนี่คือเรื่องราวของ แมรี่ มาลอน หรือที่ทุกวันนี้คนจดจำเธอในชื่อ ไทฟอย์ด แมรี่
Mary Mallon หรือ Typhoid Mary
2.
พูดถึงคำว่า “โรคไทฟอยด์” ทุกวันนี้ผมเดาว่า คนส่วนใหญ่น่าจะเคยได้ยินชื่อ
แต่ถ้าไม่ใช่คนในวงการสาธารณสุข น้อยคนนักที่จะนึกภาพออกว่าโรคนี้มีหน้าตาเป็นอย่างไร
เพราะปัจจุบันโรคไทฟอยด์ไม่ใช่โรคที่ได้บ่อย และไม่ใช่โรคที่เรากลัวกันอีกต่อไป
ดังนั้น ผมจะขอใช้เวลาอธิบายเกี่ยวกับโรคนี้สั้นๆ
พอให้เห็นภาพนะครับว่าโรคนี้มีหน้าตาเป็นอย่างไร
โรคไทฟอยด์เป็นโรคติดเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่งที่มีชื่อว่า ซัลโมเมนลลา ไทฟี่ (Salmonella typhi)
ติดต่อจากคนสู่คน ผ่านการกินน้ำและอาหารที่มีเชื้อเข้าไป
พอเชื้อเข้าไปในร่างกายแล้วจะยังไม่มีอาการ เพราะเชื้อมีระยะเวลาฟักตัวหลายวัน อาจจะ 1-2 สัปดาห์ หรือพูดง่ายๆว่า ผ่านไปครึ่งเดือนถึงเดือนนึงแล้วจึงจะเริ่มมีอาการ
ช่วงนี้เชื้อจะค่อยๆแบ่งตัวเพิ่มจำนวนในทางเดินอาหาร จากนั้นก็จะเข้าสู่ท่อน้ำเหลือง ก่อนจะไปถึงเลือดในที่สุด
สำหรับอาการก็มีได้หลากหลาย และไม่ค่อยจำเพาะ ตั้งแต่
ไข้ที่หาสาเหตุไม่ได้ ปวดท้อง ท้องเสีย ปวดเมื่อยตามตัว อ่อนเพลียวอาจจะมีไอแห้งๆได้
อาการอาจจะรุนแรงจนมีอาการทางสมองร่วมด้วยได้ เช่น ไม่รู้สึกตัว เพ้อ
หรือในบางคนก็อาจไม่มีอาการเลยก็ยังได้
โรคไทฟอยด์นี้ ก่อนที่จะมีการรักษาหรือวัคซีน ถือว่าเป็นโรคอันตรายและมีอัตราการตายสูงประมาณ 10 เปอร์เซนต์ ทำให้เป็นโรคที่ผู้คนในสังคมหวาดกลัวกันมากโรคหนึ่ง
และเรื่องราวที่เราจะคุยถึงกันในวันนี้เกิดขึ้น ในช่วงเวลาที่ยังไม่มีวิธีการรักษาใครป่วยเป็นโรคไทฟอยด์ขึ้นมา ก็ต้องแล้วแต่ดวงว่าจะมีอาการรุนแรงแค่ไหน
จะรอดหรือจะตายไม่มีใครบอกได้
3.
ปีค.ศ. 1906 นายธนาคารผู้ร่ำรวยชื่อ ชาร์ลส์ วอร์เรน (Charles Henry Warren) และครอบครัวของเขา เดินทางไปเช่าบ้านเพื่อพักผ่อนในช่วงหยุดฤดูร้อนที่ Oyster Bay เมืองลองไอส์แลนด์
หลังจากนั้นไม่นาน ครอบครัวของวอร์เรน ก็เริ่มป่วยเริ่มจากลูกสาว ตามด้วยสมาชิกคนอื่นๆในบ้าน รวมไปถึงคนงานและคนสวนอื่นๆที่มาทำงานที่บ้านในช่วงเวลานั้น
ความเดือดร้อนก็เลยตกไปที่ จอร์ช ธอมสัน (George Thompson) เจ้าของบ้านเช่าด้วย เพราะกลายเป็นว่าบ้านเช่าขนาดใหญ่ราคาแพงนี้ กลายเป็นบ้านที่ปนเปื้อนเชื้อไป โดยที่ไม่รู้ว่าแหล่งของการติดเชื้อเริ่มต้นขึ้นที่ไหน
ถ้าเขาไม่สามารถกำจัดแหล่งกำเนิดเชื้อไปได้ ธุรกิจบ้านเช่าซึ่งมีค่าดูแลมหาศาล ของเขาต้องมีปัญหาอย่างแน่นอน
จอร์ช ธอมสัน จึงต้องไปจ้างจอร์ช โซเปอร์ (George Soper) ผู้เชี่ยวชาญเข้ามาตรวจสอบหาต้นตอของโรค และหวังว่าจะแก้ไขปัญหาได้
หลังจากที่โซเปอร์ ตรวจน้ำดื่ม ส้วม ถ้งขยะ บ่อน้ำทิ้ง เขาก็ไม่พบเชื้อที่อาจจะเป็นสาเหตุของโรคได้เลย จากนั้นเขาจึงตรวจสอบนมที่มาส่ง ตรวจตลาดขายอาหารทะเลที่แม่บ้านไปซื้อ แต่ก็ไม่พบแหล่งที่น่าจะเป็นต้นตอของเชื้อ
เขาจึงเริ่มสัมภาษณ์สมาชิกในบ้านแต่ละคน นัดสัมภาษณ์แขกที่มาเยี่ยมบ้านทุกคน ตรวจสอบรายชื่อผู้เช่าที่เคยมาเช่าบ้านหลังนี้ย้อนกลับไปหลายปี แต่ก็ยังไม่พบต้นตอที่น่าจะเป็นไปได้
ในที่สุดเขาก็พบว่ามีคนหนึ่งที่ตกสำรวจไป
แมรี่ มาลอน แม่ครัวที่มารับจ้างทำอาหารให้กับครอบครัวในช่วงวันหยุด หายตัวไปโดยไม่ได้บอกใคร ประมาณ 3 สัปดาห์หลังอาการป่วยเริ่มต้นขึ้น
4.
โรคไทฟอยด์ เป็นโรคที่เกิดในคนจน หรือระบาดในถิ่นที่อยู่อาศัยของคนจนที่อยู่ร่วมกันอย่างแออัด
1
การที่โรคนี้มาเกิดกับครอบครัวร่ำรวย ในบริเวณบ้านพักตากอากาศของเศรษฐี จึงเป็นเรื่องที่ผิดวิสัยอย่างมาก แม่ครัวซึ่งเป็นชนชั้นแรงงาน มาอาศัยอยู่ใกล้ชิดกับคนรวย ทำอาหารให้กิน จึงเป็นคำอธิบายที่เป็นไปได้อย่างมาก
หลังจากโซเปอร์ ได้คำใบ้ว่าแม่ครัวที่เขาตามหามีลักษณะอย่างไร เขาก็เริ่มออกตามหาแม่ครัวคนนั้น โดยเริ่มแรกเขาไปที่เอเจนซี่จัดหาแม่ครัว เขาถามหา
“หญิงสาววัยประมาณ 40 สูง ค่อนข้างท้วม ผมสีบลอนด์ ตาสีฟ้า ทำอาหารอร่อยแต่ไม่ค่อยสนใจเรื่องความสะอาดนัก”
จากเอเยนซี่หนึ่งสู่อีกเอเยนซี่หนึ่ง จากการสัมภาษณ์ผู้ว่าจ้างคนหนึ่งสู่อีกคนหนึ่ง โซเปอร์ค่อยๆ สะสมข้อมูลมาปะติดปะต่อว่า แมรี่ มาลอน เคยทำอาหารให้กับใครมาบ้าง เขาได้ข้อมูลการทำงานของแมรี่ย้อนหลังไปเกือบ 10 ปี
และข้อเท็จจริงหนึ่งที่แอบเผยออกมาพร้อมๆกับข้อมูลนั้นคือ ตลอดช่วง 10 ปีที่ผ่านมานั้น ไม่ว่าแมรี่จะไปทำงานที่ไหน ก็จะมีโรคไทฟอย์ด ระบาดขึ้นที่บ้านนั้น
โซเปอร์เชื่อว่า เขาได้คำตอบแล้วว่า ต้นตอของโรคมาจากไหน
แต่คำถามคือ เขาจะไปตามแมรี่เจอได้ที่ไหน ?
5.
ประมาณครึ่งปีต่อมา
มีรายงานการระบาดของโรคไทฟอยด์ในครอบครัวหนึ่งที่อาศัยอยู่ในย่าน Park Avenue
การระบาดของโรคไทฟอยด์ไม่ใช่เรื่องแปลก
แต่การระบาดของโรคในถิ่นอาศัยของคนรวยเช่นนี้ทำให้โซเปอร์ สนใจ
แม้ว่าตอนนี้งานของโซเปอร์จะสิ้นสุดลงแล้ว
เขาพิสูจน์แล้วว่าโรคไม่ได้มาจากตัวบ้าน
แต่เขามองว่า การตามล่าแม่ครัวที่คอยแพร่เชื้อไปทั่วเป็นสิ่งที่เขาควรจะทำ
เขานึกภาพแมรี่ว่าเป็น ผู้ร้ายที่เขาต้องตามล่าตัวให้พบ
แต่อีกเหตุผลที่ทำให้โซเปอร์ สนใจที่จะตามเรื่องของแมรี่ต่อ คือ
เขารู้ว่ากรณีนี้เป็นกรณีพิเศษที่ไม่เคยพบมาก่อนในอเมริกา
เพราะจากข้อมูลที่เขาได้มานั้น ไม่มีใครเคยเห็นแมรี่ป่วยก่อนจะก่อให้เกิดการระบาดของโรคเลย
นั่นแปลว่า แมรี่ มีเชื้อแบคทีเรียก่อโรคในตัว แต่ไม่มีอาการป่วย
หรือที่ทุกวันนี้เราเรียกว่า การเป็นพาหะนำโรค
คอนเซปต์ที่เรียกว่า พาหะ หรือ carrier นั้นเป็นสิ่งใหม่ที่ยังไม่ได้รับการยอมรับทั่วไปว่า ภาวะนี้มีอยู่จริง แม้ว่านักวิทยาศาสตร์ชาวเยอรมัน โรเบิรต์ ค็อค (Robert Koch) ที่คนนับถือทั่วยุโรป จะศึกษาเรื่องนี้และยืนยันว่าพาหะ มีอยู่จริงๆ
เพราะเขาพบคนที่เคยป่วยด้วยโรคไทฟอยด์แล้วรอดชีวิตกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติแต่ยังคงแพร่เชื้อให้คนอื่นป่วยต่อได้อีกผ่านการเข้าห้องน้ำแล้วไม่ล้างมือให้สะอาด
การค้นพบนี้เป็นสิ่งแปลกใหม่ที่นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกเคยได้อ่านหรือเห็นผ่านตามาบ้าง
แต่ไม่ทุกคนที่ยอมรับว่า ภาวะนี้จะมีอยู่จริง
มันยากที่จะทำใจเชื่อว่า เชื้อโรคที่รุนแรงอย่างโรคไทฟอยด์จะไม่ก่อให้เกิดอาการเลยได้อย่างไร
โซเปอร์เองก็เคยอ่านเจอเรื่องนี้ และเขาคิดว่า
แมรี่อาจจะพาหะของโรคคนแรกที่พบในอเมริกา
1
6.
ในการที่โซเปอร์จะพิสูจน์ว่าแมรี่ เป็นพาหะของโรคจริงๆ
เขาต้องนำสารคัดหลั่งจากร่างกายของเธอไปตรวจหาเชื้อ
จริงอยู่ว่าหลักฐานแวดล้อมต่างๆจะบ่งว่าแมรี่เป็นต้นตอของการระบาด
แต่มันก็มีข้อแย้งอยู่บ้างเหมือนกัน เช่น
แม้ว่าแมรี่จะทำให้เชื้อปนเปื้อนอาหาร
แต่การปรุงอาหารด้วยความร้อนจนสุกก็น่าจะฆ่าเชื้อแบคทีเรียได้
อย่างไรก็ตามมีเมนูเด็ดของแมรี่เมนูหนึ่ง ที่โซเปอร์เชื่อว่าอาจจะต้นตอของโรคระบาด
นั่นคือ ไอศครีมพีช ซึ่งเสริฟ์โดยไม่มีการผ่านความร้อนใดๆทั้งสิ้น
1
เขาจึงเดินทางไปหาแมรี่เพื่อขอปัสสาวะและอุจจาระมาตรวจ
แต่ทันทีที่แมรี่ได้ยินว่าโซเปอร์ต้องการอะไร เธอก็คว้าส้อมแล้วเดินหน้าตรงเข้ามาหา
โซเปอร์จึงต้องตัดสินใจวิ่งหนีออกมาในทันที
อ่านมาถึงตรงนี้ ในมุมมองของคนยุคเราอาจจะมองว่าแมรี่เป็นผู้ร้ายของเรื่อง
เพราะเป็นคนที่แพร่เชื้อให้คนอื่นแล้วไม่ยอมให้ตรวจเชื้อในร่างกาย
แต่ต้องเข้าใจว่าในยุคสมัยนั้น อย่างที่บอกไปก่อนหน้าว่า
การเป็นพาหะของเชื้อเป็นเรื่องใหม่ซึ่งแม้แต่ในวงการแพทย์ยังไม่คุ้นเคย
ดังนั้นสำหรับแมรี่ ที่เป็นคนนอกวงการ การมากล่าวหาว่าเธอแพร่เชื้อไทฟอยด์
โดยที่เธอไม่ได้มีอาการป่วยเลย จึงเหมือนเป็นการมาใส่ร้ายป้ายสี
นอกไปจากนี้ บรรยากาศในเมืองนิวยอร์คช่วงเวลานั้น
มีกลิ่นอายของการรังเกียจผู้อพยพชาวไอร์แลนด์กระจายไปทั่วทุกอณูของเมือง
ภาพการ์ตูนล้อเลียนและ stereotype ผู้อพยพชาวไอร์แลนด์
ชาวเมืองนิวยอร์กมองว่าชาวไอร์แลนด์นับล้านที่อพยพมานี้
ทำให้เมืองเกิดชุมชมแออัด สกปรก ยากจนและเกิดโรคระบาด
เมื่อแมรี่โดนกล่าวหาว่าเป็นตัวทำให้โรคระบาด ทั้งๆที่เธอเองก็ไม่ได้ป่วย
เธอจึงมองว่าโซเปอร์ เป็นพวกรังเกียจชาวไอร์แลนด์ที่เข้ามากลั่นแกล้งก็เป็นได้
ผู้อพยพชาวไอร์แลนด์อยู่กนอย่างแออัดในนิวยอร์ก
หลังจากพลาดในรอบแรก โซเปอร์ก็พยายามเป็นครั้งที่ 2 แต่ก็ล้มเหลวอีกเช่นเคย
สุดท้ายเขาจึงต้องไปขอความช่วยเหลือ จากสาธารณสุขเมืองนิวยอร์ก
เพื่อให้เห็นว่าเป็นหน่วยงานของรัฐ
ทางหน่วยงานจึงส่งหมอผู้หญิงไปเจรจาแต่ก็โดนปฏิเสธ
สุดท้ายโซเปอร์จึงต้องไปขอความช่วยเหลือจากตำรวจเพื่อจับกุมแมรี่ส่งโรงพยาบาล
หลังจากวิ่งไล่ตามอยู่หลายชั่วโมง สุดท้ายแมรี่ก็ถูกจับและส่งตัวไปคุมขังที่ เรือนจำ
ขณะที่ถูกคุมขังในคุกแมรี่ก็ถูกบังคับให้นำอุจจาระและปัสสาวะมาตรวจหาเชื้อ
ซึ่งปรากฎว่าตรวจไม่พบเชื้อก่อโรคไทฟอยด์ จึงมีการตรวจอีกรอบแต่ก็ยังไม่พบเชื้อ
สุดท้ายในการตรวจรอบที่ 3 จึงจะพบว่าในร่างกายแมรี่มีเชื้อก่อโรคอยู่จริงๆ
และนี่ก็เป็นครั้งแรกที่หมอในประเทศอเมริกาได้เห็นคนที่เป็นพาหะของโรคไทฟอยด์
7.
เป็นเวลากว่า 3 ปีที่แมรี่ถูกกักกันในโรงพยาบาล Riverside บนเกาะ North Brother island
โรงพยาบาล Riverside ที่หลงเหลือในปัจจุบัน
ตลอดช่วงเวลานั้น แมรี่ไม่เคยมีอาการป่วยของโรคไทฟอยด์ให้เห็นเลย
เธอไม่เข้าใจว่าทำไมจึงโดนกักตัว และเธอปฏิเสธที่จะเชื่อว่าเธอเป็นพาหะของโรค
ซึ่งก็ไม่น่าแปลกใจ
เพราะแม้แต่ในวงการแพทย์เอง หมอจำนวนไม่น้อยก็ไม่เชื่อว่า พาหะของโรคไทฟอยด์จะมีอยู่จริง
แมรี่ (คนหน้าสุด) โดนกักตัวที่โรงพยาบาล
เมื่อภาวะพาหะของโรคเป็นสิ่งใหม่ในวงการแพทย์อมเริกา
หมอจึงไม่รู้จะปฏิบัติต่อแมรี่อย่างไรบ้าง รู้แค่ว่าถ้าปล่อยออกไปเธอจะเป็นอันตรายต่อสังคม
สุดท้ายเธอจึงโดนกักตัวเช่นนี้ไปเรื่อยๆ
แมรี่ได้เขียนจดหมายและทำเรื่องร้องขอให้ปล่อยตัวหลายครั้ง แต่ก็ไม่สำเร็จ
หนังสือพิมพ์หลายๆฉบับสนใจที่จะทำข่าวหรือเขียนบทความเกี่ยวกับแมรี่
จนเธอได้รับสมญานามใหม่ว่า "ไทฟอยด์ แมรี่" (Typhoid Mary)
ในที่สุด เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายเกี่ยวกับการกักตัวผู้ป่วยที่เป็นพาหะ
ศาลจึงตัดสินใจปล่อยตัวแมรี่ออกมาใช้ชีวิตร่วมกับคนอื่นๆในสังคมอีกครั้ง
ภายใต้เงื่อนไขที่ว่า แมรี่ต้องมารายงานตัวทุก 3 เดือนและต้องเลิกทำอาชีพแม่ครัว
ซึ่งเธอก็ตกลงตามนั้น
แมรี่ได้กลับออกมาใช้ชีวิตอย่างอิสระอีกครั้ง เธอเปลี่ยนไปทำงานซักรีด
แต่อาจจะเพราะรายได้น้อยกว่าอาชีพแม่ครัวค่อนข้างมาก
ไม่นานนัก แมรี่ก็ไม่กลับไปรายงานตัว
หลังจากนั้นก็ไม่มีใครรู้ว่าแมรี่หายไปไหน
จะป่วยตายหรือมีชีวิตอยู่ไม่มีใครรู้
8.
5 ปีต่อมา ....
มีโรคไทฟอยด์ระบาดเกิดขึ้น ที่โรงพยาบาล Sloane Maternity Hospital
ซึ่งเป็นโรงพยาบาลสำหรับสตรีตั้งครรภ์และโรคทางนรีเวชวิทยา
เมื่อมีการไปสืบหาต้นตอของการระบาดจึงได้พบว่า
แมรี่ได้มาทำงานเป็นแม่ครัวของโรงพยาบาลในชื่อใหม่ว่า แมรี่ บราวน์
หลังจากที่แมรี่ได้รับการปล่อยตัว เธอพยายามหางานทำอยู่หลายอย่าง
แต่เนื่องจากที่ผ่านมาเธอทำงานเป็นแม่ครัวมาตลอด
ทำให้เธอไม่ถนัดงานด้านอื่น ทำได้ไม่ดี รายได้น้อยเกิดกว่าจะอยู่ได้
สุดท้ายเธอจึงต้องหลบหนีไปเมืองอื่น เปลี่ยนชื่อ และกลับไปทำงานเป็นแม่ครัวอีกครั้ง
แมรี่ตระเวณสมัครงานเป็นแม่ครัวด้วยชื่อปลอม ตามสถานที่ต่างๆ
แต่ละที่ ทำงานเป็นระยะเวลาสั้นๆแล้วก็ย้ายเมืองหรือย้ายร้านไปเรื่อยๆ เพื่อไม่ให้ถูกตามตัวได้ง่าย
ซึ่งแน่นอนว่าไม่ว่าเธอจะย้ายไปที่ไหน โรคไทฟอยด์ก็จะไประบาดที่นั่น
เป็นการยากที่จะประเมินว่าสุดท้ายมีคนติดโรคจากแมรี่ไปทั้งหมดเท่าไหร่
แม่รี่ถูกจับแล้วนำไปกักขังที่ North Brother island อีกครั้ง
และนั่นเป็นครั้งสุดท้ายที่แมรี่จะได้ใช้ชีวิตอิสระในสังคม
9.
เรื่องราวของแมรี่ มาลอน นี้
ปัจจุบันเป็นที่รู้จักกันดีในหมู่คนที่เรียนทางระบาดวิทยาและถูกเขียนถึงในหนังสือระบาดวิทยาเกือบทุกเล่ม
เรื่องราวของแมรี่ทำให้เราเห็นความยากลำบากในการตัดสินใจของหมอและศาลว่าจะทำยังไงกับกรณีของแมรี่ดี
ทุกคนรู้ว่าแมรี่เป็นภัยต่อสังคม ที่ต้องกักตัวไว้
แต่ขณะเดียวกัน เธอก็ไม่ได้ทำอะไรผิด เพราะจะว่าไปแล้ว
แมรี่เองก็เป็นเหยื่อของโรคเช่นเดียวกัน
มองในมุมของแมรี่
เธอเองไม่เข้าใจว่าเธอจะเป็นตัวแพร่โรคร้ายได้อย่างไรในเมื่อเธอไม่เคยมีอาการของโรคไทฟอยด์เลยแม้แต่น้อย
แม้แต่ในวงการหมออเมริกาเอง ก็ยังมีผู้สงสัยว่าภาวะ พาหะนำโรค ที่รุนแรงอย่างไทฟอยด์จะเป็นไปได้จริงหรือ
ยิ่งในยุคสมัยที่ผู้อพยพชาวไอร์แลนด์ถูกปฏิบัติอย่างไม่เท่าเทียม
มีอะไรไม่ดีเกิดขึ้นในสังคมก็จะโทษผู้อพยพไว้ก่อน
เธอจึงอาจมองว่านี่เป็นอีกรูปแบบของการเหยียดผู้อพยพชาวไอร์แลนด์
ในทัศนคติของวงการแพทย์ปัจจุบัน เราก็ไม่ได้มองว่าแมรี่เป็นผู้ร้ายของเรื่องซะทีเดียว
แต่มองว่าเป็นข้อจำกัดของยุคสมัย ที่ทำให้เราได้เรียนหลายๆอย่าง
อย่างแรกคือ ความจำเป็นของการมีระบบที่จะคอยให้ความรู้แก่ผู้ป่วยอย่างจริงจัง เพื่อให้เข้าใจวิธีการปฏิบัติตัว และผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อผู้อื่น ถ้าเธอไม่ทำตามคำแนะนำของแพทย์ และด้วยความรู้ที่จำกัดของยุคสมัย ทำให้หมอได้แต่กักตัวแมรี่ไปเรื่อยๆ โดยที่แมรี่ก็ไม่เข้าใจนักว่าเธอจะเป็นอันตรายต่อสังคมได้อย่างไร
อย่างที่สองคือ ความจำเป็นของการให้การช่วยเหลือด้านอาชีพหรือเยียวยาด้านการเงินแก่ผู้เคราะห์ร้ายจากความเจ็บป่วย
เพราะเมื่อแมรี่ได้รับอิสรภาพออกมา เธอก็พบว่า ถ้าไม่ประกอบอาชีพเดิมที่เธอถนัด เธอก็ไม่สามารถจะหาเลี้ยงตัวเองได้เพียงพอ สุดท้ายเมื่อจนตรอก เธอจึงหลบหนีและหันกลับไปประกอบอาชีพที่อันตรายต่อสังคมอีกครั้ง
ปัจจุบันนี้ผู้ป่วยที่เป็นพาหะของโรคไทฟอยด์ สามารถรักษาได้ด้วยการกินยาปฏิชีวนะ
ไม่มีใครที่ต้องถูกคุมขังเพียงแค่เพราะป่วยเป็นโรคติดเชื้ออีกต่อไป
แมรี่โดนกักขังรอบหลังอยู่นานกว่า 15 ปี ก่อนจะป่วยจนเป็นอัมพาต
อีก 6 ปีต่อมาแมรี่ มาลอน ในวัย 69 ปีก็จากโลกนี้ไปด้วย โรคปอดบวม ขณะที่โดนคุมขังตลอดชีวิตอยู่บนเกาะ
เป็นเพื่อนกันใน Line จะได้ไม่พลาดบทความ podcast และคลิปวีดีโอ ที่โพสต์ในที่ต่างๆ คลิก https://lin.ee/3ZtoH06
(ปิดท้ายด้วยโฆษณา)
อ่านจบแล้ว ใครชอบประวัติศาสตร์การแพทย์เช่นนี้ แนะนำอ่านหนังสือ Best seller “สงครามที่ไม่มีวันชนะ”
สามารถสั่งซื้อออนไลน์ได้จากลิงก์ด้านล่างทั้ง 2 ครับ
อ่านบทความวิทยาศาสตร์และการแพทย์อื่นๆได้ที่
หรือ
คลิปวีดีโอเกี่ยวกับประวัติศาสตร์
โฆษณา