Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
หลงไปในประวัติศาสตร์ by หมอเอ้ว ชัชพล
•
ติดตาม
25 มี.ค. 2020 เวลา 12:47 • ประวัติศาสตร์
กำเนิดไวรัส
1.
โรคไข้หวัดใหญ่เป็นที่รู้จักมาในยุโรปมานานหลายพันปีแล้ว โดยที่ไม่มีใครรู้ว่าอะไรคือสาเหตุของโรคนี้ แต่ความเชื่อหนึ่งที่ยอมรับกันอย่างแพร่หลายในยุโรปมาตั้งแต่อาณาจักรโรมันยังรุ่งเรืองคือ การระบาดแต่ละครั้งของไข้หวัดใหญ่เกิดจากอิทธิพลของการเคลื่อนที่ดวงดาว
ด้วยเหตุนี้ชาวโรมันจึงเรียกโรคไข้หวัดใหญ่ว่า Influentia ซึ่งมีความหมายตรงตัวว่า โรคที่มาจากอิทธิพล (ของดวงดาว)
แต่ความเชื่อเกี่ยวกับสาเหตุของ โรคไข้หวัด กำลังจะเปลี่ยนไปอย่างจริงจังในช่วงปลายของศตวรรษที่ 19
2.
ประเทศเนเธอร์แลนด์ ปีค.ศ. 1879
ไม่มีใครเคยเห็นสิ่งนี้มาก่อน แต่จู่ๆใบของต้นยาสูบก็เริ่มมีรอยจุดด่างสีขาวๆเกิดขึ้นทั่วใบ ต่อมารอยจุดๆนี้ก็เริ่มเปลี่ยนสีจนเหมือนใบที่เน่าตาย
ใบที่ด่างจากโรค (ภาพจาก wikipedia)
และโรคประหลาดนี้ไม่ได้เกิดขึ้นกับต้นเดียว แต่ระบาดไปทั่วอย่างรวดเร็ว จากไร่ยาสูบหนึ่งไปสู่อีกไร่ จนกลายเป็นโรคระบาดที่สร้างปัญหาไปทั่วเพราะใบยาสูบเหล่านี้เสียหายจนไม่สามารถนำไปขายได้ ต้องทำลายทิ้งทั้งหมด
ชาวไร่ยาสูบทั้งหลาย ไม่มีใครรู้ว่าภาวะนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร แต่พวกเขาเชื่อว่า ถ้าจะมีใครสักคนที่จะช่วยพวกเขาได้ คนๆนั้นคือ Adolph Mayer
Adolf Eduard Mayer (ภาพจาก wikipedia)
3.
อดอลฟ์ เมเยอร์ ในช่วงเวลานั้นเป็นนักเคมีหนุ่มที่สนใจทำงานวิจัยเกี่ยวกับพืช ดังนั้นโรคประหลาดที่ระบาดไปทั่วนี้จึงตรงกับความสนใจของเขา เมเยอร์เรียกโรคที่ไม่มีใครรู้จักนี้ว่า Tobacco mosaic disease ตามลักษณะของโรคที่เห็น คือ ใบด่างๆเหมือนกระเบื้องโมเสค
คำถามแรกที่เขาต้องตอบก่อนจะแก้ปัญหาให้ชาวไร่ได้คือ อะไรคือต้นเหตุของโรคประหลาดนี้ ?
เมเยอร์ เริ่มการศึกษาโรคที่ไม่มีใครรู้จักนี้ด้วยการไปศึกษาปัจจัยต่างๆในสิ่งแวดล้อมของต้นใบยาสูบที่ป่วยเป็นโรคและไม่ป่วยเป็นโรคว่ามีอะไรที่ต่างกันบ้าง ไม่ว่าจะเป็น อุณหภูมิ แสงแดด คุณภาพของดินและน้ำ รวมไปถึงหนอนพยาธิที่อาจจะก่อให้เกิโรค
แต่หลังจากศึกษาปัจจัยทุกอย่างที่พอจะนึกออก เขาก็ไม่พบว่าต้นยาสูบที่ป่วยและไม่ป่วยจะมีปัจจัยอะไรที่ต่างกัน
เขาจึงมองหาสิ่งที่เป็นความรู้ใหม่ของยุคนั้นคือ การค้นพบว่าเชื้อราทำให้เกิดโรคในพืชได้ แต่หลังจากพยายามศึกษาก็ไม่พบว่าจะมีเชื้อราใดๆที่สามารถอธิบายปรากฎการณ์ได้
สุดท้ายเขาจึงนึกถึงทฤษฎีใหม่ล่าสุดของยุคที่บอกว่า “สิ่งมีชีวิตที่มีขนาดเล็กจนตาเปล่ามองไม่เห็นที่เรียกว่า แบคทีเรีย สามารถทำให้เกิดโรคได้”
และเพื่อจะทดสอบสมมติฐานนั้น เขาจึงนำเทคนิคในการหาเชื้อแบคทีเรียก่อโรค ซึ่งบุกเบิกโดยนักวิทยาศาสตร์ชาวเยอรมันที่ชื่อ Robert Koch มาลองใช้
Robert Koch (ภาพจาก wikipedia)
เมเยอร์เริ่มต้นด้วยการดูดยางออกมาจากต้นไม้ที่ป่วย จากนั้นก็นำยางนั้นไปฉีดให้กับต้นใบยาสูบที่ไม่ป่วยเป็นโรค เพื่อดูว่า ยางนั้นสามารถทำให้ต้นใบยาสูบอื่นป่วยได้หรือไม่
และเขาก็พบว่า ยางไม้ สามารถทำให้ต้นใบยาสูบอื่นป่วยได้ ซึ่งลักษณะเช่นนี้บ่งว่า โรคนี้สามารถถ่ายทอดได้ด้วยยางไม้
คำถามคือว่า อะไรในยางไม้ที่ทำให้โรคถ่ายทอดได้ ? สิ่งนั้นจะเป็นแบคทีเรียได้หรือไม่ ?
การทดลองขั้นถัดไปเขาจึงทำตามเทคนิคที่โรเบิรต์ ค็อค เริ่มต้นไว้ นั่นคือ เขานำยางจากต้นใบยาสูบที่ป่วย ไปใส่จานเพาะเชื้อ เพื่อให้แบคทีเรียในยางเติบโตเพิ่มจำนวนมากขึ้น
จากนั้นเขาก็นำแบคทีเรียที่เพาะได้ไปฉีดให้กับต้นใบยาสูบอีกต้น
แล้วเมเยอร์ก็มาถึงทางตัน
สิ่งที่คาดไม่ถึงคือ แบคทีเรียที่เขาเพาะขึ้นมานั้น ไม่สามารถทำให้ต้นใบยาสูบเกิดโรคขึ้นมาได้
หลังจากพยายามอยู่หลายครั้งและใช้เวลาศึกษาโรคนี้นานเป็นสิบปี เขาก็ยังไม่สามารถอธิบายได้ว่า อะไรคือสาเหตุจริงๆที่ทำให้ต้นใบยาสูบป่วย
เขาบอกได้แค่ว่าสิ่งนั้น ไม่ว่ามันจะเป็นอะไร มันซ่อนอยู่ภายในยางของใบยาสูบ
แต่ในอีกไม่กี่ปีต่อมา จะมีนักวิทยาศาสตร์ 2 คน ที่ต่างคนต่างก็มาสานต่อสิ่งที่เขาพบและค้นพบความลับที่ซ่อนอยู่ในยางของต้นใบยาสูบ พร้อมๆกันโดยบังเอิญ
4.
ปีค.ศ. 1890 ประเทศยูเครน
3
โรคประหลาดที่ชาวไร่ยาสูบรัสเซียทั้งหลายไม่รู้จักเกิดขึ้นกับใบยาสูบจำนวนมาก นักพฤกษศาสตร์ชาวรัสเซียชื่อ Dmitry Ivanovsky จึงถูกส่งตัวมาเพื่อสืบหาสาเหตุของโรคใหม่นี้
Dmitry Ivanovsky (ภาพจาก wikipedia)
อิวานอฟสกี รู้ว่าโรคที่เขาเผชิญหน้าอยู่นี้ คือโรค ใบด่างหรือ Tobacco mosaic ที่ เมเยอร์ เคยเผชิญเมื่อหลายปีก่อนหน้า แต่จนถึงทุกวันนี้ก็ยังไม่มีใครรู้ว่าอะไรคือต้นเหตุของโรคนี้
เขาเริ่มต้นการหาสาเหตุด้วยการทำการทดลองคล้ายกับที่ Mayer เคยทำไว้ นั่นคือ การดูดยางไม้จากต้นยาสูบที่ป่วยมาศึกษา เพราะเมเยอร์ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า สิ่งที่เป็นต้นเหตุของโรคนั้น ซ่อนอยู่ในยางไม้
เขายังรู้ว่า สิ่งนั้น ไม่ว่าจะเป็นอะไรก็ตาม จะต้องไม่ใช่แบคทีเรียแบบที่พบทั่วๆไป เพราะเมเยอร์ทดลองให้เห็นหลายครั้งแล้วว่า แบคทีเรียที่เพาะขึ้นมาได้จากยางไม้นั้น ไม่สามารถทำให้ต้นยาสูบต้นอื่นป่วยเป็นโรคได้
เป็นไปได้ไหมว่า ต้นเหตุที่ทำให้ป่วยนั้น จะเป็นสิ่งที่มีขนาดเล็กกว่าแบคทีเรียและเล็กจนไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยกล้องจุลทรรศน์
และเพื่อที่จะทดสอบสมมติฐานนั้น เขาจึงทำการทดลองด้วยการของเหลวที่คั้นออกมาจากต้นยาสูบไปกรองด้วยเครื่องกรองซึ่งสามารถกรองสิ่งที่เล็กมาก เล็กขนาดที่สามารถดักจับแบคทีเรียไว้ในเครื่องกรองได้
จากนั้นเขาก็นำของเหลวที่ผ่านการกรองแบคทีเรียออกไปแล้วนั้น ฉีดใส่ต้นยาสูบที่ไม่ป่วย
และทุกอย่างก็เป็นไปตามที่เขาตั้งสมมติฐานไว้ เพราะเขาพบว่าของเหลวที่กรองแบคทีเรียออกไปแล้วนั้น สามารถก่อให้เกิดโรคได้
อย่างไรก็ตาม อิวานอฟสกี ก็เชื่อว่า สิ่งที่อยู่ในของเหลวนั้น เป็นแบคทีเรียชนิดใหม่ที่มีขนาดเล็กกว่าแบคทีเรียทั่วไปและยังไม่สามารถที่จะนำไปเพาะให้เติบโตเพิ่มจำนวนในจานเพาะเชื้อแบบเดียวกับแบคทีเรียทั่วไปได้
แต่มีนักวิทยาศาสตร์อีกคนที่พบสิ่งเดียวกัน แต่มีความเชื่อที่ต่างไป
5.
ประมาณ 5 ปีต่อมา
Martinus Beijerinck นักวิทยาศาสตร์ชาวดัชต์ เป็นอีกคนที่สนใจศึกษาโรค Tobacco Mosaic ต่อจากที่ เมเยอร์ ศึกษาไว้
Martinus Beijerinck
เขาเริ่มต้นงานวิจัยโดยที่ไม่รู้อะไรเกี่ยวกับงานวิจัยของ อิวานอฟสกี ในรัสเซียมาก่อน
การทดลองของเขาเริ่มต้นคล้ายๆกับที่อิวานอฟสกีเคยทำไว้เมื่อหลายปีก่อนหน้า คือ เริ่มจากการนำต้นยาสูบที่ป่วยเป็นโรคมาปั่นแล้วคั้นกรองแต่ของเหลวออกมา
จากนั้นก็นำของเหลวที่ได้ มากรองอีกรอบด้วยเครื่องกรองที่สามารถกรองแบคทีเรียออกไปจากของเหลวงได้ แล้วจึงนำของเหลวที่ได้ไปฉีดให้กับต้นใบยาสูบ และพิสูจน์ให้เห็นว่า สิ่งที่ทำให้เกิดโรคนั้น มีขนาดเล็กกว่าแบคทีเรีย
แต่สิ่งที่ เบเยอริงก์ เชื่อต่างไปจากอิวานอฟสกีคือ เขาเชื่อว่า สิ่งนั้นไม่ใช่แบคทีเรีย แต่เป็นของเหลวที่ยังไม่มีใครรู้จัก
คำถามคือ สิ่งที่เล็กมากๆนี้ คืออะไร ? เป็นสิ่งมีชีวิตหรือไม่ ? หรือว่าเป็นสารเคมีที่ไม่มีชีวิตบางอย่าง
และเพื่อที่จะตอบคำถามนี้ เขาจึงทำการทดลองต่อไปอีก โดยนำต้นยาสูบที่ป่วยจากการได้รับของเหลวจากต้นแรก ไปปั่นแล้วกรองของเหลวออกมา จากนั้นก็นำของเหลวนั้นไปฉีดให้ต้นยาสูบต้นที่ 3 เพื่อดูว่าจะทำให้ป่วยได้หรือไม่
ถ้าของเหลวจากต้นยาสูบต้นที่ 2 สามารถทำให้ต้นที่ 3 ป่วยได้ ก็จะบ่งว่า สิ่งเล็กๆที่ทำให้เกิดโรคนี้มีความสามารถที่จะแบ่งตัวเพิ่มจำนวน ดังนั้น สิ่งนี้น่าจะเป็นสิ่งมีชีวิต
ถึงตอนนี้เขาเชื่อว่า สิ่งที่ทำให้เกิดโรคไม่ใช่แบคทีเรีย แต่เป็นของเหลวมีชีวิต ที่มนุษย์ยังไม่เคยรู้จักมาก่อน
และเมื่อทดลองต่อ เขาก็พบว่า ของเหลวที่มีชีวิตนี้มีความต่างจากแบคทีเรียมาก เพราะไม่เพียงแค่สิ่งนี้จะมีขนาดเล็กกว่าแบคทีเรียมาก มันยังมีความทนทานสูง ถึงขนาดว่าเขาทดลองนำกระดาษกรองจุ่มของเหลวนั้นแล้วนำไปตากแดดจนแห้ง จากนั้นก็นำกระดาษไปเก็บไว้นานหลายเดือน
ต่อมาเมื่อนำกระดาษกรองมาละลายน้ำอีกครั้งก็พบว่าน้ำที่ใช้ละลายกระดาษกรองสามารถทำให้ต้นยาสูบป่วยได้อยู่
เขาไม่รู้ว่าของเหลวนี้คืออะไร แต่เขาค่อนข้างมั่นใจว่า สิ่งนี้ไม่ใช่เชื้อรา และไม่ใช่แบคทีเรีย แต่เป็นสิ่งอื่นที่ต่างไป
เบเยอริงก์ จึงเรียกสิ่งนี้ว่า “ไวรัส”
6.
คำว่า Virus (วี-รุส) เป็นคำโบราณที่ใช้มาตั้งแต่สมัยที่อาณาจักรโรมันยังเรืองอำนาจ แต่เดิมมีความหมายถึง ของเหลวที่ทรงพลัง ซึ่งสามารถใช้เรียกของเหลวที่มีพิษ เช่น พิษของงู แต่คำนี้ยังหมายถึงน้ำอสุจิของผู้ชายได้ด้วย
คำว่า วีรุส นี้ยังมีรากศัพท์ที่ย้อนไปไกลได้ถึงภาษาโปรโตอินโดยูโรเปียน ซึ่งเป็นรากที่มาของคำว่า visum ในภาษาพระเวท ก่อนจะมาเป็นคำว่า “วิษ” ในภาษา สันสกฤตและ “วิส” ในภาษาบาลี และคำว่า “พิษ” ในภาษาไทย
4
ต่อมาคำว่า virus ในภาษาลาตินก็ค่อยๆวิวัฒนาการความหมายมาเรื่อยๆ จากของเหลวมีพิษที่ทรงพลัง คำว่า virus ก็สามารถนำมาใช้เรียก สารพิษต่างๆโดยไม่เจาะจงว่าสิ่งนั้นต้องเป็นของเหลว
และเมื่อ เบเยอริงก์ นำคำว่า virus มาใช้เรียกสิ่งที่เขาค้นพบ ความหมายของ virus จึงเปลี่ยนไปอีกครั้ง กลายเป็น สารลึกลับอะไรสักอย่างที่มีขนาดเล็กกว่าแบคทีเรีย สามารถทำให้เกิดโรคและติดต่อได้ โดยไม่มีใครรู้ว่าสิ่งนั้นจริงๆแล้วคืออะไร
การค้นพบและตั้งชื่อขึ้นมาใหม่นี้ ส่งผลให้กรอบความคิดของนักวิทยาศาสตร์เปลี่ยนไป
ในตอนนี้นักวิทยาศาสตร์รู้แล้วว่า โลกที่มนุษย์อาศัยอยู่มีสิ่งมีชีวิตที่เล็กกว่าแบคทีเรียและสามารถทำให้เกิดโรค สามารถที่จะติดต่อได้
นักวิทยาศาสตร์จึงเริ่มมองหาไวรัสในโรคอื่นๆมากขึ้น จนพบว่าสิ่งที่เรียกว่าไวรัสนั้น มีหลายชนิด มีธรรมชาติที่ต่างกันไป และทำให้เกิดโรคที่ต่างๆกันไปมากมาย
และประมาณปีค.ศ. 1901 ก็มีการค้นพบว่าโรคไข้หวัดใหญ่ที่เรียกว่า Influenza ก็มีสาเหตุมาจากไวรัสชนิดหนึ่งด้วยเช่นกัน
7.
แม้ว่าทุกวันนี้ในภาษาอังกฤษเราจะยังเรียกโรคไข้หวัดใหญ่ว่า Influenza ไม่ต่างไปจากชาวยุโรปเมื่อหลายพันปีก่อน
แต่อย่างน้อยเมื่อมีโรคไข้หวัดระบาดเกิดขึ้นครั้งใด เราก็ไม่ได้เงยหน้าขึ้นมองฟ้า แล้วอ้อนวอน
ไม่ให้ดวงดาวเหล่านั้นทำให้เราต้องเสียชีวิตกันอีกต่อไป
add Line Official Account ไว้นะครับ จะได้ไม่พลาดบทความ podcast และคลิปวีดีโอ ที่ผมจะโพสต์ในที่ต่างๆ
คลิก
https://lin.ee/3ZtoH06
(ปิดท้ายด้วยโฆษณา)
อ่านจบแล้ว ใครชอบประวัติศาสตร์การแพทย์เช่นนี้ แนะนำอ่านหนังสือ Best seller ของผมเอง “สงครามที่ไม่มีวันชนะ” และล่าสุด “เพื่อนเก่าที่หายสาบสูญ”
สามารถสั่งซื้อออนไลน์ได้จากลิงก์ด้านล่างทั้ง 2 ครับ
https://www.lazada.co.th/shop/chatchapolbook/
หรือ
https://shopee.co.th/cthada
https://www.lazada.co.th/products/chatchapolbook-i804526700-s1630696001.html?spm=a2o4m.searchlistbrand.list.13.299f2f98eOyz4M&search=1
อ่านบทความวิทยาศาสตร์และการแพทย์อื่นๆได้ที่
https://www.facebook.com/ChatchapolBook/
หรือ
https://www.blockdit.com/chatchapol
คลิปวีดีโอเกี่ยวกับประวัติศาสตร์
https://www.youtube.com/chatchapolbook
153 บันทึก
535
78
150
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
โรคระบาด
ประวัติศาสตร์การแพทย์
153
535
78
150
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย