6 มี.ค. 2020 เวลา 00:13 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
อัญชัน พืชที่มีประโยชน์มากกว่าสีของดอก
อัญชัน [Clitoria ternatea] เป็นพืชวงศ์ถั่ว (Family Fabaceae) ชนิดหนึ่งที่พบได้ทั่วไป ปลูกง่าย แพร่กระจายได้อย่างรวดเร็ว ลักษณะเด่นคือดอกสีม่วง แต่อาจจะมีสีอื่นๆ ได้ เช่น ดอกสีขาวและฟ้า ดอกจะออกเดี่ยว ๆ รูปทรงคล้ายฝาหอยเชลล์ออกเป็นคู่ตามซอกใบ
พืชในสกุลอัญชัน (Genus [Clitoria]) สามารถพบแพร่กระจายในเขตร้อน (Tropics) และเขตกึ่งร้อน (Subtropics) ทั่วโลก โดยชื่อสกุลที่ชื่อว่า [Clitoria] มาจากคำว่า “Clitoris” เนื่องจากผู้ตั้งชื่อสกุลมองว่าดอกของพืชสกุลนี้คล้ายกับอวัยวะเพศหญิง และชื่อท้องถิ่นของพืชกลุ่มนี้ในหลายๆ ภาษาก็มีความเชื่อมโยงกับอวัยวะเพศหญิง ถึงแม้ต่อมาจะมีการเสนอให้เปลี่ยนชื่อ แต่ชื่อ [Clitoria] ก็ยังถูกคงไว้จนถึงในปัจจุบัน
โดยชื่อวิทยาศาสตร์ของอัญชันที่ชื่อว่า [Clitoria ternatea] ที่ถูกตั้งโดย Carl Linnaeus ซึ่งได้ตัวอย่างของดอกอัญชันมาจากเกาะ Ternate ในประเทศอินโดนีเชีย และจากการที่พืชชนิดพันธุ์ใกล้เคียงกันกับอัญชันพบอยู่ในเฉพาะแอฟริกาตะวันออกและแอฟริกาใต้ อินเดีย หมู่เกาะมาดากัสการ์ และหมู่เกาะอื่นๆ ในทางตะวันตกของมหาสมุทรอินเดีย ทำให้สามารถสันนิษฐานได้ว่า ถิ่นกำเนิดของอัญชันน่าจะอยู่ในบริเวณแผ่นดินรอบๆ มหาสมุทรอินเดียมากกว่าในบริเวณอื่นของโลก
ตำแหน่งของเกาะ Ternate ในประเทศอินโดนีเชีย (ที่มา By Sadalmelik, CC BY-SA 3.0, https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=2675538)
การแพร่กระจายของพืชชนิดพันธุ์ใกล้เคียงกับอัญชัน เครื่องหมายบวกแสดงการแพร่กระจายของอัญชัน เครื่องหมายอื่นๆ แสดงการแพร่กระจายของพืชชนิดอื่น (◼ [C. biflora], □ [C. heterophylla], Δ [C. kaessneri], • [C. lasciva], + [C. ternatea]) (ที่มา Oguis et al., 2019)
อัญชันถูกนำไปปลูกในที่อื่นๆ โดยวัตถุประสงค์หลักจากการใช้ประโยชน์จากสีของดอกที่สามารถนำไปใช้เป็นสีย้อมธรรมชาติได้ และลักษณะอื่นๆ เช่น ความสามารถในการทนแล้ง การที่ไม่จำเป็นต้องมีผู้ช่วยในการผสมเกสร เนื่องจากสามารถผสมเกสรในตัวเองได้ ทำให้อัญชันสามารถแพร่กระจายไปได้ดีในเขตร้อนทั่วโลก
นอกจากการใช้ประโยชน์โดยใช้ดอกสร้างสีม่วงเป็นน้ำอัญชันผสมในอาหารต่างๆ และ ใช้ทาปลูกผมทำให้ผมดกดำ เงางามมากขึ้นที่เราคุ้นเคยกันดีแล้ว อัญชันยังมีคุณสมบัติอย่างอื่นที่มีประโยชน์ต่อมนุษย์ ได้แก่
เนื่องจากอัญชันเป็นพืชตระกูลถั่ว อัญชันจึงสามารถตรึงไนโตรเจนจากอากาศมาเป็นสารอาหารประเภทไนโตรเจนของพืชได้ เป็นการเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้กับดิน และทำให้อัญชันสามารถเจริญเติบโตได้ดี แม้ในที่ที่ดินขาดความอุดมสมบูรณ์ และเหมาะกับเป็นพืชที่นำมาใช้ในการเพาะปลูกพืชหมุนเวียนเพื่อเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้กับดิน
นอกจากนั้นในประเทศออสเตรเลีย อัญชันยังถูกนำมาใช้เป็นพืชอาหารสัตว์ ในพื้นที่ที่แห้งแล้ง และอากาศอบอุ่น ซึ่งอัญชันสามารถเจริญเติบโตได้ดีในบริเวณนี้
สารที่สกัดได้จากอัญชันได้แก่ Flavonols และ Anthocyanins (สารสีม่วงที่ได้จากดอกอัญชัน) ยังมีศักยภาพที่จะใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์ได้อีกด้วย เช่น มีคุณสมบัติแก้อักเสบ ลดอนุมูลอิสระ ลดไขมันในเลือด ช่วยรักษาบาดแผล แต่ผลการศึกษาเป็นระดับที่ใช้ในสัตว์ทดลองเท่านั้น ยังไม่มีการทดสอบในมนุษย์
สารสกัดจากอัญชัน โปรตีนและเปปไทด์ที่ได้จากอัญชัน ยังมีคุณสมบัติในการกำจัดแมลง หนอนพยาธิ และเชื้อโรคทั้งแบคทีเรียและเชื้อราได้อีกมากมายหลายชนิด จึงมีแนวความคิดจะผลิตสารสกัดจากอัญชันให้เป็นยาฆ่าแมลงชนิดใหม่ๆ ต่อไป
ดอกอัญชันสีขาว (ที่มา By Aadhipkesavan - Own work, CC BY-SA 4.0, https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=63621745)
เอกสารอ้างอิง
1. Oguis GK, Gilding EK, Jackson MA and Craik DJ (2019) Butterfly Pea (Clitoria ternatea), a Cyclotide-Bearing Plant With Applications in Agriculture and Medicine. Front. Plant Sci. 10:645. doi: 10.3389/fpls.2019.00645
โฆษณา