27 ก.พ. 2020 เวลา 23:09 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
มะลิลาและมะลิซ้อน เป็นชนิดเดียวกันหรือเปล่า?
(ภาพดัดแปลงมาจาก By Jun's World - Sampaguita 01Uploaded by Epibase, CC BY 2.0, https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=9451733)
พืชสกุลมะลิ [Jasminum] มีมากกว่า 200 ชนิด นอกจากมะลิที่ให้ดอกมะลิที่เรารู้จักกันอย่างมะลิลา และมะลิซ้อนแล้ว ยังมีชนิดพันธุ์อื่นๆ ในสกุลนี้ด้วย เช่น มะลิวัลย์ พุทธชาด มะลิไส้ไก่ มะลินั้นเป็นพืชในวงศ์ Oleaceae ซึ่งมีพืชชนิดอื่นที่เรารู้จักกันคือ มะกอก หรือ ออลิฟ (olive) ที่พบตามอาหารยุโรป
พืชสกุลนี้พบแพร่กระจายในเขตร้อน (Tropics) และกึ่งร้อน (Sub-tropics) ของเอเชียและยุโรป ไปถึงเขตออสเตรเลีย โดยพบความหลากหลายสูงในเขตของเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
มะลิลาและมะลิซ้อนเป็นพืชชนิดพันธุ์เดียวกัน ที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า [Jasminum sambac] ซึ่งมีถิ่นกำเนิดในประเทศภูฏานและอินเดีย เนื่องจากดอกที่โดดเด่นและกลิ่นหอมของดอกทำให้มะลิชนิดนี้ถูกนำไปปลูกในที่ต่างๆ
มะลิชนิดนี้อาจจะมีลักษณะกลีบดอกที่แตกต่างกันได้หลายแบบ เช่น กลีบดอกชั้นเดียว (single-petal) กลีบดอกสองชั้น (double-petal) ที่เรียกกันว่ามะลิลา (สายพันธุ์ Maid of Orleans และ Belle of India) หรือกลีบดอกหลายชั้น (multi-petal) ที่เรียกว่ามะลิซ้อน (สายพันธุ์ Grand Duke of Tuscany)
มะลิลา สายพันธุ์ Maid of Orleans (By Jun's World - Sampaguita 01Uploaded by Epibase, CC BY 2.0, https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=9451733)
มะลิซ้อนสายพันธุ์ Grand Duke of Tuscany
โดยนอกจากลักษณะของดอกแล้ว แต่ละสายพันธุ์ก็จะมีคุณสมบัติอื่นๆต่างกันไปด้วย เช่น มะลิพันธุ์ที่มีกลีบดอกสองชั้นจะผลิตจำนวนดอกต่อต้นมากที่สุด และทนต่อปัจจัยสิ่งแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม เช่น อุณหภูมิต่ำ การขาดน้ำ หรือแสงแดดน้อย ได้ดีกว่าชนิดพันธุ์อื่นๆ ในขณะที่มะลิที่มีกลีบดอกชั้นเดียวจะมีกลิ่นหอมมากกว่าสายพันธุ์อื่นๆ ในขณะที่มะลิซ้อนที่มีกลีบดอกหลายๆ ชั้นก็เป็นที่ต้องการของตลาดมากเนื่องจากความสวยงามของกลีบดอกซ้อนกัน
ถึงแม้ว่ามะลิลาและมะลิซ้อนจะเป็นชนิดเดียวกัน แต่กลับไม่สามารถผสมข้ามพันธุ์กันได้โดยวิธีปกติ ทำให้การพัฒนาสายพันธุ์ของมะลิให้มีลักษณะที่ต้องการเป็นไปได้ยาก เนื่องจากมะลิส่วนใหญ่จะทำการสืบพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศเป็นหลัก
สาเหตุที่มะลิไม่สามารถผสมพันธุ์แบบอาศัยเพศได้เกิดจากการที่เกสรตัวเมียของดอกมะลิจะตายอย่างรวดเร็วหลังจากดอกเริ่มบาน ทำให้ละอองเกสรตัวผู้ไม่สามารถงอกลงไปผสมกับไข่ในรังไข่ได้ และไม่เกิดการผสมพันธุ์กันจนเกิดเป็นเมล็ดได้ นอกจากนั้นละอองเกสรตัวผู้ที่สามารถผสมพันธุ์ได้ดีก็มีเป็นจำนวนน้อยอีกด้วย
รูปข้างล่างแสดงการผสมระหว่างสเปิร์มที่อยู่ในเกสรตัวผู้กับไข่ในเกสรตัวเมียของดอกไม้ปกติ
ลักษณะการงอกของละอองเกสรตัวผู้ (สีส้ม) ลงไปในเกสรตัวเมีย (สีเขียว) (ดัดแปลงจาก https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/2/28/Angiosperm_life_cycle_diagram-en.svg)
เอกสารอ้างอิง
1. Deng Y, Sun X, Gu C, Jia X, Liang L, Su J (2017) Identification of pre-fertilization reproductive barriers and the underlying cytological mechanism in crosses among three petal-types of Jasminum sambac and their relevance to phylogenetic relationships. PLoS ONE 12(4): e0176026. https://doi.org/10.1371/journal. pone.0176026
โฆษณา