23 ก.พ. 2020 เวลา 23:09 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
มะขาม มะขามเทศ มะขามป้อม ชนิดใดพบในธรรมชาติของประเทศไทย?
(ภาพดัดแปลงจาก By B.navez, https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=321246; By L. Shyamal, https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=1272250; By B.navez, CC BY-SA 3.0, https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=514768)
พืชทั้งสามชนิดมีชื่อเรียกนำว่ามะขามเหมือนกัน แต่จริงๆ แล้วเป็นพืชคนละกลุ่มกันเลย แล้วถ้าเราออกไปในธรรมชาติจริงๆ มะขามชนิดไหนถึงจะพบในธรรมชาติได้ และมีถิ่นกำเนิดในประเทศไทย หรือใกล้เคียงกับประเทศไทย
เริ่มต้นด้วยการตัดตัวเลือกเหมือนตอนทำข้อสอบแล้วกันนะครับ
มะขามเทศน่าจะเป็นตัวเลือกแรกที่ตัดออกไป เพราะมีคำว่า “เทศ”
มะขามเทศ [Pithecellobium dulce] เป็นพืชในวงศ์ถั่ว (Family Fabaceae) ที่พบแพร่กระจายในธรรมชาติในๆ ชายฝั่งตะวันตกของทวีปอเมริกา (ฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิก) และพื้นที่ใกล้เคียงบริเวณอเมริกากลางมาถึงอเมริกาใต้ตอนเหนือ และถูกนำไปปลูกยังประเทศเขตร้อนอื่นๆ ในทวีปแอฟริกา และเอเชีย
ในช่วงปี ค.ศ. 1521 ถึง 1815 มะขามเทศถูกนำเข้ามาจากประเทศเม็กซิโกมายังประเทศฟิลิปปินส์ก่อน เนื่องจากมีการเดินเรือระหว่างสองประเทศนี้โดยชาวสเปน และในปี ค.ศ. 1798 มีการบันทึกว่า มะขามเทศได้ถูกปลูกในประเทศอินเดีย โดยต้นพันธุ์ของมะขามเทศในอินเดียนั้นมาจากประเทศฟิลิปปินส์ และน่าจะกระจายมาในประเทศไทยในช่วงเวลาใกล้เคียงกันนี้เช่นกัน (ยุคกลางของอยุธยาถึงต้นรัตนโกสินทร์)
นอกจากการเคลื่อนย้ายเมล็ดโดยมนุษย์แล้ว ฝักสีแดงของมะขามเทศก็ช่วยดึงดูดให้นกมากิน และแพร่กระจายเมล็ดเช่นเดียวกัน (สีแดงของพืชมักมีวิวัฒนาการมาเพื่อดึงดูดนก) และทำให้นกมาช่วยแพร่กระจายเมล็ดของมะขามเทศไปในธรรมชาติ และมะขามเทศก็ได้กลายเป็นพืชชนิดพันธุ์ต่างถิ่นรุกรานไปในบางพื้นที่ เช่น ในประเทศออสเตรเลีย
สีแดงของฝักและผลของมะขามเทศช่วยให้นกมาช่วยกระจายพันธุ์ได้ (ที่มา By B.navez, CC BY-SA 3.0, https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=514768)
มะขามเป็นพืชในวงศ์ถั่ว (Family Fabaceae) เช่นกัน ที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า [Tamarindus indica] โดยมีคำว่า “indica” ซึ่งแปลว่าประเทศอินเดียอยู่ในชื่อวิทยาศาสตร์ โดยทั่วไปคำว่า indica ในชื่อวิทยาศาสตร์นี้มักจะระบุถิ่นที่พบในธรรมชาติ หรือถิ่นกำเนิดของชนิดพันธุ์นั้น
นอกจากนั้นมะขามนั้นเป็นพืชที่ถูกพูดถึงตั้งแต่สมัยพุทธกาลเมื่อกว่า 2,500 ปีมาแล้ว และคำว่า Tamarind ที่เป็นชื่อของมะขามก็เป็นคำที่มีรากศัพท์มาจากภาษาอาหรับคำว่า “tamar hindi” ที่แปลว่า อินทผลัมจากอินเดีย (tamar แปลว่าอินทผลัม และ hindi มาจากอินเดีย) เนื่องจากเนื้อของมะขามแห้งมีความคล้ายกันกับเนื้อของอินทผลัม
แต่มะขามนั้นอาจจะไม่ได้มีถิ่นกำเนิดในประเทศอินเดีย เนื่องจากมะขามพบแพร่กระจายอยู่ในธรรมชาติของประเทศเขตร้อนในแอฟริกาด้วย เช่น ในประเทศซูดาน และมะขามในแอฟริกานี้มีความหลากหลายทางพันธุกรรมที่สูง จึงเชื่อกันว่าจริงๆ แล้วมะขามน่าจะเป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดในเขตร้อนของทวีปแอฟริกามากกว่า และแพร่กระจายไปในอินเดียเมื่อนานมาแล้วกว่า 2,000 ปีก่อน และอาจจะแพร่กระจายมายังประเทศไทยมาตั้งแต่อดีตเช่นกัน
ฝักมะขามดิบ (ที่มา By Mlvalentin, Public Domain, https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=6324692)
มะขามป้อม [Phyllanthus emblica] ต่างจากมะขามและมะขามเทศคือ ไม่ได้เป็นพืชวงศ์ถั่ว (Family Fabaceae) แต่เป็นพืชในวงศ์มะขามป้อม (Family Phyllanthaceae) ซึ่งมีญาติใกล้ชิด ได้แก่ มะยม [Phyllanthus acidus] ต้นลูกใต้ใบ [Phyllanthus niruri]
โดยมะขามป้อมพบในธรรมชาติในบริเวณกว้าง ตั้งแต่เนปาล อินเดีย ศรีลังกา เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จนถึงประเทศจีนตอนใต้ และพบในธรรมชาติในประเทศไทยด้วย โดยสามารถพบมะขามป้อมในป่าในพื้นที่อนุรักษ์ต่างๆ เช่นกัน
นอกจากมนุษย์แล้ว สัตว์ก็มีการกินมะขามป้อมเป็นอาหาร และช่วยในการแพร่กระจายเมล็ดของมะขามป้อมด้วย โดยในอุทยานแห่งชาติ Rajaji มีการสังเกตเห็นว่าสัตว์ที่มากินผลของมะขามป้อม ได้แก่ กวางดาว [Axis axis] เก้งธรรมดา [Muntiacus muntjak] ค่างหนุมาน [Semnopithecus entellus] และสัตว์ในกลุ่มของหนู [Tatera indica]
โดยค่างหนุมานจะเป็นสัตว์ที่กินและเขย่าให้ผลของมะขามป้อมหล่นลงบนพื้น ส่วนกวางดาวและเก้งจะคอยกินผลไม้ที่หล่นลงมา และขย้อนเมล็ดออกมาในภายหลัง ซึ่งจะช่วยให้เมล็ดของมะขามป้อมสามารถกระจายตัวไปเกิดเป็นต้นมะขามป้อมในที่ใหม่ๆ ที่ไกลจากต้นแม่ได้
ลูกมะขามป้อมที่อยู่บนต้น (ที่มา By L. Shyamal, CC BY 2.5, https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=1272250)
กวางดาว [Axis axis] (ที่มา By T. R. Shankar Raman, CC BY-SA 4.0, https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=34682377)
เก้งธรรมดา [Muntiacus muntjak] (ที่มา By Bernard DUPONT from FRANCE, CC BY-SA 2.0, https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=40784263)
ค่างหนุมาน [Semnopithecus entellus] (ที่มา By Dr. Ajay B., CC BY-SA 3.0, https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=30486407)
เอกสารอ้างอิง
3. Diallo, BO; Joly, HI; McKey, D; Hosaert-McKey, M; Chevallier, MH (2007). "Genetic diversity of Tamarindus indica populations: Any clues on the origin from its current distribution?". African Journal of Biotechnology. 6 (7).
4. Jansen, P.C.M., 2005. Phyllanthus emblica L. In: Jansen, P.C.M. & Cardon, D. (Editors). PROTA (Plant Resources of Tropical Africa / Ressources végétales de l’Afrique tropicale), Wageningen, Netherlands. Accessed 12 February 2020.
5. Prasad, S., Krishnaswamy, J., Chellam, R. and Goyal, S.P. (2006), Ruminant‐mediated Seed Dispersal of an Economically Valuable Tree in Indian Dry Forests1. Biotropica, 38: 679-682. doi:10.1111/j.1744-7429.2006.00182.x
โฆษณา