Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
หลงไปในประวัติศาสตร์ by หมอเอ้ว ชัชพล
•
ติดตาม
7 มี.ค. 2020 เวลา 10:35 • ประวัติศาสตร์
salary และ sausage มีรากศัพท์ร่วมกันได้อย่างไร ?
(และเกี่ยวอะไรกับโบท็อกซ์)
หมายเหตุ: เนื้อหาเรียบเรียงใหม่จาก หนังสือ ทำไมเราเลี้ยง pig แต่กิน pork ครับ
1.
คำว่า salary แปลว่าเงินเดือน
คำว่า sausage แปลว่า ไส้กรอก
คำว่า salad ก็คือ สลัดผัก
คำว่า salt แปลว่าเกลือ
คำว่า sauce แปลว่าน้ำจิ้ม
คำเหล่านี้ มองผ่านๆก็ดูจะคล้ายๆกันอยู่บ้าง แต่ความหมายไม่ได้ใกล้เคียงกันเลย
แต่รู้ไหมครับ คำเหล่านี้มีรากศัพท์ร่วมกันมา และยังแอบเกี่ยวโยงกับคำว่า Botox ด้วยนิดหน่อย
จะเข้าใจว่า คำเหล่านี้มีรากศัพท์ร่วมกันได้อย่างไร
เราต้องเดินทางย้อนเวลากลับไปสมัยที่อาณาจักรโรมันยังรุ่งเรือง
โดยทั้งหมดเริ่มต้นจากคำว่า เกลือ...
2.
ในอดีตก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรม
เกลือเป็นของหายากและมีราคาแพง
เมื่อชาวโรมันอยากกินเกลือเขาจะบอกว่าขอ sal หรือ salis (ซาลิส) หน่อย
การใช้ salis ของชาวโรมัน ไม่ได้มีไว้แค่ทำให้อาหารเค็มเท่านั้น
แต่ salis ยังมีหน้าที่ถนอมอาหารด้วย
ในโลกยุคที่ยังไม่มีตู้เย็น
เนื้อสัตว์ที่กินไม่หมดเก็บได้ไม่นานก็จะบูดเน่า
เว้นเสียแต่จะใส่ salis ลงไปเพื่อให้อาหารเก็บได้นานขึ้น
เนื้อสัตว์ที่หมักด้วยเกลือชาวโรมันจะเรียกว่า salsicus (ซัลซิคุส)
จาก salsicus หลายรัอยปีผ่านไป
ภาษาก็วิวัฒนาการ
สูตรการทำเนื้อสัตว์หมักเกลือก็วิวัฒนาการ
มีการนำเนื้อสัตว์หมักเกลือยัดลงไปในลำไส้หมู เกิดเป็น sawsyge ในภาษาอังกฤษยุคโบราณ (ที่เรียกว่า Old English) ก่อนจะมาเป็น sausage ที่แปลว่าไส้กรอกในปัจจุบัน
จากคำตั้งต้นที่หมายความว่าเกลือ เราจึงมาถึงคำว่า sausage
แต่คำว่าเกลือ ยังเป็นที่มาของคำว่า salad ด้วย
3.
นอกเหนือไปจากการโรยเกลือเพื่อให้เนื้อเก็บได้นานแล้ว
ชาวโรมันยังนำเกลือไปดองเครื่องเทศต่างๆด้วย
น้ำเกลือที่มีกลิ่นหอมของเครื่องเทศนี้ยังสามารถนำไปใส่ชามผัก เพื่อให้ผักมีรสเค็มๆหอมๆ
โดยชาวโรมันเรียกอาหารจากเด็ดนี้ว่า herba salata
คำว่า herba ที่แปลว่า ผัก นี้ ยังเป็นรากศัพท์ของคำว่า herb (ออกเสียงได้ทั้ง เอิร์บ ซึ่งนิยมในอเมริกา หรือ เฮิร์บ ซึ่งนิยมในอังกฤษ) ที่แปลว่า สมุนไพร
ส่วนคำว่า salata ก็เริ่มต้นมาจาก salis เป็น *salare เป็น salata
สุดท้ายจาก herba salata ก็หดสั้นลงจนเหลือเพียงคำว่า salata และกลายเป็น salad ที่เราคุ้นเคยกันในภาษาอังกฤษ
จะเห็นว่าเกลือเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับยุคโบราณ
แต่ด้วยความที่เกลือหาได้ยาก เกลือจึงเป็นของมีค่า
1
ด้วยเหตุนี้ เกลือหรือ salis จึง ‘อาจจะ’ เป็นที่มาของคำว่า salary ที่แปลว่าเงินเดือนอีกด้วย (หลักฐานไม่แน่ชัด)
โดยในกองทัพของโรมัน ทหารจะได้รับเบี้ยเลี้ยงเป็นเกลือร่วมไปกับการได้รับเงินเหรียญ
เกลือ salis ที่ได้เป็นเบี้ยเลี้ยงนี้ เรียกว่า salarium ก่อนที่จะกลายมาเป็นคำว่า salary ในปัจจุบัน
แต่การวิวัฒนาการก็ยังไม่จบครับ
4.
เมื่ออาณาจักรโรมัน (ตะวันตก) ล่มสลายลง
ภาษาลาตินในแต่ละท้องถิ่นก็ค่อยๆเพี้ยนไปคนละทิศทาง เกิดเป็นภาษาต่างๆขึ้น เช่น ภาษาอิตาเลียน ภาษาฝรั่งเศส ภาษาสเปน ฯลฯ
ภาษาที่เพี้ยนหรือวิวัฒนาการมาจากภาษาลาตินเหล่านี้ เราเรียกรวมๆกับว่า ตระกูลภาษาโรมานซ์ (Romance เพราะมาจาก Roman)
ชาวอิตาลีและชาวสเปนเรียกเนื้อที่หมักด้วยเกลือของพวกเขาว่า ซาลามี่ (salami)
ซึ่งมาจากคำว่าเกลือ salis ที่ผันเป็นรูป *salare แปลว่า ใส่เกลือ
จากนั้นก็เพี้ยนเป็น *salamen, salame แล้วก็จบด้วย salami
เช่นเดียวกับบรรพบุรุษชาวโรมัน ชาวยุโรปหลายประเทศ ยังมีวัฒนธรรมการนำผัก ผลไม้ และเครื่องเทศดองในน้ำเกลือ เพื่อให้มีรสเค็มๆหอมๆ และเก็บได้นาน
น้ำเกลือที่มีกลิ่นเฉพาะเหล่านี้ยังสามารถนำไปเหยาะใส่อาหารอื่นต่อได้อีก
ชาวสเปนเรียกน้ำซอสนี้ว่า salsa ซึ่งก็มาจากคำว่า salis ผันเป็นรูป salsus ก็จะเพี้ยนเป็น salsa ซึ่งความหมายเดิมจะหมายถึง เครื่องปรุงเค็มๆ
แต่เมื่อนักรบนักผจญภัย คองคิสตาดอร์ (conquistador) ชาวสเปน เดินทางไปพบชาวอินคาและแอซเทค (Aztec) ปรุงรสด้วยเครื่องปรุงที่ทำด้วยมะเขือเทศ พริกและเครื่องเทศต่างๆ ก็เรียกเครื่องปรุงนี้ว่า salsa
salsa ในสลัดบาร์ร้าน Sizzler จึงไม่ใช่น้ำเกลือแบบชาวโรมัน แต่เป็นมะเขือเทศผสมพริกเผ็ดนิดๆแบบชาวอินคาหรือแอซเทค
1
เมื่อวัฒนธรรมโรมันกลายวัฒนธรรมของฝรั่งเศส คำว่าเครื่องปรุง (รสเค็ม) ก็วิวัฒนาการจนเกิดเป็นคำว่า sauce ในภาษาฝรั่งเศสและภาษาอังกฤษในเวลาต่อมา
คำแถม
สำหรับคนที่เคยดูภาพยนตร์เกาหลีเรื่อง my sassy girl หรือในชื่อไทยว่า ยัยตัวร้ายกับนายเจี๋ยมเจี้ยม คำว่า sassy มาจากคำว่า saucy ซึ่งก็มาจากคำว่า sauce
1
ที่มาของการเรียกผู้หญิงสักคนว่าซอส ก็มาจากการบรรยายว่าผู้หญิงคนนี้แสบ จัดจ้าน ร้ายกาจคล้ายซอสรสจัด
5.
แล้วก็มาถึงคำที่ต่างไปจากคำอื่นเลยนั่นคือ คำว่า Botox
ความสัมพันธ์ระหว่าง botox และคำว่าเกลือ เริ่มต้นมาจากไส้กรอกครับ
ชาวโรมันเรียกไส้กรอกว่า botulus (โบทูลุส)
คำนี้ยังมีอีกความหมายคือ แปลว่าลำไส้ ได้ด้วย
ซึ่งก็ไม่น่าแปลกใจเพราะไส้กรอกในอดีตจะทำมาจากเศษเนื้อที่ขายไม่หมด เช่น อวัยวะภายใน เศษเนื้อ เลือด และไขมัน มาสับรวมกันจนดูไม่ออกว่าเป็นอะไรแล้วนำไปหมักกับเกลือและเครื่องเทศ จากนั้นก็ยัดลงไปในลำไส้หมูที่ล้างจนสะอาด (หรืออาจจะไม่สะอาดแต่เขาไม่ให้เรารู้)
ผลที่ได้ออกมาคือ อาหารที่ชาวโรมันเรียกว่า botulus หรือลำไส้ ส่วนเราเรียกอาหารชนิดนี้ว่า ไส้กรอก (หรือกรอกลงไปในไส้)
คำว่าลำไส้ botulus นี้แปลว่าลำไส้และไส้กรอกมาโดยตลอด จนกระทั่งคำนี้เดินทางไปถึงหมอชาวเยอรมันคนหนึ่งในศตวรรษที่ 19
หมอชาวเยอรมันชื่อ ยุสตินุส แคร์เนอร์ (Justinus Kerner) สังเกตว่า จู่ๆ ก็มีคนไข้จำนวนมากที่ป่วยมาหาเขาด้วยอาการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อ
โดยอาการอ่อนแรงนี้จะเริ่มต้นขึ้นที่กล้ามเนื้อบนใบหน้าก่อน จากนั้นก็เริ่มลามไปที่แขนขา สุดท้ายกล้ามเนื้อจะอ่อนแรงไปทั้งตัวจนไม่สามารถขยับได้
อาการอ่อนแรงอาจลามไปถึงกล้ามเนื้อกระบังลมทำให้ไม่สามารถหายใจได้ หัวใจล้มเหลวและเสียชีวิตไปในที่สุด
ที่น่าสนใจคือ ผู้ป่วยเหล่านี้มีประวัติว่ากินไส้กรอกมาก่อนที่จะเริ่มป่วยทั้งนั้น หมอแคร์เนอร์ จึงสรุปว่า ผู้ป่วยเหล่านี้ป่วยด้วยโรคไส้กรอกเป็นพิษ
ในเวลาต่อมานักวิทยาศาสตร์ก็พบว่าพิษของไส้กรอกนี้มาจากแบคทีเรียชนิดหนึ่ง แบคทีเรียชนิดนี้จึงถูกเรียกว่า Clostridium botulinum
คำว่า Clostridium (คลอสตริเดียม) เป็นชื่อ genus มาจากภาษากรีกแปลว่า หมุนเป็นเกลียว เพราะแบคทีเรียนชนิดนี้เมื่อมองผ่านกล้องจุลทรรศน์เราจะเห็นว่าตัวมันบิดเป็นเกลียว
ส่วนคำว่า botulinum (โบทิลินุ่ม) เป็นชื่อสปีชีส์ของแบคทีเรียซึ่งมาจากคำว่า ไส้กรอก โรคไส้กรอกเป็นพิษนี้จึงมีชื่อเรียกใหม่ที่ฟังดูไฮโซกว่าเดิมว่า botulism
อีกเกือบหนึ่งร้อยปีต่อมา นักวิทยาศาสตร์ก็ศึกษาจนรู้ว่าแบคทีเรียนี้ ทำให้มนุษย์ป่วยเพราะมันสร้างพิษที่ทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรง พิษของ botulinum มีชื่อเรียกว่า botox ซึ่งมาจาก botulinum + toxin
ต่อมามีหมอเกิดคิดขึ้นมาว่า ถ้าพิษจากแบคทีเรียนี้ทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรงได้ เราก็สามารถนำพิษชนิดนี้มารักษาโรคที่เกิดจากกล้ามเนื้อแข็งเกินไปได้ ตัวอย่างของโรคเหล่านี้ก็ เช่น โรคตาเข ตาเหล่ หรือโรคหนังตากระตุก
1
ในช่วงแรกหมอที่นำ botox มารักษาให้คนป่วยจึงเป็นจักษุแพทย์แพทย์ ไม่ใช่หมอผิวหนัง
1
แต่แล้ววันหนึ่งก็มีคู่หมอสามีภรรยาชาวแคนาดา ชื่อ คาร์รัทเตอร์ส (Carruthers) นำ botox มาใช้รักษาคนไข้
โดยภรรยาที่เป็นหมอตาสังเกตเห็นว่า คนไข้ที่ได้รับการฉีด botox เพื่อรักษาโรคตานั้น แต่ละคนพอใจกับการรักษามาก
เพราะนอกจากตาจะหายกระตุกแล้วรอยย่นตรงหน้าผากก็ยังหายไปด้วย ตาสวยขึ้นแล้วยังดูเด็กลงอีก
สามีซึ่งเป็นหมอผิวหนังจึงนำการค้นพบนี้ไปตีพิมพ์ในวารสารวงการแพทย์ผิวหนังว่า botox สามารถรักษารอยย่นบนใบหน้าได้ด้วย
นับจากนั้นมาพิษจากไส้กรอก ซึ่งถือได้ว่าเป็นพิษรุนแรงที่สุดเท่าที่มนุษย์เคยรู้จัก ก็กลายเป็นพิษที่คนยินดีจ่ายเงินเพื่อให้ได้รับพิษนั้น
และทั้งหมดนี้ก็คือการเดินทางและวิวัฒนาการของคำว่าเกลือ
1
จาก sal หรือ salis จึงกลายมาเป็น sausage, salad, salary, salami, salsa, sassy, sauce และ botox ในปัจจุบันครับ
(ปิดท้ายด้วยโฆษณา)
อ่านจบแล้ว ใครชอบประวัติศาสตร์และรากที่มาของคำศัพท์ภาษาอังกฤษแบบนี้
แนะนำอ่านเพิ่มเติมได้จากหนังสือ Bestseller ของผมเอง 2 เล่ม
ทำไมเราเลี้ยง pig แต่กิน pork และ
ทำไมแฮมเบอร์เกอร์จึงไม่มีแฮม นะครับ
สามารถสั่งซื้อออนไลน์ได้จากลิงก์ด้านล่างทั้ง 2 ครับ
https://www.lazada.co.th/shop/chatchapolbook/
หรือ
https://shopee.co.th/cthada
http://lazada.co.th/chatchapolbook
อ่านบทความวิทยาศาสตร์และการแพทย์ได้ที่
https://www.facebook.com/ChatchapolBook/
หรือ
https://www.blockdit.com/chatchapol
คลิปวีดีโอเกี่ยวกับประวัติศาสตร์
https://www.youtube.com/chatchapolbook
53 บันทึก
184
13
43
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
ประวัติศาสตร์ของภาษา
53
184
13
43
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย