9 มี.ค. 2020 เวลา 01:00 • ปรัชญา
The Great Awakening โดยคุณภิญโญ ไตรสุริยธรรมา
นักคิด นักเขียน เจ้าของสำนักพิมพ์สร้างปัญญาอย่าง openbooks จากการฟังทัศนคติของคุณภิญโญหลายๆครั้ง คุณภิญโญเป็นผู้เปิดกว้างทางความคิด รับฟังและพยายามทำความเข้าใจกับโลกที่กำลังหมุนไป
เด็กและเยาวชนเป็นอนาคตของชาติ การมองพวกเขาเป็นศัตรู ไม่ใช่ทางที่ดีนัก การมองว่าพวกเขาถูกล้างสมองนั้นเป็นมุมมองที่ค่อนข้างตื้นเขิน การมองว่าพวกเขาเป็นกัลยาณมิตรที่สามารถพูดคุยแลกเปลี่ยนเพื่อปัญญานั้นสร้างสรรค์กว่า
การมองผู้คนแบบนักมานุษยวิทยาเป็นกระบวนวิธีที่น่าสนใจ นักมานุษฯจะไม่ตัดสินความคิดหรือการกระทำของผู้คน แต่จะพยายามทำความเข้าใจให้แจ่มแจ้งว่าที่มาที่ไปและชุดความคิดของผู้คนเป็นอย่างไร
อยากให้ผู้อ่านทุกท่านที่มีโอกาสได้อ่านหรือติดตามเพจนี้ได้ลองอ่านบทความของคุณภิญโญดูครับ (บทความนี้มาจากเพจ openbooks ลิ้งค์อยู่ด้านล่าง ตามไปอ่านได้ครับ)
The Great Awakening
การตื่นรู้ครั้งใหญ่
และโจทย์ใหม่ของประเทศไทย
.
Life begins on the other side of despair.
ชีวิตเริ่มต้นเมื่อสุดจะทนกับความสิ้นหวัง
― Jean-Paul Sartre
การตื่นตัวของนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั่วประเทศพร้อมๆ กัน
เรื่อยไปจนนักเรียนในระดับมัธยม
เป็นปรากฏการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในรอบ 30 ปีที่ผ่านมา
ถ้านับในเชิงปริมาณ ทั้งจำนวนผู้ชุมนุมและจำนวนสถาบันที่เข้าร่วม
น่าจะมีมากกว่าครั้งเมื่อเกิดเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 อย่างมีนัยสำคัญ
.
เนื่องจากเป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
คนรุ่นก่อนที่เคยผ่านเหตุการณ์ทางการเมืองในยุคเก่า
จึงยากที่จะทำความเข้าใจ กระทั่งไม่อยากจะเข้าใจ
จึงได้แต่ผลิตชุดคำอธิบายที่ผิดฝาผิดตัว
และไม่ได้ช่วยนำไปสู่คำตอบและทางออกของสังคมที่ดีขึ้น หรือดีกว่า
นำมาสู่ปัญหา การตกยุค หลงยุค จนกลายมาเป็น
ความแตกต่างทางความคิดของคนแต่ละยุค (generation division)
ซึ่งสร้างปัญหาทั้งในระดับครอบครัว (พ่อแม่ VS ลูก)
สถาบันการศึกษา (ครูบาอาจารย์ VS ลูกศิษย์)
กระทั่งกลายเป็นปัญหาใหญ่ในระดับชาติ (รัฐบาล VS ประชาชน)
และถ้ายังอ่านปัญหาไม่ขาด อาจนำมาสู่ความขัดแย้งใหญ่ในระดับชาติ
ที่คนในชาติไม่เคยคิด ไม่เคยจินตนาการ และไม่เคยพบพานมาก่อน
.
นักเรียน นักศึกษา กระทั่งคนทำงานวัยหนุ่มสาวเหล่านี้
คือคนที่เกิดและเติบโตขึ้นมาในยุคการปฏิวัติเทคโนโลยีใหญ่ของโลก
นับจาก มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก สร้างเฟซบุ๊กในปี 2004
การก่อเกิดของทวิตเตอร์ในปี 2006
ซึ่งถูกเร่งปฏิกิริยาด้วยการเปิดตัวไอโฟนของ สตีฟ จอบส์ ในปี 2007
ตามมาด้วยเทคโนโลยีสมาร์ทโฟนที่เชื่อมคนทั้งโลกเข้าด้วยกัน
อันเป็นเทคโนโลยีพลิกผันที่ทำให้เกิดการดิสรัปชั่นไปทั่วทุกวงการ
.
หันกลับมามองเมืองไทยในช่วงเวลาเดียวกัน
เรามีการชุมนุมสีเสื้อใหญ่ๆ สามครั้ง
นับจากม็อบเสื้อเหลืองพันธมิตร
ม็อบเสื้อแดงราชประสงค์
ม็อบนกหวีดแยกปทุมวัน
จนนำมาสู่การรัฐประหารสองครั้ง
และครั้งหลังสุด กินเวลาในอำนาจนานกว่า 5 ปี
และยังไม่มีทีท่าว่าจะยุติเมื่อใด
.
ในขณะที่โลกและประเทศเพื่อนบ้านก้าวไปข้างหน้า
ประเทศไทยกลับถูกดึงให้ล้าหลังลงในทุกๆ มิติ
นำมาสู่การสูญเสียโอกาสในชีวิต
ของคนหนุ่มสาวที่เติบโตขึ้นมาในช่วงเวลานี้
ในขณะที่ความเหลื่อมล้ำเพิ่มทวี จนประเทศไทยขึ้นมายืนในอันดับหนึ่ง
บริษัทยักษ์ใหญ่มั่งคั่งร่ำรวยขึ้น
แต่คนหนุ่มสาวกลับไม่สามารถเอื้อมถึงอนาคตของพวกเขาได้
เพราะอนาคตทั้งหลายตกอยู่ในมือคนเพียง 1% ของสังคม
.
ไม่ต้องมีความอยุติธรรมทางกฎหมาย
ไม่ต้องมีการบังคับใช้กฎหมายแบบสองมาตรฐาน
ไม่ต้องมีการใช้อำนาจโดยมิชอบและการทุจริตมโหฬาร
ลำพังปัญหาเศรษฐกิจ การขาดเสรีภาพในทางความคิด
การถูกปิดกั้นทางการเมือง
ก็น่าจะเพียงพอที่จะสร้างความขุ่นเคืองให้คนหนุ่มสาว
ยิ่งเมื่อถูกกดทับมานานปี ความไม่พอใจเหล่านี้
ย่อมนำมาซึ่งความโกรธแค้นแห่งยุคสมัย
กลายเป็นความโกรธแค้นมวลรวมประชาชาติ
ที่ไม่น่าจะเป็นผลดีต่อผู้ใด
.
อุปมาเหมือนผู้มีอำนาจราดน้ำมันไว้ทั่วประเทศไทย
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง น้ำมันในหัวใจของหนุ่มสาว เยาวชนคนรุ่นใหม่
เมื่อมีเหตุการณ์ที่เปรียบได้ดั่งไม้ขีดไฟที่ถูกจุดขึ้น
เปลวไฟย่อมสว่างไสวไปทั่วทุกพื้นที่ของมหาวิทยาลัย
ดังที่ไม่เคยเป็นมาก่อน
.
นี่คือปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น
และกำลังจะเกิดขึ้นในช่วงเวลาต่อจากนี้
นี่คือการเหวี่ยงกลับของนาฬิกาลูกตุ้ม
จากขวาสุด นาฬิกานี้กำลังจะสวิงกลับไปทางซ้ายสุด
.
สิ่งที่สังคมเคยให้ค่า
คนที่เคยเสนอหน้าว่าเป็นคุณค่าที่ถูกต้องในยุคหนึ่ง
กำลังถูกอนาคตไล่ล่า
รูปการร่วมชุมนุมอันล้ำค่ากำลังจะถูกขุดขึ้นมาเพื่อตีความใหม่
และคนรุ่นเบบี้บูมเมอร์ กระทั่งคนรุ่นเจนเอ็กซ์
จะไม่ใช่คนตีความอีกต่อไป
.
ดารา เซเลบ ครูบาอาจารย์
กำลังจะต้องพบเจอกับกระแสลมย้อนกลับ
เมื่อลมได้พัดเอาเปลวไฟที่เคยเผาผลาญผู้อื่นด้วยทีท่าและวาจา
กลับมาเผาผลาญตัวเองและสถาบันของตนจนมอดไหม้
ความขัดแย้งนี้จะกลายเป็นไฟลามทุ่ง
นี่คือจุดเริ่มต้นของปรากฏการณ์ที่เรายังไม่รู้ว่าจะนำไปสู่สิ่งใด
.
ไม่ว่าจะชอบหรือไม่
แต่บัดนี้ ไฟได้ถูกจุดขึ้นในใจคนหนุ่มสาวแล้ว
เมื่อไฟติดแล้วและลามไปคล้ายไฟป่า จึงยากยิ่งจะดับไฟ
ยิ่งโหมโมหะ โทสะ และอวิชชาเข้าใส่
ก็ยิ่งจะทำให้ไฟลุกลามมากขึ้น
.
สังคมไทยจึงต้องเตรียมรับมือ
กับการตื่นขึ้นครั้งใหญ่ของคนหนุ่มสาวไทย
ว่าเราจะนำไฟอันร้อนแรงนี้
ไปใช้ในการสร้างอนาคตของพวกเขาอย่างไร
.
ไฟย่อมมีประโยชน์อันยิ่งใหญ่
ถ้าเรากำหนดทิศทางและการใช้งานได้
แต่ถ้าเราเร่งโหมเปลวไฟ
ไฟนั้นย่อมเผาบ้านเมืองและผู้คนให้มอดไหม้
และคงไม่มีผู้ใดได้ประโยชน์จากไฟนั้น
.
และนี่คือโจทย์ใหญ่ที่ผู้ใหญ่
ผู้เคยอาบน้ำร้อน และเคยเดินผ่านฝน
ผ่านเปลวไฟทางการเมืองอันร้อนแรงมาก่อน หลายต่อหลายครั้ง
จะต้องขบคิดว่า จะนำไฟแห่งการตื่นรู้ของคนหนุ่มสาว
ผู้เป็นลูกหลานของเรานั้น ไปในทิศทางไหน
.
การกำหนดบทบาท ท่าที
และวิธีการดำเนินนโยบายทางการเมือง ต่อการตื่นรู้ใหญ่ในครั้งนี้
จะเป็นปัจจัยสำคัญในการกำหนดอนาคตของประเทศไทย
ในช่วงเวลานับจากนี้
.
หนุ่มสาวในวันนี้คือพ่อแม่ในวันหน้า
ลูกศิษย์ในวันนี้คือครูบาอาจารย์ในวันหน้า
พ่อแม่ย่อมเฒ่าชะแรแก่ชรา จึงเป็นหนุ่มสาวเหล่านี้
ที่จะต้องแบกรับภาระในการดูแลสังคมและบุพการี
ในวันที่ประเทศเดินเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยในเวลาอันสั้น
.
อย่าผลักไส อย่าทำร้าย อย่าป้ายสี
เพราะเขาเหล่านี้คืออนาคตของประเทศไทย
ขอให้เราช่วยกันประคับประคองลูกหลานของเรา
และช่วยพวกเขาสร้างอนาคตให้กับประเทศเถิด
.
เราเกิด เราแก่ เราเจ็บ และเราคงต้องตายก่อนพวกเขา
ขอเราจงใช้ขันติธรรมที่ควรมีมากกว่า
เมตตาธรรมที่สร้างสมมา
หลอมรวมสร้างเป็นปัญญา
เพื่อนำพาสังคมไปสู่ทางออกที่ดีกว่าทางออกเก่าของเราในอดีต
.
ทั้งเราและเขาจึงคือหนึ่งเดียวกัน
คือผู้ที่จะสร้างสรรค์และกำหนดอนาคตให้ประเทศชาติได้
.
ขอจงมองให้เห็นภาพที่ใหญ่กว่า
เพราะเรายังคงต้องเผชิญกับภัยพิบัตินานาที่ถาโถมเข้ามาดังพายุ
ทั้งพายุเศรษฐกิจ โรคภัย หายนะจากภัยแล้ง
.
วิสัยทัศน์ที่กว้างไกลสุดขอบฟ้า
และหัวใจหนักแน่นดั่งหินผา
คือคุณสมบัติที่จะช่วยให้พวกเราฝ่าวิกฤติใหญ่ในครั้งนี้ได้
โลกในยุคที่กำลังจะมาถึงเบื้องหน้า
มีโจทย์ที่ยากและท้าทายกว่าโลกที่เราใช้ชีวิตผ่านมามากมายนัก
เราทั้งหมดต้องร่วมกันใช้สรรพกำลัง
เพื่อรับมือกับโจทย์อันยากยิ่งนั้นในอนาคตอันใกล้
.
ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา
2 มีนาคม 2563
Photo Credit:
Students gather for a general assembly in the amphitheater at the Sorbonne university on May 15, 1968 in Paris during the May 1968 events in France. (Photo by AFP)

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา