Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
PHARMary-ไดอารี่หมอยา
•
ติดตาม
14 มี.ค. 2020 เวลา 12:29 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
เรามีความหวังเพียงใดกับการค้นหาวิธีรักษา COVID-19 ? (Ep.2)
เรามีความหวังเพียงใดสำหรับกับการค้นหาวิธีรักษา COVID-19 ? (Ep.2) : Manjurul/Getty Images
ความเดิมตอนที่แล้ว....
เราเริ่มมีความคืบหน้ามากขึ้นแล้วครับ สำหรับการค้นหายาต้านไวรัสโคโรนา-2019 ต่างประเทศเริ่มมีการทดลองใช้ยาในกลุ่มผู้ป่วย ไม่ว่าจะเป็นจีนหรืออเมริกาทุกอย่างเป็นไปด้วยความรวดเร็วเนื่องจากเวลามีไม่มากแล้ว
อย่างที่เคยบอกไปก่อนหน้านี้ ยาต้านไวรัสที่กำลังวิจัยอยู่นี้ ไม่ใช่ยาที่จำเป็นต้องได้รับทุกราย แต่จะช่วยลดความรุนแรงของโรคและความเสี่ยงของการเสียชีวิตในผู้ป่วยบางกลุ่ม เช่น มีโรคปอดเรื้อรัง หอบหืด ภูมิคุ้มกันต่ำ มีโรคร่วมเยอะ ผู้สูงอายุ เป็นต้น
รายละเอียดอ่านเพิ่มเติมได้ตอนก่อนหน้านี้ครับ....
blockdit.com
[PHARMary-ไดอารี่หมอยา] เรามีความหวังเพียงใดกับการค้นหาวิธีรักษา COVID-19 ?
เรามีความหวังเพียงใดกับการค้นหาวิธีรักษา COVID-19 ?
วิธีที่ช่วยลดการระบาดของโรคอีกทางหนึ่งที่สำคัญและมีประสิทธิภาพมาก ช่วยเร่งให้การระบาดจบลงได้เร็วก็คือการทำให้ทุกคนมีภูมิคุ้มกันนั่นเองครับ
Herd Immunity คือภูมิคุ้มกันระดับชุมชน เป็นการที่ประชากรในกลุ่มหรือชุมชนนั้นๆ มีภูมิคุ้มกันต่อโรคที่ระบาดจากคนสู่คนได้ ทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อในชุมชนนั้นๆไม่เพิ่มสูงขึ้นอีกแล้ว การแพร่ระบาดสิ้นสุดลง
การมีภูมิคุ้มกันระดับชุมชนช่วยหยุดการระบาดของโรค : Hilleman Laboratories
สิ่งที่มีบทบาทในการช่วยเร่งอัตราการเกิดภูมิคุ้มกันระดับชุมชนขึ้นมาได้ก็คือ " วัคซีน " ครับ
วัคซีน เป็นสารที่ได้จากสิ่งมีชีวิตเช่น ไวรัส แบคทีเรีย โดยที่อาจจะเป็นเชื้อทั้งตัวที่ถูกทำให้อ่อนแอลงก็ได้ หรือเป็นเพียงแค่โปรตีน ชิ้นส่วนบางอย่างที่เมื่อเข้าไปในร่างกายจะมีการ
กระตุ้นให้สร้างภูมิคุ้มกันที่จำเพาะกับเชื้อโรค เรียกวิธีนี้ว่า " Active artificially acquired immunity "
รายงานจากองค์การอนามัยโลก (WHO) พบว่ามี candidate ของวัคซีนป้องกันโรค COVID-19 ณ ขณะนี้คือ 35 ชนิด จากผู้ผลิตที่แตกต่างกันไป
แต่มีเพียงวัคซีนไม่กี่ชนิดที่ได้เริ่มเข้าสู่การวิจัยในคนแล้ว ซึ่งตัวที่น่านำมาใช้ได้เร็วๆนี้ นั่นคือ mRNA-1273 นั่นเองครับ
1. mRNA-1273
วัคซีนจากฝั่งอเมริกาตัวนี้พัฒนาโดยบริษัท Moderna ใช้เทคโนโลยีใหม่ที่แตกต่างจากการผลิตวัคซีนในอดีต เนื่องจากทำการถอดรหัสพันธุกรรมของไวรัสเฉพาะส่วนที่ใช้สร้างโปรตีนลักษณะคล้ายหนาม (Spike - protein) ที่ส่วนเปลือกของไวรัสบรรจุใส่อนุภาคไขมันขนาดเล็ก (Lipid nanoparticle) แล้วนำมาฉีดเข้าไปในร่างกาย เพื่อให้มีการสร้าง spike protein เกิดขึ้น ซึ่งจะช่วยกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันให้ตอบสนองต่อโปรตีนนี้ เสมือนทำให้ร่างกายเข้าใจว่ามีไวรัสเข้ามาแล้ว โดยที่วิธีการนี้มีความปลอดภัยมากกว่าการให้ไวรัสทั้งตัวเข้าไปกระตุ้นโดยตรงครับ
วัคซีน mRNA-1273 จะเข้าสู่เซลล์ในร่างกายเพื่อสร้าง spike protein ออกมาใช้ในการกระตุ้นภูมิคุ้มกัน : translate.bio
เมื่อได้รับวัคซีน ร่ายกายจะตอบสนองโดยการสร้าง อิมมูโนโกลบูลิน (Immunoglobulin) หรือแอนติบอดี้ (Antibody) เข้าจัดการกับสิ่งแปลกปลอมนั้นๆนอกจากนี้ร่างกายจะมีเซลล์ที่จดจำตัวกระตุ้นพวกนี้ไว้ หากมีการได้รับเชื้อเข้ามาอีกซ้ำจะใช้เวลาตอบสนองที่รวดเร็ว โอกาสที่ร่างกายจะไม่ติดเชื้อจะสูงขึ้น
ราวเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา วัคซีน mRNA-1273 เข้าสู่การวิจัยระดับ phase I อยู่ในขั้นทดสอบความปลอดภัยและการกระตุ้นภูมิคุ้มกันในอาสาสมัครสุขภาพดีไม่มีโรคประจำตัวอายุ 18-55 ปี (phase I) จำนวน 45 คน ซึ่งจะถูกแบ่งเป็น 3 กลุ่ม อาสาสมัครทุกรายจะได้รับวัคซีน 2 ครั้งในขนาดที่เท่ากัน ขนาดยาที่ใช้ทดสอบจะมี 3 dose คือ 25 ,100 และ 250 micrograms ระยะเวลาที่ได้วัคซีนจะห่างกัน 28 วัน โดยมีค่าตอบแทนให้สำหรับผู้ที่อยู่จนครบระยะเวลาการศึกษาคือ 1,100 US dollars หรือ 3 หมื่นกว่าบาทนั่นเอง
แหม.....รายได้ดีเชียวครับ ฮาาาา.....
มีแนวโน้มว่าเราจะทราบผลการวิจัยของวัคซีนตัวแรกนี้เบื้องต้นในช่วงเดือนมิถุนายนข้างหน้านี้ครับ แต่ทั้งนี้เนื่องด้วยไม่มีการทดสอบในเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีหรือผู้สูงอายุที่อายุมากกว่า 55 ปี การใช้วัคซีนในกลุ่มดังกล่าวอาจมีข้อจำกัดอยู่บ้างครับ
2. Altimmune’s intranasal
เป็นวัคซีนชนิดที่ใช้ให้ทางจมูกโดยบริษัท Altimmune รูปแบบเป็นลักษณะใช้ครั้งเดียว ซึ่งคล้ายกับวัคซีนไขหวัดใหญ่จากบริษัทเดียวกันนี้ชื่อ NasoVAX ทั้งนี้วัคซีนดังกล่าวกำลังจะนำมาทดสอบในสัตว์ทดลองครับ
3. INO-4800
วัคซีนนี้พัฒนาโดยบริษัท Inovio ซึ่งล่าสุดเพิ่งได้รับเงินสนับสนุนการพัฒนาวัคซีนเป็นจำนวนเงินกว่า 5,000,000 US dollar จากมูลนิธิ Bill & Melinda Gates มหาเศรษฐีเจ้าของ Microsoft ขณะนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนการศึกษาในสัตว์ทดลอง ทั้งนี้ได้เตรียมวัคซีนสำหรับทดลองในมนุษย์กว่า 3,000 doses ซึ่งจะมีการทดสอบทั้งใน อเมริกา, จีนและเกาหลีใต้ คาดว่าจะใช้อาสาสมัครสุขภาพดีในการทดสอบวัคซีนประมาณ 30 ราย ระยะเวลาที่คาดว่าจะพร้อมทดสอบคือเดือนเมษายน โดยที่ผลของการวิจัยจะได้ข้อสรุปในราวๆเดือนกันยายนที่จะถึงครับ
นอกจากการให้วัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อโรคนั้นๆแล้ว เรายังสามารถที่จะให้ภูมิคุ้มกันเข้าไปในผู้ป่วยโดยตรง วิธีดังกล่าวเรียกว่า " Passive artificially acquired immunity " ซึ่งถูกนำมาทดสอบโดยบริษัทผลิตยายักษ์ใหญ่สัญชาติญี่ปุ่นอย่างทาเคดะ (Takeda) ยาในงานวิจัยดังกล่าวถูกตั้งชื่อว่า " TAK-888 "
TAK-888
ยานี้อาศัยหลักการพื้นฐานเก่าๆสุดคลาสสิคที่ว่า ผู้ป่วยโรคติดเชื้อใดๆก็ตามเมื่อหายจากการป่วยจะมีภูมิคุ้มกันเกิดขึ้น น่าสนใจที่ว่าวิธีดังกล่าวจะใช้รักษาผู้ป่วยที่เกิดจากโรคระบาดชนิดใหม่ๆในโลกได้จริงหรือ ?
ในแง่ของการรักษา บ่อยครั้งการหาทางรักษาในโรคที่ไม่มียาจำเพาะ การใช้วิธีดังกล่าวดูเป็นทางเลือกที่น่าสนใจ โดยจะนำพลาสมา (Plasma) ซึ่งเป็นส่วนที่แยกจากน้ำเลือด (Blood) แล้วนำมาคัดเอาเฉพาะโปรตีนภูมิคุ้มกัน Immunoglobulin เพื่อทำมาฉีดเข้าไปในผู้ป่วยทางการแพทย์เรียกว่า " Plasma-derived therapy " ซึ่งไม่นานมานี้ถูกใช้ในการรักษาผู้ป่วยอีโบลาและไข้หวัดนก ดังนั้นผู้พัฒนายาจึงหวังจะใช้วิธีนี้ในการกระตุ้นภูมิคุ้มกันและลดความรุนแรงในผู้ป่วย COVID-19 กลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงหรือมีอาการรุนแรงมากๆ
Plasma-derived therapy เป็นวิธีที่ Takeda ใช้พัฒนายา TAK-888 : Takeda
ด้วยวิธีดังกล่าวบริษัทจึงจำเป็นต้องใช้ตัวอย่างเลือดของจากผู้ป่วย COVID-19 ที่หายจากโรคแล้วมาใช้พัฒนายา โดยที่ TAK-888 อาจจะไม่จำเป็นต้องเข้าสู่การทดสอบความปลอดภัยในอาสาสมัครสุขภาพดี (Phase I) หรือการทดสอบประสิทธิภาพในกลุ่มตัวอย่างจำนวนหลายพันคน (Phase III) วิธีนี้อาจเป็นทางลัดไปสู่การใช้ยาดังกล่าวเพื่อรักษาในเวลาอันใกล้นี้...
แต่ถึงแม้ว่าวิธีนี้จะรวดเร็วและช่วยให้ร่างกายตอบสนองไวกว่าการให้วัคซีน แต่ก็มีข้อเสียอยู่บ้างเช่น ภูมิคุ้มกันดังกล่าวจะคงอยู่ได้ไม่นาน ร่างกายไม่ได้เกิดการจดจำของการติดเชื้อเหมือนกับการให้วัคซีนเข้าไปกระตุ้นโดยตรงครับ
มาถึงตรงนี้ต้องบอกว่าทั้งยาต้านไวรัสและวัคซีน มีความจำเป็นในการใช้กับโรคระบาดมากครับ แต่ทั้งนี้ระยะเวลาการศึกษาวิจัยต้องถือว่าต้องรอกันพอสมควรเลยครับ เนื่องจากมีขั้นตอนต่างๆมากมายเพื่อให้ได้ยาที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพมากที่สุด เอาไว้โอกาสต่อๆไปผมจะเล่าถึงกระบวนการวิจัยยาที่กว่าจะออกมาให้เราได้ใช้กันโดยละเอียดอีกที ถ้าสนใจก็กดติดตามกันไว้ได้เลยครับ ^^
ขอบคุณผู้อ่านทุกท่านนะครับที่สนใจติดตามกัน
หากใครมีคำถามหรืออยากแชร์เพิ่มเติม comment มาได้เลยนะครับ
อย่าลืมนะครับหากบทความเป็นประโยชน์ฝากกด Like กด Share ให้กำลังใจกันได้เลยครับผม
References
http://hillemanlaboratories.blogspot.com/2015/09/all-you-need-to-know-about-herd-immunity.html#.XmY1Q6gzbIU
https://www.thepharmaletter.com/article/takeda-latest-big-pharma-to-join-pursuit-of-covid-19-treatment
https://www.statnews.com/2020/03/05/how-blood-plasma-from-recovered-patients-could-help-treat-coronavirus/
https://translate.bio/scientific-platform/
http://www.pmlive.com/pharma_news/takeda_begins_development_of_covid-19_plasma_therapy_1328024
https://www.takeda.com/newsroom/newsreleases/2020/takeda-initiates-development-of-a-plasma-derived-therapy-for-covid-19/
http://www.koreabiomed.com/news/articleView.html?idxno=7623
https://xconomy.com/national/2020/02/27/gilead-moderna-candidates-ramp-up-coronavirus-drug-vaccine-testing/
https://www.clinicaltrialsarena.com/analysis/coronavirus-mers-cov-drugs/
https://www.pharmaceutical-technology.com/news/takeda-drug-coronavirus-treatment/
https://www.wsj.com/articles/recruitment-begins-for-first-test-of-experimental-coronavirus-vaccine-11583358054
https://edition.cnn.com/2020/02/25/business/moderna-coronavirus-vaccine/index.html
https://corona.kpwashingtonresearch.org/
http://www.koreabiomed.com/news/articleView.html?idxno=7589
https://www.precisionvaccinations.com/vaccines/ino-4800-dna-coronavirus-vaccine
https://www.takeda.com/what-we-do/areas-of-focus/
9 บันทึก
47
10
18
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
Exclusive....เจาะลึกวัคซีน COVID-19
9
47
10
18
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย