Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
อมร ทองสุก
•
ติดตาม
22 มี.ค. 2020 เวลา 10:29 • ประวัติศาสตร์
ประวัติศิษย์ขงจื่อ
อิ่วยั่ว (有若)
有若
อิ๋วยั่ว
อิ่วยั่ว หรืออิ๋วจื่อ แซ่อิ๋ว นามว่ายั่ว ฉายาจื่อยั่ว ชาวแคว้นหลู่ อายุอ่อนกว่าขงจื่อ ๓๓ ปี
องอาจห้าวหาญ
อิ่วยั่วเป็นคนที่มีจิตใจรักชาติรักแผ่นดินอย่างแรงกล้า ยอมสละชีวิตเพื่อปกป้องศักดิ์ศรีดินแดนมาตุภูมิ ด้วยเลือดแห่งนักสู้ที่องอาจห้าวกล้าอย่างแท้จริง ข้อเท็จจริงนี้สามารถเห็นได้จากหนังสือประวัติศาสตร์จั่วจ้วน (左傳) ที่มีบันทึกข้อความไว้ดังนี้
เมื่อครั้งที่ทัพอู๋ยกทัพเข้าตีเมืองหลู่... ครานั้นเหวยหู่ (微虎) ต้องการซุ่มตีพลับพลาเจ้าแคว้นอู๋ในยามราตรี จึงได้คัดทหารส่วนตัวเจ็ดร้อยนาย ชุมนุมที่ลานกว้างนอกกระโจม ให้ทุกคนกระโดดสามครั้ง สุดท้ายคัดเลือกทแกล้วเพียงสามร้อยนาย ในนั้นมีอิ่วยั่วรวมอยู่ด้วย ครั้นทั้งหมดเดินทางถึงประตูเมือง มีคนเสนอจี้ซุนว่า “การกระทำเช่นนี้ยังมิอาจทำให้เมืองอู๋ระแคะระคายได้ มีแต่จะทำให้ทแกล้วเสียชีวิตไปเปล่าๆ มิสู้ระงับแผนนี้เสียดีกว่า” จี้ซุนเห็นชอบ จึงสั่งระงับแผนซุ่มตีนี้ในที่สุด แต่ครั้นเจ้าแคว้นอู๋ได้ทรงทราบข่าว ก็ยังให้ทรงเกิดความปริวิตกจนต้องย้ายพลับพลาถึงสามครั้งในหนึ่งราตรี
เรื่องนี้เกิดขึ้นเมื่อปีหลู่ไอกงศกที่ 8 ตอนนั้นขงจื่ออายุประมาณ 65 ปี จะเห็นได้ว่า ยามที่ชาติมีภัย อิ่วยั่วก็หาได้ห่วงใยในความสุขส่วนตัวไม่ เพราะการเป็นทหารอาสาลอบจู่โจมกองทัพด้วยจำนวนคนเพียงน้อยนิด หากไม่สำเร็จ แน่นอนว่าอาจจะต้องม้วยมรณากันจนหมดสิ้น ดังนั้นทุกคนที่ทำการอาสา จึงย่อมทำใจพลีกายด้วยความหาญกล้า จิตใจมุ่งแต่ว่าการไปครั้งนี้อาจเป็นวันสุดท้ายที่ไม่มีการหวนกลับ นี่ก็คือจิตใจที่จงรัก และมีเลือดพิทักษ์รักชาติอย่างแท้จริง
ถูกยกให้เป็นตัวแทนขงจื่อ
หลังจากขงจื่อถึงแก่อสัญกรรม ก็ได้สร้างความเศร้าโศกวิปโยคแก่เหล่าลูกศิษย์อย่างสุดที่จะบรรยาย หลายสิบร้อนหนาวแห่งพระคุณอันยิ่งใหญ่ หลายทิวาราตรีที่ร่วมฟันฝ่านานาอุปสรรค คำสอนที่ยังคงกึกก้องในโสตมิคลาย ใบหน้าอันเมตตาที่ยังคงตราตรึงอยู่ในหัวใจ ทำให้เหล่าศิษย์ต่างต้องสะอื้นไห้ทุกคราที่ระลึกถึงครูบาผู้ยิ่งใหญ่ และเพื่อให้ทุกคนพอจะคลายความทุกข์โศกจากจิตที่ถวิลหาอาลัย จึงได้มีจื่อเซี่ย จื่อจัง และจื่ออิ๋ว ร่วมกันเสนอให้ยกอิ่วยั่วขึ้นเป็นตัวแทนขงจื่อ ด้วยเพราะทุกคนต่างเห็นว่าอิ่วยั่วมีส่วนละม้ายคล้ายคลึงกับท่านขงจื่อนั่นเอง
เรื่องราวในส่วนนี้ ได้มีการกล่าวถึงในหนังสือประวัติศาสตร์สื่อจี้ (史记·仲尼弟子列傳) ไว้ดังนี้ว่า
“หลังจากขงจื่อถึงแก่อสัญกรรม เหล่าศิษย์ต่างคิดถึงท่านสุดแสนคณนา ด้วยเพราะอิ่วยั่วมีลักษณะคล้ายขงจื่อ เหล่าศิษย์จึงร่วมกันยกให้เป็นอาจารย์ และปรนนิบัติอิ่วยั่วเหมือนดั่งตอนที่ท่านขงจื่อยังมีชีวิตอยู่”
ทั้งนี้ ในคัมภีร์เมิ่งจื่อ บทเถิงเหวินกง (孟子·滕文公上) ก็ได้มีการบันทึกไว้เช่นกันว่า
“จื่อเซี่ย จื่อจัง จื่ออิ๋วเห็นว่าอิ่วยั่วมีลักษณะคล้ายพระอริยะ จึงต้องการใช้การปรนนิบัติท่านขงจื่อมาทำการปรนนิบัติต่ออิ่วยั่ว”
ด้วยแม้นจะมีกลุ่มศิษย์ที่มีความต้องการยกฐานะให้อิ่วยั่วขึ้นเป็นตัวแทนของท่านขงจื่อก็จริง แต่ที่สุดก็ถูกคัดค้านจากเจิงจื่อ ด้วยเพราะเจิงจื่อเห็นว่า การกระทำเช่นนี้ เป็นสิ่งที่ผิดต่อหลักจริยธรรม ในที่สุด แม้นทุกคนจะคิดถึงท่านขงจื่อมากสักเพียงใด แต่หากเป็นสิ่งที่ไม่ชอบด้วยจริยธรรมแล้ว อย่างไรก็มิควรกระทำเป็นอย่างยิ่ง ดังนั้นความคิดที่ต้องการยกอิ่วยั่วขึ้นเป็นตัวแทนของขงจื่อให้ทุกคนปรนนิบัติ ก็เป็นอันต้องยกเลิกไปในที่สุด
ทัศนะเรื่องการปกครอง
อิ๋วจื่อแม้นไม่ได้ถูกจัดให้อยู่ในสิบอันดับนักปราชญ์ที่มีความชำนาญในแต่ละด้านของสำนักขงจื่อก็จริง แต่ความจริงทัศนะเรื่องการเมืองการปกครองของท่าน ก็นับว่าสามารถเป็นบันทัดฐานให้กับผู้ที่ทำเรื่องการปกครองได้ดีเลยทีเดียว
ครั้งหนึ่ง เจ้าแคว้นหลู่ได้รับสั่งให้อิ่วยั่วเข้าเฝ้าเพื่อถวายความคิดเห็นเรื่องการแก้ไขปัญหาทุพภิกขภัย และคำกราบทูลของอิ่วยั่วในครั้งนั้น ก็นับว่าเป็นหัวใจอันสำคัญในการบริหารการคลัง การอากร และความสงบสุขของแผ่นดินตราบจนปัจจุบันได้เลยทีเดียว ดังมีปรากฏในบทเหยียนเยวียนดังนี้คือ
หลู่ไอกงถามอิ่วยั่วว่า “ครั้นเกิดทุพภิกขภัย การคลังมิพอใช้ พึงทำอย่างไร ?” อิ่วยั่วกราบทูลว่า “ไยไม่ใช้อากรข้าวแบบ ๑๐ ชัก ๑ เล่า ?” หลู่ไอกงตรัสว่า “ขนาด ๑๐ ชัก ๒ แล้ว ข้ายังมิพอเพียงเลย แล้วจะให้ใช้แบบ ๑๐ ชัก ๑ อย่างไรได้ ?” อิ่วยั่วกราบทูลว่า “ครั้นประชาราษฎร์มั่งมี มีหรือที่เจ้าแคว้นจะขาดรอน แต่ครั้นประชาราษฎร์ขาดรอน มีหรือที่เจ้าแคว้นจะมั่งมี ?”
อันการปกครอง ย่อมหนีไม่พ้นเรื่องฐานะการคลัง ฐานะการคลังที่ดี ย่อมทำให้เจ้าแคว้นมีความมั่งมี แต่บรรดากษัตริย์และเหล่าเจ้าขุนมูลนายในอดีต มักจะคิดถึงแต่เรื่องของฐานะการคลัง โดยหาคิดถึงความทุกข์สุขของประชาชนไม่ ดังนั้นกษัตริย์จึงมักจะเรียกอากรมากมายเพื่อบำรุงบำเรอความสุขส่วนพระองค์ สุดท้ายจึงกลายเป็นการรีดนาทาเร้น เคี่ยวเข็ญประชาชนจนอยู่ไม่ได้ ครั้นประชาชนไม่ยอมจ่าย ก็ทำการกุมตัวลงอาญา ในที่สุด แทนที่จะเป็นมหาราชที่ผู้คนเคารพรัก ก็จะกลายเป็นทรราชที่ผู้คนต่างชิงชัง ทั้งหมดนี้ก็เพราะผู้ปกครองไม่ได้เห็นประชาชนเป็นเหมือนเช่นบุตรหลานที่ต้องให้ความรักความเมตตา หากแต่เห็นประชาชนเป็นเพียงผู้อยู่ใต้อำนาจที่จะต้องปฏิบัติตามคำบัญชานั่นเอง
ในส่วนนี้ หลู่ไอกงที่ไม่ค่อยจะให้ความใส่ใจต่อทุกข์สุขของประชาชนสักเท่าไหร่ ได้ทรงขอความเห็นจากอิ่วยั่วว่าควรจะทำอย่างไรในสถานการณ์ที่บ้านเมืองกำลังประสบกับปัญหาทุพภิกขภัย แลสิ่งที่อิ่วยั่วทูลตอบว่า “ครั้นประชาราษฎร์มั่งมี มีหรือที่เจ้าแคว้นจะขาดรอน แต่ครั้นประชาราษฎร์ขาดรอน มีหรือที่เจ้าแคว้นจะมั่งมี ?” ก็เป็นสิ่งที่เหล่าผู้ปกครองทั้งหลายพึงคิดและตระหนักเป็นยิ่งนัก
ทัศนะเรื่องเมตตาธรรม
ขงจื่อตั้งเป้าหมายของคำว่าเมตตาธรรมสูงมากเป็นที่สุด ดังนั้นท่านจึงไม่ค่อยได้กล่าวชมใครว่ามีเมตตาธรรมสักเท่าไรนัก และผู้ที่ได้รับการชมเชยจากท่านว่าเป็นผู้ทรงความเมตตาธรรม แน่นอนว่าจะต้องมีคุณธรรมที่สูงส่งอย่างไม่ธรรมดาเลยจริงๆ แล้วนิยามของคำว่าเมตตาธรรมเป็นเช่นไรเล่า เราจะสามารถเห็นได้ในคัมภัร์หลุนอวี่ดังต่อไปนี้
จื่อก้งถามขงจื่อว่า “หากสามารถเอื้ออารีต่อมวลประชา อีกยังสามารถบำบัดทุกข์บำรุงสุขต่อมหาชน เช่นนี้เป็นไฉน ? ถือว่าเป็นเมตตาธรรมหรือไม่ ?” ขงจื่อตอบว่า “จะมิเป็นเพียงเมตตาธรรมเท่านั้น หากจักต้องเป็นอริยเจ้าอย่างแน่แท้ เกรงแต่อริยกษัตริย์เหยาแลซุ่นก็ยังต้องทรงกลุ้มพระทัยที่มิอาจทำเช่นนี้ได้ ! เพราะอันเมตตาชนนั้นไซร้ หากประสงค์ให้ตนได้เธียรภาพ ก็จักต้องให้ผู้อื่นได้เธียรภาพ หากประสงค์ให้ตนได้จำเริญ ก็จักต้องให้ผู้อื่นได้จำเริญ ด้วยการเผื่อแผ่สิ่งที่ตนหวังให้แก่ผู้อื่นฉะนี้ จึงถือว่าเป็นวิถีแห่งเมตตาธรรมแล”
แม้นบุคคลที่ท่านชมเชยว่ามีเมตตาธรรมนั้นก็มีน้อยเสียเหลือเกิน แต่ก็ยังมีอยู่บุคคลหนึ่ง ที่ท่านรักและเอ็นดูมากเป็นพิเศษ นั่นก็คือศิษย์เอก เหยียนหุย นั่นเอง ท่านเคยกล่าวชมเหยียนหุยในเรื่องของเมตตาธรรมดังนี้ว่า
ขงจื่อกล่าวว่า “อันจิตใจของเหยียนหุย สามเดือนจะมิขัดต่อเมตตาธรรม ส่วนนอกนั้น ก็ทำได้เพียงวันหรือเดือนเท่านั้น”
แล้วเหยียนหุยทำสิ่งใดบ้าง จึงทำให้ขงจื่อถึงกับชื่นชมว่าสามารถรักษาเมตตาธรรมได้นานถึงสามเดือน นั่นก็คือ “ไม่ผิดซ้ำสอง ไม่พาลอารมณ์”
ในเรื่องเมตตาธรรม อิ่วยั่วก็เคยได้แสดงทัศนะที่น่าสนใจอยู่ไม่น้อยดังนี้
อิ๋วจื่อกล่าวว่า “สำหรับผู้ที่มีกตัญญุตาธรรมและภราดรธรรมแล้วชอบแข็งข้อต่อผู้ใหญ่นั้น น้อยนักแล สำหรับผู้ที่มิแข็งข้อต่อผู้ใหญ่แล้วชอบก่อความวุ่นวายนั้น มิเคยปรากฏมาก่อนแล อันวิญญูชนจะยึดมั่นที่รากฐาน ครั้นรากฐานตั้งมั่นแล้วธรรมะจึงจักบังเกิด ส่วนกตัญญุตาธรรมและภราดรธรรมนั่นไซร้ แท้ก็คือรากฐานแห่งเมตตาธรรมแล (บทเสวียเอ๋อตอนที่ ๒)”
ดังนั้น อันว่าเมตตาธรรม อย่างน้อยที่สุดก็ต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานแห่งความกตัญญูเป็นสำคัญ โบราณกล่าวว่า “ความกตัญญูเป็นรากฐานแห่งกุศลทั้งหลาย” ขอเพียงคนเรามีจิตกตัญญูกตเวที ก็จะเปรียบเหมือนเช่นมีแผ่นดินที่อุดม ครั้นจะปลูกเมล็ดคุณธรรมใดๆ ก็ย่อมจะเจริญงอกงามได้ทั้งสิ้นแล
ทัศนะเรื่องจริยธรรม
คำว่าจริยธรรมจะมีความหมายว่า “ธรรมอันควรประพฤติปฏิบัติ” ในที่นี้จะใช้เป็นศัพท์แปลของคำว่าหลี่ (禮) เหตุเพราะหลี่ในภาษาจีนนั้นจะครอบคลุมความหมายอยู่หลายด้านด้วยกัน หนึ่งคือจารีตประเพณี สองคือศีลธรรมความดี สามคือจริยามารยาท สี่คือหลักเกณฑ์แห่งสกล ในส่วนความหมายเชิงจารีตประเพณีและพิธีกรรมนั้น เราจะสามารถเห็นได้จากการถามคำถามของศิษย์ขงจื่อที่มีนามว่าหลินฟั่ง
ในครั้งนั้นหลินฟั่งได้ถามเรื่องแก่นสาระแห่งจริยธรรม (หลี่) ขงจื่อตอบว่า “ถามได้ดีมาก ! อันว่าจริยธรรม หากต้องให้ฟุ้งเฟ้อสิ้นเปลือง ขอเลือกความประหยัดจะดีกว่า อันว่าพิธีศพ หากต้องให้บริบูรณ์ตามจารีต ขอเลือกความโศกาจะเหมาะกว่า”
ข้อนี้มีความชัดเจนว่าจริยธรรมหรือหลี่ (禮) มีความหมายในแง่ของจารีตประเพณี ท่านเห็นว่าการเจริญในประเพณีโบราณ หากจะให้มีความสมบูรณ์ตามธรรมเนียมและต้องสิ้นเปลืองแล้วล่ะก็ ขงจื่อตอบว่าขอเลือกความประหยัดดีกว่า หรืออย่างเช่นการประกอบพิธีศพ ถ้าจะให้สมบูรณ์ตามธรรมเนียมที่ทำสืบกันมา ขงจื่อเห็นว่าขอเลือกแบบไม่จำเป็นต้องสมบูรณ์ตามจารีต แต่ให้เป็นการแสดงออกซึ่งความกตัญญูจากใจจริงจะดีกว่า ดังนั้นจึงเห็นว่า แม้นหลี่จะกินความหมายในเชิงจารีตประเพณี แต่แท้ที่จริงก็ครอบคลุมถึงนัยยะเชิงคุณธรรมภายในจิตใจเป็นสำคัญ ดังนั้นหากจะกล่าวให้เหมาะสมยิ่งขึ้น หลี่หรือจริยธรรมก็คือคุณธรรมที่เป็นประธานอยู่ภายในจิตใจ แล้วแสดงออกเป็นมารยาทอันงดงามที่ภายนอก โดยมีระเบียบที่เป็นแบบแผนมาแต่โบราณที่เรียกว่าจารีตประเพณีเป็นแนวทาง
ในส่วนความหมายของจริยธรรมหรือหลี่ (禮) ที่มีนัยหมายถึงเรื่องศีลธรรมนั้น ความจริงก็สามารถเห็นได้จากคำสอนของขงจื่อตอนหนึ่งที่ท่านได้กล่าวว่า “ปกครองด้วยรัฐศาสตร์ เคร่งครัดด้วยราชทัณฑ์ ทวยราษฎร์ก็จักหลีกหนีและไม่รู้ละอาย หากปกครองด้วยคุณธรรม และเคร่งครัดด้วยจริยธรรม ไพร่ฟ้าก็จักรู้ละอายและปรับปรุงตน”
หรือครั้งหนึ่งที่ขงจื่อได้กล่าวว่า “นบนอบโดยไร้จริยธรรม ก็จะเหนื่อยเปล่า รอบคอบโดยไร้จริยธรรม ก็จะตื่นตระหนก อาจหาญโดยไร้จริยธรรม ก็จะมุทะลุ เที่ยงตรงโดยไร้จริยธรรม ก็จะบุ่มบ่าม หากวิญญูชนเทิดทูนบุพการี ประชาราษฎร์ก็จะมุ่งมั่นในเมตตาธรรม หากไม่ทอดทิ้งสหายเก่า มวลชนก็จะแน่นแฟ้นมิจืดจาง”
จากคำสอนของขงจื่อข้างต้น จะเห็นได้ว่า หากนำความหมายเฉพาะนัยยะเชิงจารีตประเพณีไปขยายความคำสอนสองบทนี้แล้ว ก็จะเห็นว่ายังมิอาจอธิบายบริบทได้อย่างสมบูรณ์ หรือกระทั่งอาจจะทำให้เข้าใจขงจื่อผิดว่าเป็นคนคร่ำครึเคร่งจารีตไปเลยก็ได้ แต่ครั้นนำความหมายเชิงศีลธรรมไปอธิบายขยายความแล้ว เราก็จะสามารถเห็นถึงบริบทที่ชัดเจนได้ในทันที
ในเรื่องของจริยธรรมนี้ อิ่วยั่วก็เคยแสดงทัศนะไว้เช่นนี้ว่า
อิ๋วจื่อกล่าวว่า “อันสารัตถประโยชน์แห่งจริยธรรมนั้น จะถือหลักแห่งความสมานฉันท์เป็นสำคัญ สำหรับมรรคาแห่งบูรพกษัตริย์ ไม่ว่าจะเป็นธุระน้อยใหญ่ ก็ล้วนยึดถือตามหลักนี้ทั้งสิ้น แต่สำหรับบางกรณีที่มิอาจลุล่วงไปด้วยดี ก็ด้วยเพราะสักแต่ใช้หลักแห่งการสมานฉันท์เสียอย่างเดียว แต่หากมิรู้ปรับใช้ด้วยจริยธรรมแล้ว ก็มิควรเช่นกันแล (บทเสวียเอ๋อตอนที่ ๑๒)”
จริยธรรมตั้งอยู่บนพื้นฐานของคำว่าสมานฉันท์ หมายความว่า จะทำสิ่งใด ให้ใช้หลักของคำว่า “สิ่งที่ตนไม่ปรารถนา อย่ากระทำกับผู้อื่น” หรือก็คือ “เอาใจเขามาใส่ใจเรา” นั่นเอง แต่หากสักแต่สมานเสียอย่างเดียวจนสุดโต่ง สุดท้ายก็อาจจะกลายเป็นความเกรงใจอย่างไม่ลืมหูลืมตา หรืออาจจะกลายเป็นการลูบหน้าปะจมูก จนลืมหลักการสำคัญแห่งจริยธรรมไป ดังนั้นแม้นจะใช้หลักแห่งการสมานก็จริง แต่ที่สุดก็จงอย่าลืมหัวใจของจริยธรรมที่แท้จริงนั่นเอง
การเป็นบุคคลที่น่าเคารพ
ไม่ว่าใครต่างก็หวังให้ตนได้เป็นบุคคลที่ผู้คนให้ความเคารพรักกันทั้งสิ้น แต่อะไรคือปัจจัยที่จะทำให้ผู้คนให้ความเคารพรักเล่า?
อิ๋วจื่อกล่าวว่า “สัจจะที่ชอบด้วยมโนธรรม คำมั่นสัญญาจึงจะสามารถปฏิบัติให้เป็นจริง มารยาทที่ชอบด้วยจริยธรรม จึงจะทำให้หลีกพ้นจากความอัปยศ อีกมิได้พลาดจากการสมาคมกับบุคคลที่ควรคบหา ฉะนี้ก็จะเป็นที่เคารพยกย่องแล (บทเสวียเอ๋อตอนที่ ๑๓)”
อิ๋วจื่อกล่าวว่า สามปัจจัยที่จะทำให้ผู้คนให้ความเคารพรักคือ สัจจะที่ดีงาม มารยาทที่งดงาม และการคบคนที่ควรคบหา เช่นนี้จึงจะเป็นที่เคารพรักได้
ในด้านสัจจะ แม้นเราจะเคยได้ยินคำว่า “เสียชีพจงอย่าเสียสัตย์” ก็จริง แต่หากเป็นสัจจะที่ไม่ชอบด้วยคุณธรรมแล้ว สุดท้ายย่อมจะประสบกับความอัปยศอดสูเป็นแน่แท้ ดังจะเห็นได้ในตัวอย่างของอู๋ฉี่ดังต่อไปนี้
ในยุคจั้นกว๋อ มีแม่ทัพผู้เก่งกาจท่านหนึ่งนามว่าอู๋ฉี่ เป็นยอดนายทัพผู้เกรียงไกร รบคราใดย่อมประสบกับชัยชนะเสมอไป แต่เมื่อครั้งเยาว์วัย กว่าที่อู๋ฉี่จะได้เป็นยอดนักรบพิชัยสงครามผู้เก่งกาจนั้น ก็เป็นเพียงวัยรุ่นที่ไม่เอาการเอางาน สนใจแต่เตร็ดเตร่ท่องเที่ยวไปวันๆ คนหนึ่ง วันหนึ่ง บิดาเห็นความไม่เอาการเอางานของบุตร ก็อดที่จะตำหนิในนิสัยไม่สนใจใฝ่เรียนเสียไม่ได้ แต่อู๋ฉี่ไม่เพียงแต่จะไม่สำนึกตรึกแก้ไขเท่านั้น หากแต่ยังโกรธแค้นผู้เป็นบิดา คุกเข่าสาบาน พร้อมกันกัดแขนของตนเองเพื่อเป็นสัจจะพยานว่า “นับแต่นี้ต่อไปภายหน้า หากลูกไม่ประสบความสำเร็จจนเป็นที่พอใจ ก็จะไม่ขอย่างกรายกลับมาให้เห็นหน้าอีกต่อไป” ครั้นกล่าวจบก็หนีออกจากบ้านไปอย่างเจ็บแค้น
ต่อมาอู๋ฉี่ได้กราบเจิงจื่อเป็นอาจารย์ ครั้นทุกคนเล่าเรียนวิชาจนถึงวันตรุษจีนแล้ว ตามธรรมเนียมลูกศิษย์ทุกคนจะต้องกราบลาอาจารย์กลับบ้านเพื่อกราบคารวะบุพการี แต่อู๋ฉี่ก็หาได้กลับบ้านตามศิษย์พี่น้องท่านอื่นไม่ ยังให้เจิงจื่อผู้เป็นอาจารย์รู้สึกฉงนใจยิ่งนัก จึงถามอู๋ฉี่ซึ่งเหตุผล อู๋ฉี่จึงบอกเล่าความเป็นมาให้ฟัง ครั้นเจิงจื่อฟังแล้วก็ให้ข้อคิดเพื่อให้ทบทวนเสียใหม่
ต่อมาวันหนึ่ง บิดาอู๋ฉี่ได้ถึงแก่กรรม ครั้นเจิงจื่อทราบก็เรียกหาอู๋ฉี่ให้รีบกลับบ้านเพื่อทำหน้าที่บุตรในวาระสุดท้าย แต่อู๋ฉี่ก็อ้างสัจจะว่าตนยังไม่ประสบความสำเร็จตามที่ตั้งใจ ไม่ว่าอย่างไรก็จะไม่กลับไปเป็นอันขาด ครั้นเจิงจื่อเห็นเช่นนั้นก็ไม่พอใจยิ่ง ด้วยเพราะผู้เป็นบุตร ไม่เพียงแต่จะไม่สำนึกในพระคุณอันยิ่งใหญ่ของบิดาแล้ว หากแต่ยังจะถือทิฐิอ้างสัจจะที่ไร้สาระ เช่นนี้หาควรไม่ ดังนั้นจึงขับไล่อู๋ฉี่ออกจากสำนักในทันที
จึงเห็นได้ว่า สัจจะเป็นคุณธรรมที่ดี แต่หากสัจจะนี้เป็นสัจจะที่ไม่ชอบด้วยคุณธรรม การถืออ้างในสัจจะเช่นนี้ ก็ยิ่งมีแต่บั่นทอนในคุณธรรมใหญ่ที่ควรเป็น
นอกจากนี้ อิ่วยั่วก็ยังให้คติในเรื่องของมารยาทด้วยว่า อันว่ามารยาท แม้นจะเป็นเรื่องที่ดี แต่หากเป็นมารยาทที่เกินงาม เป็นมารยาทที่ไม่ชอบด้วยระเบียบแห่งจริยธรรมแล้ว ก็หาใช่สิ่งที่ถูกต้องไม่ และหากยังแข็งขืนที่จะปฏิบัติกันต่อไป ที่สุดก็จะนำมาซึ่งความอัปยศอดสูนั่นเอง
สุดท้าย อิ่วยั่วก็ยังคงให้ความสำคัญกับการคบสหาย เพราะเห็นว่า สหายมีส่วนสำคัญต่อการกำหนดการบำเพ็ญคุณธรรมว่าจะจำเริญหรือไม่จำเริญอย่างดีที่สุด ตามโบราณที่กล่าวว่า “คบคนพาลมาไปหาผิด คบบัณฑิต พาไปหาผล” เนื่องจากสหายมีทั้งส่วนที่ดีและไม่ดี สหายส่วนดีก็จะพาในทางเจริญ หากเป็นสหายส่วนร้ายแล้ว แน่นอนว่าย่อมจะนำไปสู่ความหายนะเป็นแน่แท้ ดังนั้นขงจื่อจึงให้สติว่า
“มิตรที่ให้คุณมีอยู่ ๓ ส่วนมิตรที่ให้โทษก็มีอยู่ ๓ อันมิตรตรง มิตรซื่อสัตย์ มิตรพหูสูตนี้ คือมิตรทางคุณแล ส่วนมิตรจอมปลอม มิตรประจบ มิตรกะล่อนนี้ คือมิตรทางโทษแล”
เนื่องจากมิตรสหายมีความสำคัญถึงเพียงนี้ เราผู้มีความมุ่งมั่นใฝ่อริยะทั้งหลาย จะไม่รอบคอบในการคบหามิตรสหายได้ฤๅ?
3 บันทึก
4
3
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
ประวัติศิษย์ขงจื่อ (ฉบับปรับปรุง)
3
4
3
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย