Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
อมร ทองสุก
•
ติดตาม
10 มี.ค. 2020 เวลา 06:31 • ปรัชญา
ประวัติศิษย์ขงจื่อ
จื่อเซี่ย (子夏)
ปู่ซัง ฉายาจื่อเซี่ย อายุอ่อนกว่าขงจื่อ ๔๔ ปี มีความเป็นเลิศในด้านวรรณกรรม ดังนั้นจึงถูกจัดให้เป็นหนึ่งในสิบปราชญ์แห่งสำนักขงจื่อในหมวดวรรณกรรม
ขงจื่อชื่นชมจื่อเซี่ย
ขงจื่อจะมีการสั่งสมความรู้จากหลายทาง ทั้งจากตำรับตำราที่อ่าน ทั้งจากบุคคลที่มีชื่อเสียงและมีความชำนาญในแต่ละด้าน ในด้านตำราที่ท่านอ่านก็มีอยู่หลากหลาย แต่จะมีคัมภีร์อยู่เล่มหนึ่งที่ขงจื่อจะมีความชื่นชอบเป็นพิเศษ และมักพกติดตัวเพื่ออ่านทบทวนอยู่เสมอ นั่นก็คือคัมภีร์ซือจิง
คัมภีร์ซือจิง เป็นคัมภีร์ที่ขงจื่อหยิบใช้เป็นตำราอบรมสั่งสอนลูกศิษย์ เป็นกวีนิพนธ์ที่เก่าแก่ที่สุดของแผ่นดินจีน เริ่มมีการรวบรวมมาตั้งแต่ราชวงศ์โจวตะวันตกจนถึงยุคกลางของยุคชุนชิว มีทั้งสิ้น 305 บท ร่ำลือกันว่าโจวกงเป็นผู้ประพันธ์ ในสำนักขงจื่อยกย่องให้เป็นคัมภีร์ที่ทรงคุณค่า และมีเนื้อหากระชับที่สามารถยกระดับปัญญาได้อย่างวิเศษ
วันหนึ่ง จื่อเซี่ยได้ยกประโยคในคัมภีร์ซือจิงขึ้นถามขงจื่อว่า “ยิ้มละไมแล ดวงนัยน์พริ้งพรายแล แต่งองค์ด้วยสีสดบนผิวนวลแล ประโยคนี้หมายความว่ากระไรฤๅ ?”
ครั้นขงจื่อได้ยินก็อธิบายว่า “หมายความว่า การระบายสี จะต้องละเลงพื้นด้วยสีขาว จากนั้นเติมแต่งด้วยสีสด”
เพียงจื่อเซี่ยได้ฟังคำอธิบาย ก็เหมือนได้มีปัญญาที่ตื่นแจ้งปานนั้น จึงถามขงจื่อขึ้นว่า “ข้อความนี้ หมายความว่า จริยธรรมต้องตามมาแต่หลังอย่างนั้นฤๅ?”
ปกติ ขงจื่อมักจะกล่าวกับลูกศิษย์ว่า “การเรียนรู้จะต้องฟังหนึ่งรู้สาม” หมายความว่าหลังจากได้ฟังอะไรมา จะต้องรู้จักครุ่นคิดทบทวนความรู้ให้ละเอียด เช่นนี้จึงจะทำให้เกิดความเข้าใจในความรู้ได้อย่างแตกฉาน จากตัวอย่างของจื่อเซี่ยนี้จะเห็นได้ว่า ประโยคในคัมภีร์ซือจิงไม่ได้กล่าวถึงคำว่า “จริยธรรม” แต่อย่างใด แต่จื่อเซี่ยสามารถเชื่อมโยงความรู้จากกลบทในคัมภีร์ซือจิง และเข้าใจในความรู้ใหม่ๆ ขึ้นมาอีก นี่ก็คือตัวอย่างของการรู้จักคิดใคร่ครวญในความรู้ที่ได้เรียนมา จนทำให้สามารถแตกแขนงความรู้ออกไปได้อีกอย่างมากมายนั่นเอง
หลังจากจื่อเซี่ยตั้งข้อสังเกตจากสิ่งที่ท่านขงจื่อได้อธิบายแล้ว เพียงขงจื่อได้ยิน ไม่เพียงแต่จะไม่โกรธตามประสาของคนมีอัตตาเช่นปราชญ์กัมมะลออย่างที่เราได้เห็นกันในทุกวันนี้เท่านั้น หากแต่ยังกล่าวขึ้นด้วยความดีใจว่า “ผู้ประเทืองความคิดแก่ข้าได้นั้น คือจื่อเซี่ยนี้แล นับแต่นี้ข้าคงสามารถร่วมวิจารณ์ซือจิงกับเจ้าได้แล้วแล”
ขงจื่อเป็นบรมครูที่มากด้วยความรู้ความสามารถ เหตุที่ท่านสามารถมีความรู้ความสามารถได้ถึงเพียงนี้ นั่นก็เพราะท่านไม่เคยหยุดที่จะเรียนรู้ แม้นท่านจะเป็นอาจารย์ผู้สอนและมีลูกศิษย์ที่นับหน้าถือตาอย่างมากมายแล้วก็ตาม ในชีวิตแห่งความเป็นจริง ท่านยังให้ความสำคัญกับการได้ความรู้จากการสอนให้กับลูกศิษย์อีกด้วย ดังนั้น ในขณะที่ท่านทำการอบรมสั่งสอนลูกศิษย์ หากลูกศิษย์สามารถตั้งคำถามจนทำให้ท่านได้เปิดมุมมองความรู้ใหม่ๆ ท่านก็จะมีความปีตียินดีจนกล่าวชื่นชมลูกศิษย์ด้วยความดีใจ ดังนั้นในครั้งนี้ ครั้นได้ยินจื่อเซี่ยตั้งข้อสังเกตเรื่องจริยธรรมที่เกิดจากกลบทในคัมภีร์ซือจิงเช่นนี้ จึงอุทานด้วยความดีใจว่า “ผู้ที่ประเทืองความคิดแก่ข้าได้นั้น คือจื่อเซี่ยนี้แล”
เหตุที่ขงจื่อกล่าวอุทานขึ้นด้วยความดีใจเช่นนี้ นั่นก็เพราะประโยคที่จื่อเซี่ยถามนั้น หมายถึงว่า “จริยธรรมต้องอยู่บนพื้นฐานแห่งความเคารพและความบริสุทธิ์ทางจิตใจ เปรียบเช่นศิลปะแห่งการระบายสีที่จะต้องลงพื้นด้วยสีขาว และแต่งองค์ด้วยสีสัน ภาพนี้จึงจะเป็นภาพศิลปะที่งดงามได้”
คัมภีร์ซือจิงเป็นคัมภีร์ที่ขงจื่อให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เป็นคัมภีร์ที่ได้รับการเชิดชูอีกครั้งในสำนักขงจื่อ หลังจากที่ไม่ค่อยมีใครใส่ใจมาช้านาน เหตุเพราะขงจื่อเห็นถึงสาระสำคัญที่ผู้คนทั่วไปมองข้าม ดังนั้นในบั้นปลายแห่งชีวิต ขงจื่อจึงใช้เวลามากมายในการสังคายนาคัมภีร์ซือจิง เพื่อให้เป็นฉบับที่มีความถูกต้องที่สุดในการตกทอดสู่อนุชนรุ่นหลัง และตามที่มีการบันทึกในคัมภีร์หลุนอวี่ทั้งหมด ผู้ที่ขงจื่อกล่าวอุทานด้วยความดีใจว่า “ต่อแต่นี้ อาจารย์คงสามารถร่วมวิจารณ์คัมภีร์ซือจิงกับเจ้าได้แล้วแล” จะมีอยู่เพียงสองคนเท่านั้น คนหนึ่งคือจื่อก้ง และอีกคนหนึ่งก็คือจื่อเซี่ยนั่นเอง
จื่อเซี่ยในมุมมองของขงจื่อ
นอกจากเราจะทราบตัวตนของจื่อเซี่ยผ่านการบอกเล่าว่า เป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถในด้านวรรณกรรม จนได้ถูกจัดให้เป็นหนึ่งในสิบปราชญ์แห่งสำนักขงจื่อในหมวดวรรณกรรมแล้ว ตัวตนของจื่อเซี่ยมีบุคลิกลักษณะอย่างไร? มีอุปนิสัยใจคออย่างไร? เราสามารถรู้ได้จากข้อความในคัมภีร์หลุนอวี่ดังนี้
จื่อก้งถามว่า “ระหว่างจื่อจังกับจื่อเซี่ย ใครปราดเปรื่องกว่ากัน ?” ขงจื่อตอบว่า “จื่อจังนั้นมากเกิน ส่วนจื่อเซี่ยนั้นก็หย่อนเกิน” จื่อก้งถามว่า “ถ้าอย่างนั้น ก็ต้องนับว่าจื่อจังเหนือกว่าสิ ?” ขงจื่อกล่าวว่า “มากเกินหรือหย่อนเกินล้วนไม่ดีทั้งสิ้น”
ในส่วนนี้ แม้นจะมีการบอกกล่าวจนเหมือนพอจะทำให้รู้ถึงอุปนิสัยของจื่อเซี่ยอยู่บ้างก็จริง แต่ก็ยังไม่สามารถสรุปอย่างเป็นรูปธรรมได้ นอกจากแค่คำว่าจื่อจางมากเกิน ส่วนจื่อเซี่ยนั้นหย่อนเกินเท่านั้น
แม้นจะไม่ได้บอกเล่าอุปนิสัยของทั้งสองอย่างเป็นรูปธรรม แต่ในส่วนของจื่อจาง รู้แต่เพียงว่าเป็นคนที่กล้าหาญ ไม่คิดเล็กคิดน้อย มีความรู้ความสามารถที่เก่งกาจ ในด้านของจื่อเซี่ยนั้น มีความสุขุมเรียบร้อย ทำอะไรจะมีความระมัดระวัง แลนี่กระมัง ที่เป็นเหตุที่ทำให้ขงจื่อเห็นว่า จื่อจางนั้นมากเกิน ส่วนจื่อเซี่ยนั้นหย่อนเกิน โดยจื่อจางค่อนไปทางบู๊ ส่วนจื่อเซี่ยนั้นก็มากไปทางบุ๋น แต่ไม่ว่าจะเป็นบู๊หรือบุ๋น หากหนักไปในทางใดทางหนึ่งแล้ว ขงจื่อเห็นว่าล้วนไม่ใช่ทางสายกลางทั้งสิ้น
การคบเพื่อน
“คบคนพาลพาไปหาผิด คบบัณฑิตพาไปหาผล” จึงรู้ว่า การคบเพื่อนนั้นมีความสำคัญมากเป็นไฉน ด้วยเหตุนี้ ขงจื่อจึงให้ความสำคัญกับเรื่องของการคบเพื่อนมากเป็นที่สุด เพราะการมีเพื่อนที่ดี เพื่อนก็จะคอยให้การทัดทานในยามที่เราหลงทาง แต่หากมีเพื่อนที่ไม่ดี เพื่อนนี้ก็จะคอยบั่นทอนพาเราไปสู่หายนะ ในคัมภีร์กตัญญู บทที่ ๑๕ ขงจื่อก็ได้ให้โอวาทในเรื่องของการมีเพื่อนที่คอยให้สติไว้เช่นนี้ว่า
“ในอดีต พระมหากษัตริย์จะทรงมีขุนนางที่คอยถวายฎีกาทัดทานอยู่ ๗ ท่าน หากแม้นจะทรงดำเนินพระราชกรณียกิจอันไร้ธรรมครรลองอยู่บ้าง แต่ก็หาได้ถึงกับทำให้สูญเสียราชอาณาจักรไม่
“สำหรับเจ้านคร จะมีขุนนางคอยถวายคำทัดทานอยู่ ๕ ท่าน หากแม้นจะทรงดำเนินการปกครองอันไร้ธรรมครรลองไปบ้าง แต่ก็หาได้ถึงกับทำให้สูญเสียนครรัฐไม่
“สำหรับอำมาตย์มนตรีทั้งหลาย จะมีขุนนางคอยให้คำทัดทานอยู่ ๓ ท่าน และหากแม้นจะดำเนินกิจอันไร้ธรรมครรลองไปบ้าง แต่ก็หาได้ถึงกับทำให้สูญเสียชาติตระกูลไม่
“สำหรับบัณฑิตจะมีมิตรสหายคอยให้การทัดทาน ดังนั้นจึงไม่ถึงกับทำให้เสื่อมเสียเกียรติยศชื่อเสียง
“สำหรับบิดาจะมีบุตรคอยให้การทัดทาน ดังนั้นจึงไม่ถึงกับได้ชื่อว่าไร้มโนธรรม
จึงทราบว่า การมีเพื่อนดี มีแต่จะยิ่งทำให้คุณธรรมมีความเจริญก้าวหน้า ในเรื่องการคบเพื่อนของจื่อเซี่ยนั้น ในขงจื่อเจียอวี่ (孔子家語) ได้มีการบันทึกคำพูดของขงจื่อไว้ดังนี้
ขงจื่อกล่าวว่า “หลังจากข้าตาย จื่อเซี่ยจะยิ่งก้าวหน้า จื่อก้งจะยิ่งถอยหลัง”
เจิงจื่อถามขึ้นว่า “ไฉนจึงเป็นเช่นนั้นฤๅ?”
ขงจื่อกล่าวว่า “จื่อเซี่ยชอบคบหาด้วยปราชญ์ที่เหนือกว่า ส่วนจื่อก้งจะชอบคบหาด้วยคนที่ด้อยกว่า”
ครั้นขงจื่อกล่าวจบ ก็เสริมขึ้นอีกว่า “ไม่รู้ซึ่งบุตร ก็จงดูที่บิดา ไม่รู้ซึ่งอุปนิสัย ก็จงดูสหายที่เขาคบหา ไม่รู้ซึ่งกษัตริย์ ก็จงดูคนที่ทรงใช้งาน ไม่รู้ซึ่งธรณี ก็จงดูที่ต้นไม้ใบหญ้าที่งอกเงย
“จึงกล่าวว่า คบหาด้วยคนดี จะประหนึ่งอยู่ในห้องดอกไม้หอม นานวันเข้าจะไม่รู้ซึ่งความหอม ด้วยเพราะได้กลมกลืนเข้าด้วยกันนั่นแล คบหาด้วยคนพาล จะประหนึ่งอยู่ในร้านขายปลา นานวันเข้าจะไม่รู้ซึ่งความคาว ด้วยเพราะได้กลมกลืนเข้าด้วยกันนั่นแล ที่บรรจุชาดย่อมเป็นสีแดง ที่บรรจุหมึกย่อมเป็นสีดำ ดังนั้นวิญญูชนจึงต้องรอบคอบคนที่คบหาแล”
หากดูจากคัมภีร์หลุนอวี่ ซึ่งเป็นคัมภีร์ที่บันทึกบทสนทนาของขงจื่อและเหล่าลูกศิษย์แล้ว ก็จะพบว่าจื่อเซี่ยก็เป็นคนที่มีน้ำใจ และคอยให้กำลังใจกับศิษย์พี่น้องในยามที่มีเรื่องทุกข์ใจอยู่เหมือนกัน ยกตัวอย่างเช่นเรื่องที่ซือหม่าหนิวกำลังกลุ้มใจเรื่องพี่น้องที่ก่อกรรมทำเข็ญ เรื่องนี้ทำให้ซือหม่าหนิวมีความทุกข์ใจจนถึงกับอุทานขึ้นว่า “ทุกคนต่างมีพี่น้อง หากจะมีเพียงข้าเท่านั้นที่ไม่มี” เมื่อจื่อเซี่ยได้ยินเช่นนั้นก็ปลอบใจว่า “‘จะอยู่หรือตายขึ้นอยู่กับชะตาลิขิต จะรวยหรือจนขึ้นอยู่กับฟ้าประสิทธิ์’ ดังนั้นวิญญูชนจึงมีแต่ต้องรอบคอบในทุกสิ่ง มีแต่ต้องนบนอบต่อผู้คนทั่วทุกสารทิศ หากทำเช่นนี้ได้ ทั่วสี่คาบสมุทรก็ล้วนเป็นพี่น้อง และเมื่อเป็นเช่นนี้ แล้ววิญญูชนจะกลุ้มเรื่องการไร้พี่น้องไปไย?”
นอกจากนี้ ยามที่ศิษย์พี่น้องมีเรื่องอะไรที่ไม่เข้าใจ จื่อเซี่ยก็จะเข้าช่วยคลายกังขาแก้สงสัย ยกตัวอย่างเช่นฝันฉือได้ถามขงจื่อเรื่องเมตตาธรรม ขงจื่อกล่าวว่า “คือการรักคน” ฝันฉือถามขงจื่อเรื่องปัญญาธรรม ขงจื่อกล่าวว่า “คือการรู้คน” หลังจากฝันฉือฟังแล้วก็ยังไม่เข้าใจ ขงจื่อจึงอธิบายต่อไปว่า “ยกคนดีปราบคนพาล คนพาลก็จะดี”
แม้นขงจื่อจะอธิบายอีกครั้งแล้ว แต่ฝันฉือก็ยังมิอาจเข้าได้จอย่างลึกซึ้ง จึงขอตัวออกมาข้างนอก ครั้นได้พบกับจื่อเซี่ยก็พูดขึ้นว่า “เมื่อสักครู่นี้ ข้าได้พบท่านอาจารย์ จึงได้ถามเรื่องเมตตาธรรมและปัญญาธรรม อาจารย์ตอบว่า ‘ยกคนดีปราบคนพาล คนพาลก็จะดี’ มิทราบหมายความว่าอย่างไร ?”
จื่อเซี่ยตอบขึ้นว่า “คำนี้ช่างเป็นวาทะอันลุ่มลึกยิ่งนัก เมื่อครั้งพระเจ้าซุ่นขึ้นครองราชสมบัติ พระองค์ทรงคัดเลือกปราชญ์จากสาธารณชน โดยทรงยกเกาเถาเข้ารับราชการ นับแต่นั้นก็ทำให้คนที่ไร้เมตตาธรรมถอยห่าง เมื่อครั้งพระเจ้าทังขึ้นครองสันตติวงศ์ พระองค์ทรงเลือกเมธาจากสาธารณชน โดยทรงยกอีอิ่นเข้ารับราชการ นับแต่นั้นพวกเหล่าคนไร้เมตตาธรรมก็ห่างไปไกลแล”
ด้วยเพราะจื่อเซี่ยเป็นคนที่มีน้ำใจเช่นนี้กระมัง ดังนั้นจึงทำให้มีมิตรสหายที่เป็นปราชญ์บัณฑิตอยู่มากมาย และมิตรสหายที่เป็นปราชญ์บัณฑิตนี้นี่เอง ที่จะเป็นตัวช่วยเสริมส่งในด้านคุณธรรมให้มีความเจริญก้าวหน้า ในข้อนี้ ขงจื่อให้ความสำคัญมากเป็นที่สุด เพราะหากมีเพื่อนที่ดี ย่อมจะช่วยสนับสนุนค้ำจุนให้เจริญในทางที่ดี แต่หากมีเพื่อนที่ไม่ดี แน่นอนว่าย่อมจะพาให้ชีวิตเดินสู่หายนะ ดังนั้น ขงจื่อจึงเคยกล่าวพยากรณ์อนาคตของจื่อเซี่ยจากการคบเพื่อนไว้ดังนี้
ขงจื่อกล่าวว่า “หลังจากข้าตาย จื่อเซี่ยจะยิ่งก้าวหน้า จื่อก้งจะยิ่งถอยหลัง”
เจิงจื่อถามขึ้นว่า “ไฉนจึงเป็นเช่นนั้นฤๅ?”
ขงจื่อกล่าวว่า “จื่อเซี่ยชอบคบหาด้วยปราชญ์ที่เหนือกว่า ส่วนจื่อก้งจะชอบคบหาด้วยคนที่ด้อยกว่า”
ครั้นขงจื่อกล่าวจบ ก็เสริมขึ้นอีกว่า “ไม่รู้ซึ่งบุตร ก็จงดูที่บิดา ไม่รู้ซึ่งอุปนิสัย ก็จงดูสหายที่เขาคบหา ไม่รู้ซึ่งกษัตริย์ ก็จงดูคนที่ทรงใช้งาน ไม่รู้ซึ่งธรณี ก็จงดูต้นไม้ใบหญ้าที่งอกเงย
“จึงกล่าวว่า คบหาด้วยคนดี จะประหนึ่งอยู่ในห้องดอกไม้หอม นานวันเข้าจะไม่รู้ซึ่งความหอม ด้วยเพราะได้กลมกลืนเข้าด้วยกันนั่นแล คบหาด้วยคนพาล จะประหนึ่งอยู่ในร้านขายปลา นานวันเข้าจะไม่รู้ซึ่งความคาว ด้วยเพราะได้กลมกลืนเข้าด้วยกันนั่นแล ที่บรรจุชาดย่อมเป็นสีแดง ที่บรรจุหมึกย่อมเป็นสีดำ ดังนั้นวิญญูชนจึงต้องรอบคอบคนที่คบหาแล”
นิยามเรื่องการใฝ่เรียน
การใฝ่เรียนในความหมายของขงจื่อ จะไม่ใช่หมายถึงแต่การเรียนวิชาความรู้เพื่อให้ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานแต่เพียงอย่างเดียว หากจะยังหมายถึงการเรียนรู้ฝึกฝนบำเพ็ญคุณธรรมในตัวตน เพื่อให้ชีวิตจิตใจแห่งตนได้ยกระดับขึ้นสู่ความเป็นปราชญ์วิญญู หรือกระทั่งสูงขึ้นสู่ความเป็นอริยะนั่นเอง เรื่องของการใฝ่เรียน จึงเป็นสิ่งที่ขงจื่อให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง แต่สำหรับจื่อเซี่ยนั้น ท่านมีทัศนะเรื่องการใฝ่เรียนเช่นไรล่ะ? ในคัมภีร์หลุนอวี่ได้บันทึกไว้เช่นนี้
จื่อเซี่ยกล่าวว่า “พึงเคารพเมธีแทนการหลงใหลในเพศสตรี ในการปรนนิบัติบุพการีพึงปฏิบัติโดยสุดกำลังความสามารถที่มี ในการรับใช้องค์พระภูมีพึงถวายความจงรักทั้งกายา ในการคบหามิตรสหายพึงมีสัจจะต่อวาจา คนที่ทำได้เช่นนี้ แม้นจะไม่เคยร่ำเรียนมา แต่ข้าก็ถือว่าเขาเป็นผู้ที่มีการศึกษาดีแล้ว”
จะเห็นได้ว่า ทัศนะเรื่องการศึกษาของจื่อเซี่ย ความจริงก็หาได้หมายถึงต้องมีความเก่งกาจในด้านกาพย์กวี หรือมีทักษะความสามารถที่โดดเด่นแต่อย่างใด หากแต่หมายถึงเรื่องของการวิริยะในคุณธรรม มีความกตัญญูรู้คุณต่อบุพการี มีมโนสำนึกในหน้าที่ มีสัจจะต่อมิตรสหาย คนที่ทำเช่นนี้อยู่ทุกลมหายใจ เขาผู้นั้นก็นับว่ามีความขยันใฝ่เรียนแล้วแล
1
อนึ่ง สิ่งที่น่าเป็นห่วงที่สุดสำหรับการเรียนก็คือการขาดความเสมอต้นเสมอปลาย ขอเพียงมีความเสมอต้นเสมอปลาย มีความมานะที่จะถามไถ่ในสิ่งที่ตนเองขาด และคอยปรับปรุงในสิ่งที่ตนเองบกพร่องให้มีความเจริญก้าวหน้าอยู่อย่างสม่ำเสมอ คนที่มีสำนึกเช่นนี้ได้ก็คือการใฝ่เรียนอีกเช่นกัน แลนี่ก็คือทัศนะเรื่องการใฝ่เรียนของจื่อเซี่ย ที่ปรากฏในคัมภีร์หลุนอวี่ดังนี้
จื่อเซี่ยกล่าวว่า “ทุกวันจงตระหนักรู้ในสิ่งที่ขาด ทุกเดือนจงอย่าลืมเลือนในสิ่งที่เรียน ฉะนี้ถือว่าใฝ่ศึกษาได้แล้วแล”
สอบถามเรื่องความกตัญญู
โบราณมีกล่าวไว้ว่า “กุศลทั้งหลายมีความกตัญญูเป็นเบื้องต้น (百善孝為先)” ดังนั้นคนที่บอกว่ามีความรักชาติรักแผ่นดิน แต่อยู่ที่บ้านกลับขาดความกตัญญู ความรักชาติที่พูดนั้นย่อมไม่จริง คนที่มีจิตกุศลชอบประกอบคุณงามความดี แต่อยู่ที่บ้านกลับขาดความกตัญญู จิตกุศลและความดีที่ทำย่อมไม่จริง ด้วยเหตุนี้ ในสำนักขงจื่อจึงให้ความสำคัญกับการมีความกตัญญูรู้คุณอย่างถึงที่สุด
วันหนึ่ง จื่อเซี่ยมีความใคร่รู้เรื่องของความกตัญญู จึงถามขงจื่อว่าอะไรคือความกตัญญู
ขงจื่อตอบว่า “อันอิริยานั้น เป็นเรื่องที่ยากนักแล หากมีกิจธุระ ผู้เยาว์ก็รับเป็นภาระ ยามมีสุราโภชนะ ก็เชิญอาวุโสรับประทานก่อน แค่นี้ก็ถือว่ากตัญญูแล้วอย่างนั้นฤๅ ?”
สิ่งที่ขงจื่อเน้นมากที่สุดคือเรื่องของความจริงใจที่ภายใน หาใช่แต่เพียงรูปแบบพิธีการที่ภายนอกไม่ ด้วยแม้นในระเบียบจริยธรรมจะมีกำหนดเรื่องความกตัญญูว่าสิ่งใดควรทำหรือไม่ควรทำอยู่ก็จริง ต่อให้ทำอย่างครบถ้วนตามธรรมเนียมปฏิบัติ แต่หากขาดซึ่งความจริงใจแล้ว ก็ยังมิอาจนับว่าเป็นความกตัญญูได้
วิญญูบัณฑิต
เป้าหมายของการศึกษา แน่นอนว่าต้องการลบความกักขฬะหยาบกระด้างให้หมดไป จนที่สุดได้มีความสุขุมลุ่มลึกเหมือนดั่งปราชญ์บัณฑิตที่มีความสง่าผ่าเผยนั่นเอง แต่แม้นคนเราจะฝึกฝนตนจนมีความสุขุมลุ่มลึก ท่วงท่าสง่างามอย่างบัณฑิตสุภาพชนแล้วก็จริง แต่หากเป็นแต่เปลือกนอกที่เป็นสุภาพบัณฑิต แล้วจิตใจภายในเต็มไปด้วยความเห็นแก่ตัวแล้ว เช่นนี้ก็ยังมิอาจนับว่าเป็นบัณฑิตชนอย่างแท้จริงไม่ ดังนั้นขงจื่อจึงให้โอวาทแก่จื่อเซี่ยดังนี้ว่า
“เจ้าพึงเป็นวิญญูบัณฑิต อย่าเป็นทุรบัณฑิต”
เหวินเทียนเสียงแห่งราชวงศ์ซ้อง ได้เขียนจดหมายลาตายไว้ในเข็มขัด มีข้อความว่า “อ่านหนังสือปราชญ์อริยะ แท้คือเรียนสิ่งอันใด นับแต่นี้เป็นต้นไป ถามใจตนไร้ละอาย” ดังนั้นการเป็นบัณฑิตที่แท้จริง จะต้องเป็นบัณฑิตที่แก่นใจ หาใช่เป็นเพียงบัณฑิตที่สง่างดงามที่เปลือกนอกไม่ การมีจิตใจที่เจิดจรัส แหงนหน้าไม่อายฟ้า ก้มหน้าไม่อายดิน มองหน้าไม่อายคน ลับหลังไม่อายผี จิตใจที่เจิดจรัสประภัสสรเช่นนี้ จึงจะนับว่าเป็นวิญญูบัณฑิตได้ หามิเช่นนั้น ก็คงเป็นเพียงแต่ทุรบัณฑิต ที่พยายามปั้นแต่งหน้าตาให้ดูดีในสายตาของผู้คน เพื่อให้ได้รับคำชื่นชมที่เป็นมายาเท่านั้น และบัณฑิตที่เอาแต่เปลือกที่กลวงแก่น โดยหาได้มีคุณธรรมที่หนักแน่นอยู่ภายในจิตใจนั้น นี่ก็คือทุรบัณฑิต แลเป้าหมายแห่งวิญญูบัณฑิตนี้ ก็คือสิ่งที่จื่อเซี่ยมุ่งหวังพัฒนาตนนั่นเอง
เปิดสำนักที่ซีเหอ
หลังขงจื่อได้ถึงแก่อสัญกรรม จื่อเซี่ยได้รับเชิญไปที่ซีเหอ ซีเหอเดิมเป็นอาณาเขตของแคว้นจิ้น แต่หลังจากแคว้นจิ้นล่มสลายแล้ว ซีเหอก็ได้กลายเป็นดินแดนของแคว้นเว่ย
แคว้นเว่ยเดิมยังไม่ใช่แว่นแคว้นที่ยิ่งใหญ่เกรียงไกร แต่ด้วยอิทธิพลของจื่อเซี่ยที่ได้เปิดสำนักอบรมลูกศิษย์ที่นั่น ก็ได้บ่มเพาะบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถเข้าช่วยบริหารราชการของแคว้นเว่ยอย่างมากมาย จนทำให้แคว้นเว่ยกลายเป็นแคว้นมหาอำนาจในเวลาต่อมา
ที่ซีเหอ จื่อเซี่ยนับว่าดำรงในสถานะที่ผู้คนให้ความเคารพยกย่องเป็นอย่างสูง เพราะมีเว่ยเหวินโหวซึ่งเป็นเจ้าแคว้นแห่งแคว้นเว่ยเป็นลูกศิษย์ ทั้งยังมีขุนนางผู้สูงศักดิ์ในแคว้นเว่ยเป็นลูกศิษย์อีกมากมายหลายคน ยกตัวอย่างเช่นหลี่คุย (หลี่เค่อ) ดำรงตำแหน่งอุปราชแห่งแคว้นเว่ย เป็นผู้ที่มีคุณูปการในด้านการปฏิรูปการเกษตรและควบคุมราคาสินค้าเกษตรให้มีความเหมาะสม ทั้งยังเป็นผู้ที่ดำเนินการปฏิรูปกฎหมาย ประพันธ์เนติคัมภีร์ (法經) ใช้กฎหมายปกครองประเทศ ชนรุ่นหลังต่างยกย่องให้ท่านเป็นต้นกำเนิดของสำนักเนติ (法家) และส่งผลให้เกิดอิทธิพลต่อการปฏิรูปกฎหมายซังยัง (商鞅變法) ที่แคว้นฉินในเวลาต่อมา
นอกจากหลี่คุยแล้วนี้ก็ยังมีอู๋ฉี่ (吳起) ยอดนักการทหารแห่งแคว้นเว่ย เป็นผู้ที่นำทัพจับศึกจนสร้างอาณาดินแดนที่กว้างใหญ่ไพศาล เป็นผู้ที่ประพันธ์ตำราพิชัยสงครามอู๋ฉี่ (吳起兵法) ซึ่งเป็นตำราพิชัยสงครามที่ถูกกำหนดให้จอหงวนฝ่ายบู๊จะต้องอ่านในสมัยราชวงศ์ถัง
ทั้งนี้ก็ยังมีต้วนกันมู่ (段干木) ผู้มีความเก่งการในด้านการค้า เป็นผู้ช่วยวางรากฐานเศรษฐกิจที่มั่นคงให้กับแคว้นเว่ย
ความสำเร็จของจื่อเซี่ยในแคว้นเว่ย แม้นว่าจะมีความแตกต่างจากคำสอนของสำนักขงจื่อดั้งเดิมที่รณรงค์ให้ปกครองประเทศด้วยหลักจริยธรรมอยู่บ้างก็จริง แต่ก็นับว่าได้สร้างเกียรติประวัติที่ยิ่งใหญ่อยู่ไม่น้อย จนที่สุด สำนักจื่อเซี่ยก็ได้กลายเป็นสำนักซีเหอที่มีความโดดเด่นขึ้นมาต่างหากจากสำนักขงจื่อนั่นเอง
ถูกเจิงจื่อตำหนิ
หลังจากจื่อเซี่ยเปิดสำนักสอนหนังสือที่ซีเหอ ท่านก็ประสบกับความสำเร็จอย่างดงาม แต่โชคร้ายอย่างยิ่งที่ท่านต้องมาสูญเสียบุตรชายในวัยชรา เรื่องนี้จึงกระทบเทือนจิตใจของผู้เป็นบิดายิ่งนัก จื่อเซี่ยจึงร้องไห้ด้วยความเศร้าโศก จนสุดท้ายถึงกับตาบอดไปเลยทีเดียว
หลังจากเจิงจื่อทราบข่าวที่จื่อเซี่ยสูญเสียบุตรชายและร้องไห้เสียใจจนตาบอด เจิงจื่อก็ได้เดินทางไปเยี่ยมจื่อเซี่ยที่ซีเหอ พร้อมกล่าวว่า “ข้าได้ยินมาว่า สหายสูญเสียการมองเห็น เพียงได้ยินก็ยังให้เสียใจยิ่งนัก”
ครั้นเจิงจื่อร่ำไห้ จื่อเซี่ยก็ร่ำไห้ตาม พร้อมกล่าวว่า “สวรรค์ ข้าผิดตรงไหนฤๅ?”
ครั้นเจิงจื่อได้ยินจื่อเซี่ยกล่าวเช่นนั้น ก็ตำหนิด้วยความขึงขังว่า “ซัง เจ้าจะไม่ผิดได้อย่างไร ข้ากับเจ้าร่วมปรนนิบัติท่านอาจารย์ระหว่างแม่น้ำซื่อและแม่น้ำจู ครั้นต่อมาท่านก็อำลาไปอยู่เหนือซีเหอ ทำให้ปวงชนยกท่านเหนือยิ่งกว่าท่านอาจารย์เสียอีก นี่ก็เพราะท่านไม่ได้เทิดเกียรติครูบาอาจารย์เท่าที่ควร นี่คือความผิดข้อที่หนึ่ง ครั้นต่อมา ท่านสูญเสียบุพการี แต่กลับไม่มีชาวบ้านรับรู้การสูญเสียบุพการีของท่านแต่อย่างใด ซึ่งต่างจากการสูญเสียบุตรชายของท่านยิ่งนัก นี่คือความผิดข้อที่สอง บัดนี้ท่านสูญเสียบุตรชาย ท่านเสียใจจนสูญเสียดวงตา นี่คือความผิดข้อที่สาม ท่านมีความผิดมากถึงสามข้อ แต่กลับบอกว่าไม่มีความผิดอย่างนั้นฤๅ?”
ครั้นจื่อเซี่ยได้ยินก็ทิ้งไม้เท้าและหมอบกราบเจิงจื่อในทันที พร้อมกล่าวว่า “ข้าผิดจริงๆ ข้าผิดจริงๆ ข้าหลีกห่างจากมิตรสหายแล้วอยู่อย่างเดียวดายมานานมากแล้วจริงๆ”
จื่อก้งเคยกล่าวไว้ว่า “อันความผิดของวิญญูชนนั้น เสมือนหนึ่งสุริยคราสจันทรคราส ใครๆล้วนมองเห็นได้อย่างชัดเจน” สำหรับความผิดของจื่อเซี่ยผู้เป็นปราชญ์บัณฑิตนั้น ครั้นได้รับการทักท้วง จื่อเซี่ยก็รีบก้มกราบขอขมา ด้วยแม้นคนที่ทำการทักท้วงจะเป็นศิษย์ผู้น้องก็ตาม นี่ก็คือจิตวิญญาณแห่งปราชญ์บัณฑิตแล
4 บันทึก
6
1
9
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
ประวัติศิษย์ขงจื่อ (ฉบับปรับปรุง)
4
6
1
9
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย