23 มี.ค. 2020 เวลา 12:57 • ประวัติศาสตร์
สวดมนต์ไม่ได้ช่วยปัดเป่าโรคภัย
เรียนรู้จากอดีต ในหลวงรัชกาลที่ 5
เตือนสติไพร่ฟ้าไม่ให้หลงงมงาย
รัชกาลที่ 5 ทรงพระราชนิพนธ์ถึงพระราชพิธี”อาพาธพินาศ”ในสมัยรัชกาลที่ 2
1
”สวดมนต์ปัดเป่าโรคภัย มิใช่สิ่งที่พระพุทธเจ้าตรัสสั่งสอนไว้ โรคภัยไม่ได้เกิดขึ้นจากผี แต่เกิดจากธรรมชาติดินฟ้าอากาศ และการประพฤติอยู่กินของมนุษย์”
อีกทั้งยังมีบันทึกในรัชกาลที่ 5 ถึงพระราชพิธีอาพาธพินาศครั้งสมัยรัชกาลที่ 2 ใจความว่า
“มีเรื่องราวอันเปนที่พฤกพึงกลัวเปนอันมาก เปนต้นว่าคนที่เข้ากระบวนแห่แลหามพระพุทธรูป และพระสงฆ์เดินไปกลางทางก็ล้มลงขาดใจตาย ที่กลับมาถึงบ้านแล้วจึ่งตายก็มีมาก แลตั้งแต่ตั้งพิธีแล้วโรคนั้นก็ยิ่งกำเริบร้ายแรงหนักขึ้น…คนทั้งปวงก็พากันลงว่าเพราะการพิธีนั้นสู้ผีไม่ได่ ผีมีกำลังกล้ากว่า ตั้งแต่ทำพิธีอาพาธพินาศในปีมะโรงโทศกนั้น ไม่ระงับโรคประจุบันได้ ก็เปนอันเลิกกันไม่ได้ทำอิกต่อไป”
พระราชพิธีอาพาธพินาศ คือ พระราชพิธีที่เกิดขึ้นในต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ใน พ.ศ. 2363 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เมื่อเกิดอหิวาตกโรคระบาดทั่วพระนคร มีผู้คนล้มตายเป็นจำนวนมากจนเผาศพแทบไม่ทัน
1
พระราชพิธีนี้จึงเกิดขึ้นเพื่อปลุกปลอบใจราษฎร และเป็นการปัดรังควานแก่พระนคร
มีการอัญเชิญพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร (พระแก้วมรกต) และพระบรมสารีริกธาตุออกจากที่ประดิษฐานภายในพระอุโบสถพระบรมมหาราชวังแห่รอบพระนคร
นับเป็นครั้งแรกที่มีการอัญเชิญพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรออกจากที่ประดิษฐานเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์นับตั้งแต่อัญเชิญมาประดิษฐานไว้ในกรุงรัตนโกสินทร์นี้
ต่อมาอหิวาตกโรคยังคงระบาดเรื่อยมา เดือน 7 ปีระกา พ.ศ. 2416 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เกิดอหิวาตกโรคระบาดในกรุงเทพมหานคร และหัวเมืองริมแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำท่าจีน และแม่น้ำแม่กลอง
ผู้คนตื่นตกใจเป็นอันมากเพราะผู้สูงอายุที่เคยผ่านเหตุการณ์สะเทือนขวัญเมื่อคราวที่อหิวาตกโรคระบาดในสมัยรัชกาลที่ 2 และรัชกาลที่ 3 ยังมีชีวิตและบอกเล่าเหตุการณ์ครั้งนั้นให้ผู้คนในยุคนั้นจนแตกตื่นไปตามๆกัน
แต่ทว่าพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 มิได้โปรดเกล้าให้มีการพระราชพิธีทางศาสนาอย่างเช่นในสมัยรัชกาลที่ 2 ที่เคยทำมา แต่ให้เน้นการจัดการวางแผนระบบการรักษาพยาบาล
ประชุมวางแผนรับมือการระบาดในยุคนั้น
โดยทำการปรึกษาแพทย์ฝรั่ง รวมทั้งปรุงยารักษาโรคขึ้นใหม่ 2 ขนาน เอายาวิสัมพญาใหญ่ตามตำราไทยผสมกับแอลกอฮอล์ ทำเป็นยาหยดในน้ำขนานหนึ่งและเอาการบูรทำเป็นยาหยดเรียกว่ายาน้ำการบูรอีกขนานหนึ่ง สำหรับรักษาอหิวาตกโรค โดยแนะนำใช้การบูรโรยเสื้อผ้าเพื่อป้องกันเชื้อโรคควบคู่ไปด้วย
รวมทั้งมีพระราชดำรัสให้ข้าราชรับยาหลวงกระจายไปตามโอสถศาลาทั่วพระนคร
การจัดระบบรักษาพยาบาลแบบกระจายเพื่อให้สามารถบริการและรักษาราษฎรได้ทั่วถึงทันท่วงทีจนอหิวาสงบลง
หลังจากนั้นไม่นาน ใน พ.ศ. 2424 รัชสมัยเดียวกัน อหิวาตกโรคระบาดขึ้นอีกครั้งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงตระหนักถึงความร้ายแรงของโรคนี้และมีประสบการณ์ในการรับมือเมื่อครั้งก่อน
สถานพยาบาลชั่วคราว
จึงโปรดเกล้าให้ตั้งโรงพยาบาลเอกเทศหรือสถานพยาบาลชั่วคราวเพื่อรักษาโรคระบาดและอหิวาตกโรค โดยโรงพยาบาลชั่วคราวเหล่านี้ได้ถูกปิดลงเมื่อโรคระบาดสงบไป นับเป็นจุดเริ่มต้นของการก่อตั้งโรงพยาบาลสมัยใหม่ในเวลาต่อมา
ด้วยพระปรีชาสามารถ พระองค์ท่านไม่สนับสนุนกระทำการพิธีปัดเป่าโรคแบบในอดีตเพราะหากไม่สำเร็จก็จะเดือดร้อนพระสงฆ์องค์เจ้า และผู้คนคงโทษว่าพิธีที่จัดแพ้ผีที่แกร่งกว่า หากกาลต่อมา ผู้คนคงเลิกเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา พระองค์ท่านสอนให้เราเชื่ออย่างไม่งมงาย และนำการแพทย์มาบริหารปรับใช้กับกรุงรัตนโกสินทร์เมื่อเกิดเหตุโรคระบาดแทน
🙏กดไลค์ กดแชร์ กดติดตามเป็นกำลังใจ❤️
ขอบพระคุณครับ
โฆษณา