23 มี.ค. 2020 เวลา 16:13 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
พลีชีพเพื่อหมู่เฮา!! 😮🧐
แม้แต่แบคทีเรียก็มีการยอมพลีชีพเพื่อปกป้องพวกพ้อง 👍
แบคทีเรียจจอมอึดฆ่าไม่ตาย
แบคทีเรีย สิ่งมีชีวิตเซลเดียวถือกำเนิดขึ้นมาบนโลกตั้งแต่สมัยดึกดำบรรพ์ แม้จะมีโครงสร้างที่เรียบง่ายถูกจัดเป็นสิ่งมีชีวิตชั้นต่ำ
แต่พวกมันนั้นก็แสนจะทนทายาดและเป็นสุดยอดในการปรับตัวเพื่อมีชีวิตรอดแม้ในสภาพแวดล้อมที่สุดโต่งแบบที่ไม่คาดคิดว่าจะมีชีวิตอยู่ได้
ส่วนประกอบของแบคทีเรีย
เจ้าแบคทีเรียนี้มีแทกติกมากมายเพื่อที่พวกมันจะมีชีวิตรอดได้ในสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว แม้ว่าพวกมันจะสืบพันธ์ุแบบไม่อาศัยเพศก็ตาม
ทั้งนี้แล้วการสืบพันธ์ุแบบไม่อาศัยเพศนั้นมีข้อด้อยหลักอย่างหนึ่งคือทั้งฝูงจะมีลักษณะเหมือนกัน ดังนั้นเมื่อสภาพแวดล้อมเปลี่ยนแปลงปุบปับจึงเสี่ยงมากที่จะตายยกฝูงและสูญพันธุ์ไปในที่สุด
แทคติกมากมายของแบคทีเรียนั้นได้แก่ การยับยั้งการเจริญเติบโตเพื่อรอสภาวะที่เหมาะสม การสร้าง Bio Film เป็นเกราะกำบัง การปรับยีนให้ต้านทานยาปฏิชีวนะ หรือแม้แต่การเก็บเกี่ยวซาก DNA จากซากศพเพื่อนเพื่อนำเอาข้อมูลก่อนตายมาวิวัฒน์ตัวเองต่อ
มาวันนี้นักวิทยาศาสตร์ได้พบอีกหนึ่งวิธีที่แบคทีเรีย E. coli ใช้ในการรับมือกับยาฆ่าเชื้อนั่นก็คือการ "กามิกาเซ่" ยอมพลีชีพโดยแบคทีเรียแก่ใกล้ตายเพื่อส่วนรวม
จากรูปแบคทีเรียเรืองแสงคือแบคทีเรียในชุดแรกที่ได้รับยาปฏิชีวนะ
โดยเหล่าแบคทีเรียใกล้ตายจะมีพฤติกรรมที่จะพยายามดูดซับเอายาฆ่าเชื้อเข้าไว้ในตัวเองให้มากที่สุดก่อนที่พวกมันจะตาย
ทั้งนี้ก็เพื่อให้เหล่าแบคทีเรียรุ่นใหม่จะได้มีโอกาสมีชีวิตรอดมากขึ้น เรียกได้ว่าเป็นการพลีชีพเพื่อดำรงเผ่าพันธุ์นั่นเอง
จากภาพซึ่งของแต่ละช่วงเวลา แสดงให้เห็นแบคทีเรียรุ่นเก่าที่ได้รับยาฆ่าเชื้อมาก ๆ จะเริ่มเรืองแสง แต่รุ่นใหม่ ๆ จะไม่ค่อยได้รับผลกระทบ
ซึ่งในช่วงแรกแบคทีเรียในกลุ่มจะลดอัตราการแบ่งตัวก่อนที่จะกลับมาคงที่ได้อีกครั้งภายใต้สภาพแวดล้อมที่เป็นพิษกับพวกมัน
และในกราฟ D แสดงให้เห็นการกระจายข้อมูลชัดเจนว่าสารเรืองแสงที่มีพิษจะพบอยู่ในกลุ่มเซลที่หยุดการเจริญเติบโต
จากงานวิจัยนี้ทำให้เราได้รู้ถึงอีกกลวิธีที่เจ้าแบคทีเรียใช้ในการเอาชีวิตรอดจากยาฆ่าเชื้อนั่นเอง และอาจปูทางไปสู่การพัฒนายาฆ่าเชื้อให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นในอนาคต
** เพิ่มเติมข้อมูลเชิงลึกจากเพื่อนสมาชิก @บทเรียนจากเชื้อโรค **
ทั้งนี้ผลการวิจัยนี้อาจยังไม่ใช่ข้อสรุปถึงพฤติกรรมพลีชีพของแบคทีเรียรุ่นเก่า เพราะการทดสอบใช้ยาปฏิชีวนะกลุ่ม antimicrobial peptide ซึ่งจะเข้าไปจับกับ DNA ได้ดี
จากรูปจะเห็นได้ว่าการดูดซับใน mini cell ที่ไม่มี DNA มีอัตราต่ำกว่าเซลล์แม่อย่างมีนัยะ
งานวิจัยนี้จะเป็นผลการสังเกตมากกว่ายังไม่ได้ระบุชัดถึงกลไลและสาเหตุของพฤติกรรมดังกล่าว
แม้แต่สิ่งมีชีวิตเซลเดียวดูต่ำต้อย พวกมันก็ยังแสดงให้เห็นถึงพฤติกรรมเพื่อการอยู่รอดของหมู่คณะอย่างน่าทึ่งทีเดียว แล้วพวกเราละ? 🤔

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา