ภิกษุ ท. ! มหาชนเขารู้จักเธอทั้งหลายว่า “สมณะ สมณะ” ดังนี้, ถึงเธอทั้งหลายเล่า เมื่อถูกเขาถามว่า ท่านทั้งหลาย เป็นอะไร ? พวกเธอทั้งหลายก็ปฏิญาณตัวเองว่า “เราเป็นสมณะ” ดังนี้.
ภิกษุ ท. ! เมื่อเธอทั้งหลาย มีชื่อว่า สมณะ และปฏิญาณตัวเองว่าเป็นสมณะ อยู่อย่างนี้แล้ว พวกเธอทั้งหลาย จะต้องสำเหนียกใจว่า “ข้อปฏิบัติอันใด เป็นข้อปฏิบัติสมควรแก่สมณะ เราจักปฏิบัติข้อปฏิบัติอันนั้น. ด้วยการปฏิบัติของเราอย่างนี้ สมัญญาว่าสมณะของตนก็จักเป็นจริง และ คำปฏิญาณว่าสมณะของเราก็จักสมจริง ; อนึ่งเล่า เราบริโภคใช้สอย บาตร จีวร อาหารบิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริกขาร ของทายกเหล่าใด, การบำเพ็ญทานของทายกเหล่านั้น ก็จักมีผลใหญ่ มีอานิสงส์ใหญ่ ; และการบรรพชาของเราเอง ก็จักไม่เป็นหมันเปล่า แต่จักมีผลมีกำไรแก่เรา” ดังนี้. ภิกษุ ท. ! พวกเธอทั้งหลาย พึงสำเหนียกใจไว้อย่างนี้เถิด.
ภิกษุ ท. ! เมื่อภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง มีอภิชฌามาก ยังละอภิชฌาไม่ได้, มีจิตพยาบาท ยังละพยาบาทไม่ได้, เป็นผู้มักโกรธ ยังละความมักโกรธไม่ได้, เป็นผู้มักถือความโกรธ ยังละความถือโกรธไม่ได้, เป็นผู้ลบหลู่คุณท่าน ยังละความลบหลู่คุณท่านไม่ได้, เป็นผู้ยกตนเทียมท่าน ยังละความยกตนเทียมท่านไม่ได้, เป็นผู้ริษยา ยังละความริษยาไม่ได้, เป็นคนตระหนี่ ยังละความตระหนี่ไม่ได้, เป็นคนโอ้อวด ยังละความโอ้อวดไม่ได้, เป็นคนมีมายา ยังละความมายาไม่ได้, เป็นคนมีความปรารถนาลามก ยังละความปรารถนาลามกไม่ได้, เป็นคนมีความเห็นผิด ยังละความเห็นผิดไม่ได้;
ภิกษุ ท. ! เพราะละกิเลสมีอภิชฌาเป็นต้น ซึ่งเป็นเครื่องมัวหมองของสมณะ เป็นโทษของสมณะ เป็นน้ำฝาดของสมณะ เป็นเหตุให้สัตว์เกิดในอบายและมีวิบากอันสัตว์ทั้งหลายจะต้องเสวยในทุคติ เหล่านี้ ยังไม่ได้ ; เราก็ไม่กล่าวภิกษุนั้นว่า “เป็นผู้ปฏิบัติข้อปฏิบัติสมควรแก่สมณะ” ดังนี้.
ภิกษุ ท. ! เปรียบเหมือน อาวุธอันคมกล้า๑ มีคมสองข้าง ที่เขาลับไว้อย่างดีแล้ว หุ้มห่อไว้ด้วยผ้าสังฆาฏิของภิกษุนั้นเอง ฉันใด ; ภิกษุ ท. ! เรากล่าวการบรรพชาของภิกษุนี้ว่า เปรียบกันได้กับอาวุธมีคมสองข้างนั้น ฉันนั้น. ภิกษุ ท. ! เราไม่กล่าวความเป็นสมณะว่า เป็นสิ่งที่มีได้ เพราะเหตุสักว่าการทรงสังฆาฏิของผู้ที่ทรงสังฆาฏิ ฯลฯ เป็นต้นเลย.
๑. บาลีว่า มตชนนาม อาวุธชาตํ, อรรถกถาให้คำอธิบายไว้อย่างยืดยาว ได้ใจความโดยสรุปว่าเป็นดาบที่ตีขึ้นด้วยเหล็กที่ชำระด้วยวิธีที่ดีที่สุดของสมัยนั้น, คือ เอาผงเหล็กให้นกกะเรียนกินเข้าไป แล้วถ่ายออกมาหลาย ๆ ครั้งแล้วจึงนำมาตีเป็นดาบ มีคมสองข้าง (ทำนองพระขรรค์).