กัสสปะ ! เธอ จงว่ากล่าวสั่งสอนภิกษุ, จงแสดงธรรมีกถาแก่ภิกษุ. กัสสปะ ! เราหรือเธอ จะต้องว่ากล่าวสั่งสอนภิกษุ, เราหรือเธอ จะต้องแสดงธรรมีกถาแก่ภิกษุ.
“ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เจริญ ! ในเวลานี้ ภิกษุทั้งหลายเป็นคนว่ายากและประกอบด้วยเหตุที่ทำให้ว่ายากด้วย, ไม่มีความอดทน, ไม่ยอมรับคำตักเตือนโดยเคารพ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! ในเรื่องนี้ ข้าพระองค์ ยังได้เห็นภิกษุชื่อภัณฑะซึ่งเป็นสัทธิวิหาริกของพระอานนท์องค์หนึ่ง และภิกษุชื่ออาภิชชิกะ ซึ่งเป็นสัทธิวิหาริกของพระอนุรุทธองค์หนึ่ง กล่าวท้าทายกันด้วยเรื่องวิชาความรู้ว่า ‘มาซิ ภิกษุ ! จะได้เห็นกันว่า ใครจักกล่าวได้มากกว่ากัน, ใครจักพูดได้เพราะกว่ากัน, ใครจักพูดได้นานกว่าใคร’ ดังนี้”. พระมหากัสสปะกล่าวทูลขึ้น.
พระผู้มีพระภาคเจ้า จึงรับสั่งให้ตามตัวภิกษุทั้งสองนั้นมาเฝ้า แล้วได้ทรงซักถามภิกษุทั้งสองนั้น, ภิกษุทั้งสองนั้นได้ทูลรับว่า ได้ทำการท้าทายกันเช่นนั้นจริง, จึงตรัสว่า :-
ภิกษุ ท. ! เธอทั้งสองย่อมเข้าใจธรรมที่เราแสดงแล้ว ว่าเราได้แสดงว่า “ภิกษุ ท. ! เธอทั้งหลาย จงพูดท้าทายกันด้วยเรื่องวิชาความรู้อย่างนี้ว่า ‘มาซิ ภิกษุ ! จะได้รู้ว่า ใครจะพูดได้มากกว่ากัน, ใครจะพูดได้เพราะกว่ากัน, ใครจะพูดได้นานกว่าใคร’ ดังนี้”, ดังนั้นหรือ ?
ภิกษุทั้งสองรูปนั้นทูลว่า “หาเป็นเช่นนั้นไม่ พระเจ้าข้า”.
ภิกษุ ท. ! ก็เมื่อเธอทั้งสอง เข้าใจธรรมที่เราแสดงแล้ว ว่าหาเป็นอย่างนี้ไม่, ก็เรื่องอะไรเล่า โมฆบุรุษทั้งสอง รู้อย่างไร เห็นอย่างไร ทั้งที่บวชอยู่ในธรรมวินัยที่เรากล่าวดีแล้วนี้ จึงกล้าพูดท้าทายกันและกันด้วยเรื่องวิชาความรู้ว่า “มาซิ ภิกษุ ! จะได้รู้ว่า ใครจะพูดได้มากกว่ากัน, ใครจะพูดได้เพราะกว่ากัน, ใครจะพูดได้นานกว่าใคร” ดังนี้เล่า.
ภิกษุทั้งสองได้สำนึกตัว จึงหมอบลงที่พระบาทของพระผู้มีพระภาคเจ้า แล้วกล่าวคำขอขมาโทษว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! ความล่วงเกินของข้าพระองค์ได้ล่วงเกินแล้ว เพราะทำตามประสาพาล ประสาเขลา ประสาไม่ฉลาด, คือข้อที่ข้าพระองค์ทั้งสองได้บวชอยู่ในธรรมวินัยที่พระผู้มีพระภาคเจ้า กล่าวไว้ดีแล้วอย่างนี้ กลับมาพูดท้าทายกันเสียด้วยเรื่องวิชาความรู้ว่า ‘มาซิ ภิกษุ ! จะได้รู้ว่าใครจะพูดได้มากกว่ากัน ใครจะ
๑. บาลี พระพุทธภาษิต นิทาน. สํ. ๑๖/๒๔๐/๒๘๓, ตรัสแก่ท่านพระมหากัสสปะ ที่เชตวัน.
พูดได้เพราะกว่ากัน ใครจะพูดได้นานกว่าใคร’ ดังนี้. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! ขอพระผู้มีพระภาคเจ้า จงงดโทษโดยเป็นโทษล่วงเกินของข้าพระองค์ทั้งสอง, เพื่อสังวรต่อไปพระเจ้าข้า” ดังนี้.
ภิกษุ ท. ! แน่แล้ว เธอทั้งหลาย ได้ถึงความมีโทษ เพราะทำตามประสาพาล ประสาเขลา ประสาไม่ฉลาด, คือข้อที่เธอทั้งหลาย ทั้ง ๆ ที่ได้มาบวชในธรรมวินัยที่เรากล่าวไว้ดีแล้วอย่างนี้ กลับมามัวพูดท้าทายกันด้วยเรื่องวิชาความรู้ว่า “มาซิ ภิกษุ ! จะได้รู้ว่า ใครจะพูดได้มากกว่ากัน, ใครจะพูดได้เพราะกว่ากัน, ใครจะพูดได้นานกว่าใคร” ดังนี้. ภิกษุ ท. ! แต่เมื่อเธอทั้งหลายเห็นโทษโดยความเป็นโทษ แล้วทำคืนเสียอย่างถูกระเบียบเช่นนี้ เรา ก็จะงดโทษของพวกเธอทั้งหลายให้.
ภิกษุ ท. ! ผู้ที่เห็นโทษโดยความเป็นโทษแล้วทำคืนเสียอย่างถูกระเบียบแล้วทำการสังวรระวังต่อไป, อันนั้นย่อมเป็นความเจริญในวินัยของพระอริยเจ้า ดังนี้.