1 เม.ย. 2020 เวลา 05:26 • การศึกษา
"ผู้เห็นแต่จะทะเลาะวิวาท"
ภิกษุ ท. ! พอที ! พวกเธอทั้งหลาย อย่าหมายมั่นกันเลย, อย่าทะเลาะกันเลย, อย่าโต้เถียงกันเลย อย่าวิวาทกันเลย (ดังนี้ถึง ๒-๓ ครั้ง).
เมื่อตรัสอย่างนี้แล้ว มีภิกษุบางรูปทูลขึ้นว่า “ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เป็นธรรมสามี ! ขอพระองค์จงหยุดไว้ก่อนเถิด พระเจ้าข้า ! ขอจงทรงขวนขวายน้อยเถิด พระเจ้าข้า ! ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ! ขอจงทรงประกอบในสุขวิหารในทิฏฐธรรม อยู่เถิด พระเจ้าข้า ! พวกข้าพระองค์ทั้งหลายจักทำให้เห็นดำเห็นแดงกัน ด้วยการหมายมั่นกัน ด้วยการทะเลาะกัน ด้วยการโต้เถียงกันด้วยการวิวาทกัน อันนี้เอง” ดังนี้.
กาลนั้นแล ในเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงครองจีวร ถือบาตร เสด็จเข้าไปสู่เมืองโกสัมพี เพื่อบิณฑบาต. ครั้นทรงเที่ยวบิณฑบาตในเมืองโกสัมพีแล้ว ภายหลังภัตตกาล กลับจากบิณฑบาตแล้ว ทรงเก็บบริกขารขึ้นมาถือไว้ แล้วประทับยืน ตรัสคาถานี้ว่า :-
“คนไพร่ ๆ ด้วยกัน ส่งเสียงเอ็ดตะโร แต่หามีคนไหนสำคัญตัวว่า เป็นพาลไม่. เมื่อหมู่แตกกัน ก็หาได้มีใครรู้สึกเป็นอย่างอื่น ให้ดีขึ้นไปกว่านั้นได้ไม่. พวกบัณฑิตลืมตัว สมัครที่จะพูดตามทางที่ตนปรารถนาจะพูดอย่างไร ก็พูดพล่ามไปอย่างนั้น หาได้นำพาถึงกิเลสที่เป็นเหตุแห่งการทะเลาะกันไม่.”
๑. บาลี พระพุทธภาษิต อุปักกิเลสสูตร อุปริ. ม. ๑๔/๒๙๕/๔๔๐, ตรัสแก่ภิกษุทั้งหลายผู้ทิ่มแทงกัน ด้วยหอกคือปาก จนภิกษุรูปหนึ่ง ทูลขอร้องให้พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จไประงับเหตุ ณ ที่โฆสิตาราม ใกล้เมืองโกสัมพี.
พวกใด ยังผูกใจเจ็บอยู่ว่า ‘ผู้นั้นได้ด่าเรา ได้ทำร้ายเรา ได้เอาชนะเรา ได้ลักทรัพย์ของเรา’ ; เวรของพวกนั้น ย่อมระงับไม่ลง.
พวกใด ไม่ผูกใจเจ็บ ‘ผู้นั้นได้ด่าเรา ได้ทำร้ายเรา ได้เอาชนะเรา ได้ลักทรัพย์ของเรา’ ; เวรของพวกนั้น ย่อมระงับได้.
ในยุคไหนก็ตาม เวรทั้งหลาย ไม่เคยระงับได้ด้วยการผูกเวรเลย, แต่ระงับได้ด้วยไม่มีการผูกเวร. ธรรมนี้เป็นของเก่าที่ใช้ได้ตลอดกาล.
คนพวกอื่น ไม่รู้สึกว่า ‘พวกเราจะแหลกลาญก็เพราะเหตุนี้’ ; พวกใด สำนึกตัวได้ในเหตุที่มีนั้น ความมุ่งร้ายกันย่อมระงับได้ เพราะความรู้สึกนั้น.
ความกลมเกลียวเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน (ในการทำตามกิเลส) ยังมีได้แม้แก่พวกคนกักขฬะเหล่านั้น ที่ปล้นเมืองหักแข้งขาชาวบ้านฆ่าฟันผู้คน แล้วต้อนม้า โค และขนเอาทรัพย์ไป ; แล้วทำไมจะมีแก่พวกเธอไม่ได้เล่า ?
ถ้าหากไม่ได้สหายที่พาตัวรอด เป็นปราชญ์ ที่มีความเป็นอยู่ดี เป็นเพื่อนร่วมทางแล้วไซร้, ก็จงทำตัวให้เหมือนพระราชา ที่ละแคว้นซึ่งพิชิตได้แล้วไปเสีย แล้วเที่ยวไปคนเดียว ดุจช้างมาตังคะเที่ยวไปในป่าตัวเดียว ฉะนั้น.
การเที่ยวไปคนเดียว ดีกว่า เพราะไม่มีความเป็นสหายกันได้กับคนพาล. พึงเที่ยวไปคนเดียว และไม่ทำบาป ; เป็นคนมักน้อยดุจช้างมาตังคะ เป็นสัตว์มักน้อย เที่ยวไปในป่า ฉะนั้น”.
ดังนี้แล้ว ได้เสด็จไปยัง พาลกโลณการคาม.
อ้างอิงจาก : ชุดจากพระโอษฐ์ ๕ เล่ม เล่มที่ ๑
ขุมทรัพย์จากพระโอษฐ์
หน้าที่ ๑๕๗ - ๑๕๘
พุทธวจน (ธรรมะจากพระโอษฐ์)
เว็บไซต์ข้อมูลเพิ่มเติม : http://watnapp.com
ศึกษาดูพระสูตรเพิ่มเติม : https://etipitaka.com/search/
ฟังเสียงธรรมะพระสูตรเพิ่มเติม : https://m.soundcloud.com/search?q=พุทธวจน

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา