The Black Death ตอนที่ 2 "ผมฝังศพลูกไปแล้ว 5 คน"
1.
ผมอยากจะชวนลองคิดดูนะครับว่า สมมติเราเป็นชาวยุโรปในวันที่กาฬโรคระบาด เราจะรู้สึกกันอย่างไรบ้าง
การจะจินตนาการว่าเราจะรู้สึกยังไง เราก็คงต้องนึกออกใช่ไหมครับว่า
โลกในวันนั้นมีหน้าตาเป็นอย่างไร เราต้องพอจะหลับตาแล้วนึกออกว่าบรรยากาศมันเป็นประมาณไหน
ได้ครับ ถ้าเช่นนั้นผมจะลองเล่าให้ฟังว่าคนที่อยู่ในยุคนั้นเขาบรรยายถึงเหตุการณ์กันไว้ว่าอย่างไรบ้าง
แรกสุด ขอเร่ิมต้นที่บันทึกจากกวีเอกชาวอิตาลี โจวันนี บอกคัชโช Giovanni Boccacio ผู้เขียนนิยายคลาสสิคชื่อ Decameraon
Giovanni Boccaccio ภาพจาก wikipedia
Decameron แปลว่า 10 วัน เพราะเป็นนิยายที่เล่าเรื่องราวของคนหนุ่มสาวกลุ่มหนึ่งจำนวน 10 คนจากตระกูลที่ร่ำรวยของเมืองฟลอเรนซ์ หนีกาฬโรคที่ระบาดในเมืองฟลอเรนซ์ไปหลบซ่อนตัวอยู่ที่คฤหาสน์แห่งหนึ่งนอกเมือง
และด้วยความที่ต้องไปหลบโดยไม่มีอะไรทำเป็นเวลาถึงสองสัปดาห์ จึงผลัดกันหาเรื่องมาเล่าแก้เบื่อ คนละเรื่องต่อวัน เป็นเวลาทั้งหมด 10 วัน
Decameron โดย John William Waterhouse ภาพจาก wikipedia
ในตอนต้นของนิยาย บอกคัชโชเปิดเรื่องด้วยการบรรยายถึงบรรยากาศของเมืองฟลอเรนซ์ขณะมีโรคระบาดว่าเป็นอย่างไร จริงอยู่ว่า Decameron เป็นนิยายแต่ตัว Baccacio เองก็ผ่านเหตุการณ์โรคระบาดมาด้วยตัวเอง ทำให้สิ่งที่เขาบรรยายไว้เป็นการเขียนถึงเป็นประสบการณ์ตรง
เขาเขียนเล่าว่าในความวุ่นวายนี้ ผู้คนแต่ละคนก็ตอบสนองต่อเหตุการณ์ต่างกันไป
บางคนเลือกที่จะปิดหูปิดตาไม่รับฟังข่าวสารต่างๆใช้ชีวิตกินดื่มฟังดนตรี เพื่อที่จะได้ไม่ต้องสนใจความตายที่อยู่รอบๆตัว
บางคนกินดื่มเที่ยวและมีเพศสัมพันธ์อย่างเต็มที่ เพราะคิดว่ายังไงก็คงต้องตาย มีความสุขให้เต็มที่ก่อนตายดีกว่า
บางคนเมื่อเห็นผู้คนล้มตายและรู้ว่ามีโรคระบาดรุนแรง ก็ขังตัวเองอยู่ในบ้านไม่ยอมพบหน้าพูดคุยกับใคร
บางคนป้องกันโรคระบาดด้วยการขังคนอื่นไว้ในบ้าน คือพอรู้ว่าญาติหรือคนรู้จักเริ่มป่วยก็จะเอาไม้ไปตอกปิดตายประตูบ้านไว้ไม่ให้ออกมาได้ จนเมื่อผ่านไปสักสิบวัน จึงไปแง้มดูว่ายังมีชีวิตอยู่หรือเปล่า ถ้ายังไม่ป่วยและไม่ตายก็จะได้รับการปล่อยตัวออกมา
เขายังเล่าว่า โรคแพร่ระบาดได้ง่ายมาก แค่สัมผัสเสื้อผ้าหรือสิ่งของคนที่ป่วยก็สามารถจะทำให้ติดโรคได้ ยิ่งถ้าคนป่วยไปสัมผัสคนกลุ่มใหญ่ โรคจะแพร่ได้เร็วเหมือนไฟที่กำลังไหม้ ส่วนใหญ่คนที่ป่วยจะตายในวันที่ 3 หลังจากเริ่มมีอาการ มีบ้างที่เร็วหรือช้ากว่านี้
ด้วยความที่โรครุนแรงและสามารถติดต่อได้ง่ายเช่นนี้ จึงสร้างความหวาดกลัวแก่คนที่ยังไม่ป่วย บวกกับการได้เห็นว่าคนที่คอยช่วยเหลือคนป่วย ดูแลคนป่วย มักจะเป็นรายถัดไปที่ต้องเสียชีวิต ในขณะที่คนเห็นแก่ตัว หนีเอาตัวรอ คือคนที่รอดชีวิต
จึงเกิดเหตุการณ์ที่ สามีทิ้งภรรยาที่ป่วย พ่อแม่ทิ้งลูก ลูกทิ้งพ่อแม่ หมอทิ้งคนป่วย
แต่ด้วยความที่บอกคัชโช เป็นกวี และ Decameron เป็นนิยาย หลายคนอาจจะแอบสงสัยว่าจะเขียนเกินจริงไปบ้างหรือเปล่า ดังนั้นเรามาดูสิ่งที่ชาวบ้านคนหนึ่งบันทึกไว้กันบ้างดีไหมครับ
Agnolo di Tura เป็นช่างทำรองเท้า และเป็นคนที่คอยไปเก็บภาษีของเมือง Siena เขาเขียนถึงโรคระบาดไว้ว่า
ฉัน แอกโนโล ดี ทูร่า หรือที่คนนิยมเรียกว่า อ้วน ฝังลูกทั้ง 5 คนไปแล้วด้วยมือของฉันเอง
คนในเมืองเซียนน่า เริ่มตายในเดือนพฤษภาคม มันน่ากลัวมาก คนเห็นการตายจนรู้สึกชินชา มันยากที่จะบรรยายเรื่องราวออกมาเป็นคำพูดได้ คนที่ป่วยเสียชีวิตเร็วมาก บางคนยืนคุยกันอยู่ก็ล้มลง
พ่อทิ้งลูก พี่ทิ้งน้อง ศพถูกทิ้งไว้เฉยๆไม่มีใครจัดการ
หลายที่ในเมืองเซียนน่าจะมีหลุมขนาดใหญ่ขุดไว้ เพื่อให้คนทิ้งศพลงไปกองรวมๆกัน จากนั้นก็โรยดินลงไปบางๆ ก่อนจะโยนศพลงไปทับอีกชั้นแล้วก็โรยดินกลบไปบางๆอีกชั้น ทำเช่นนี้ไปเรื่อยๆจนเต็มหลุม คล้ายกับเวลาทำลาซานญ่าที่วางพาสต้าและชีสเป็นชั้นๆ
บรรยากาศในประเทศอื่นก็ไม่ได้ต่างกันมากนัก เช่น บันทึกในฝรั่งเศสก็มีการเขียนบรรยายไว้ว่า แรกๆคนก็พยายามจะฝังศพกัน แต่ศพมีเพิ่มขึ้นเร็วมากจนหาที่ฝังไม่ได้ คนจึงเลิกฝังศพกันไป ปล่อยให้ศพถูกทิ้งไว้ตามท้องถนนจนเหม็นไปหมด หลายครั้งหมาก็มาลากศพไปกินโดยที่ไม่มีใครสนใจนัก
คนตายเยอะจนคนเริ่มชินชากับความตาย เมื่อมีคนในครอบครัวหรือคนรักตายไปญาติพี่น้องก็ไม่ร้องไห้ เพราะทุกคนคิดว่าอีกไม่นานก็คงจะถึงตาฉันบ้าง
หรืออย่างในดินแดนที่ต่อมารวมเป็นประเทศเยอรมัน ก็มีคนเสียชีวิตมากมาย ถึงขนาดว่าหลังโรคระบาดผ่านพ้นไปบันทึกสำหรับการเก็บภาษีต้องลบหมู่บ้านหรือชุมชนทิ้งออกไปจากบันทึกประมาณ 40,000 หมู่บ้าน เพราะหมู่บ้านเหล่านั้นคนตายหมดทั้งหมู่บ้านหรือตายเกือบหมดหมู่บ้านจนคนที่เหลืออยู่ต้องย้ายถิ่นไปอาศัยอยู่ที่อื่น
แน่นอนครับว่าเมื่อมีคนป่วยมากมายเช่นนี้ ชาวบ้านทั่วไปก็ต้องหวังพึ่งหมอ
คำถามคือ หมอยุคนั้นว่ายังไงกันบ้าง ช่วยเหลืออะไรได้บ้าง
คำตอบก็พอจะเดากันได้นะครับว่า .... ทำอะไรไม่ได้มาก
การแพทย์ของยุโรปยุคกลางยังเชื่อในทฤษฎีสมดุลของเหลวในร่างกาย โดยไม่เข้าใจ(จริงๆคือ ไม่สนใจ) การทำงานของอวัยวะภายในต่างๆ ไม่เข้าใจการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน และยังไม่รู้จักเชื้อโรค
หมอแต่ละคนจึงหาคำอธิบายการเกิดโรคไปต่างๆนาๆ ตั้งแต่ อากาศพิษที่เรียกว่า miasma การเรียงตัวของดวงดาวที่มีผลให้เกิดโรคระบาด เป็นต้น
ภาพวาดแสดงถึงความเชื่อสิ่งที่เรียกว่า Miasma
เมื่อเชื่อว่าสาเหตุของโรคระบาดเป็นจากอากาศพิษ วิธีแก้จึงต้องใช้อากาศดีเข้ามาขับไล่ เช่น การถือช่อดอกไม้จ่อไว้ที่จมูก หรือการเผากำยานให้มีกลิ่นของเปลือกไม้
การหลั่งเลือดด้วยการใช้มีดเปิดเส้นเลือดดำหรือใช้ปลิงดูดเลือด
หมอบางคนใช้หัวหอมผสมเนยมาพอกที่แผลตามร่างกายแล้วโรยด้วยกบตากแห้งป่น หมอบางคนนำปรอทมาทาทั่วตัวคนป่วยแล้วนำผู้ป่วยไปนอนในเตาอบ
วีธีการรักษาเหล่านี้แม้ว่าจะได้คะแนนความครีเอทีฟสูง แต่ใช้ไม่ได้ผลจริงสักอย่าง โรคยังระบาดไปเรื่อยๆ คนตายมากขึ้นเรื่อย จนสุดท้ายหมอก็เรียนรู้ว่าวิธีรักษาต่างๆที่มีอยู่ใช้ไม่ได้ผล สิ่งที่หมอควรจะทำคือ ทิ้งคนป่วยแล้วหนีเอาตัวรอด
เมื่อหมอช่วยอะไรไม่ได้ อีกทางเลือกหนึ่งที่คนหันไปพึ่งพาก็คือ นักบวชในศาสนา
ด้วยความที่ยุคสมัยนั้นคนจำนวนมากยังเชื่อว่าความเจ็บไข้ได้ป่วย หรือโรคระบาดเป็นการลงโทษจากพระเจ้า วิธีการหนึ่งในการรักษาโรคหรือหยุดการระบาดคือ การสวดอ้อนวอนพระผู้เป็นเจ้า
เอาจริงๆไม่ใช่แต่ชาวยุโรปยุคนั้นที่หันหน้าเข้าหาศาสนาเมื่อเกิดเจ็บป่วย แม้แต่คนยุคปัจจุบันเมื่อเกิดเจ็บป่วยด้วยโรครุนแรงเราก็ต้องการที่พึ่งทางใจ หลายคนสวดมนต์ ทำบุญตักบาตร ปล่อยนกปล่อยปลา หรือเดินทางไปกราบไหว้สิ่งศักดิ์สิทธ์ตามที่ต่างๆ
ชาวยุโรปยุคนั้นเองก็เช่นเดียวกัน เมื่อมีโรคระบาด ผู้คนจำนวนมากก็ออกเดินทางเพื่อไปจาริกแสวงบุญ เพื่อให้ตัวเองและครอบครัวหายจากความเจ็บป่วยหรือรอดพ้นจากการติดโรค การเดินทางจาริกแสวงบุญก็ต้องไปยังสถานที่ซึ่งมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เรียกว่าเรลิกส์ (relics) เพราะเป็นความเชื่อว่าพลังแสงศักดิ์สิทธิ์จาก relics จะทำให้หายหรือป้องกันโรคได้
1
แต่กลับกลายเป็นว่าการเดินทางยิ่งเพิ่มการกระจายของโรค เพราะคนที่ออกเดินทางส่วนใหญ่จะมาจากเมืองที่มีการระบาดของโรคหนัก จึงนำโรคไประบาดในชนบทหรือเมืองเล็กๆที่มีคนอาศัยอยู่ไม่มากนัก ด้วยเหตุนี้แม้แต่เมืองเล็กๆที่ในช่วงแรกปลอดจากโรค สุดท้ายก็ไม่รอดจากมัจจุราชสีดำเช่นกัน
อีกหนึ่งการเคลื่อนไหวที่ได้รับความนิยมมากขึ้นแต่ทำให้โรคระบาดได้กว้างไกลขึ้นคือ พิธีกรรมที่เรียกว่า flagellant (แฟลกเจแลนท์)
ภาพคนใส่ชุดขาวเฆี่ยนตีหลังตัวเอง
เชื่อว่าหลายคนอาจจะเคยดูภาพยนตร์แล้วเห็นฉาก คนนับถือศาสนาคริสต์บางคนที่ใช้แส้หนังตวัดมาฟาดหลังตัวเองจนเป็นแผลเหวอะหวะ (ที่ผมนึกออกเรื่องนึงตอนนี้คือ The Davinci Code) คนที่ทำพิธีกรรมแบบนั้น เรียกว่าเป็น flagellant movement
flagellant movement ไม่ได้เกิดขึ้นในช่วงที่กาฬโรคระบาด แต่มีมาก่อนหน้านั้นนานเป็นร้อยปีแล้ว ไอเดียที่อยู่เบื้องหลังของพิธีกรรมนี้คือ ความเชื่อว่าอีกไม่นานจะเป็นวันสิ้นโลก(วันโลกาวินาศ หรือวันพิพากษา The Last Judgement) แล้วก่อนจะถึงวันนั้นพระเยซูจะกลับมาที่โลกอีกครั้ง
ภาพ The Last Judgement โดย ไมเคิลแองเจลโล
ในช่วงเวลานั้นคนเลวทั้งหลายจะถูกทำลาย ซาตานจะถูกขังในนรก และเพื่อเป็นการลงโทษตัวเองก่อนจะถึงวันพิพากษานั้น จึงมีการเฆี่ยนตีตัวเองเพื่อชดใช้บาปกรรมของตัวเอง (รูปแบบหนึ่งของ penance)
นอกจากนี้ยังเป็นการระลึกถึงความเจ็บปวดและการเสียสละอดทนของพระเยซูอีกด้วย ดังนั้นการลงโทษจึงไม่ได้มีแค่การเฆี่ยนหลังตัวเองด้วยแส้ แต่บางคนยังใส่มงกุฎหนามที่ศรีษะ หรือขนาดยอมถูกตรึงกางเขนก็มี
flagellant movement นี้แม้ว่าจะเกิดขึ้นมานานแล้วแต่ได้รับความนิยมน้อยมาก จนกระทั่งเมื่อมีโรคระบาดเกิดขึ้น ซึ่งคนจำนวนมากมองว่าโรคระบาดเป็นผลจากบาปของตัวเอง จึงเริ่มการออกเดินแห่แล้วเฆี่ยนหลังตัวเองต่อหน้าสาธารณะ เพื่อเป็นการลงโทษตัวเองและหวังว่า เมื่อลงโทษตัวเองมากพอจนบาปเหลือน้อยลงแล้ว พวกเขาจะสามารถรอดพ้นจากโรคระบาดได้
ความนิยมในพิธีกรรมนี้จึงค่อยๆเพิ่มขึ้นในหลายประเทศ โดยเฉพาะในดินแดนเยอรมัน ออสเตรีย เบลเยี่ยมและฮอลแลนด์
การเดินแห่แล้วเฆี่ยนตัวเองนี้ ไม่ได้เดินอยู่แค่ในตลาดหรือเมืองตัวเอง แต่คนเหล่านี้เดินทางจากเมืองสู่เมือง เมื่อไปถึงเมืองไหน ผู้คนมากมายก็จะแห่ออกมายืนดูและสวดมนต์
หลายคนทิ้งบ้านทิ้งเมืองเข้าร่วมไปกับขบวนแห่ และด้วยความที่ขบวนแห่มักเกิดขึ้นหรือเดินทางผ่านเมืองที่โรคระบาดหนัก ขบวนแห่นี้จึงช่วยแพร่โรคไปเรื่อยๆ เมื่อคนเก่าตายไป คนใหม่ที่เข้าร่วมก็มาช่วยแพร่เชื้อกันต่อ
อย่างไรก็ตามไม่ได้แปลว่า พิธีกรรมที่ได้รับความนิยมสูงนี้จะเป็นวิธีปฏิบัติที่ได้รับการยอมรับทั่วไปนะครับ จริงๆแล้วพิธีกรรมนี้ไม่ได้รับการยอมรับจากคริสตจักร ถึงขนาดว่าพระสันตปาปาประกาศว่าพิธีกรรมนี้เป็นพิธีกรรมนอกรีตและห้ามชาวคริสต์เข้าร่วมกันพิธีกรรมนี้ (เพราะเท่ากับว่าคนทั่วไปสามารถลดบาปได้เองโดยไม่ต้องพึ่งตัวกลางอย่างสถาบันศาสนาและพระสันตปาปา)
คำถามคือแล้วศาสนาเป็นที่พึ่งให้กับประชาชนได้ไหม ?
1
คำตอบคือไม่ได้ครับ เพราะสิ่งที่คนทั่วไปเห็นคือ นักบวชที่ปฏิบัติดีมาตลอดจนชาวบ้านรักใคร่นับถือ ก็เสียชีวิตจากโรคระบาด นักบวชที่ชาวบ้านรู้ว่าปฏิบัติไม่ดีมาตลอด ก็เสียชีวิตจากโรคระบาด
แถมพระ นักบวชที่คอยช่วยเหลือคนป่วย ดูแลคนป่วยยามเจ็บไข้กลับตายเร็ว ส่วนพระนักบวชที่หนีเอาตัวรอด ไม่ช่วยเหลือคนที่เดือดร้อน กลับเป็นคนที่รอดชีวิต ทำให้ชาวบ้านรู้สึกว่า พระในศาสนาก็โดนลงโทษจากพระเจ้าไม่ต่างไปจากคนอื่นๆ
ถ้าพระนักบวช บิชอป พระสันตะปาปายังช่วยตัวเองไม่ได้ แล้วจะมาช่วยพวกเราได้อย่างไร
เมื่อหมอก็ช่วยอะไรไม่ได้ พระในศาสนาก็เป็นที่พึ่งไม่ได้
ทางเลือกถัดไปที่พอจะช่วยได้ก็คือ ต้องหาแพะ
แม้ว่าแพะจะไม่ช่วยให้หายจากโรค แต่ก็เป็นที่ระบายความโกรธ ความกล้วได้บ้าง
และแน่นอนครับ แพะของชาวยุโรปในทุกยุคทุกสมัย แพะที่ใช้ได้ดีในทุกสถานการณ์ก็คือ ... ชาวยิว
ทุกครั้งที่มีเหตุการณ์ที่ทำให้ผู้คนหวาดกลัวโดยไม่สามารถหาคำอธิบายที่มาได้ ทางออกที่พอจะบรรเทาความกลัวและโกรธได้วิธีหนึ่งคือ หาคนมาเพื่อจะชี้นิ้วว่า เขาเป็นคนผิด และระบายอารมณ์โกรธและกลัวไปที่คนนั้นหรือคนกลุ่มนั้น
นับตั้งแต่ศาสนาคริสต์เกิดขึ้นครั้งแรก ชาวยิวก็ถูกมองว่าเป็นคนที่ตามคำสอนที่ “ไม่อัพเดท” หรือเป็นพวกที่สังหารพระเยซู ทำให้ชาวยิวถูกมองว่าแปลกแยกจากชาวยุโรปอื่นๆที่นับถือศาสนาคริสต์มาโดยตลอด
 
ชาวยิวในบางพื้นที่ถูกหาว่า วางยาในบ่อน้ำของหมู่บ้านเพื่อสังหารชาวคริสต์ บางพื้นที่มองว่าเป็นเพราะชาวยิวไม่ยอมเปลี่ยนความเชื่อ ไม่ยอมเชื่อเหมือนที่ชาวคริสต์เชื่อ จึงทำให้พระเจ้าไม่พอใจและลงโทษ
จึงเกิดการล่าชาวยิวขึ้นในหลายพื้นที่ของยุโรป ชาวยิวบางส่วนถูกนำมามัดรวมกันแล้วเผาทั้งเป็น การสังหารชาวยิวนี้เกิดขึ้นมากมาย จนถึงขั้นพระสันตะปาปา ต้องออกคำสั่งมาโดยตรงว่า ห้ามชาวคริสต์สังหารชาวยิว
ชาวยิวจำนวนมากถูกเผาทั้งเป็นในช่วงโรคระบาด
แพะกลุ่มที่สองคือ คนที่ป่วยด้วยโรคเรื้อนหรือโรคผิวหนังต่างๆ
เหตุผลก็ตรงไปตรงมาว่า ในยุโรปยุคนั้นมองว่าคนที่หน้าตาน่าเกลียดน่ากลัว เป็นคนเลวหรือเป็นคนบาป คนที่เกิดในตระกูลดีหน้าตาดี ผิวพรรณงดงามเป็นคนดี มีบุญ
ดังนั้นคนที่น่าเกลีดด้วยโรคติดเชื้ออย่างโรคเรื้อน หรือป่วยเป็นโรคผิวหนังอื่นๆที่ดูไม่สวยงาม จะถูกมองว่าเป็นคนบาป และอาจจะเป็นต้นเหตุให้พระเจ้าไม่พอใจ ดังนั้นคนกลุ่มนี้จึงถูกทำร้ายและลงโทษเป็นจำนวนมาก
คนอีกกลุ่มหนึ่งที่กลายเป็นแพะไปโดยไม่รู้ตัวก็คือ เหล่านักบวชทั้งหลาย
เหตุผลก็คือว่า เป็นหน้าที่ของนับบวชและสถาบันศาสนา ที่จะต้องเป็นตัวกลางสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างมนุษย์และพระเจ้า แต่เป็นเพราะตัวกลางทำหน้าที่ได้ไม่ดี นักบวชและประชาชนทั่วไปจึงถูกลงโทษ แล้วด้วยความที่คนดี คนเลว นักบวช เสียชีวิตไม่ต่างกัน ทำให้คนจำนวนไม่น้อยตั้งคำถามกับศาสนา และสูญเสียศรัทธาที่มีต่อคำสอนในศาสนา ซึ่งจะมีผลต่อไปในอนาคต (ซึ่งผมจะเล่าให้ฟังในตอนหน้าครับ)
2.
แม้ว่าหมอและศาสนาจะช่วยหยุดยั้งโรคไม่ได้เลย แต่สุดท้ายหลังจากที่โรคระบาดในยุโรปอยู่นานประมาณ 4 ปี โรคก็หายไปเฉยๆ เงียบๆ ไม่ต่างไปจากตอนที่เริ่มระบาด
คำถามที่หลายคนคงอยากรู้คือ โรคหายไปได้อย่างไร?
คำตอบเป็นส่วนผสมของสิ่งที่เราตอนนี้คุ้นเคยกันดี ไมว่าจะเป็น social distancing + quarantine และ herd immunity
ด้วยความกลัวทำให้คนส่วนใหญ่เลี่ยงที่จะเข้าใกล้หรือสัมผัสคนป่วยหรือของใช้ต่างๆที่ผู้ป่วยเคยใช้ ยิ่งต่อมาเมื่อคนเสียชีวิตมากขึ้นจนประชากรเบาบาง โอกาสที่เชื้อจะแพร่จากคนหนึ่งสู่อีกคนหรือหลายๆคนก็ลดลงมาก ร่วมไปกับการค้าขายระหว่างเมืองถูกตัดขาดไป คนกลัวและไม่ไว้ใจคนแปลกหน้าที่เดินทางมาจากเมืองอื่นส่งผลให้คนเดินทางไกลๆลดลงเรื่อยๆ
ด้วยความกลัวอีกเช่นกัน เมื่อรู้ว่ามีใครป่วยหรือสงสัยว่าจะป่วย จะมีการบังคับจากชุมชนให้คนนั้นต้องถูกกักตัว (ออกแนวจับขังเสียมากกว่า)
แล้วไม่ใช่ทุกคนที่ป่วยจะเสียชีวิต มีคนจำนวนหนึ่งเมื่อป่วยแล้วสามารถที่จะหายเองได้ ซึ่งทำให้ในเวลาต่อมาร่างกายของคนๆนั้นมีภูมิต่อการติดเชื้อซ้ำขึ้นมา ไม่มากก็น้อย
ดังนั้นในแต่ระลอกที่โรคระบาดไป จะเกิดการคัดเลือกคนที่ร่างกายสามารถต่อต้านเชื้อให้มีชีวิตรอด
เมื่อมีคนที่ร่างกายมีภูมิมีจำนวนมากขึ้น เชื้อโรคก็ลำบาก เพราะเมื่อเข้าไปในร่างกายคนนั้นแล้วไม่สามารถที่จะแบ่งตัวเพิ่มจำนวนแล้วติดไปสู่คนอื่นได้ เหมือนเข้าไปแล้วเจอทางตัน ก็จะจบสิ้นสายพันธุ์อยู่แค่ตรงนั้น
เมื่อเชื้อโรคเจอทางตันหลายทาง เข้าไปในร่างกายคนไหนก็ไปต่อไม่ได้ การระบาดของโรคก็ชะลอตัวลง จำนวนคนที่ติดเชื้อก็ค่อยๆลดลง จนสุดท้ายแม้แต่คนที่ไม่มีภูมิต่อโรคนี้เลยก็ได้รับประโยชน์ไปด้วย
อย่างไรก็ตาม การระบาดของโรคนี้ก็ไม่ได้หายไปซะเลยทีเดียว เพราะโรคยังวนเวียนกลับมาระบาดตามที่ต่างๆในยุโรปอีกเรื่อยๆ ทุก 5-10 ปี แต่การระบาดรอบหลังๆมักจะจำกัดอยู่แค่ในพื้นที่หนึ่ง ไม่ระบาดไปทั่วยุโรปอย่างที่เกิดขึ้นในปีค.ศ. 1348
นอกไปจากนั้นการระบาดในครั้งหลังๆ แม้ว่าจะยังทำให้เกิดการตายของคนจำนวนมาก แต่ก็เป็นหลักหลายหมื่นหลายแสน อาจจะมีแตะล้านบ้าง แต่ไม่มีครั้งไหนมากเท่าที่เกิดในช่วงค.ศ. 1348 อีกเลย
ทั้งหมดนี้เป็นภาพเพื่อให้เห็นว่า บรรยากาศของสังคมยุโรปในช่วงที่เกิดโรคระบาดมีหน้าตาประมาณไหน
สำหรับการเดินทางร่วมกันในครั้งหน้าผมจะชวนไปดูกันว่า ถ้าเราอยู่ในยุคสมัยที่จู่ๆก็มีโรคระบาดเกิดขึ้นแล้วประมาณ 4 ปีต่อมาคนที่เรารู้จักทั้งหมดตายไปประมาณครึ่งนึง
เมื่อโรคระบาดผ่านพ้นไปแล้ว จะทิ้งบาดแผล ทิ้งความทรงจำ หรือการเปลี่ยนแปลงต่อสังคมอะไรไว้บ้าง
สำหรับวันนี้แยกย้ายกันไปพักก่อนนะครับ รอเวลาให้กาฬโรคผ่านพ้นยุโรปไปก่อนแล้วเราค่อยออกเดินทางไปด้วยกันอีกรอบ
ถ้าให้ดีกดติดตามเพจไว้เลย เมื่อผมพร้อมออกเดินทางอีกครั้งเราจะได้ไม่คลาดกัน
หรือถ้าใครอยากจะเป็นเพื่อนกันทาง Line Official Account ก็ยิ่งดีครับ เมื่อผมจะออกเดินทางแล้วผมจะไลน์ไปเรียกอีกทีครับ
แล้วเจอกันครับ
(ปิดท้ายด้วยโฆษณา)
อ่านจบแล้ว ใครชอบประวัติศาสตร์การแพทย์เช่นนี้ แนะนำอ่านหนังสือ Best seller ของผมเอง “สงครามที่ไม่มีวันชนะ” และล่าสุด “เพื่อนเก่าที่หายสาบสูญ”
สามารถสั่งซื้อออนไลน์ได้จากลิงก์ด้านล่างทั้ง 2 ครับ

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา