8 เม.ย. 2020 เวลา 12:24 • ประวัติศาสตร์
The Black Death ตอนที่ 3
ยุโรปเปลี่ยนไปอย่างไร เมื่อคนตายไปครึ่งนึง
1.
ลองจินตนาการดูนะครับ
สมมติว่าเราตื่นเช้าขึ้นมาวันนึง แล้วพบว่ามีโรคร้ายแรงระบาดไปทั่ว หันไปทางไหนก็มีแต่คนล้มตายลงทีละคนสองคน
หลังจากผ่านไประยะหนึ่ง อาจจะหลายเดือนถึงหลายปี แล้วจู่ๆโรคที่ระบาดก็ค่อยๆหายไปเฉยๆอย่างรวดเร็ว
ชีวิตผู้คนเริ่มกลับมาเหมือนปกติ คุณเริ่มออกจากบ้าน ไปทำงาน ไปตลาด
แต่สิ่งที่ไม่เหมือนเดิมคือ เมื่อคุณนึกอยากเจอขึ้นมาสัก 2 คน ไม่ว่าคนนั้นจะเป็นเพื่อน ครอบครัว หรือเพื่อนร่วมงานที่คุณเกลียด
คุณจะพบว่า 1 ใน 2 คนนั้นตายไปแล้วคนนึง
สิ่งที่ผมชวนจินตนาการ ไม่ใช่พล็อตของหนังฮอลิวูดหรือซีรีย์ใน Netflix
แต่เป็นเรื่องราวจริงที่เคยเกิดขึ้นจริง กับคนจริงๆ ที่เคยมีชีวิตอยู่เมื่อหลายร้อยปีก่อน
เป็นคนที่มีความรัก มีความโลภ มีความโกรธ ไม่ต่างไปจากเรา
เป็นชาวยุโรปที่มีชีวิตอยู่ในช่วงที่กาฬโรคระบาดในปีค.ศ. 1348-1351
คำถามคือ โลกที่มีคนตายมากมายในเวลาสั้นๆเช่นนี้ จะเปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง?
ก่อนจะตอบคำถามว่าโลกของพวกเขาเปลี่ยนไปอย่างไร้บาง ผมคงต้องพาย้อนเวลากลับไปอีกครั้ง
เพราะเราคงต้องไปดูกันสักเล็กน้อยว่า ชาวยุโรปยุคกลางก่อนที่จะโดนกาฬโรครุกรานนั้น ชีวิตและสังคมพวกเขาเป็นอย่างไร
เพราะถ้าเราไม่รู้ว่าวิถีชีวิตก่อนเกิดโรคระบาดมีหน้าตาเป็นอย่างไร
เราก็คงจะบอกได้ยากว่าโรคระบาดทำให้วิถีชีวิตเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง
2.
หลังจากที่อาณาจักรโรมันตะวันตกล่มสลายลง
ดินแดนต่างๆที่เคยเป็นปึกแผ่นภายใต้อิทธิพลของอาณาจักรโรมัน ก็เกิดสูญญากาศทางอำนาจ
พื้นที่อาณาจักรโรมันยุครุ่งเรือง ภาพจาก wikimedia
พอไม่มีอำนาจจากส่วนกลางดินแดนต่างๆ แต่ละท้องถิ่นก็ต้องดูแลจัดการตัวเอง ซึ่งถ้าเป็นเรื่องการปกครอง ทำมาหากิน ก็พอจะดูแลตัวเองได้
แต่ยุโรปซึ่งเคยเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรโรมัน ยังโดนรุกรานจากรอบทิศ
ชาวโรมันที่อยู่ทางเหนือก็โดนชนเผ่าเยอรมันรุกรานเข้ามา ชาวโรมันที่อยู่ในดินแดนสเปนก็โดนชาวมุสลิมจากแอฟริกาเหนือรุกราน
ชาวโรมันบนเกาะอังกฤษก็โดนชนเผ่าเยอรมันที่ชื่อ แองเกิลส์ แซกซอน จูทส์ รุกราน
เมื่อชีวิตมีความเสี่ยงที่จะโดนโจมตี ปล้นสดมธ์ ผู้คนในแต่ละท้องถิ่นจึงขอความพึ่งพิงจากคนรวย คนที่มีกำลังทหารในท้องที่ของตัวเอง
หลายคนใช้วิธียกที่ดินให้กับผู้มีอำนาจบารมีเพื่อขอให้ช่วยคุ้มครอง
บางครั้งคนรวยและมีอำนาจก็ใช้โอกาสนี้ในการสร้างบารมีให้มากขึ้น ด้วยการให้การอุปการะคนอื่น สร้างอำนาจให้เพิ่มมากขึ้น
เกิดเป็นโครงสร้างแบบผู้มีอุปการะ กับคนที่รับการอุปการะในท้องถิ่นต่างๆ
เมื่อเวลาผ่านไป ระบบของการอุปการะก็วิวัฒนาการไปจนมีรูปแบบที่ชัดเจนมากขึ้น
ผู้มีอุปการะบางคนมีที่ดินและอำนาจมากพอก็อาจจะตั้งตัวเป็นกษัตริย์ขึ้นมา
แต่กษัตริย์เองก็ดูแลควบคุมดินแดนที่กว้างใหญ่ไม่ค่อยไหว คือไม่สามารถรวบอำนาจไว้ที่ส่วนกลางได้
จึงต้องปล่อยให้ขุนนางดูแลปกครองดินแดนของตัวเองไป
โดยใช้วิธีการแบ่งอาณาจักรของตัวเองเป็นส่วนๆ แล้วแบ่งที่ดินแต่ละส่วนซึ่งเรียกว่า ฟีฟ (fief) ให้ขุนนางหรือ lord ไปทำกิน
คนที่ได้รับแบ่งที่ดินไปทำกิน จะเรียกว่าเป็น vassal ของคนที่แบ่งที่ดินให้ การให้นี้มักไม่ใช่การให้ขาด แต่คนให้สามารถที่จะยึดที่ดินคืนได้
ตัวขุนนางหรือลอร์ดเองพอมีที่ดิน ก็สามารถหาคนมาทำการเพาะปลูก จนมีอาหารมากมายพอจะเลี้ยงคนและสร้างกองทัพมาได้
แต่การที่กษัตริย์แบ่งที่ดินให้กับขุนนางนั้นไม่ได้แบ่งให้ด้วยความใจดี เพราะลอร์ดต้องใหัคำมั่นสัญญาว่า
คุณปลูกหรือผลิตอะไรได้ ต้องแบ่งมาให้ด้วยส่วนนึง และ ถ้ากษัตริย์เรียกให้ยกกองทัพมาช่วยรบ คุณต้องส่งมา โดยเฉพาะกองทัพอัศวินที่รบบนหลังม้า
แต่ระบบไม่ได้มีแค่นี้ เพราะขุนนางที่ได้รับที่ดินจำนวนมากมา ก็จะมีการแบ่งที่ดินให้ขุนนางย่อยต่อไปอีกเป็นทอดๆ ด้วยสัญญาคล้ายๆกับที่มีต่อกษัตริย์ คือ คุณผลิตอะไรได้จากที่ดินอย่าลืมแบ่งมาด้วย แล้วถ้าเรียกให้ช่วยรบก็ต้องมา
3.
คราวนี้เราลองเดินทางไกลไปเยี่ยมขุนนางสักคนเพื่อดูว่าเขาอยู่กันอย่างไรบ้าง
ขุนนางจะอยู่ในปราสาท มีกำแพงล้อมรอบ
เดินออกมานอกกำแพงรอบๆเราจะเห็นหมู่บ้าน ไร่นา คนทำไร่นาจะเป็นคนที่เรียกว่า serf หรือทาสติดที่ดิน ซึ่งเป็นระบบที่สืบทอดมาจากระบบทาสในยุคสมัยของโรมัน แต่เป็นทาสที่ชีวิตดีขึ้นกว่าสมัยโรมันพอสมควร เพราะจะไม่โดนขายไปที่นู่นนี่
การเป็นทาสติดที่ดินคือถ้าที่ดินเปลี่ยนเจ้าของชาวไร่นาเหล่านี้ก็จะยังทำงานอยู่กับที่ดินเดิมต่อไป ทาสติดที่ดินสามารถแต่งงานมีลูกได้ ซึ่งต่างจากทาสสมัยโรมันที่ห้ามแต่งงานห้ามมีลูก และสามารถถูกขายไปไหนก็ได้
ในหมู่บ้านจะมีช่างฝีมือต่างๆบ้าง เช่น ช่างตีเหล็ก ช่างทำหนัง ช่างไม้ มีพ่อค้าขายผลผลิตทางการเกษตรบ้างแต่ก็น้อยมาก เพราะชนชั้นพ่อค้ายังเป็นส่วนน้อยของสังคม
ยุคกลางของยุโรปคนจะถูกแบ่งเป็น 3 ชนชั้นหรือฐานันดร (Estate) คือ หนึ่ง ชนชั้นนักบวช สองชนชั้นปกครองกษัตรย์ และขุนนาง นักรบทั้งหลาย และ สาม ชาวไร่ชาวนาทั่วไปหรือไพร่ (peasant)
สังคมแบบ tripartite ที่คนแบ่งเป็นสามชนชั้น
คำว่า estate หรือฐานันดร คำนี้น่าสนใจเพราะ มีรากศัพท์เดียวกับคำว่า สถาน stand, station คือ บอกที่ยืนของคุณในสังคมว่าคุณเกิดมาอยู่ตรงไหนของสังคม
ซึ่งความน่าสนใจของคำนี้คือมันบอกว่าที่ยืนจะอยู่ที่ไหนไม่ใช่เรื่องของความจน ความรวย แต่มันเป็นสิ่งที่พระเจ้ากำหนดมาว่าคุณมีหน้าที่อะไรในสังคม
ดังนั้นการย้ายฐานันดรจึงเป็นสิ่งที่แทบจะเป็นไปไม่ได้เลย เกิดมาเป็นแบบไหนก็จะเป็นแบบนั้นไปตลอดชีวิต คุณต้องยืนประทับอยู่ตรงนั้นทั้งชีวิต
จริงอยู่ว่าถ้าคุณเกิดเป็นชาวนา คุณอาจจะบวชเป็นนักบวชในศาสนาได้ แต่ภายในฐานันดรนักบวชหรือ clergy ก็มีการแบ่งชนชั้น โดยนักบวชระดับสูงๆ อย่าง bishop หรือ archbishop เกือบ 100% จะมาจากลูกหลานของกษัตริย์หรือขุนนาง
1
ถ้าเป็นชาวไร่ชาวนาบวช ก็มักจะเป็นได้แค่ระดับ แพริช (parish priest) ซึ่งก็คือนักบวชในโบสถ์ที่คอยทำพิธีกรรมต่างๆให้กับชาวบ้าน ส่วนใหญ่จะไม่มีการศึกษา อ่านเขียนไม่เป็น และมีฐานะยากจน
สิ่งที่เราเห็นทั้งหมดนี้ ไม่ว่าจะเป็นปราสาท หมู่บ้าน ไร่นา จะเรียกรวมๆกันว่าแมเนอร์ (Manor) ซึ่งจะเป็นหน่วยการปกครอง หน่วยการผลิตระดับย่อยที่สุด โดยระบบ Manor นี้จะมีความพอเพียงในตัวเองคือ ผลิตทุกอย่างที่จำเป็นสำหรับการดำรงชีวิตได้ด้วยตัวเอง แล้วสิ่งที่ผลิตชาวไร่ชาวนา ช่างฝีมือผลิตได้ก็จะต้องแบ่งให้ ชนชั้นขุนนางและนักบวช
1
พอจะเห็นภาพคร่าวๆกันแล้วนะครับว่าสังคมของยุโรปยุคกลางมีหน้าตาประมาณไหน
แต่ทั้งหมดนี้กำลังจะเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิงเมื่อโรคระบาดมาถึง
4.
ก่อนที่กาฬโรคจะเข้ายุโรปในปลายปี 1347 ยุโรปในเวลานั้นมีปัญหาคนล้น
ผลผลิตทางการเกษตรที่มีก็ไม่ค่อยพอกิน เกิดภาวะขาดอาหารรุนแรงจนคนเสียชีวิตมากมายเป็นระยะ
เมื่อประชากรมีมาก แรงงานจึงเป็นของหาง่าย ขุนนางเจ้าของที่ดินอยากจะหาคนไปทำไร่นาจึงทำได้ง่ายมาก อำนาจต่อรองจึงตกที่ฝั่งเจ้าของที่ดิน
1
แต่หลังจากที่เกิดโรคระบาดและคนตายไปเป็นจำนวนมาก
คนที่เสียชีวิตมีทั้งคนที่เป็นเจ้าของที่ดินและคนที่เป็นชาวไร่ชาวนา
ทำให้ที่ดินหรือแมนเนอร์หลายแห่งกลายเป็นที่ดินรกร้าง ไม่มีเจ้าของ ไม่มีคนดูแล ไม่มีคนอาศัยอยู่ จนป่าค่อยๆคืบคลานเข้ามาแล้วกลืนไร่นาเหล่านั้นไป
เมื่อแรงงานเหลือน้อยลง เจ้าของที่ดินหรือลอร์ดก็หาคนมาทำงานในไร่นาไม่ค่อยได้ แรงงานกลายเป็นของหายาก อำนาจต่อรองจึงตกไปอยู่ทางฝ่ายชาวไร่ชาวนา
เจ้าของที่ดินจึงต้องยอมจ่ายค่าแรงในราคาที่สูงขึ้นมาก
บางครั้งชาวนาที่ไม่พอใจ ก็อาจจะอพยพย้านถิ่นไปพื้นที่อื่นและอาจไปพบไร่นาที่ถูกทิ้งร้าง ก็เข้าจับจองทำกินโดยไม่มีใครมาต่อว่าเพราะที่ดินรกร้างซึ่งไม่ได้ทำการเพาะปลูกมีมากมาย
เมื่อไร่นาถูกทิ้งร้างไม่มีคนทำงาน ผลผลิตทางการเกษตรจึงลดลง แต่เมื่อเทียบกับจำนวนคนบริโภคที่ลดลงเป็นสัดส่วนที่มากกว่า ทำให้แม้ว่าผลผลิตทางการเกษตรจะน้อยลง แต่กลายเป็นว่า อาหารสำหรับแต่ละคนมีเพิ่มขึ้น
ลักษณะนี้ไม่ได้พบแค่ในเรื่องอาหารการกิน แต่สิ่งของเครื่องใช้ก็เช่นเดียวกัน สินค้าจำนวนมากมีคนซื้อน้อยลงกว่ากำลังผลิต ทำให้ อาหารเครื่องอุปโภคบริโภคต่างๆมีราคาถูกลง ชีวิตของชาวบ้านที่รอดตายจากโรคระบาดจึงดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
แน่นอนว่าชนชั้นปกครองที่เป็นเจ้าของที่ดินซึ่งเสียอำนาจต่อรอง ก็ไม่ต้องการให้เป็นเช่นนั้น
เมื่อเจ้าของที่ดินส่วนใหญ่เป็นฝ่ายที่มีอำนาจในการออกกฎหมาย จึงพยายามใช้อำนาจนั้นออกกฎที่จำกัดสิทธิ์ของชาวไร่ชาวนา เช่น ออกกฎไม่ให้หนีไปจากที่ดินได้ คนที่หนีไปหาที่ดินจับจองเป็นของตนเองก็จะโดนไล่ล่ากลับมาลงโทษ หรือออกกฎให้มีการตั้งเพดานราคาค่าจ้างไว้ ซึ่งกฏเหล่านี้ถ้าพูดกันในภาษาปัจจุบันคือ พยายามไปฝืนกฎไกตลาด จึงนำไปสู่ความขัดแย้งระหว่างชนชั้น
1
ความขัดแย้งระหว่างชนชั้นนี้ในเวลาต่อมาก็ลุกลามไปจนเกิดการลุกขึ้นมาปฏิวัติต่อต้านของชาวไร่ชาวนา ในยุโรปหลายครั้ง เช่น การปฏิวัติของชาวนาในฝรั่งเศสที่มีชื่อว่า ฌาคเกอรี (The Jacquerie) การปฏิวัติของชาวนาในอังกฤษหรือ The Peasant revolt และในอิตาลีก็มี การปฏิวัติของชิออมปี Ciompi revolt (วันหลังจะเล่าเรื่องการปฏิวัติเหล่านี้ให้ฟังครับ เพราะเป็นเหตุการณ์สำคัญที่มีส่วนเล็กๆในการนำยุโรปเข้าสู่ยุคปัจจุบัน)
The Jacquerie ภาพจาก Wikimedia
ชาวไร่ชาวนาบางส่วน เมื่อโดนกดขี่บวกกับเห็นโอกาสใหม่ๆเมือง ก็ย้ายจากชนบทเข้าไปหางานในเมืองใหญ่
5.
ช่วงเกิดโรคระบาด เมืองซึ่งมีผู้คนอาศัยอย่างหนาแน่น มักจะเกิดการระบาดของโรคหนักจนผู้คนล้มตายมากมาย
หลังโรคระบาดผ่านไป ชาวเมืองจึงเหลือน้อยลงจนทำให้เกิดการว่างงานมากขึ้น
ชาวไร่ชาวนาหลายคนที่เบื่อการทำนาก็สามารถอพยพเข้ามาหางานในเมืองหรือเรียนรู้ ที่จะฝึกวิชาชีพหรือวิชาช่างต่างๆ แล้วกลายเป็นชนชั้น พ่อค้าขึ้นมา
นอกเหนือไปจากชาวไร่ชาวนาที่กลายมาเป็นพ่อค้าแล้ว คนงานที่เคยทำงานในปราสาทให้กับขุนนาง เช่น แม่ครัวทำอาหาร คนทำขนมปัง หลายคนก็ตกงานและต้องย้ายเข้าเมืองเพราะขุนนางเองก็ตายไปมากมาย คนเหล่านี้จึงหันมาผลิตสินค้าจำหน่ายกับคนทั่วไปด้วยเช่นกัน
หลายคนอาจจะสงสัย เมื่อกี้บอกว่า ผลผลิตทางการเกษตรและเครื่องใช้ต่างๆผลิตได้เยอะ แต่คนบริโภคมีจำนวนน้อยลง แล้วพ่อค้าในเมืองที่ผลิตสินค้าหรืออาหารขายเหล่านี้จะหาลูกค้าได้หรือ ?
คำตอบคือ ได้ครับ และขายได้ดีด้วย
คำอธิบาย ส่วนหนึ่งมาจากทัศนคติของคนที่รอดชีวิตจากโรคระบาดเปลี่ยนไป
โรคระบาดที่เกิดขึ้นนั้นไม่ได้มารอบเดียว แต่มาหลายรอบ แต่ละรอบทำให้คนตายไปมากมาย
เมื่อความตายอยู่ใกล้ตัว หลายคนจึงเกิดความรู้สึกว่าชีวิตมันช่างสั้นนัก ชีวิตมีความไม่แน่นอนสูง ไม่รู้จะกอดเงินไว้กับตัวเพื่ออะไร ตายไปก็เอาไปไม่ได้ จึงอยากจะใช้ชีวิตในแต่ละวันอย่างมีความสุขมากขึ้น
กล้าที่จะจับจ่ายใช้สอย กล้าที่จะซื้อสิ่งของต่างๆ ที่ช่วยให้ชีวิตสุขสบายรวมไปถึงสินค้าฟุ่มเฟือยต่างๆ เช่น ของใช้ที่สวยงาม เครื่องประดับ กล้าที่จะกินของดีๆแพงๆ
ซึ่งความกล้าที่จะใช้เงินนี้ก็ช่วยขับเคลื่อนให้ตลาดของ สินค้าหรูหรา ขายดีขึ้น
เมื่อมีคนซื้อ ก็มีคนอยากขายมากขึ้น ก็พยายามสรรหาสิ่งของใหม่ๆแปลกๆหรือผลิตสินค้าใหม่ที่แตกต่างจากคนอื่นมาตอบสนองตลาด
จึงเกิดลักษณะที่ สินค้าอุปโภคบริโภคทั่วๆไป ซึ่งจำเป็นสำหรับชีวิต มีราคาถูกลง เข้าถึงได้ง่ายขึ้น ขณะที่สินค้าฟุ่มเฟือย สินค้าราคาแพงกลายเป็นของที่คนซื้อหามาใช้กันมากขึ้น
1
พ่อค้าที่ขายของหายาก ของฟุ่มเฟือยจึงมากขึ้น ตลาดเติบโตขึ้น พ่อค้าร่ำรวยมากขึ้น ชาวไร่ชาวนาจึงเดินทางเข้าเมืองมาประกอบอาชีพพ่อค้ามากขึ้น
ตัวอย่างหนึ่งที่สำคัญของคนกลุ่มนี้คือ ตระกูลเมดิชี่ ซึ่งย้ายเข้าเมืองหลังการเกิดโรคระบาดและต่อมาเข้าสู่วงการธนาคารจนกลายเป็นตระกูลที่ร่ำรวยและมีอำนาจมากที่สุดของยุโรปในเวลาต่อมา
ทั้งหมดนี้อาจจะสรุปสั้นๆได้ว่า คนที่เคยรวยมากกลายเป็นคนที่รวยน้อยลง คนเคยจนหลายคนมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น และร่ำรวยขึ้น
แต่ความรวยยังนำไปสู่อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญ นั่นก็คือ .... อำนาจ
6.
แต่ไหนแต่ไรมา นับตั้งแต่โรมันตะวันตกเสื่อมอำนาจไป เส้นทางของความร่ำรวยวิธีเดียวคือการมีที่ดินมากๆ
ต่อมาเมื่อการค้าเริ่มขยายตัว ความร่ำรวยจึงย้ายมาอยู่ที่คนทำการค้าขายเป็น ไม่ได้อยู่ที่คนมีที่ดินมากๆอีกต่อไป
ชนชั้นพ่อค้าซึ่งเป็นชนชั้นใหม่ ไม่ได้อยู่ใน 3 ฐานันดรจึงร่ำรวยขึ้นเรื่อยๆ
แต่กษัตริย์และขุนนางไม่สามารถมาค้าขายได้ เพราะชนชั้นขุนนางจะมาทำงานที่ต้องใช้แรงงานหรือค้าขายเช่นนี้ไม่ได้
จึงพลาดโอกาสที่จะเติบโตร่ำรวยในยุคสมัยที่เปลี่ยนไปนี้
เศรษฐีใหม่จึงเกิดขึ้น ขณะที่เศรษฐีเก่าเริ่มจนลงเรื่อยๆ
ทั้งพ่อค้าและขุนนาง ต่างก็รู้ว่าอีกฝ่ายมีสิ่งที่ตัวเองขาด ทำให้การแต่งงานระหว่างตระกูลขุนนางเก่าและพ่อค้าที่รำ่รวยจึงพบได้มากขึ้น
พ่อค้าแต่งเพื่อให้มียศฐาบรรดาศักดิ์ ขุนนางแต่งเพื่อให้มั่งคั่ง
ด้วยเหตุนี้ การไต่เต้าทางสังคมจึงเริ่มเกิดขึ้น จากเดิมที่เมื่อใครเกิดมาในฐานันดรไหนก็จะอยู่ในฐานันดรนั้นตลอดชีวิต
เมื่ออาชีพพ่อค้าสามารถทำให้ชาวไร่ชาวนาร่ำรวยขึ้นได้ โอกาสที่ชาวนาจะขึ้นมามียศฐาบรรดาศักดิ์ มีอำนาจจึงเป็นไปได้ขึ้นมา
ระบบหรือโครงสร้างสังคมแบบ 3 ฐานันดรที่มีมาเป็นร้อยปีจึงสั่นคลอนและค่อยๆล่มสลายลงภายในเวลาไม่กี่ปีพร้อมๆกับระบบ Manor และทาสติดที่ดินในเวลาต่อมา
และชนชั้นพ่อค้า(แม่ค้า)ก็จะกลายมาเป็นชนชั้นที่สำคัญและมีบทบาทต่อสังคมมาก อย่างที่เรารู้ๆกันดีในทุกวันนี้
7.
มาดูผลกระทบทางด้านศาสนากันบ้าง
ผลกระทบของโรคระบาดมีทั้ง ที่เป็นผลดีและผลเสีย ต่อสถาบันศาสนา
วัดในยุคกลางส่วนใหญ่จะเป็นเจ้าของที่ดินมากมายซึ่งเดิมที่ดินเหล่านี้นิยมปล่อยให้คนเช่าไปทำกินและเก็บค่าเช่าเป็นผลผลิตที่ผลิตได้ ทำให้วัดส่วนใหญ่ร่ำรวย
แน่นอนว่านักบวชก็เสียชีวิตไม่ต่างไปจากชาวบ้านทั่วๆไป ทำให้วัดหลายแห่งกลายเป็นวัดร้างที่ไม่มีนักบวชประจำอยู่
1
จึงมีคนที่มองว่านี่เป็นโอกาสที่จะเข้าไปครอบครองความร่ำรวยนั้นและบวชเป็นนักบวชโดยที่ไม่ได้ศรัทธาในศาสนามากนัก เมื่อเข้าไปเป็นนักบวชจึงไม่ได้สนใจศึกษาพระคัมภีร์หรือปฏิตัวให้เป็นนักบวชที่ดี ผลคือ สถาบันศาสนาเสื่อมลงอย่างมาก
ซึ่งความเสื่อมนี้จะมีผลให้เกิดวิกฤติศรัทธาอย่างรุนแรงในเวลาต่อมา สุดท้ายก็จะนำไปสู่การปฏิรูปศาสนาครั้งใหญ่
ด้วยความที่โรคนี้มาเร็วแล้วก็ไปเร็ว ตอนมาก็มาแบบไม่ให้ตั้งตัว พอจะหายไปก็หายไปเฉยๆ ทำให้หลายคนที่รอดชีวิตมาได้รู้สึก surreal หน่อยๆ คือ รู้สึกเหมือนเรื่องที่เกิดขึ้นเป็นความฝันที่ไม่ได้เกิดขึ้นจริง
และเพราะความรู้สึกนี้ หลายคนเริ่มถามตัวเองว่า ทำไมเป็นฉันที่รอดตายมาได้ หรือฉันจะเป็นคนที่ถูกเลือก หรือฉันเป็นคนที่ได้รับโอกาสให้แก้ตัว ทำให้หลายคนเริ่มหันมาศรัทธาในศาสนามากขึ้น หลายคนที่เคยใช้ชีวิตแบบสำมะเลเทเมา ก็กลายมาเป็นคนดี ช่วยเหลือคนอื่น เข้าโบสถ์อย่างสม่ำเสมอ
ในทางตรงกันข้าม หลายคนก็มองเห็นสิ่งที่เกิดขึ้นต่างไป คือเห็นว่า นักบวช พระ หรือคนดีที่คอยช่วยเหลือคนอื่น ตายไปมากมาย ขณะที่โจร ขโมย คนที่เห็นแก่ตัวเอาเปรียบคนอื่นเพื่อความอยู่รอดกลับรอดชีวิต ทำให้อดตั้งคำถามไม่ได้ว่าทำไมจึงเป็นเช่นนั้น คนจำนวนไม่น้อยจึงหมดศรัทธาในศาสนาและพระเจ้า
ความตายของคนจำนวนมากในเวลาสั้นๆยังมีผลต่องานศิลปะต่างๆ โดยเราจะเห็นได้ว่า แต่เดิมก่อนการระบาดของโรคงานศิลปะต่างๆจะไม่มีเรื่องของความตายมากนัก แต่หลังโรคระบาดผ่านพ้นไป ภาพวาดหรือรูปปั้นจะมีภาพของความตายมากขึ้น
และไม่เพียงแค่นั้น มุมมองที่มีต่อความตายของชาวยุโรปก็ต่างไป
ก่อนมีโรคระบาดทัศนคติของชาวคริสเตียนที่มีต่อความตายจะค่อนข้างสวยงาม เพราะความตายจะเป็นเหมือนประตูที่ได้เดินทางกลับไปสู่สวรรค์
ภาพหรือรูปปั้นของคนตายที่อยู่บนโลงศพจะมีลักษณะเหมือนคนที่นอนหลับไปอย่างมีความสุข แต่หลังจากโรคระบาด ทัศนคติต่อความตายที่เห็นในงานศิลปะต่างๆจะต่างไป คือ มีความน่าเกลียด น่ากลัว เป็นภาพหรือรูปปั้นของคนที่ผ่ายผอม ศพที่เน่าไม่สวยงาม ซึ่งศิลปะที่เป็นภาพของความตายนี้ก็ค่อยๆวิวัฒนาการไปจนเกิดแนวใหม่ของศิลปะที่เรียกว่า ดานซ์ แมคคาร์บ (Danse Macabre) หรือระบำแห่งความตาย
Danse macabre หรือระบำแห่งความตาย
ศิลปะแนวนี้จะแสดงให้เห็นภาพของความตาย ซึ่งก็คือศพ โครงกระดูก เต้นระบำนำคนชนชั้นต่างๆเดินทางไปสู่ความตาย
เพื่อแสดงหรือเป็นการเตือนให้คนที่ไม่เคยผ่านเหตุการณ์โรคระบาดรู้ว่า ความตายโดยเฉพาะความตายที่มากับโรคระบาดนั้นอยู่ใกล้ตัว
ความตายนี้เกิดขึ้นได้กับทุกชนชั้น
ความตายจะมาเมื่อไหร่ไม่มีใครรู้ ไม่ว่าจะเป็นในยุโรปยุคกลาง
หรือในยุคสมัยอื่น ...
(ปิดท้ายด้วยโฆษณา)
อ่านจบแล้ว ใครชอบประวัติศาสตร์การแพทย์เช่นนี้ แนะนำอ่านหนังสือ Best seller ของผมเอง “สงครามที่ไม่มีวันชนะ” และล่าสุด “เพื่อนเก่าที่หายสาบสูญ”
สามารถสั่งซื้อออนไลน์ได้จากลิงก์ด้านล่างทั้ง 2 ครับ
ใครอยากรู้ว่าผมจะโพสต์อะไร ที่ไหน เมื่อไหร่บ้าง สามารถ add Line Official Account ไว้ได้ครับ เมื่อมีการลงบทความ podcast หรือ คลิปวีดีโอที่ไหน จะไลน์ไปแจ้งให้ทราบครับ
1

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา