1 เม.ย. 2020 เวลา 13:29 • สุขภาพ
"ยาเบาหวาน" ... กินอย่างไรให้ถูกต้อง
วันนี้เรามาพูดถึง "การกินยาเบาหวาน" แบบง่ายๆ ใครอ่านก็เข้าใจกันค่ะ
.
ยาเบาหวานแบ่งเป็นสองประเภทตามวิธีการใช้ยา คือ ชนิดกินและชนิดฉีด
.
💉สำหรับยาเบาหวานชนิดฉีด ซึ่งมักเป็นฮอร์โมนอินซูลินนั้นไม่เป็นที่นิยมของคนไทยมากนัก เนื่องจากคนไทยมักไม่ชอบที่จะฉีดยาและมักจะยอมฉีดเฉพาะเมื่อไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลได้จากการกินยาแล้วเท่านั้น
.
💊ยาเบาหวานชนิดกินจึงเป็นที่รู้จักและนิยมของคนไทยมากกว่า
.
วันนี้จึงได้รวบรวมยากินแบบต่างๆ พร้อมวิธีการกินยาอย่างถูกต้อง โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่ม ตามวิธีการกินยา ได้แก่ ยากินก่อนอาหาร พร้อมอาหารและหลังอาหาร
.
#ก่อนอาหาร
ยากลุ่มนี้ช่วยกระตุ้นให้ร่างกายพร้อมที่จะใช้พลังงานจากแป้งและน้ำตาล โดยกระตุ้นตับอ่อนให้หลั่งฮอร์โมนอินซูลินออกมา ณ เวลาที่ระดับน้ำตาลในเลือดสูงหลังจากกินอาหาร โดยทั่วไปแล้วยารุ่นเก่ามักแนะนำให้กินก่อนอาหารประมาณ 30 นาที ส่วนยารุ่นใหม่สามารถกินก่อนอาหารทันทีได้ขึ้นกับความเร็วในการกระตุ้นตับอ่อนของยาแต่ละตัว ยาที่แนะนำให้กินก่อนอาหาร ได้แก่ Chorpropamide, Glibenclamide, Gliclazide, Glipizide เป็นต้น
(สามารถเลื่อนดูภาพประกอบได้)
⚠️ข้อควรระวัง เมื่อกินยากลุ่มนี้ก่อนอาหารแล้ว จำเป็นต้องรับประทานทานอาหารหลังกินยาเสมอ เพราะถ้าไม่กินอาหาร ฮอร์โมนอินซูลินที่ถูกกระตุ้นให้หลั่งออกมาจะทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำกว่าระดับปกติ จนอาจเกิดอาการข้างเคียงที่รุนแรงได้ เช่นเดียวกับกรณีลืมกินยา ไม่ควรกินยาหลังอาหารแทน เพราะยาจะออกฤทธิ์ในช่วงที่ระดับน้ำตาลในเลือดลดต่ำลงไปแล้ว จึงทำให้ระดับน้ำตาลลดต่ำลงไปมากกว่าเดิม โอกาสเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดจะต่ำกว่าระดับปกติจะมากขึ้น ควรเว้นยาที่ลืมกินไปโดยไม่ต้องทานเพิ่มเป็นสองเท่า สำหรับผู้ที่ไม่มีเวลารับประทานอาหารที่แน่นอน เช่น บางวันไม่ทานมื้อเช้า บางวันไม่ทานมื้อเย็น การกินยากลุ่มนี้นอกจากจะไม่ได้ผลดีแล้ว ยังมีโอกาสเกิดน้ำตาลในเลือดต่ำกว่าปกติได้ง่ายอีกด้วย จึงควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรเป็นกรณีพิเศษ
.
#พร้อมอาหารคำแรก
ยาลดน้ำตาลในเลือดกลุ่มนี้ออกฤทธิ์ขัดขวางการดูดซึมน้ำตาลจากลำไส้เล็กเข้าสู่กระแสเลือด จึงควรกินพร้อมกับมื้ออาหาร โดยทั่วไปแนะนำให้กินพร้อมกับอาหารคำแรก ยากลุ่มนี้ ได้แก่ Acarbose, Voglibose
⚠️ข้อควรระวังการกินยากลุ่มนี้ก่อนอาหารหรือหลังอาหารเป็นเวลานานๆ ยาจะไม่เจอกับน้ำตาลที่ย่อยและพร้อมจะดูดซึมอยู่ในลำไส้เล็ก ถ้าลืมกินยานี้พร้อมอาหาร อาจสามารถกินยาหลังอาหารทันทีได้ แต่ประสิทธิผลของยาจะน้อยกว่าการกินยาพร้อมอาหาร สำหรับมื้อที่ไม่ได้ทานอาหาร ไม่จำเป็นต้องกินยากลุ่มนี้
.
#หลังอาหาร
ยาเบาหวานหลายกลุ่ม ออกฤทธิ์ช่วยทำให้อวัยวะต่างๆ ใช้น้ำตาลในกระแสเลือดที่ดูดซึมหลังรับประทานอาหารเพื่อไปเก็บสะสมหรือเปลี่ยนเป็นพลังงานได้ดีขึ้น จึงสามารถกินยาเหล่านี้หลังอาหารได้ทันที ยาหลังอาหารมีหลายกลุ่มด้วยกัน ผู้ป่วยหลายคนอาจต้องกินยาหลังอาหารมากกว่า 1 ชนิด เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิผลในการรักษามากขึ้น ยาเหล่านี้ ได้แก่ Metformin, Pioglitazone, Saxagliptin, Vidagliptin
(**Metformin เป็นยาที่กินก่อนหรือหลังอาหารก็ได้ จึงพบในรูปแบบยาผสมค่อนข้างเยอะ)
⚠️ข้อควรระวังยากลุ่มนี้ส่วนมากสามารถกินก่อนหรือหลังอาหารก็ได้ แต่โดยทั่วไปจะแนะนำให้กินหลังอาหาร สำหรับ metformin ซึ่งเป็นยาที่นิยมใช้มาก มีผลข้างเคียงที่พบได้บ่อย คือ คลื่นไส้ เบื่ออาหาร บ่อยครั้งจึงแนะนำให้ทานพร้อมอาหารคำแรก ซึ่งอาจช่วยลดอาการข้างเคียงนี้ได้ กรณีลืมกินยากลุ่มนี้หลังอาหารไม่นานมาก (ไม่ควรเกินครึ่งชั่วโมง) สามารถทานยาทันทีที่นึกได้ แต่ถ้านึกได้ใกล้อาหารมื้อถัดไปแล้ว ไม่ต้องกินยาที่ลืมควรเก็บยาไว้กินหลังอาหารมื้อถัดไปแทน
.
จะเห็นได้ว่ายาเบาหวานไม่ว่าจะกินก่อน กินพร้อมหรือกินหลังอาหาร ล้วนช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดด้วยคนละกลไก จึงอาจใช้ร่วมกันเพื่อช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ดีขึ้น ภายใต้คำสั่งการใช้ยาของแพทย์เท่านั้น ผู้ป่วยเบาหวานควรกินยาเบาหวานเหล่านี้ให้ถูกวิธี ซึ่งจะช่วยให้ยาออกฤทธิ์ได้ดีขึ้นมาก แต่เหนือสิ่งอื่นใด การระมัดระวังควบคุมอาหารก็เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในการดูแลรักษาตัวเองของผู้ป่วยเบาหวานทุกคน
.
.
.
ขอบคุณข้อมูลจาก
อาจารย์ เภสัชกร ธีรัตถ์ เหลืองมั่นคง
ภาควิชาเภสัชวิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
โฆษณา