3 เม.ย. 2020 เวลา 08:06 • การศึกษา
นักโหราศาสตร์พยากรณ์ความเป็นไปของโลกกันอย่างไร
ในตำราโหราศาสตร์โบราณทั้งตะวันตกและตะวันออกจะใช้ตำแหน่งของดาวใหญ่ 2 ดวงคือดาวพฤหัสและดาวเสาร์ (The Great Conjunction) ที่โคจรมาพบกัน (ศัพท์โหราศาสตร์เรียกว่าการกุมกัน) ในการพยากรณ์เหตุการณ์สำคัญที่จะเกิดขึ้นบนโลก
2
ขณะที่ฝั่งตะวันออกนอกจากพิจารณาการกุมกันแล้ว จะมีการพิจารณาการย้ายราศีของดาวใหญ่มาประกอบ (ฝั่งตะวันออกมักมองเห็นเหตุการณ์เกิดขึ้นก่อน เพราะดาวใหญ่มักมีการย้ายราศีก่อนการกุมกัน) ซึ่งดาวทั้งคู่จะโคจรมาพบกันทุก 20 ปี ครั้งล่าสุดจะเกิดขึ้นในวันที่ 21 ธันวาคม 2020โดยดาวทั้งคู่จะมาเจอกันในราศีกุมภ์ธาตุลม (ตำราตะวันตกใช้จักราศีแบบเคลื่อนที่ Tropical Zodiac)
ขณะที่ฝั่งตะวันออกจะให้น้ำหนักไปที่ดาวพฤหัสย้ายเข้าราศีธนู เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2019 มาเจอกันกับเสาร์ที่อยู่ราศีนี้มาแล้วปีกว่า (ตำราตะวันออกใช้จักราศีแบบไม่เคลื่อนที่ Sidereal Zodiac แล้วให้น้ำหนักกับการกุมกันในราศี มากกว่าการกุมกันแบบสนิทองศาเหมือนฝั่งตะวันตก)
เนื่องด้วยข้อจำกัดด้านคำศัพท์ของคนโบราณ และวิธีคิดแบบอุปมาอุปไมยของคนสมัยก่อน (ที่ต่างกับคนปัจจุบันที่คิดแบบตรรกศาสตร์และหลักเหตุผล) ตำราโบราณจะให้คำอธิบายไว้อย่างหยาบๆว่า เหตุการณ์บนโลกเป็นผลจากความแปรปรวนของธาตุทั้งสี่ ไฟ ดิน ลม น้ำเท่านั้น อาทิ ไฟเกิน ไฟพร่อง ลมเกิน ลมพร่อง ไม่ได้เฉพาะเจาะจงเป็นเรื่องใด
จึงเปิดโอกาสให้นักโหราศาสตร์ในแต่ละยุคแต่ละสมัยสามารถตีความตามความเชื่อ ความรู้ ความเข้าใจและประสบการณ์ของคนร่วมสมัย เช่นยุคที่ยังเชื่อเทวดาสิ่งศักดิ์สิทธิ และภูติผีปิศาจก็จะตีความไปถึงเทวดาพิโรธ ผีป่าเข้าเมือง เป็นต้น
สมัยต่อมามนุษย์มีการปรับปรุงด้านภาษามีการประดิษฐ์สารพัดถ้อยคำใหม่ขึ้นใช้ โดยเฉพาะคำอธิบายสิ่งที่เป็นนามธรรม การพยากรณ์ในแนวจิตวิทยาพฤติกรรมมนุษย์ก็มีมากขึ้น เช่นพฤหัสก็แปลไปเป็นเรื่องการขยายตัว การเป็นอิสระ การมองโลกแง่ดี ส่วนดาวเสาร์ก็แปลไปเป็นเรื่องการหดตัว การถูกควบคุมบังคับ ด้วยกฎระเบียบ การมองโลกแง่ร้าย ความทุกข์ความเศร้า ไปจนถึงโรคภัยไข้เจ็บ เป็นต้น
1
การมาเจอกันของพฤหัส-เสาร์ในราศีธนูธาตุไฟ ครั้งล่าสุดเกิดขึ้นในปี 2019 หากอิงกับตำราโหราศาสตร์ทางตะวันออกนักโหราศาสตร์ จึงสามารถตีความได้แตกต่างหลากหลายดังตัวอย่างต่อไปนี้
แบบโบราณเคร่งตำรา:
บ้านเมืองประสบภัยพิบัติอันเนื่องมาจากการเผาผลาญของธาตุไฟ ไฟในร่างกาย และไฟในทุกแห่งทุกที่ (พฤหัส ในราศีธนูธาตุไฟ เป็นราศีที่พฤหัสมีกำลังแรงสุด) ที่ค่อยๆมอดลงอย่างรวดเร็ว (เสาร์) โหราจารย์มักจะพยากรณ์ถึงภาวะแห้งแล้ง พืชพันธุ์ธัญญาหารขาดแคลน ผู้นำประเทศมักก่อสงคราม
แบบรูปธรรมโบราณ:
เทวดาฝ่ายสูง (พฤหัส) กลับเข้าวิมานของตน (ราศีธนูตำแหน่งเกษตร์ของพฤหัส) เจอหัวหน้ายักษ์ (เสาร์) ที่รออยู่ในวิมาน (เสาร์เข้ามาราศีธนูก่อนหน้าพฤหัสเป็นปี) เกิดการสู้รบกัน โหราจารย์จะพยากรณ์ ถึงความแตกแยกระหว่างผู้นำกับชนชั้นปกครอง ในบางสังคมโบราณที่เชื่อในพระเจ้าหลายองค์ คนเชื่อว่าการทำดีและเลว เป็นการดลใจของเทพและมาร กระทั่งพราหมณ์สมัยโบราณยังต้องมาถามพระพุทธเจ้าว่า สิ่งดีเลวที่เกิดขึ้นกับตัวเรา เกิดจากมีใครเป็นผู้กระทำ หรือเราทำตัวเอง แม้แต่ทางฝั่งตะวันตกที่รับคริสต์ศาสนาเข้ามาในช่วงแรก ยังตั้งข้อสงสัยว่าถ้าพระเจ้ามีจริง ใยไม่ดลใจให้มนุษย์ทำแต่สิ่งดีงาม นักบวชปรัชญาเมธีจึงต้องบัญญัติแนวคิดเรื่องเจตจำนงเสรี (Free Will) มาคานคนที่สงสัยในพระเจ้า
ตำราช่วงศตวรรษที่ 20:
การค้า การเดินทางระยะไกล การส่งออกนำเข้าต่างประเทศ และการติดต่อต่างประเทศ สถาบันการศึกษา ศาสนา และสถาบันยุติธรรม (พฤหัสเป็นเจ้าเรือนชะตาที่ 9 ของดวงโลก ซึ่งแสดงความหมายตัวแทนข้างต้น) จะได้รับการควบคุมบังคับและจำกัดขอบเขตด้วยกฎหมายจากรัฐบาล (เสาร์เป็นเจ้าเรืองที่ 10 ของดวงโลก ซึ่งหมายถึงรัฐบาลหรือผู้ปกครองประเทศ)
ความเห็นส่วนตัว:
ในทางโหราศาสตร์ ความเป็นไปของโลกที่ดำเนินอยู่ในปัจจุบันและจะเป็นไปในอนาคต มีโอกาสเกิดขึ้นได้ ไม่ว่าจะมีหรือไม่มีโคโรนาไวรัส ซึ่งนักโหราศาสตร์หลายท่านได้เขียนไว้ก่อนหน้าแล้วใน 2-3 ปีที่ผ่านมา ที่จริงนักโหราศาสตร์จำนวนมากตีความไปในเรื่องวิกฤตการเงินและเศรษฐกิจอันเนื่องมาจากภาวะหนี้สินและสงคราม และความขัดแย้งระหว่างประเทศ
อย่างไรก็ตามคงจะมีนักโหราศาสตร์น้อยรายที่จะออกมาย้ำเตือนถึงความแม่นยำหรือเอาเรื่องโครานาไวรัสเข้าไปผสม เพราะเป็นเรื่องเฉพาะเจาะจงเกินไป และเป็นคำอธิบายหลังเหตุการณ์เกิดขึ้นไปแล้ว เนื่องจากประชาชนที่ไม่ได้ติดตามเรื่องราวด้านโหราศาสตร์มาตั้งแต่ต้น ที่เป็นเรื่องความสนใจเฉพาะกลุ่ม อาจรู้สึกไม่ชอบใจและดูถูกข่าวประเภทคำพยากรณ์ภายหลังเหตุการณ์
โหราทาส 3 เมษายน 2563

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา