12 เม.ย. 2020 เวลา 11:50 • ประวัติศาสตร์
ตกลงผีแม่นากมีจริงไหม? วิเคราะห์ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์
ความเชื่อเรื่องผีสางได้ฝังรากลึกมาแต่อดีต
ผีของไทยนั้นมีมากมาย ผีปอป กระสือ กระหัง ผีหัวขาด สารพัดผี แต่ผีพวกนี้จะมีได้หลายตัว
แต่ผีที่มีแค่หนึ่งเดียว คือ ผีแม่นาก
แม่นากแห่งทุ่งพระโขนงตายทั้งกลมในระหว่างที่ผัวไม่อยู่เพราะถูกเกณฑ์ทหารไปทำศึกสงคราม
เมื่อผัวกลับมาก็ไม่รู้ว่าเมียตายแล้ว เลยอยู่กินกับเมียและลูกที่เป็นผี จนตอนหลังเกิดความแตก ผัวจึงหนีไปวัดมหาบุศย์ก่อนแม่นากจะถูกปราบลงได้
เรื่องราวของแม่นากพระโขนงที่ใครๆคงเคยได้ยินกันมามากแล้ว เป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายมานานแล้ว เพราะมีหลักฐานในสมัยรัชกาลที่ 5
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ (Damrong Rajanubhab พ.ศ. 2405-2486) ในช่วงที่พระองค์ยังเป็นนายทหารรักษาวังหลวง
ได้มีการทดลองสอบถามผู้คนที่เข้านอกออกในหน้าประตูวังเป็นประจำ โดยมีรายชื่อ 4 บุคคลที่ดังที่สุดในยุคนั้นให้โหวต ว่ารู้จักใครมากที่สุด
ผลปรากฎว่า คนรู้จัก “แม่นากพระโขนง" มากที่สุด ดังนั้นเรื่องผีแม่นากนี้ คงต้องแพร่หลายกันมาช่วงหนึ่งแล้วในสมัยนั้น
แล้วหลักฐานทางประวัติศาสตร์ชิ้นอื่นล่ะ?
1
มีข้อมูลจากหนังสือพิมพ์สยามประเภท
ฉบับวันที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2442
ของ ก.ศ.ร. กุหลาบ
สันนิษฐานว่าเรื่องราวของแม่นากพระโขนงน่าจะเป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 (พ.ศ.2330-พ.ศ.2394) แต่ผีที่เล่าลือกันนั้นเป็นผีปลอม?
หลักฐานชิ้นนี้กล่าวถึง บุตรของนายชุ่มกับอำแดงนาก แต่เมื่ออำแดงนากตาย บุตรที่หวงทรัพย์มรดกของบิดา กลัวบิดาจะมีภรรยาใหม่ จึงสร้างเรื่อง ใช้ให้คนไปขว้างปาหินและปลอมตัวเป็นผีหลอกชาวเรือตามลำคลองริมป่าช้าที่ฝังศพอำแดงนาก เพื่อให้คนกลัวผีอำแดงนาก
แต่ข้อมูลที่มีก็ยังไม่สามารถทำให้เชื่อได้อย่างสนิทใจว่าแม่นากเป็นแค่ผีที่ถูกสร้างขึ้น
เนื่องจากช่วงเวลา พ.ศ. 2442 ของหลักฐานชิ้นนี้ที่ ก.ศ.ร.กุหลาบเขียนขึ้น เป็นคนละช่วงเวลากับสมัยรัชกาลที่ 3 จึงเป็นได้เพียงหลักฐานที่เกิดขึ้นภายหลัง
รวมทั้งชื่อเสียงของ ก.ศ.ร. กุหลาบ ก็ไม่ค่อยจะดีนักจากเหตุการณ์ลักลอบนำหนังสือในวังหลวงมาแต่งเติมจนเนื้อหามั่วไปซะก็มากมาย
แต่ต่อมามีหลักฐานที่แม่นากได้ไปเกี่ยวข้องกับสมเด็จพระพุฒาจารย์โต ซึ่งอธิบายไว้ในหนังสือชีวประวัติสมเด็จพระพุฒาจารย์โต
2
เขียนเมื่อ พ.ศ. 2473 โดยมหาอำมาตย์ตรี พระยาทิพโกษา (สอน โลหะนันทน์) อดีตข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศ
1
มีเนื้อหาตอนหนึ่ง เรื่องสมเด็จโตปราบผีแม่นาก เป็นความเพียง 2 ย่อหน้า
เป็นคำบอกเล่าของเจ้านายหม่อมราชวงศ์วังหลังที่ไม่ปรากฏนาม เล่าให้พระยาทิพโกษาว่า
“พักหนึ่งสมเด็จฯ ท่านทำอะไรแปลกๆ อยู่กรุงเทพฯ ไม่มีเวลาว่างสักวัน ผู้คนไปมาไม่ขาดสาย ต้องเอาปัสสาวะสาดกุฏิบ้าง ทาหัวบ้างจนหัวเหลือง และยังไปพักผ่อนในป่าช้าผีดิบวัดสระเกศ”
“และเมื่อครั้งนางนากพระโขนงตายทั้งกลมและหลอกชาวบ้านไปทั่ว สมเด็จพระพุฒาจารย์โตรู้เรื่อง ท่านลงไปค้างที่วัดมหาบุศย์ ตกค่ำก็ไปนั่งหน้าปากหลุม เรียกนางนากขึ้นมาสนทนา”
และได้ทำการเจาะหน้าผากนางนากมาทำเป็นปั้นเหน่งคาดเอวไว้ ปีศาจนางนากก็หายไปจากทุ่งพระโขนง
อย่างไรแล้ว เนื้อเรื่องเหล่านี้เป็นการอ้างอิงคำบอกเล่าจากเจ้านายหม่อมราชวงศ์วังหลัง ซึ่งยังไม่สามารถพิสูจน์ข้อเท็จจริง และไม่อาจหาหลักฐานมายืนยันได้
แต่ยังมีเรื่องเล่าอีกแง่มุมหนึ่งเกี่ยวกับปั้นเหน่งหลังจากที่สมเด็จพุฒาจารย์โต มรณภาพไปแล้ว
กระดูกหน้าผากชิ้นนั้นได้ตกไปอยู่กับสมเด็จ กรมหลวงชุมพรฯ และเปลี่ยนมือไปอีกหลายคน จนบัดนี้ ไม่มีใครรู้ว่าอยู่ที่ใด
เรื่อง "ปั้นเหน่ง" นี้มีเอกสารบันทึกไว้ แต่เป็นเอกสารที่บันทึกในภายหลัง ได้แก่
1. อนุสรณ์ท่านหญิงเริง “เกร็ดประวัติ เสด็จในกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์" ที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศพหม่อมเจ้าหญิงเริงจิตรแจรง อาภากร ต.จ. ณ เมรุวัดเทพศิรินทราวาส วันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2536
2. หนังสือ "ที่ระลึกพระราชพิธีเปิดพระอนุสาวรีย์ พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์" ณ วิทยาลัยพาณิชยพระนคร 19 ธันวาคม 2519
3. หนังสือ "เปิดตำนาน แม่นากพระโขนง" ของเอนก นาวิกมูล
4.หนังสือปกแข็ง บรรจุกล่องสวยงาม "พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์" พระประวัติและพระปรีชา จากการค้นคว้าและค้นพบใหม่ ทั้งในประเทศไทย และสหราชอาณาจักร โดย มูลนิธิราชสกุลอาภากร ตีพิมพ์เมื่อปี พ.ศ. 2558
แต่กระนั้นเนื้อเรื่องในเอกสารเหล่านี้เป็นการอ้างอิงจากคำบอกเล่าของคนที่ใกล้ชิดกับกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ซึ่งยังไม่สามารถพิสูจน์ข้อเท็จจริงได้และเป็นเอกสารที่ทำขึ้นในภายหลัง ไม่ใช่เอกสารร่วมสมัย
การที่เกิดช่องโหว่ของหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่ไม่ชัดเจนนี้ เปิดโอกาสให้มีเรื่องเล่า ตำนานต่างๆ มาแทรกบ้าง มาแต่งเติมบ้าง จนไม่รู้ว่าอันไหนคือข้อเท็จจริง
จนสุดท้ายนี้ก็ไม่สามารถการันตีได้ว่า เรื่องผีแม่นาค จะเป็นเรื่องจริง หรือ เป็นเรื่องที่เข้าใจผิด เพราะมีทั้งสองฝ่าย ที่เชื่อว่าผีแม่นากมีจริง และอีกฝ่ายไม่เชื่อว่าผีแม่นากมีอยู่จริง แต่โดยแท้แล้วทั้งสองฝ่ายยังคงขาดหลักฐานที่ชัดเจนอยู่ และเรื่องนี้ยังคงเป็นปริศนาต่อไป
แอดมินได้นำข้อมูลมาวิเคราะห์ ส่วนการตัดสินใจที่จะเชื่อทางไหน ให้ผู้อ่านใช้วิจารณญาณของท่านในการตัดสิน
ตำนานแม่นาคพระโขนงคงอยู่คู่กับคนไทยมาช้านาน โดยหัวใจหลักที่ทำให้ผู้คนซึมซับมาหลายรุ่น อาจจะเป็นเรื่องของความรักและความซื่อสัตย์ที่แม่นากมีต่อผัวที่ตนรัก
“แม้ตัวจะตาย แต่หัวใจยังคงรัก”
ตำนานแม่นากแห่งทุ่งพระโขนงยังคงเป็นสัญลักษณ์ของความรักและความอดทนรอคอย ให้คนรุ่นหลังเล่าถึงกันต่อไปไม่รู้จบ
เผื่อผู้สนใจตำนานที่นอกเหนือจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ คลิกลิงค์ด้านล่าง⏬
❤️กดไลค์ กดแชร์ ติดตามเป็นกำลังใจ❤️
🙏ขอบพระคุณครับ🙏
เครดิตภาพจากภาพยนตร์:
- นางนาก
- พี่มาก..พระโขนง
ยูทูปชาแนล:
- ช่องส่องผี
โฆษณา