14 เม.ย. 2020 เวลา 03:15 • สุขภาพ
ชีวิตหลังโควิด: การปรับตัวสู่ระยะห่าง
#ปรีดาคิด04
คงไม่ต้องอารัมภบทกันให้มากความว่าโควิด 19 ได้ส่งผลกระทบต่อชีวิตของเราอย่างไรบ้างในช่วงที่ผ่านมา
คำถามคือหากภาวะนี้ยังคงดำเนินต่อไปเป็นปีๆ หรือต่อให้เหตุการณ์ยุติลงก็ตาม มนุษย์จะได้เรียนรู้อะไรจากเหตุการณ์นี้และจะปรับตัวกันอย่างไรหลังจากนี้ไป ในแง่การสื่อสารและการสร้างปฏิสัมพันธ์ต่อกัน ทั้งในระดับปัจเจกบุคคล องค์กร และวัฒนธรรม
ผมมีความเห็นว่านับจากนี้ไป "physical distancing" จะเป็นสิ่งที่เราคุ้นชินกันมากขึ้น (แต่จะส่ิงที่เราถวิลหาหรือไม่ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง)
ความจริงแล้วทุกวันนี้เราก็ปรับตัวกันอยู่แล้ว อุปกรณ์การสื่อสารและแอพลิเคชั่นถูกพัฒนา และถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการซื้อของออนไลน์แทนการออกไปช็อปปิ้ง การออกกำลังกายตามคำแนะนำในแอพลิเคชั่นแทนที่จะไปฟิตเนส การเรียนการสอนออนไลน์แทนการเข้าชั้นเรียน ฯลฯ
สิ่งเหล่านี้ความจริงก็มีอยู่แล้ว แต่เด่นชัดมากขึ้นในช่วงเวลานี้
ในแวดวงสื่อมวลชนและอุตสาหกรรมบันเทิงบางส่วนก็ได้เริ่มปรับตัวสู่ Physical distancing เพื่อให้ยังทำงานกันอยู่ได้ เช่น ช่วงที่ผ่านมานี้เราได้เห็นการรายงานข่าว / การอ่านข่าวจากเคหสถานของผู้รายงานข่าวเอง แล้วจึงส่งไฟล์ให้คนอื่นตัดต่อ
สื่อและรายการในยูทูบดูจะคล่องตัวกับการปรับตัวมากกว่าสื่อกระแสหลัก ด้วยเหตุผลหลายๆ อย่าง เช่น องค์กรมีความซับซ้อนน้อยกว่า ความคาดหวังต่อความละเอียดหรือคุณภาพการผลิตที่น้อยกว่า ฯลฯ
ดังนั้นเราจึงได้เห็นรายการประเภทที่ต่างคนต่างถ่ายด้วยอุปกรณ์ของตนเอง (ไม่ว่าจะเป็นกล้อง DSLR หรือกล้องจากโทรศัพท์สมาร์ทโฟนก็ตาม) หรือใช้แอพลิเคชั่นการประชุมทางไกลมาใช้
ตัวอย่างที่ผมได้เห็นเช่น COVID DIARY ของ RUBSARB PRODUCTION หรือแม้แต่รายการเล่นบอร์ดเกมอย่าง BOARD GAME NIGHT ของ TV MUNK ก็ลองเล่นบอร์ดเกมแบบ Physical distancing ด้วยเช่นกัน
รายการ Board Game Night ฉบับ Physical distancing
ต่างคนต่างถ่ายทำหรือบันทึกเทป จากนั้นก็ส่งเป็นไฟล์รูปแบบดิจิทัลให้คนตัดต่อทำงานแล้วอัพโหลดขึ้นยูทูบ กระบวนการเหล่านี้สำเร็จได้โดยทีมงานไม่ต้องเจอหน้ากัน
แต่ไม่ใช่ว่าทุกสิ่งได้ปรับตัวแล้ว ยังมีอีกหลายสิ่งอย่างที่อยู่ในภาวะ "กลืนเลือด" รอวันให้เหตุการณ์กลับมาเป็นปกติ ส่ิงเหล่านี้มักเกิดขึ้นกับวัฒนธรรมหรือธุรกิจที่ต้องอาศัย "กายเนื้อ" ของผู้คนจำนวนมากมาเข้าร่วม ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจการท่องเที่ยว (องค์กรทั่วไปอาจ Work From Home แต่ธุรกิจโรงแรมคงมิได้พอใจกับการ Tour From Home เป็นแน่)
รวมไปถึงวงการกีฬาอาชีพ ที่ต้องพึ่งพาค่าตั๋วเข้าชมกีฬา สวนสนุกธีมปาร์ค ต่างๆ ที่ต้องอาศัยคนซื้อบัตรเข้างาน ฯลฯ
แม้แต่ในแวดวงสื่อ เราก็ได้เห็นแล้วว่ารายการและละครโทรทัศน์บางรายการต้องยุติการออกอากาศ เปลี่ยนผังรายการไปเอารายการอื่นมาออกแทน เพราะไม่สามารถถ่ายทำรายการได้
เชื่อว่าหลังเหตุการณ์นี้สงบลง (หรืออาจจะในช่วงที่เหตุการณ์ยังไม่สงบด้วยซ้ำ หากว่ายังคงยืดเยื้อต่อไป) เราจะได้เห็นองค์กร วัฒนธรรม ธุรกิจ อีกจำนวนไม่น้อยปรับตัว หรือวางแผนรองรับสำหรับอนาคตหากเกิดเหตุทำนองนี้ขึ้นอีก
อาจจะไม่ใช่กระโจนเข้าสู่ออนไลน์หรือใช้ชีวิตโดยขึ้นกับดิจิทัลทั้งหมด แต่จะเกิดโมเดลการเอาตัวรอด/การใช้ชีวิตแบบ physical distancing เพิ่มมากขึ้น
เราอาจได้เห็นการผสานรวมกันระหว่างกีฬาแบบเดิมกับอีสปอร์ตในทางใดทางหนึ่ง
เราอาจได้ไปดิสนีย์แลนด์แบบ virtual disneyland
การใช้ชีวิตแบบใน Second Life (การใช้ชีวิตในโลกเสมือน ลักษณะคล้ายเกม Sim City) จะกลายเป็นเรื่องใกล้ตัวมากขึ้น
รายการเกมโชว์ แข่งขันความสามารถ หรือแม้แต่ละคร อาจทดลองวิธีการผลิตรายการที่พึ่งพาการนำคนมาอยู่ในที่เดียวกันให้น้อยลง
อย่างไรก็ตาม ผมยังเห็นว่าการสื่อสารหรือปฏิสัมพันธ์แบบเห็นหน้าค่าตากัน สัมผัสตัวกันได้ เห็นอวัจนภาษาได้หลากหลายช่องทาง เหล่านี้ยังมีความสำคัญอยู่ และเป็นสิ่งที่มนุษย์ยังคงโหยหา
แม้โลกจะปรับตัวสู่ Physical distancing แต่มิได้หมายความว่า face-to-face communication จะเลือนหายไป
ตรงกันข้าม มนุษย์เราจะยิ่งเห็นคุณค่าของมันมากขึ้นในเวลาที่เราได้กลับมาใกล้กัน...

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา