15 เม.ย. 2020 เวลา 14:10
สวัสดีครับ นักศึกษาวิชาชีวิตทุกท่าน วันนี้เป็นบทสรุปของซีรี่ย์ สัตว์มหัศจรรย์ชุดที่ 1 แล้วนะครับ
ใครยังไม่ได้อ่านกลับไปตามอ่านได้ที่ลิงค์ด้านล่างนี้เลยครับ
วันนี้ เราจะมาเรียนรู้กันว่า สิ่งมีชีวิตมหัศจรรย์นี้ ต้องทำให้มนุษย์ทึ่งไม่ได้มีแค่ความสามารถในการดำรงชีวิตทั่ว ๆ ไป นะครับ แต่เรากำลังจะเรียนรู้ถึง ภูมิปัญญาอันทรงพลังที่น้อยคนนัก จะเคยได้ยินหรือได้รู้มา เรามาเริ่มกันเลยครับ
คาบเรียนที่ 7 วิชาสัตว์มหัศจรรย์ ตอนความลับของสัตว์ดึกดำบรรพ์ล้านปี
นักวิทยาศาสตร์มีการกล่าวอ้างเป็นพิเศษสำหรับปลาหมึกยักษ์ที่ดูเหมือนมีวิวัฒนาการขึ้นบนโลกอย่างรวดเร็วเมื่อราว 270 ล้านปีมาแล้ว หลังการเกิด Cambrian explosion ราว 250 ล้านปี
ภาพจาก https://slideplayer.com/slide/6034810/
เนื่องด้วยปลาหมึกยักษ์มีลักษณะที่ผิดแปลกแตกต่างจากสัตว์อื่นบนโลกอย่างมาก ผลวิจัยชี้ว่าคำอธิบายเรื่องการผุดขึ้นอย่างรวดเร็วและหลากหลายของสิ่งมีชีวิตในยุคแคมเบรียนที่เรียกกันว่า Cambrian Explosion หรือ Biological Big Bang อยู่ที่เมฆของสารชีวโมเลกุลจากห้วงอวกาศซึ่งพุ่งจู่โจมโลกของเรา
สาเหตุใหญ่ที่มาของทฤษฎีที่แหวกแนวอย่างสิ้นเชิงนี้ มาจาก การศึกษาจีโนมของปลาหมึกยักษ์แสดงถึงระดับความซับซ้อนอันน่างงงวยด้วยยีนส์ที่มีมากกว่ามนุษย์ถึง 33,000 ตัว มันมีสมองที่ใหญ่มากเทียบกับขนาดตัว มีระบบประสาทที่ซับซ้อน มีตาเหมือนกล้องถ่ายรูป มีร่างกายที่ยืดหยุ่น สามารถพรางตัวได้อย่างฉับพลันโดยการเปลี่ยนสีและรูปร่าง
ภาพจาก https://busy.org/@natord/octopus-the-cursed-genius-of-the-ocean
เหล่านี้เป็นจุดเด่นเพียงไม่กี่อย่างซึ่งปรากฏขึ้นแบบทันทีทันใดในกระบวนการวิวัฒนาการของสัตว์ และยีนส์จากหอยนอติลุส ซึ่งเป็นหนึ่งในบรรพบุรุษของมันไปสู่หมึกกระดอง (Cuttlefish) และหมึกกล้วย (Cuttlefish) เป็นยีนส์ที่หาพบได้ยากในสัตว์ใด ๆ ก็ตามที่มีอยู่มาก่อน มันจึงมีเหตุผลน่าเชื่อถือที่จะระบุว่าพวกมันมาจากจักรวาลอันไกลโพ้น
มีการพยายามหาคำตอบว่า มีเซลล์ประสาทหมึกอยู่ทั่วทั้งร่างกายราว 500 ล้านนิวรอน (มนุษย์มีมากกว่าที่ 1,000 ล้านนิวรอน) ปริมาณนิวรอนอันมหาศาลทำให้มันมีเซลล์ประสาทใกล้เคียงกับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม (Mammals) หรือใกล้เคียงกับสุนัขเลยทีเดียวครับ
ถึงแม้ว่า สัตว์ปีกอย่างนกแก้วและอีกา มีปริมาตรสมองกระจิ๋วหลิว แต่พวกมันก็เป็นนักแก้ปัญหาตัวยงเช่นกัน ดังนั้นมาตรฐานการวัดความฉลาดเพียงแค่ค่าเดียวไม่สามารถสำรวจศักยภาพทางปัญญาของสัตว์ได้ทั้งหมด
คอนเซปต์ของความฉลาดจึงต้องนิยามให้แตกต่างตามธรรมชาติและวิวัฒนากรของสิ่งมีชีวิตเป็นจำพวก ไป แต่จากผลงานวิจัยนานนับทศวรรษโดยนักวิจัยจำนวนมากได้บทสรุปที่น่าทึ่งอย่างหนึ่ง ปลาหมึกยักษ์ (Octopus) แท้จริงแล้วเป็นเอเลี่ยนที่มีวิวัฒนาการอยู่บนโลกอื่น ก่อนที่จะมายังโลกในรูปของไข่แช่แข็งเมื่อหลายร้อยล้านปีก่อน เติบโตในมหาสมุทรกลายเป็นสัตว์แปลกประหลาดที่สุดชนิดหนึ่งบนโลก
ภาพจาก https://busy.org/
“ในมุมมองของพวกเราคำอธิบายที่เป็นไปได้อย่างหนึ่งคือยีนส์ใหม่เหล่านี้มีแนวโน้มว่ามาจากนอกโลก และเป็นไปได้มากที่จะมาเป็นไข่ที่ผสมแล้วซึ่งได้รับการป้องกันเป็นอย่างดีด้วยการแช่แข็ง” นักวิจัยระบุ “ไข่ปลาหมึกมาถึงโลกในรูปก้อนน้ำแข็งเมื่อหลายร้อยปีมาแล้วคือคำอธิบายที่เป็นไปได้สำหรับการผุดขึ้นอย่างทันทีทันใดของปลาหมึกยักษ์บนโลกเมื่อราว 270 ล้านปีก่อน”
ข้อเสนอนี้ยังดูน่าสนใจขึ้นไปอีกเมื่อปลาหมึกยักษ์มักจะถูกเลือกให้เป็นแบบอย่างหรือตัวแทนของสิ่งมีชีวิตนอกโลกอยู่บ่อยๆ ปี 1898 นิยายวิทยาศาสตร์เรื่องดัง Martian (The War of the Worlds) เอช. จี. เวลส์ ได้สร้างชาวอังคารของเขาเป็นปลาหมึกยักษ์ที่มีสมองขนาดใหญ่ และเอเลี่ยนในหนัง Arrival ปี 2016 ก็เป็นเซฟาโลพอด (Cephalopod) ซึ่งเป็นตระกูลหมึกเช่นกัน
หนวดหมึกสัมผัสกับสภาพแวดล้อมต่าง ๆ หากมีการดูดเกิดขึ้น 10,000 นิวรอนที่ปลายหนวดจะส่งสัญญาณต่าง ๆ ไปทั่วร่างกายเพื่อบอกสถานะของสิ่งนั้น ๆ ก่อให้เกิดเป็นความทรงจำระยะสั้น (Short Term memory) เพื่อให้มันจดจำได้ว่าสัมผัสอะไรไป เป็นภัย หรือเป็นมิตร
ภาพจาก https://busy.org/
มีความพยายามทดสอบระดับสติปัญญาของหมึกในการทดสอบภายในห้องทดลอง แม้เราจะไม่ได้หาความชาญฉลาดแบบไอน์สไตน์ แต่หมึกก็สามารถแก้ปัญหาเขาวงกตได้ มันสามารถหาทางออกผ่านความกดดันทางสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ที่นักวิทยาศาสตร์ถาโถมใส่มัน เปิดขวดโหลที่ใส่อาหารไว้อยู่ภายใน หรือแม้กระทั่งหาทางออกจากขวดโหลเองโดยไม่มีใครคอยช่วยเหลือ แต่พวกมันเป็นสัตว์ที่ต้องใช้เวลาในการเรียนรู้สักระยะ หนวดของมันจะต้องทำความคุ้นเคยจากสภาพแวดล้อมรอบ ๆ ก่อน แต่ส่วนใหญ่หมึกมักแก้โจทย์ต่าง ๆ ได้เองเสมอ ในแบบฉบับของมัน
หากคุณเคยชมภาพยนตร์ขวัญใจเหล่าสัตว์ทะเลอย่าง Finding Dory (2016) คุณจะพบกับตัวละครหมึกเจ้าเล่ห์ที่พยายามหาทางออกทุกวิถีทางเพื่อหนีจากอควาเรียมโดยไม่สนวิธีการ ในโลกแห่งความเป็นจริง หมึกมีทักษะเอาตัวรอดที่สูงและฉลาดเป็นกรดไม่ได้ลดหลั่นไปกว่ากัน
ในมหาวิทยาลัย Otago ภาควิชาสัตว์น้ำ หมึกยักษ์ของที่นั่นสร้างปัญหาอันน่าปวดหัวให้กับเหล่านักศึกษาทุกวัน โดยการ ‘พ่นน้ำ’ ใส่หลอดไฟจนเกิดไฟฟ้าลัดวงจร มันรู้วิธีการปิดไฟในแบบฉบับของมัน ในช่วงแรก ๆ ไม่มีใครหาหลักฐานจับตัวผู้กระทำผิดได้ จนการเปลี่ยนหลอดไฟเกิดขึ้นบ่อยครั้ง พวกเขาจึงตัดสินใจปล่อยมันลงในแหล่งน้ำตามธรรมชาติไป
หมึกยักษ์รู้จักการปรับตัวให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมที่มันอยู่ โดยเฉพาะในสถานะถูกกักขัง (Captivity) ถึงแม้หมึกจะดูนิ่งงันแต่มันไม่ใช่นักโทษที่สงบเสงี่ยมเจียมตัวเพื่อรับชะตากรรม Stefan Linquist จากมหาวิทยาลัย Guelph ศึกษาพฤติกรรมหมึกมาร่วมแรมปี พวกเขาพบว่า ในแท็งค์อควาเรียมขนาดใหญ่ สัตว์จำพวกปลาส่วนใหญ่ ไม่รู้ว่าตัวเองถูกจองจำในที่ผิดปรกติวิสัยของธรรมชาติ
ภาพจาก https://www.independent.co.uk/news/science/
แต่ไม่ใช่สำหรับหมึกครับ พวกมันรู้ซึ้งถึงสัญญาณการถูกจองจำ พวกมันจะออกสำรวจทุกตารางเซนติเมตรโดยใช้หนวดกวาดไปทั่ว ไปอุดรูช่องปล่อยน้ำ หรือหมุนวาล์วต่าง ๆ หมึกสามารถรับรู้ได้ว่ามีสิ่งมีชีวิตอื่นจับจ้องมันอยู่ มันจึงเลือกที่จะอยู่นิ่ง รอคอยให้พวกเขาเผลออยู่ในมุมอับลับสายตา มีรายงานบ่อยครั้งที่ อควาเรียมหลายแห่งเกิดเหตุน้ำท่วมขัง หรืออะไรวุ่น ๆ เสมอ โดยมีหมึกยักษ์เป็นผู้ก่อคดี
อย่างที่เคยบอกครับ หมึกยักษ์สามารถจดจำหน้าตาสัณฐานของมนุษย์ได้ มันแยกแยะได้ว่าใครเป็นใคร แม้คุณจะใส่ชุดสีเดียวหรือแบบเดียวกันกับคนอื่น ๆ แต่หมึกสามารถแยกออก มันจะจดจำคุณเป็นพิเศษ หากไปทำให้มันเสียอารมณ์
ห้องแลบในมหาวิทยาลัย Otago ที่เดิมในประเทศนิวซีแลนด์ หมึกในแท็งก์น้ำมีความบาดหมางกับเจ้าหน้าที่เทคนิคประจำแลปคนหนึ่งเป็นพิเศษ มันจะพ่นน้ำใส่เขาทุก ๆ ครั้งที่มีโอกาส โดยไม่มีเหตุผลเลยว่าทำไมมันถึงเกลียดเขาเป็นพิเศษ เพียงแค่เดินเฉียดแท็งก์เท่านั้น มันก็พ่นน้ำรดเสื้อผ้าเขาทันที
อย่างที่กล่าวในข้างต้น หมึกยักษ์ หรือ หมึกสาย (Octopus) และญาติ ๆ ของมันอย่าง ‘หมึกกล้วย’ และ ‘หมึกกระดอง’ คือนิยามแห่งไหวพริบของท้องทะเล มันคือกลุ่มสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังที่ชาญฉลาดเหนือการรับรู้ของพวกเรา มีวิวัฒนาการแบบก้าวกระโดดมาตั้งแต่ดึกดำบรรพ์ แม้บรรพบุรุษที่ใกล้ชิดที่สุดก็ยังมีอายุมากกว่า 2 เท่าของอาณาจักรไดโนเสาร์ด้วยซ้ำ ซึ่งเป็นที่ประจักษ์แล้วว่าคอนเซปต์ของวิวัฒนาการของหมึกนั้น แตกต่างจากสัตว์อื่น ๆโดยสิ้นเชิง ทำให้ความฉลาดของมันใกล้เคียงกับ ‘สัมปชัญญะต่างดาว’ เป็นที่สุด
ภาพจาก https://medium.com/real-in-other-words/
พวกเซฟาโลพอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งปลาหมึกยักษ์ได้รับการยกย่องว่าเป็นสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังที่ฉลาดที่สุด โดยมีอัตราส่วนขนาดสมองต่อขนาดร่างกายสูงที่สุด มีงานวิจัยหนึ่งชี้ว่าพวกมันสามารถเรียนรู้จากการสังเกตสิ่งต่าง ๆได้ มันเคยถูกพบว่ากำลังรวบรวมเอาเปลือกมะพร้าวมาทำเป็นที่พักอาศัย
“บางทีปลาหมึกยักษ์อาจเป็นเอเลี่ยนจากต่างดาวผู้ชาญฉลาดที่เราได้พบเจออย่างใกล้ชิดที่สุดก็เป็นได้” นักวิจัยระบุ
หมึกยังมีความสามารถอื่น ๆ ที่มนุษย์ยังไม่สามารถหาคำตอบได้ครบถ้วน เพราะเราต่างมี Concept ของสมองและสติปัญญาที่แตกต่างอย่างสิ้นเชิง แต่มันก็พิสูจน์แล้วว่า เจ้าสิ่งมีชีวิตนี้ไม่ได้เป็นเพียงแค่สัตว์น้ำธรรมดา ที่ลอยไปลอยมากลางมหาสมุทร แต่พวกมันคือขุมทรัพย์แห่งสติปัญญา ที่บางครั้งมันอาจเข้าใจโลกรอบ ๆ มัน ได้ดีมากกว่าเราเสียอีก
ภาพจาก https://medium.com/real-in-other-words/
การทดลองตั้งแต่อดีต ถึงปัจจุบัน ยิ่งค้นพบมากขึ้นเท่าไหร่ ก็ยิ่งทำให้เราพิศวง ว่าทำไมสิ่งมีชีวิตชนิดนี้ ถึงได้ดำรงเผ่าพันธุ์มาได้ยาวนานเป็นล้านปี และมีความหลากหลายของเผ่าพันธุ์ได้อย่างไม่น่าเชื่อ
และนี่คือบทสรุปของสัตว์มหัศจรรย์ ชนิดนี้ครับ ใครจะเชื่อครับ ว่าเจ้าตัวนิ่ม ๆ หนวด ยาว ๆ จะมีสิ่งมหัศจรรย์ มากมายที่ผมมั่นใจว่า นักศึกษาทุกท่านไม่เคยได้รู้มาก่อนเลย แต่สิ่งต่าง ๆ ย่อมมี วัฏจักรชีวิต และกฎแห่งจักรวาลทำหน้าที่ด้วยตัวของมันเอง
ใครจะรู้ครับว่า เราโชคดีแค่ไหน ที่โลกใบนี้ สร้างเงื่อนไขจนกลายเป็นใบเบิกทางให้สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอย่างมนุษย์ ได้มีวิวัฒนาการและครอบครองโลกมาจนถึง ทุกวันนี้ได้ มนุษย์เราใช้เวลาอยู่บนโลกนี้เพียงแค่ 0.004% ของประวัติศาสตร์โลกเท่านั้นเองครับ
หากคิดเล่น ๆ ว่า พื้นผิวบนโลก อุณหภูมิต่ำกว่านี้สัก 30 องศา มาสักสามแสนปีล่ะ สิ่งมีชีวิต ที่ครอบครองโลกนี้ อาจจะมีสี่ขา และสี่แขน รวมถึงสมองทั้งแปด ที่ควบคุมระบบประสาท ซึ่งเกิดจากยีนส์ที่มีมากกว่ามนุษย์ถึง 33,000 ตัว ที่ควบคุมเซลล์ประสาทราว 500 ล้านนิวรอน (มนุษย์มี 1,000 ล้านนิวรอน) ปริมาณนิวรอนอันมหาศาลทำให้มันมีเซลล์ประสาทใกล้เคียงกับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม (Mammals) แต่นั่นคือเมื่อ ล้านกว่าปีก่อนนะครับ ถ้าเขาวิวัฒนาการบนโลกนี้แทนสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมล่ะ จะเป็นอย่างไร
https://busy.org/@natord/octopus-the-cursed-genius-of-the-ocean
ถ้าชื่นชอบเรื่องราวของสัตว์มหัศจรรย์ ก็ขอให้ส่งต่อไปให้นักศึกษาท่านอื่น ๆ ได้มีโอกาสเรียนรู้กันต่อ ๆ ไป นะครับ และอย่าลืมกดติดตาม เพื่อรอชมผลงานชุดใหม่ นะครับ จะเป็นเรื่องอะไร ผมเชื่อว่าเราจะไม่ได้เรียนรู้ หรือได้ยินเพียงแค่ผิวเผินจากตำราเรียนแน่นอน
แล้วผมจะเล่าให้ฟังกันใหม่ เร็ว ๆ นี้ ครับ
#เพราะการเรียนรู้ไม่มีวันสิ้นสุด #และไม่ได้หยุดแค่ในห้องเรียน #DeMonstrationSchool

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา