15 เม.ย. 2020 เวลา 16:11 • ความคิดเห็น
Talking of Thailand : พูดถึงเรื่องของประเทศไทยกันบ้าง
ใครที่ติดตามเพจ World Maker มาตลอด จะสังเกตได้ว่าปกติผมจะไม่ค่อยพูดเรื่องการเมืองในประเทศเท่าไหร่ ไม่ใช่เพราะไม่สนใจนะครับ แต่เป็นเพราะว่าผมค่อนข้างปลงมาสักพักแล้ว (นาน ๆ ทีจะเขียนเกี่ยวกับประเทศไทย)
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาผมพยายามชี้ให้เห็นถึงปัญหาด้านเศรษฐกิจในภาพรวมมาโดยตลอด แต่วันนี้ผมจะมาวิเคราะห์ประเทศไทยให้ฟังกันบ้าง
เหตุการณ์ใหญ่ ๆ ที่เกิดขึ้นล่าสุดอย่างเช่น ชาวบ้านแห่ไปขายทอง หรือชาวบ้านประท้วงหนักเรื่องเงินเยียวยา 5,000 บาท กำลังบอกอะไรเรา ?
ขออธิบายเป็นข้อ ๆ ให้เห็นชัดเจนดังนี้นะครับ
1. ต้นตอของปัญหาในปัจจุบันไม่ได้มาจาก Coronavirus แต่มาจากความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจที่มีมานานกว่าทศวรรษ
1
เคยได้ยินประโยคนี้ไหมครับ ? "ไทยเหลื่อมล้ำอันดับ 1 ของโลก"
แน่นอนว่าประโยคนี้คือความจริงที่เกิดขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา
หากย้อนอดีตไปสักนิดในช่วงปี 2558 เราอยู่ที่อันดับ 11 ครับ และพอถึงปี 2559 ไทยเราก็ขยับขึ้นมาอยู่ในอันดับที่ 3 !!!
สภาพความเหลื่อมล้ำในตอนนั้นก็ตามภาพด้านล่างนี้เลยครับ
ขอบคุณภาพจาก themomentum.co
แล้วพอมาถึงในช่วงปี 2561-2562 มีอะไรเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นบ้าง ?
คำตอบคือไม่มีเลยครับ สถิติโดยรวมแย่ลงตลอดช่วง 10 ปีที่ผ่านมา โดยภาพด้านล่างจะเป็นการสรุปให้เห็นภาพรวมทั้งหมดครับ
ทั้งหมดนี้ก็คือต้นตอของปัญหาในปัจจุบันครับ
2. โควิดเพิ่งระบาดยังไม่ถึง 4 เดือน แต่เงินเก็บสำรองคนประชากรไทยชนชั้นกลางและล่าง เริ่มหมดกันแล้ว
รู้ไหมครับว่าปัจจุบันคนไทยกว่า 88% มีเงินฝากในบัญชีไม่ถึง 50,000 บาท?
ขอบคุณภาพจาก money.kapook.com
คำนวณแบบหยาบ ๆ เลยนะครับ สมมติว่าพวกเขามีค่าใช้จ่ายทุกอย่างเดือนละ 10,000 บาท ในสภาพที่ต้องหยุดงานและไม่ได้เงินเดือน แสดงว่าพวกเขาจะอยู่ได้โดยไม่เดือดร้อน 5 เดือน ใช่ไหมครับ ? และพอหลังจาก 5 เดือนไป พวกเขาจะต้องเริ่มขายทรัพย์สินอื่นเพื่อมาประทังชีวิต
แต่ก็อย่างที่หัวข้อว่าเอาไว้ การระบาดเพิ่งเกิดขึ้นได้ไม่ถึง 4 เดือนเต็ม แต่ปัจจุบันเราจะเริ่มเห็นชาวบ้านแห่ไปขายทองกันเยอะมาก ทั้ง ๆ ที่ในช่วงวิกฤตแบบนี้ทองคำควรจะเป็นสินทรัพย์ที่ปลอดภัยที่สุดไม่ใช่หรือ ?
ดังนั้นนี่คือเบาะแสแรกที่บอกเราว่า "ประชาชนกำลังจะหมดตัวแล้ว"
ต่อมาเราจะเห็นว่าร้านทองหลายร้าน "ไม่รับซื้อ" ทองคำที่ลูกค้านำไปขาย เหตุผลก็เพราะว่าไม่มีเงินสดมากพอ เอาแล้วไงล่ะ ขนาดร้านทองยังขาดสภาพคล่อง ทั้งที่เงินเยียวยาทั่วโลกออกมาเยอะขนาดนี้ รัฐบาลก็บอกว่ากู้เงินมา 1.9 ล้านล้านบาท แล้วทำไมภาคเศรษฐกิจยังขาดสภาพคล่องหนัก ?
คำตอบในเรื่องนี้ตีกลับไปที่เรื่องของความเหลื่อมล้ำครับ... World Maker ถามง่าย ๆ เลยนะครับ ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา เม็ดเงินต่าง ๆ ที่หมุนเวียนในประเทศเรา ตกถึงมือประชาชนชั้นกลางและล่างมากแค่ไหนกัน ?
แม้แต่ผู้ประกอบการบางกลุ่มที่ขาดเส้นสาย ก็ไปไม่รอด ถูกไหมล่ะครับ
เก็บทองไว้ก็ไม่มีตังค์สดใช้จ่าย เอาทองไปขายร้านก็ไม่รับซื้อ แล้วทางออกของประชาชนคืออะไร ?
ดังนั้นแล้วสังคมจึงพุ่งประเด็นไปที่มาตรการเยียวยาจากรัฐบาล...ทำไมชาวบ้านถึงออกมาโวยวายหนักเรื่องเงิน 5,000 บาท ?
1. เงื่อนไขเยอะแยะ ยาวเป็นหางว่าว แต่บอกว่าใช้ AI ตรวจแม่นยำแน่นอน
เรื่องนี้ไม่เถียง ว่าถ้าใช้ AI (ที่มีคุณภาพ) ตรวจจริง ๆ ความแม่นยำนั้นมากกว่าใช้คนตรวจแน่นอน แต่ประเด็นมันอยู่ตรงที่เงื่อนไขนี่สิ เยอะเกินไปหรือเปล่า ? แล้วจะยิ่งสร้างความเหลื่อมล้ำมากกว่าเดิมหรือเปล่า ?
ตรวจแค่ Statement ก็พอแล้วมั้ง ว่าคนเขามีรายรับรายจ่ายเท่าไหร่ต่อเดือนน่ะ เดือดร้อนกันทั้งประเทศแหละ ถ้าไม่รวยจริงตอนนี้น่ะ ไม่เกี่ยวกับอาชีพอะไรหรอก
2. ข้อผิดพลาดเยอะแยะมากมาย แจ้งว่าเลขบัญชีผิดบ้าง อะไรบ้าง ฯลฯ
เรื่องนี้เป็นปัญหาของทั้งสองฝ่าย เราไม่สามารถหาความจริงจากข่าวได้ว่า เกิดจากความผิดพลาดของผู้กรอกผู้ชื่อ หรือความผิดพลาดของระบบ แต่อย่างน้อยรัฐบาลก็ควรมีความโปร่งใสมากกว่านี้ที่จะให้ตรวจสอบได้
3. รัฐบาลมีเงินพอจะจ่ายเดือนละ 5,000 บาท ให้กับ 3 ล้านคนเป็นระยะเวลานานแค่ไหน ?
คำนวณคร่าว ๆ สมมติรัฐบาลจะช่วยเยียวยา 3 เดือนนะครับ
5,000 x 3,000,000 x 3 = 4.5 หมื่นล้านบาท
ด้วยเงินจำนวนนี้จะต่อชีวิตประชากร 3 ล้านคนไปได้อีก 3 เดือน และถ้าครึ่งปี ก็จะใช้เงินจำนวน 9 หมื่นล้านบาท
อยากให้เยียวยากี่เดือนก็ลองหักจาก 1.9 ล้าน ๆ ดูนะครับ แต่อย่าลืมว่าเงินตรงนี้ต้องใช้ช่วยเหลือภาคส่วนอื่นด้วย และมันคือหนี้ที่เราต้องคืน
4. งั้นตอนนี้บ้านเราก็ประสบปัญหาหนักเลยอะดิ ?
ใช่ครับ นี่คือเห็นผลที่ World Maker เตือนอยู่ตลอดยังไงล่ะครับ เอาแค่ในประเทศไทยตอนนี้ก็กระทบกันเองหนักแล้ว ยังไม่รวมผลกระทบจากประเทศมหาอำนาจที่จะส่งผลต่อ Supply Chain ทั้งโลกอีก
คำถามคือ
- ต้นไม้จะอยู่ได้อย่างไรหากรากกำลังเน่า ?
- รากจะอยู่ได้อย่างไรหากขาดยอดใบที่สังเคราะห์แสง ?
หากคนรวยและคนจนยังไม่ช่วยเหลือกันและสร้างความเหลื่อมล้ำไปเรื่อย ๆ ก็เหมือนเรากำลังพังต้นไม้ทั้งต้นนั่นแหละครับ
5. งั้นรัฐบาลและประชาชนควรทำอย่างไร ?
ฝั่งรัฐบาล
- รัฐบาลควรลดเงื่อนไขการให้เงินช่วยเหลือลงเหลือเพียงไม่กี่เงื่อนไข หากเงินไม่พอ สามารถลดจำนวนเงินต่อหัวได้ แต่ไม่ควรลดจำนวนคนต่อเงินที่ได้รับลง เนื่องจากจะทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางสังคมมากขึ้น
1
- รัฐบาลควรมุ่งเน้นไปที่การเยียวยาประชาชนชั้นล่างก่อน แล้วจึงขึ้นมาที่ชั้นกลาง เนื่องจากชีวิตจริงของพวกเขานั้น อย่างมากก็เงินเก็บ ใช้ได้ไม่เกิน 3 เดือน เขาคือผู้ที่เดือดร้อนที่สุด และส่วนใหญ่ยังมีอาชีพที่เป็นฐานเศรษฐกิจให้กับประเทศเรา (เช่นเกษตรกร ชาวนา พ่อค้าแม่ค้าผลไม้ ตลาดสด)
4
- นโยบายทางการเงินต่าง ๆ ควรสนับสนุนให้ประชาชนออมเงินมากกว่าใช้จ่าย เลิกแคร์นโยบายดอกเบี้ย 0% ปล่อยกู้บ้าระห่ำแบบเมืองนอกเถอะ อยากให้เกิดต้มยำกุ้งอีกหรือไง
- การที่ประชาชนจะรุมด่ารัฐบาลนั้นไม่แปลก เพราะผลงานของพวกท่านตลอด 6 ปีที่ผ่านมา ไม่อาจปฎิเสธได้ว่า... แต่ท่านยังมีสิทธิแก้ตัวอยู่ในตอนนี้ โดยการรับฟังเสียงความเดือดร้อนที่กำลังลุกเป็นไฟของประชาชน
ฝั่งประชาชน
- ประชาชนที่ได้เงินมา หรือไม่ได้เงิน ก็ไม่ควรใช้จ่ายใด ๆ ที่ไม่จำเป็นทั้งสิ้น ตัดรายจ่ายฟุ่มเฟือยทิ้งให้หมดเสีย ดำรงชีวิตด้วยหลักเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวง ร.9 จะช่วยให้ท่านรอดพ้นวิกฤตนี้ไปได้อย่างแน่นอน
- เรื่องลงทุนควรพักไว้ก่อน ท่านยังไม่รู้เลยว่าไวรัสจะหายไปเมื่อไหร่ แล้วท่านจะรู้ได้อย่างไรว่าต่อไปจะมีอะไรเกิดขึ้นมาอีก แต่สิ่งที่ท่านรู้แน่ ๆ คือตอนนี้ท่านกำลังอยู่ในภาวะเสี่ยงสูงมาก ตลาดหุ้นก็ผันผวนหนัก ท่านไม่ควรนำเงินที่มีอยู่กับตัวไปเสี่ยง ในช่วงที่หาเงินเข้ากระเป๋ายากเช่นนี้
- เรื่องการกู้เงินนี่ ถ้าเป็นไปได้ขอห้ามเด็ดขาดเลย ไม่จำเป็นอย่ากู้เด็ดขาด หรือถ้าจำเป็นจริง ๆ ขอให้กู้น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ครับ (การไม่เป็นหนี้ ถือว่าเป็นอิสระภาพที่ดีที่สุดทางการเงินครับ)
อนึ่งแล้ว ทั้งฝ่ายรัฐบาลและประชาชนต้องใจเย็น ๆ และควรมีการประชุมร่วมกันระหว่างภาคประชาชน และภาครัฐ เพื่อแก้ไขปัญหานี้ (มันจะยากอะไรนักหนา ถ้าท่านจะให้เสียงของประชาชนได้เข้าสู่ที่ประชุมของท่านบ้าง)
ส่วนประชาชนเอง ท่านควรเลิกโทษรัฐบาล ในปัญหาทุกอย่างที่เกิดขึ้น หันกลับมาดูตัวท่านเองบ้างว่า ที่ผ่านมาเรามีการบริหารด้านการเงินส่วนตัวดีแค่ไหน ในช่วงเวลาที่เหตุการณ์ดูปกติดี ท่านเคยคิดที่จะเตรียมการเพื่อรับมือวิกฤตบ้างไหม ? ถ้าไม่ นั่นก็เป็นความผิดของท่านเองเช่นกัน
ดังนั้นแล้ว ในสถานการณ์ปัจจุบัน อย่าพยายามมองหาว่าใครผิด แต่ให้ร่วมกันมองหาว่าเราจะแก้ปัญหานี้ร่วมกันได้อย่างไร ดีกว่าครับ
การกดไลค์ กดแชร์ กดติดตาม และการติชมในเชิงสร้างสรรค์ของคุณ เป็นกำลังใจให้เราและเหล่าอาชีพนักเขียนทุกคนในการพัฒนาผลงานให้ดียิ่งขึ้นต่อไป ขอเชิญทุกท่านร่วมสร้างสังคมการเรียนรู้ที่ดีด้วยกันกับเรา
World Maker
สามารถติดตาม World Maker ผ่านทาง Facebook ได้แล้ววันนี้ที่

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา