18 เม.ย. 2020 เวลา 02:30 • ประวัติศาสตร์
โพเวกเลีย: ตำนานเกาะผีสิง และโรคระบาด
เกาะโพเวกเลีย สถานกักกันโรคและที่พำนักสุดท้ายของผู้ติดเชื้อกาฬโรคที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในยุโรป จนได้รับสมญานามว่า “เกาะผีสิง”
- เวเนเชี่ยน ลากูน -
เกาะโพเวกเลีย มีพื้นที่เพียง 42 ไร่ ตั้งอยู่ในทะเลสาบ Venetian ระหว่างเมืองเวนิส (Venice) และ เมืองลิโด้ (Lido) ในเวเนเชี่ยน ลากูน (Venetian Lagoon) ทางตอนเหนือของ อิตาลี (Italy)
โพเวกเลียประกอบด้วยเกาะขนาดเล็กจำนวน 3 เกาะ โดยเกาะที่ใหญ่สุดมีสิ่งปลูกสร้างต่างๆ เช่น โบสถ์ โรงพยาบาล หอระฆัง มีสะพานเล็กๆเชื่อมต่อไปยังเกาะที่สองซึ่งเป็นทุ่งรกร้างขนาดใหญ่ เกาะสุดท้ายมีรูปทรงแปดเหลี่ยม ไม่มีสะพานเชื่อมกับเกาะหลักเพราะถูกสร้างเป็นป้อมปราการเพื่อป้องกันผู้บุกรุก
ฟังดูแล้วมันน่าจะเป็นสถานที่ที่น่าค้นหาและน่าเยี่ยมชมอยู่ไม่น้อย แต่ผู้คนกลับยกให้เป็นเกาะที่เฮี้ยนที่สุดในยุโรป อันเนื่องมาจากประวัติศาสตร์ดำมืดตลอด 3 พันปีที่ผ่านมาของสถานที่แห่งนี้
https://www.scmp.com/news/world/article/1495269/venetians-seek-buy-poveglia-island-madness-foil-luxury-resort-plan
https://ermakvagus.com/Europe/Italy/poveglia/poveglia.htm
ตำนานความน่ากลัวของเกาะเริ่มต้นขึ้นเมื่อเกิดการระบาดของ “กาฬโรค” ที่แพร่สะพัดไปทั่วยุโรปในศตวรรษที่ 14 ล้างผลาญจำนวนประชากรในเมืองใหญ่ไปกว่าครึ่งในเวลาเพียงไม่กี่เดือน หรือไม่กี่สัปดาห์ในบางเมือง
ภายหลังจากการระบาดครั้งใหญ่ในปี 1348 ผ่านพ้นไป ยังคงปรากฎหลักฐานว่ามีการระบาดซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนกระทั่งเกิดวัคซีนต้านเชื้อกาฬโรคในปี 1897 จากนั้นกาฬโรคจึงค่อยๆหายสาบสูญ
หนึ่งในภาพวาดที่มีชื่อเสียง "The plague of Florence in 1348" - (https://commons.wikimedia.org/wiki/File:The_plague_of_Florence_in_1348,_as_described_in_Boccaccio%27s_Wellcome_L0004057.jpg)
ในยุคกลางตอนปลาย จนถึงยุคเรเนสซอง เวนิสนั้นเปรียบเสมือน “เมืองท่า” แห่งยุโรป และยังใช้หมู่เกาะในเวเนเชียน ลากูน เป็นที่สำหรับคัดแยกผู้ป่วยจากโรคระบาดอีกด้วย เป็นเวลาหลายศตวรรษที่เกาะโพเวกเลียกลายเป็นกุญแจสำคัญในการหยุดยั้งการแพร่ระบาดของโรคในเวนิซ นั่นคือการเนรเทศผู้ติดเชื้อให้ไปใช้ชีวิตอยู่บนเกาะ
เกาะเล็กๆพื้นที่เพียง 40กว่าไร่แห่งนี้ รองรับผู้ติดเชื้อกว่า 160,000 คน ในช่วงหลายศตวรรษที่ผ่านมา ซึ่งแน่นอนว่า ไม่ได้เป็นเพียงสถานกักกันโรคเท่านั้น แต่ยังเป็นที่พำนักสุดท้ายของคนจำนวนมาก พวกเขาต้องเผาศพของคนที่ติดเชื้อเพื่อหยุดยั้งการแพร่ระบาด ว่ากันว่า ดินบนเกาะมีขี้เถ้าของเหยื่อผสมอยู่มากกว่าครึ่งเลยทีเดียว
"เวนิซในศตวรรษที่ 15" โดย Erhardum Reüwich de Trajecto และ Bernhard von Breydenbach - (https://www.medievalists.net/2018/02/walking-sixteenth-century-venice-mobilizing-early-modern-city/)
"เศษซากขี้เถ้าจากการเผาศพปะปนกับดินบนเกาะจนแยกไม่ออก" - (https://www.thetravel.com/poveglia-island-creepy-things-didnt-know/)
- ประวัติความเป็นมาของเกาะโพเวกเลีย -
จากภาพเขียนสีด้านล่าง จะเห็นว่าเวเนเชี่ยน ลากูน มีเกาะน้อยใหญ่กว่า166 เกาะ รวมถึงเกาะขนาดเล็กชื่อ โพเวกเลีย ที่อยู่ทางทิศใต้ของจัตุรัสซันมาร์โก
จุดเล็กๆบนภาพวาดนี้เอง ที่กลายเป็นบ้านของชาวโรมันตั้งแต่ศตวรรษที่ 5 หลังจากที่พวกเขาต้องหนีการรุกรานของชาวกอธ และ ฮั่น พวกเขาอาศัยอยู่บนเกาะอย่างอิสระเสรีโดยปราศจากสงครามและการขูดรีดภาษี แต่ประชากรบนเกาะกลับลดลง จนกระทั่งกลายเป็นเกาะร้างในศตวรรษที่ 14
"เวนิซปี 1565" โดย Hogenberg และ Braun จากหนังสือ Civitates Orbis Terrarum - (https://www.medievalists.net/2018/02/making-impression-display-maps-sixteenth-century-venetian-homes/)
"พวกป่าเถื่อน" เป็นคำเรียกชาวกอธ และชาวฮั่น ที่รุกรานชาวโรมันจนแตกกระจายไปตามที่ต่างๆ - (https://www.slideserve.com/walda/chapter-2-the-fall-of-rome)
หลังจากที่เวนิซเติบโตจนเป็นศูนย์กลางการค้าของยุโรป เกาะโพเวกเลียก็กลายเป็นเมืองหน้าด่านสำคัญ ในราวศตวรรษที่ 14 พวกเขาสร้างท่าเรือบนเกาะ เพื่อใช้สำหรับขนส่งเรือรบออกไปป้องกันก่อนที่ข้าศึกจะบุกเข้ามาถึงเวนิซ
นอกเหนือจากจะใช้เป็นสถานกักกันผู้ป่วยแล้ว ที่นี่ยังถือว่าเป็นสถานที่เผาศพขนาดใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในยุโรปอีกด้วย
หลังกาฬโรคกลับมาระบาดในยุโรปอีกครั้งราวศตวรรษที่ 16 ทุกวันจะมีเรือขนศพจากเวนิซและเมืองใกล้เคียงไปเผาที่เกาะ มีเรือขนผู้ติดเชื้อโดยเจ้าหน้าที่ที่ใส่หน้ากากประหลาด ส่วนจมูกจะใส่สมุนไพรไว้เพื่อป้องกันการติดเชื้อ (แน่นอนว่าไม่ได้ผล) พวกเขาเนรเทศคนเหล่านั้นแม้จะแสดงอาการป่วยเพียงเล็กน้อยก็ตาม
"The Italian Doctor during the Black Death" - (https://www.medievalists.net/2011/05/the-italian-doctor-during-the-black-death/)
หลังจากเนรเทศมาอยู่บนเกาะแล้ว ผู้ป่วยถูกเฝ้าดูอาการราว 40 วัน ว่าจะตายหรือหายป่วย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นอย่างแรกเสียมากกว่า ชาวเวเนเชียนเผาร่างนิรนามวันละหลายพันศพ จนเถ้ากระดูกของผู้โชคร้ายกองทับถมไปทั่วทั้งเกาะ
https://siqik.com/the-black-death-was-the-most-devastating-pandemic-in-history/
- การกักกันโรค -
หลังการระบาดครั้งใหญ่ในปี 1348 ชาวเวนิซก็เริ่มคิดค้นระบบการแยกผู้ป่วยขึ้นมา พวกเขากักกันเรือและพวกพ่อค้าที่สงสัยว่าอาจจะติดเชื้อเป็นเวลา 40 วัน ซึ่งคำว่า Quarantine (การกักกัน) มาจากคำว่า Quaranta ในภาษาอิตาลี ที่แปลว่าเลข 40 นั่นเอง
แม้ว่าสุดท้ายแล้วการกักกันโรคจะไม่ค่อยได้ผลเท่าใดนัก แต่อย่างน้อยกระบวนการคัดแยกผู้ติดเชื้อก็เริ่มแพร่หลายไปยังเมืองอื่นในยุโรป
ดังเช่นในปี 1374 ที่กาฬโรคกลับมาระบาดอีกครั้ง ดยุคแห่งมิลานสั่งเนรเทศผู้ติดเชื้อไปอยู่นอกกำแพงเมือง
เมืองรากูซาในเขตชายฝั่งดัลมาเชีย ปรับปรุงเกาะรกร้างให้กลายเป็นสถานพำนักของผู้ป่วย
เมืองดูบรอฟนิค (Dubrovnik) เป็นเมืองเก่าที่อยู่ทางภาคใต้ของประเทศโครเอเชีย ริมชายฝั่งทะเลอาเดรียติก (Adriatic) ตรงข้ามกับชายฝั่งทิศตะวันตกของอิตาลี เดิมทีชื่อเมืองรากูซา (Ragusa) อยู่ในเขตดัลมาเชีย (Dalmatia) ริมทะเลอาเดรียติกมาตั้งแต่สมัยโรมัน - (https://www.dubrovnik-travel.net/history-of-dubrovnik-2-early-medieval-times/)
ดูบรอฟนิคยังถูกใช้เป็นฉากหลังเมือง King's landing ในซีรี่ย์ Game of Thrones อีกด้วย - อ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่: https://2baht.com/dubrovnik-game-of-thrones/
ช่วงต้นศตวรรษที่ 16 เมืองมาร์เซยใช้วิธีอพยพผู้ติดเชื้อไปอยู่รวมกันบนเรือ
ในศตวรรษที่ 17 เมืองแฟรงเฟิร์ตออกกฎห้ามมิให้ครอบครัวของผู้ติดเชื้อออกมาเพ่นพ่านในที่สาธารณะ
นิวยอร์ก (สมัยยังเป็นอาณานิคมของอังกฤษ) สร้างสถานกักกันผู้ติดเชื้อบนเกาะ ซึ่งได้กลายมาเป็นที่ตั้งของเทพีเสรีภาพในปัจจุบัน
https://www.exp1.com/blog/brief-history-liberty-island/
- ระบบ Lazaretti ของชาวเวนิซ -
กาฬโรคในปี 1348 คร่าชีวิตประชากรในเวนิซไปเกินครึ่ง เนื่องจากเวนิซเป็นศูนย์กลางการค้าในสมัยนั้น มีเรือจากที่ต่างๆเกือบทั่วโลกเดินทางเข้าออกทุกวัน ทำให้เชื้อแพร่ระบาดภายในเมืองอย่างรวดเร็ว
หลังจากถูกกาฬโรคเล่นงานซ้ำแล้วซ่ำเล่า ชาวเวนิซก็คิดค้นระบบ Lazaretti หรือ กระบวนการคัดแยกผู้ป่วยขึ้นมา พวกเขาใช้เกาะมากมายในลากูน เป็นสถานกักกันผู้ติดเชื้อ โดยเฉพาะโพเวกเลียที่กลายเป็นจุดเช็กพ้อยท์สำคัญในศตวรรษที่ 18
ปี 1485 จิโอวานนี่ โมเซนนิโก ผู้ปกครองเมืองเวนิซ เสียชีวิตจากกาฬโรค การตายของเขากระตุ้นให้เกิดสถานกักกันอีกหลายแห่งบนเกาะทั่วทั้งเวเนเชียน ลากูน
"Giovanni Mocenigo" - (https://en.wikipedia.org/wiki/Giovanni_Mocenigo)
“เมื่อใดที่โรคระบาดแพร่มาถึงเมือง พวกเขาจะส่งผู้ติดเชื้อไปยังเกาะเหล่านั้นจนกว่าจะหายป่วยหรือตายกันไปข้าง” ลุยซา กัมบาโร นักโบราณคดีกล่าว
ขณะเดียวกัน บนเกาะลัซซาเรโต เวคิโอ ทางตะวันออกเฉียงเหนือของโพเวกเลีย ก็เริ่มมีปริมาณศพที่ต้องกำจัดจนล้นมือ
นักโบราณคดี วินเซ็นโซ กอบโบ กล่าวว่า “คนบนเกาะลัซซาเรโต เวคิโอ ต้องเผาศพวันละประมาณ 500 ร่าง ทำให้ไม่ค่อยได้มีเวลาจัดการเถ้ากระดูกหรือปัดกวาดเช็ดถูอะไรนัก
เกาะ LAZZARETTO VECCHIO - (https://www.lazzarettonuovo.com/tour-of-the-lazzaretto-vecchio-island/)
“เกาะนั่นอย่างกับนรก” รอคโค เบเนเตติ นักประวัติศาสตร์ในสมัยศตวรรษที่ 16 บันทึกไว้ “คนป่วย 3-4 คนต้องนอนบนเตียงเดียวกัน”
https://blackdeathfactshistory.weebly.com/the-plague.html, https://www.npr.org/sections/goatsandsoda/2017/08/18/542435991/those-iconic-images-of-the-plague-thats-not-the-plague
เมื่อมีผู้ติดเชื้อเสียชีวิต พวกเขาจะโยนร่างเหล่านั้นลงในหลุมขนาดใหญ่ “คนงานจะคัดแยกศพแล้วทิ้งลงหลุมทั้งวันโดยไม่หยุดพัก” เบเนเตติจดจารลงในกระดาษ “พวกที่ป่วยหนักจนเดินไม่ได้หรือพูดไม่ไหวจะทยอยล้มตายไปทีละคน จนซากศพกองพะเนินเทินทึก”
https://www.npr.org/sections/goatsandsoda/2017/08/18/542435991/those-iconic-images-of-the-plague-thats-not-the-plague
ในปี 1777 รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขแห่งเวนิซ (ในสมัยนั้น) แต่งตั้งให้โพเวกเลียเป็นจุดเช็กพ้อยท์เบื้องต้น เรือทุกลำจะต้องจอดเพื่อคัดกรองโรคที่นี่ หากมีกะลาสีคนใดแสดงอาการป่วย จะถูกทิ้งให้อยู่บนเกาะต่อไป
- โรงพยาบาลจิตเวช -
โพเวกเลียถูกใช้เป็นสถานกักกันผู้ติดเชื้อจนถึงปี 1814 และการมีผู้คนมาสังเวยชีวิตที่นี่เป็นจำนวนมาก ทำให้ชาวเวเนเชียนหวาดกลัวและตั้งชื่อมันว่า “เกาะผีสิง”
เรื่องราวความน่าสยดสยองยังไม่หยุดแค่เพียงซากศพจากโรคระบาดเท่านั้น ในปี 1922 รัฐบาลอิตาลีสร้างโรงพยาบาลสำหรับดูแลผู้ป่วยจิตเวชขึ้นบนเกาะ
เล่ากันว่า การรักษาผู้ป่วยทางจิตในสมัยนั้น เต็มไปด้วยวิธีที่โหดร้ายต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการเจาะกะโหลกทางเบ้าตา การจับผู้ป่วยกดน้ำ เครื่องมือที่ใช้ในการรักษาอาการป่วยทางจิต เช่น ค้อน สว่าน ลิ่ม ก็ยังคงมีหลงเหลือให้เห็น โดยว่ากันว่ามีผู้ป่วยทางจิตประมาณ 5,000 คน ที่เสียชีวิตและถูกฝังอยู่บนเกาะ
หนึ่งในเรื่องเล่าที่รู้จักกันมากที่สุดอีกเรื่อง คือราวๆ ปี 1930 ได้มีผู้ป่วยรายหนึ่ง (บ้างก็ว่าเป็นหมอที่ทำการทดลองอย่างร้ายกาจกับคนไข้จนไปกระตุ้นความเจ็บแค้นของวิญญาณบนเกาะนั้น) ขึ้นไปบนหอระฆังและกระโดด หรือถูกเหวี่ยงลงมา
แต่จากปากคำของผู้เห็นเหตุการณ์ คนผู้นั้นไม่ได้ตายเพราะตกจากหอระฆัง แต่ในขณะที่เขานอนเจ็บอยู่บนพื้นนั้นเอง ได้มีหมอกสีขาวปรากฏขึ้น และบีบคอคนผู้นั้นจนตาย หอระฆังนั้นถูกปิดลง แต่ยังมีคนได้ยินเสียงระฆังดังอยู่บอยครั้งในเวลาค่ำคืน แม้กระทั่งในปัจจุบัน
"หอระฆังบนเกาะโพเวกเลีย" - (https://www.pinterest.com/pin/58687601366043504/)
ในที่สุด โรงพยาบาลก็ปิดตัวลงในปี 1968 ช่วงเวลาหนึ่งเกาะตกเป็นของรัฐบาล แต่ต่อมาได้มีกลุ่มคนกลุ่มสุดท้ายซึ่งพยายามอยู่อาศัยบนเกาะ โดยครอบครัวนี้ได้ซื้อเกาะเพื่อตั้งใจว่าจะสร้างบ้านพักตากอากาศ
แต่ท้ายที่สุดพวกเขาก็จำต้องออกไปทันทีตั้งแต่คืนแรก โดยแม้ปฏิเสธที่จะให้ความเห็นว่าเกิดอะไรขึ้น แต่สิ่งที่หลงเหลือจากค่ำคืนนั้นมีเพียงสิ่งเดียวคือ คนลูกสาวมีแผลใบหน้าฉีกขาดและต้องเย็บถึง 14 เข็ม
นอกจากนี้จากการสำรวจโดยนักโบราณคดีค้นพบว่า ซากศพที่พบบนเกาะนั้นมีบางส่วนที่ไม่ได้เสียชีวิตจากกาฬโรค แต่คาดว่าเสียชีวิตจากการต้องสงสัยว่าเป็นแวมไพร์
เนื่องจากบางโครงกระดูกนั้นยังอยู่ในสภาพที่คาบก้อนอิฐอยู่ซึ่งเป็นวิธีที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในศพที่ต้องสงสัยว่าจะเป็นแวมไพร์
โดยเชื่อว่าวิธีนี้จะทำให้แวมไพร์นั้นหิวตาย ชาวเมืองสมัยก่อนเรียกภูตผีเหล่านี้ว่าพวกชอบกินผ้าห่อศพ
สื่อต่างชาติออกมาอธิบายว่า หลุมศพเหล่านี้มักจะถูกเปิดออกอยู่บ่อยๆเพื่อฝังศพใหม่อยู่เรื่อยๆในระหว่างช่วงการระบาดของกาฬโรค นักขุดเหล่านี้จึงมักจะเห็นศพที่ถูกฝังมาก่อนหน้า ที่บวมจากการเริ่มย่อยสลาย ภาพที่พวกเขาเห็นคือสภาพที่มีเลือดออกมาจากปากและผ้าห่อศพบางส่วนมีรู พวกเขาจึงมักจะบอกว่าศพเหล่านั้นยังไม่ตายแถมยังดื่มเลือดและกินผ้าห่อศพอีกต่างหาก
ในปี 2014 รัฐบาลอิตาลี ได้ประกาศขายเกาะเพื่อหาเงินเข้ารัฐ โดยหวังว่าจะมีข้อเสนอจากผู้สนใจปรับเปลี่ยนโรงพยาบาลเป็นโรงแรมหรูภายใต้ข้อตกลงสัญญาเช่าเพื่อพัฒนาสินทรัพย์เป็นเวลา 99 ปี ขณะที่เกาะแห่งนี้ก็ยังเป็นทรัพย์สินของรัฐอยู่ แต่กระนั้นการประมูลขายเกาะกลับล้มเหลวไม่เป็นท่า
ปัจจุบันเกาะโพเวกเลียก็ยังถูกทิ้งร้างและปิดตาย หากจะเข้าไปในเกาะต้องทำหนังสือขอความยินยอมจากรัฐบาลอิตาลี ซึ่งโดยส่วนใหญ่จะเป็นรายการท้าพิสูจน์เรื่องลึกลับต่าง ๆ และเหล่านักชีววิทยา เนื่องจากระบบนิเวศน์บนเกาะนั้นปราศจากการรบกวนจากมนุษย์โดยสิ้นเชิง
ช่วง: ล่าท้าผีบนเกาะโพเวกเลีย
พาชมเศษซากโรงพยาบาลร้าง:

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา