21 เม.ย. 2020 เวลา 02:57 • ประวัติศาสตร์
หินประหลาด กับโรคระบาดบนเกาะอังกฤษ
เมื่อเกาะอังกฤษถูกโจมตีด้วยโรคปริศนา ยังมีหมู่บ้านเล็กๆในมณฑลดาบีไชร์ ชื่อว่า หมู่บ้านอีม ได้กระทำสิ่งที่กล้าหาญและเสียสละที่สุด นั่นคือการปิดตายหมู่บ้านเพื่อป้องกันมิให้โรคแพร่ไปสู่มณฑลอื่นทางภาคเหนือของอังกฤษ
- กาฬโรคต่อมน้ำเหลือง -
กาฬโรคต่อมน้ำเหลือง ถือเป็นโรคที่สร้างความหวาดกลัวไปทั่วยุโรปยุคกลาง มันมีชื่อเรียกอีกชื่อว่า "ไข้มรณะดำ" เพราะมันเปลี่ยนผิวหนังผู้ที่ติดเชื้อให้กลายเป็นสีดำ มีเนื้อเน่าอยู่ภายในตุ่มพองเหล่านั้น
ตุ่มพองดังกล่าวคือฝีชนิดหนึ่งที่เกิดการอักเสบจากการติดเชื้อ ผู้ป่วยจะอาเจียน ปวดหัวอย่างรุนแรง และเสียชีวิตในเวลาอันรวดเร็ว
การระบาดครั้งแรกเกิดขึ้นในปี 1346 และ 1353 กวาดล้างประชากรโลกไปกว่า 100 ล้านคน หรือราว 1 ใน 4 ของประชากรโลกขณะนั้น
กาฬโรคระบาดในลอนดอนอีกครั้งช่วงปี 1665-1666 แม้จะไม่รุนแรงเท่าเมื่อตอนศตวรรษที่ 14 แต่มันก็ผลาญชีวิตผู้คนในกรุงลอนดอนไปถึง 100,000 กว่าคน
https://cosmosmagazine.com/biology/long-before-the-black-death-the-plague-entered-europe
- โรคร้ายมาเยือน -
หมู่บ้านอีม ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของเมืองแมนเชสเตอร์ ในฤดูร้อนปี 1665 พ่อค้าจากกรุงลอนดอนส่งผ้าม้วนใหญ่ที่เต็มไปด้วยหมัดหนูมาให้อเล็กซานเดอร์ แฮดฟิลด์ ช่างตัดเสื้อในหมู่บ้าน
https://www.businessinsider.my/eyam-self-quarantine-bubonic-plague-prevented-community-spread
เพราะการขนส่งทำให้ผ้าเหล่านั้นเปียกชื้น จอร์จ ไวการ์ ลูกมือของแฮดฟิล์ดจึงนำม้วนผ้าเหล่านั้นไปผึ่งเตาผิงให้แห้ง ทำให้หมัดที่ซ่อนอยู่หนีความร้อนออกมา เพียงแค่อาทิตย์เดียว ไวการ์ถึงแก่กรรม เขาเป็นเหยื่อรายแรกของหมู่บ้าน และคนที่เหลือในบ้านหลังนั้นก็ทะยอยป่วยและล้มตายไปตามๆกัน
"ไวการ์แค่เดินทางมาช่วยตัดเย็บเสื้อผ้าสำหรับงานเทศกาลในหมู่บ้านเท่านั้นเอง สุดท้ายแล้ว เขาก็ไม่ได้กลับออกไป" โจน แพลนท์ มัคคทายกโบสถ์ประจำหมู่บ้านอีมเล่าให้ฟัง เขาศึกษาประวัติศาสตร์หมู่บ้านมาเป็นอย่างดี
"ภาพเขียนสีในโบสถ์ภายในหมู่บ้านอีม จอร์จ ไวการ์ เหยื่อคนแรกของหมู่บ้าน เสียชีวิตเมื่อ 7 กันยายน 1665"
ตั้งแต่เดือนกันยายน ถึง ธันวาคมปี 1665 มีชาวบ้านเสียชีวิตไปแล้ว 42 คน พอถึงฤดูใบไม้ผลิปี 1666 ชาวบ้านหลายคนหวาดกลัว คิดที่จะอพยพหนีเพื่อรักษาชีวิตของตัวเอง
แต่แล้ว พระหนุ่มนาม วิลเลียม มอมเพสสัน ก็ออกมาคัดค้าน เขาเชื่อว่า ตนมีหน้าที่ป้องกันมิให้โรคแพร่ไปสู่เมืองเชฟฟิล์ด และ เบคเวลที่อยู่ข้างเคียง เขาประกาศว่า อีมควรกักบริเวณตนเอง
"เราจะไม่ไปไหน และเราจะไม่แพร่โรคร้ายให้เมืองอื่นอย่างเด็ดขาด!"
แต่ถึงแม้เขาจะโน้มน้าวให้พระลูกวัดยอมอยู่ต่อ แต่ชาวบ้านหลายคนไม่เห็นด้วย เพราะไม่ได้ศรัทธาชอบพอเขามาก่อน
"William Mompesson"
- อุปสรรคของมอมเพสสัน -
มอมเพสสันถูกส่งมาที่หมู่บ้านอีม ในเดือนเมษายนปี 1664 หลังจาก โทมัส สแตนลี อธิการโบสถ์คนเก่าถูกเนรเทศไปอยู่นอกหมู่บ้าน เพราะต่อต้านการบังคับใช้หนังสือสวดมนต์ของพระเจ้าชาส์ลที่ 2 อย่างไรก็ตาม พระลูกวัดยังคงภักดีต่อสแตนลีอยู่เสมอ และไม่ค่อยให้ความเคารพเชื่อฟังมอมเพสสันเท่าใดนัก
"พระเจ้าชาส์ลที่ 2 แห่งอังกฤษ และหนังสือสวดมนต์ที่เขาบังคับใช้ทั่วทั้งอาณาจักร" - (https://www.pinterest.com/pin/426927239653519692/)
24 มิถุนายน ปี 1666 มอมเพสสันกล่าวกับพระลูกวัดว่า หมู่บ้านนี้จะต้องปิดตาย ห้ามใครเข้าออกเด็ดขาด
แคทเธอรีน ภรรยาของมอมเพสสันเขียนไว้ในบันทึกว่า "เรากังวลกับสิ่งที่จะเกิดขึ้น พระลูกวัดเริ่มต่อต้าน โชคดีที่สาธุคุณสแตนลีเห็นด้วยกับความคิดของเขา บางทีความตั้งใจของวิลอาจสัมฤทธิ์ผลในไม่ช้า"
ในวันประชุมหมู่บ้าน หลายคนเครียดกับแผนการของมอมเพสสัน แคทเธอรีนบรรยายไว้ว่า
"ในที่สุด ด้วยความช่วยเหลือจากสาธุคุณสแตนลี ผู้ยืนยันหนักแน่นว่า ยังไงก็ต้องกักกันเราออกจากชุมชนข้างเคียง เพราะนี่เป็นทางเดียวที่จะหยุดยั้งการระบาดของโรค พวกชาวบ้านก็เริ่มยินยอมและเห็นพ้องต้องกัน"
"สแตนลี และ มอมเพสสัน พบปะพูดคุยกันก่อนที่สแตนลีจะถูกเนรเทศ"
- ความทุกข์ระทมของอีม -
ไมเคิล สวีท ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อ จากมหาวิทยาลัยเดอร์บี้ กล่าวไว้ว่า
"การตัดสินใจกักบริเวณคนในหมู่บ้าน ถือว่าเป็นกุญแจสำคัญที่จะพลิกกระบวนการ Human-to-human contact กล่าวคือ พวกที่อยู่นอกหมู่บ้าน แทบจะไม่มีโอกาสได้รับเชื้อเลย ทำให้ลดความเสี่ยงที่จะแพร่กระจายโรคไปด้วย"
"นี่คือตัวอย่างของการกักกันโรคที่ได้ผลดียิ่ง" เขาเสริม
https://historycollection.co/17th-century-british-village-became-plague-quarantine/2/
สิงหาคมปี 1666 มีผู้เสียชีวิต 5-6 คนต่อวัน ถือเป็นช่วงที่พีคที่สุดของการระบาดในหมู่บ้าน เพราะอากาศที่ร้อน ทำให้พวกหมัดซึ่งเป็นพาหะนำโรคยิ่งออกมาเพ่นพ่านไปทั่ว
เดือนเดียวกันนี้ นางอลิซาเบธ แฮนค็อก ต้องจมอยู่กับความทุกข์ระทมแสนสาหัส เพราะเธอต้องอยู่ฝังศพสามีและลูกอีก 6 คนของเธอ ทั้งหมดติดเชื้อและเสียชีวิตภายในเวลาเพียง 8 วัน
"สามีและลูกๆทั้ง 6 คนของเธอเสียชีวิตภายในอาทิตย์เดียว" หลุมของพวกเขาแยกออกมาต่างหากทางทิศตะวันออกของหมู่บ้าน
มาร์แชล อาล์ว เป็นผู้รอดชีวิตอีกรายที่ต้องจัดพิธีศพให้กับครอบครัวตัวเอง มาร์แชลติดเชื้อในช่วงแรกของการระบาด แต่เขาหายป่วยและรอดชีวิต และเชื่อว่าตนจะไม่ติดเชื้อซ้ำอีกแน่นอน เขาจึงหารายได้พิเศษด้วยการขโมยทรัพย์สินจากคนที่ติดเชื้อตาย
สุดท้ายแล้ว มา์แชลกลับต้องฝังศพภรรยาและลูกชายวัย 2 ขวบของตัวเอง พวกเขาน่าจะติดเชื้อจากของทั้งหลายแหล่ที่มาร์แชลขโมยมา
"มันน่าเศร้ามาก แต่เวลานั้นใครๆต่างก็ต้องทำเพื่อความอยู่รอด พวกเขาต้องเชื่อในพระเจ้า และไม่ยอมแพ้ต่อความตาย" ภรรยาของโจน แพลนท์ ผู้เป็นทายาทของมาร์แชลกล่าว
หลวงพ่อมอมเพสสัน บรรยายไว้ว่า ก่อนที่คนป่วยจะตายมักได้กลิ่นบางอย่าง วันที่ 22 สิงหาคม ปี 1666 เขาและภรรยาเดินเล่นที่เนินเขา เธอบอกว่าได้กลิ่น "ขนม" ในอากาศ ไม่กี่วันถัดมาเธอก็สิ้นลม ก่อนหน้านั้น แคทเธอรีนเป็นอาสาช่วยคนในหมู่บ้าน เธอสัมผัสกับผู้ป่วยมากมาย
"หลุมศพของแคทเธอรีน มอมเพสสัน"- (https://www.findagrave.com/memorial/11873/catherine-mompesson#view-photo=133541454)
- Boundary Stone -
ชาวบ้านนำหินไปวางไว้ตามชายขอบหมู่บ้าน เพื่อกั้นเป็นเขตแดนให้รู้ว่า "ห้ามเข้าและออก" แม้กระทั่งพวกที่ยังสุขภาพดี ก็ให้คำสาบานว่าจะไม่ก้าวพ้นก้อนหินเหล่านั้นออกไปเด็ดขาด จนกว่าโรคร้ายจะสูญสิ้น
"Boundary Stone"
หมู่บ้านข้างเคียงต่างนำของอุปโภคบริโภค เช่น เนื้อสัตว์ ธัญพืช ยา และของจำเป็นอื่นๆ วางไว้บนหินกั้นเขตแดน (Boundary stone) ชาวบ้านอีมจะทิ้งเหรียญไว้ในรางน้ำ (ที่เทไวน์จนเต็ม เพราะเชื่อว่าสามารถชำระล้างเชื้อโรคได้) เป็นการตอบแทน
ปัจจุบันยังคงเห็น Boundary stone อยู่ทั่วไปที่อีม และรางน้ำที่ชาวบ้านเคยทิ้งเหรียญตอบแทนผู้ใจบุญ ถูกเรียกว่า "Mompesson’s well"
"Mompesson’s well"
ผู้รอดชีวิตต่างทนทุกข์ทรมานที่ต้องอยู่ฝังศพคนในครอบครัวของตนเอง บางครั้ง ชาวบ้านก็ใช้วิธีผูกเชือกที่ข้อเท้าศพ แล้วลากไปบนพื้นถนนเพื่อป้องกันการติดเชื้อ
- หลังพายุผ่านพ้น -
1 พฤศจิกายน 1666 อับราฮัม มอร์เทน คนงานในฟาร์ม สิ้นชีวิตลง เขามีอายุเพียง 20 ปี เป็นหนึ่งในคนตระกูลมอร์เทนทั้ง 18 คนที่เสียชีวิต เขาเป็นเหยื่อคนสุดท้ายของหมู่บ้าน
รวมระยะเวลาทั้งสิ้น 14 เดือน จู่ๆโรคร้ายก็หายสาบสูญอย่างปัจจุบันทันด่วนเช่นเดียวกันตอนที่มันมา ชาวบ้านอีม 260 คน จาก 76 ครอบครัวต้องสังเวยชีวิต นักประวัติศาสต์ประเมินว่า อีมน่าจะมีประชากรระหว่าง 350-800 คน ก่อนหน้านั้น ซึ่งหมายความว่า ที่นี่มีอัตราการตายสูงกว่าการระบาดที่กรุงลอนดอนในเวลาเดียวกันเสียอีก
พวกเขาหลายคนเลือกที่จะอพยพย้ายหนีไปก็ได้ ในตอนที่การระบาดยังไม่รุนแรง แต่ชาวบ้านมองว่า นี่คือการกระทำที่เห็นแก่ตัวที่สุด การเสียสละของพวกเขาได้ช่วยชีวิตชาวบ้านทางภาคเหนือของอังกฤษนับพันๆคน
"หมู่บ้านอีมในปัจจุบัน
ป้ายเชิดชูวีรกรรม ก้อนหิน รางน้ำ และหลุมศพของผู้พลีชีพ ยังคงเหลือรอดมาจนถึงปัจจุบัน ในวันอาทิตย์สุดท้ายของเดือนสิงหาคมของทุกปี จะกำหนดให้เป็นวันรำลึกถึงวีรชนผู้เสียสละแห่งอีม ผู้คนเดินทางไปยัง Boundary stone วางเหรียญจำนวนหนึ่งทิ้งไว้ เพื่อเป็นเกียรติแก่ให้แก่ผู้เสียชีวิตในคราวนั้น
https://www.eyam-museum.org.uk/eyam

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา