Grave’s disease
.
“Graves' disease” เป็นชื่อที่ได้จากแพทย์ชาวไอร์แลนด์ ชื่อ Robert James Graves ซึ่งเป็นผู้อธิบายและกล่าวถึง โรคคอพอกที่มีลักษณะตาโปน ในปี ค.ศ. 1835 และหลังจากนั้นก็มีอีกหลายๆที่ที่มีชื่อเรียกต่างกันไปแต่ไม่นิยมเท่าที่ควร เช่น Parry's disease, Begbie's disease ,Flajani's disease, Flajani-Basedow syndrome และ Marsh's disease
.
เป็นความผิดปกติทางระบบภูมิคุ้มกันที่เกิดจากภาวะไทรอยด์เป็นพิษ ทำให้มีระดับฮอร์โมนไทรอยด์ในเลือดสูง (Hyperthyroidism) หรือทำงานมากเกินปกติ โดยร่างกายมี Autoantibody ต่อ Thyroid stimulating hormone receptor ไปกระตุ้นให้ต่อมไทรอยด์ผลิตและหลั่งฮอร์โมนไทรอยด์ออกมามากเกินความจำเป็นจนเกิดเป็นภาวะดังกล่าว ปริมาณฮอร์โมนที่สูงกว่าปกตินี้จะส่งผลกระทบต่อหลายระบบในร่างกายได้แก่ หัวใจ กระดูก กล้ามเนื้อ และระบบสืบพันธุ์
.
👉อาการที่พบคือ หัวใจเต้นเร็ว มวนท้อง ท้องเสีย คอพอก ทนร้อนไม่ได้ วิตกกังวล เหนื่อยง่าย อ่อนแรง นอนไม่หลับ น้ำหนักลด โมโหง่าย หงุดหงิด หรือมีภาวะอัมพาตเป็นครั้งคราวจากโพแทสเซียมในเลือดต่ำ ผู้หญิงจะมีประจำเดือนมาผิดปกติ
ส่วนอาการแทรกซ้อนที่พบได้คือ หัวใจวาย หัวใจขาดเลือด ในรายที่ตาโปนมากอาจทำให้กระจกตาเป็นแผลและการมองเห็นผิดปกติจนพิการ หรือเป็นอันตรายถึงชีวิตได้
อาการทางผิวหนัง (dermopathy) ลักษณะเป็นหนังนูนแข็งมีอาการคัน กดไม่บุ๋ม มีรูขุมขนชัด คล้ายผิวส้มเรียกว่า localized myxedema พบบ่อยที่บริเวณหน้าแข้ง หรือบริเวณที่มีการเสียดสีพบ 0.5-4.3 % ของผู้ป่วย Graves’ disease
.
👉การวินิจฉัยทำได้โดย ตรวจร่างกายผู้ป่วยจะมีอาการคอพอก (diffuse goiter) คลำดูมีลักษณะหยุ่น ๆ เมื่อใช้เครื่องฟังตรวจที่ต่อม Thyroid อาจได้ยินเสียงฟู่ (bruit) ตาโปนจะเห็นตาขาวข้างบนชัด เพราะหนังตาบนหดรั้งขึ้นไป (Graves’ eye disease) ซึ่งพบประมาณ 1/3 ของผู้ที่เป็น grave’s disease และมีประวัติครอบครัวเป็นโรคไทรอยด์หรือโรคทาง autoimmune
.
👉ตรวจพบ Thyroid autoantibodies ได้แก่ antithyroid peroxidase (TPO) Ab (หรือ Antimicrosomal Ab), Antithyroglobulin Ab, และ Anti thyrotropin receptor Ab การตรวจเลือดเพื่อดูค่า thyroid-stimulating immunoglobulin (TSI) หรือทำ imaging โดย Radioactive iodine uptake test หรือ Thyroid scan มักจะทำในรายที่มีอาการมาก
.
👉การรักษามีหลายวิธีขึ้นกับความรุนแรง เริ่มตั้งแต่รักษาด้วยยา เช่น methimazole, propylthiouracil การรักษาโดยการกลืนแร่เพื่อเข้าไปทำลายและทำให้เกิดการหดตัวของต่อมไทรอยด์ การผ่าตัดเอาบางส่วนหรือทั้งหมดของต่อมไทรอยด์ออก และการใช้ยาบางกลุ่มเข้ามาช่วยบรรเทาอาการจากโรคไทรอยด์เป็นพิษ เช่น Beta-blockers ช่วยลดอาการใจสั่น steroids ยับยั้งการทำงานของภูมิคุ้มกันในร่างกาย หรือยาหยอดตาชนิดพิเศษเพื่อช่วยควบคุมอาการ
.
ทั้งนี้ควรติดตามค่าไทรอยด์อย่างสม่ำเสมอ และการรักษาควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์เท่านั้น
.
เอกสารอ้างอิง
วัลยา จงเจริญประเสริฐ. Patients with thyroid dysfunction. หน่วยต่อมไร้ท่อและเมแทบบอลิสม.