16 เม.ย. 2020 เวลา 12:53 • การศึกษา
สัญญาจ้างที่ “กำหนดเวลา” ห้ามลูกจ้างประกอบธุรกิจหรือทำงานบริษัทคู่แข่งหลังพ้นสภาพลูกจ้างไปแล้วนั้น ก็อาจถูกเปลี่ยนแปลงได้
เป็นที่รู้กันว่าในการจ้างงานบางตำแหน่งนั้น นายจ้างอาจระบุลงไปในสัญญาจ้าง โดยห้ามไม่ให้ลูกจ้างไปประกอบธุรกิจหรือทำงานบริษัทคู่แข่งหลังจากพ้นสถาพการเป็นลูกจ้างไปแล้ว เป็นเวลา...เดือนหรือปี
หากลูกจ้างฝ่าฝืนจะต้องชดใช้ค่าเสียหายให้แก่นายจ้าง ฯลฯ
เหตุผลก็เพื่อป้องกันไม่ให้ความลับทางการค้า หรือองค์ความรู้ที่ลูกจ้างได้ไปจากการทำงานกับนายจ้างต้องตกแก่คู่แข่งในธุรกิจประเภทเดียวกันนั่นเอง
ซึ่งแนวคำพิพากษาศาลฎีกาก็ได้ตัดสินไว้คล้าย ๆ กัน คือ ข้อสัญญาดังกล่าวสามารถใช้บังคับได้
เพราะนอกจากจะเป็นการประกันความสุจริตของลูกจ้างแล้ว ยังเป็นสิทธิของนายจ้างที่จะปกป้องสงวนรักษาข้อมูล และความลับในทางการค้าเพื่อประโยชน์ในทางธุรกิจของนายจ้าง
แต่ระยะเวลาที่ห้ามลูกจ้างประกอบธุรกิจหรือทำงานบริษัทอื่นที่มีลักษณะเดียวกันจะต้อง “เป็นระยะเวลาที่เหมาะสม”
กล่าวคือ ไม่ยาวนานจนเกินไป และต้องเหมาะสมกับระยะเวลาการทำงานที่ลูกจ้างได้ทำงานให้กับนายจ้าง
ไม่เช่นนั้นอาจถือว่าข้อสัญญาดังกล่าวสร้างภาระให้กับลูกจ้างมากเกินสมควร
และศาลอาจพิพากษาให้ลดการจำกัดระยะเวลาลงตามความเหมาะสมได้...
เคยมีคดีที่นายจ้างเป็นโจทก์ฟ้องลูกจ้าง เนื่องจากลูกจ้างผิดสัญญาไปทำงานกับบริษัทคู่แข่งหลังจากพ้นสภาพการเป็นลูกจ้างก่อนพ้นระยะเวลาที่กำหนด โดยขอให้ลูกจ้างชำระค่าเสียหายตามสัญญา
(สัญญากำหนดห้ามไว้ 24 เดือนหลังจากพ้นสถาพพนักงาน หากฝ่าฝืนต้องชดใช้ค่าเสียหาย 100,000 บาท หรือ 3 เท่าของเงินเดือน และมีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายอื่น ๆ ได้)
ศาลแรงงานเห็นว่า ลูกจ้างทำงานให้กับนายจ้างเพียง 1 ปี 10 เดือน ความรู้และประสบการณ์ทำงานที่ได้จากการทำงานกับนายจ้างมีน้อยกว่าที่ลูกจ้างมีมาก่อน
การกำหนดเวลาห้าม 24 เดือนทำให้ลูกจ้างต้องรับภาระมากกว่าที่พึงคาดหมายได้
ดังนั้น ศาลจึงพิพากษากำหนดเวลาห้ามเหลือ 3 เดือน และให้ลูกจ้างชดใช้ค่าเสียหายแก่นายจ้างเป็นเงิน 29,350 บาทพร้อมดอกเบี้ย
ซึ่งถือว่าเป็นธรรมและพอสมควรแก่กรณีแล้ว...
(อ้างอิงคำพิพากษาฎีกาที่ 9276/2559)
หมายเหตุ : คดีนี้ลูกจ้างได้ต่อสู้ว่าสัญญาจ้างดังกล่าวเป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งศาลได้พิจารณาจากข้อเท็จจริงรอบด้าน ไม่ว่าจะเป็น
- ความเสียหายของนายจ้าง
- ระยะเวลาการทำงาน
- ประสบการณ์ที่ลูกจ้างได้รับจากนายจ้าง
ซึ่งผลของคดีก็ออกมาค่อนข้างที่จะเป็นธรรมกับทั้ง 2 ฝ่าย คือ
1. ข้อสัญญายังคงมีผลใช้บังคับต่อไปได้
2. ส่วนค่าเสียหายกับระยะเวลาที่ห้าม ศาลเห็นว่าทำให้ลูกจ้างรับภาระเกินสมควร เมื่อเทียบระยะเวลาและประสบการณ์ที่ลูกจ้างได้รับจากนายจ้าง
3. ศาลจึงสั่งลดระยะเวลาการห้ามและจำนวนค่าเสียหายลงตามที่เห็นครับ
ขอบคุณภาพจาก pixabay
ถ้าได้ประโยชน์จากบทความนี้ ช่วยกด Like, Share ด้วยนะครับ 😻

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา