16 เม.ย. 2020 เวลา 23:13 • การศึกษา
Insight : เจาะลึกตลาดเงิน !! วิกฤตครั้งนี้จะไปทางไหนต่อ ? พร้อมข้อมูลสำคัญทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ในปัจจุบัน
สถานการณ์เศรษฐกิจล่าสุดเป็นอย่างไร ? มีอะไรน่าติดตามบ้าง ? ผู้เชี่ยวชาญต่าง ๆ คาดการณ์ไปในทิศทางไหน ? วันนี้ World Maker มีคำตอบครับ
ก่อนอื่น ขอตอบคำถามที่พบบ่อยนะครับ "ทำไมต้องเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ?"
คำตอบก็คือ เพราะว่าทุกวันนี้โลกของเรากำลังอยู่ภายใต้ระบบเงินดอลลาร์ครับ ค่าเงินทุกประเทศถูกผูกไว้กับเงินดอลลาร์ และค่าเงินดอลลาร์ก็จะขึ้นอยู่กับสภาพเศรษฐกิจของสหรัฐฯ เป็นหลักครับ รองลงมาก็คือสภาพเศรษฐกิจของประเทศมหาอำนาจอื่น ๆ ทั่วโลก เช่น จีน รัสเซีย อังกฤษ ฯลฯ
ในยุคของโลกาภิวัตน์ เราใช้ระบบเศรษฐกิจแบบนำเข้า-ส่งออก มากกว่าการพึ่งพาทรัพยากร ภายในประเทศตัวเอง เพื่อตัดปัญหาการขาดแคลนทรัพยากรออกไป (แต่ล่ะประเทศมีทรัพยากรที่จำเป็น แต่ละอย่างไม่เท่ากัน)
และในยุคนั้นเอง สหรัฐฯ กำลังครองความเป็นมหาอำนาจอยู่ ทั้งโลกก็เลยตกลง(โดยจำเป็น)ที่จะใช้เงินดอลลาร์เป็นตัวกลางเพื่อแลกเปลี่ยนกับสกุลเงินตราของประเทศอื่น ๆ
ในตอนแรกนั้นดอลลาร์ยังคงผูกอยู่กับมาตรฐานทองคำ (Gold Standard) แต่ภายหลังได้ประกาศยกเลิกไป และกลายเป็นสหรัฐฯ สามารถพิมพ์เงินได้โดยไม่ต้องใช้สินทรัพย์ใด ๆ เป็นตัวค้ำประกัน
เรื่องราวของเงินดอลลาร์นั้นเกี่ยวข้องและมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกันอย่างมากกับ "ระบบธนาคาร" ที่เป็นแก่นของ "ระบบทุนนิยม" ที่ควบคุมโลกอยู่ทุกวันนี้อีกทีหนึ่งครับ
Comment : เรื่องของระบบธนาคาร ใครที่ศึกษาจริง ๆ จะรู้ว่ามันมีเบื้องหลัง เบื้องลึกมากครับ ลึกจนคนทั่วไปกว่า 90% ไม่เชื่อเลยแหละว่าโลกเราเป็นแบบนี้จริง ๆ แต่น่าสนใจมาก ๆ ครับ ลองไปศึกษาเพิ่มเติมดูได้ ผมแนะนำ
หากย้อนไปโดยละเอียดกว่านี้จะยาวมากครับ ไม่สามารถเอามาเขียนได้หมดในบทความนี้ แต่สำหรับคนที่สนใจจริง ๆ สามารถติดตามอ่านย้อนหลังได้ใน Series "เจาะลึกทองคำ" ของ World Maker ตามลิ้งด้านล่างนี้เลยนะครับ
* เกร็ดความรู้ : "ค้ำประกัน" กับ "ผูกติด" ไม่เหมือนกันนะครับ ตัวอย่างเช่น การที่ทั่วโลกต้องใช้เงินดอลลาร์ซื้อน้ำมัน นั่นแปลว่าดอลลาร์ "ผูกติด" กับน้ำมัน แต่ไม่ได้แปลว่าดอลลาร์มีน้ำมันเป็นสินทรัพย์ "ค้ำประกัน"
ทั้งหมดที่กล่าวมาจึงสรุปได้ว่า เศรษฐกิจของเกือบทุกประเทศในโลกตอนนี้ ถูกเชื่อมโยงเข้าหากันด้วยโซ่ Supply Chain ที่เรียกว่า "ระบบธนาคารและเงินดอลลาร์"
ดังนั้นแล้ว หากเศรษฐกิจของสหรัฐไม่ดี ก็จะส่งผลกระทบต่อเงินดอลลาร์ และผลกระทบของเงินดอลลาร์ก็จะส่งต่อไปทั่วโลกครับ (พอเห็นภาพใช่มั้ย?)
เอาล่ะ...ทีนี้ก็ถึงเวลาเข้าเรื่องกันแล้วครับ...
ประเด็นหลักที่ 1 : จำนวนผู้ขอเข้ารับสวัสดิการว่างงานล่าสุด 5.25 ล้านคน
ตัวเลขของชาวอเมริกันที่ขอรับสวัสดิการว่างงานลดลงจาก 6.62 ล้านคนในอาทิตย์ก่อน 1.37 คน เหลือ 5.2 ล้านคน !! แต่ยังถือว่าอยู่ในระดับที่สูงมากเป็นสัปดาห์ที่ 3 ติดต่อกัน
สถิติผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานย้อนหลัง 4 สัปดาห์เป็นดังนี้
4 สัปดาห์ก่อน (21 มีนาคม 2020) : 3.31 ล้านคน
3 สัปดาห์ก่อน (28 มีนาคม 2020) : 6.87 ล้านคน
2 สัปดาห์ก่อน (4 เมษายน 2020) : 6.62 ล้านคน
1 สัปดาห์ก่อน (11 เมษายน 2020) : 5.25 ล้านคน
โดยรวมแล้ว 4 สัปดาห์นี้มีคนขอรับสวัสดิการว่างงานกว่า 22 ล้านคน !!
Comment : ลองเดากันดูเล่น ๆ ครับ ว่าตัวเลขของสัปดาห์นี้จะเป็นกี่คน ซึ่งประกาศอย่างเป็นทางการจะออกในสัปดาห์หน้านะครับ
ตัวเลข 5.25 ล้านคนล่าสุดนี้ หากคิดเป็นอัตราการว่างงาน (Unemployment Rate) จะอยู่ที่ราว ๆ 17% ซึ่งยังสูงกว่าอัตราการว่างงาน 10% ในช่วงวิกฤตเมื่อปี 2008
สำหรับใครที่นึกไม่ออกว่าตัวเลขนี้รุนแรงแค่นี้ ขออธิบายด้วยภาพ Initial Jobless Claims ตั้งแต่ปีค.ศ. 1965 จนถึงปัจจุบันครับ จะเห็นได้ชัดเจนว่าตัวเลขการว่างงานของสหรัฐฯ ไม่เคยเกิน 1 ล้านคนมาก่อนเลย นั่นหมายความว่ามันเพิ่มขึ้นจากระดับปกติกว่า 6 เท่า !! (สังเกตเส้นขีดยาว ๆ ขวาสุด)
ส่วนจำนวนยืนยันผู้ที่ได้รับสวัสดิการเรียบร้อยแล้วเพิ่มขึ้น 4.53 ล้านคน ทำให้ยอดรวมเพิ่มเป็น 12 ล้านคนแล้วนะครับ (สถิตินี้จะช้ากว่าความเป็นจริง 1 สัปดาห์ครับ)
รายละเอียดย่อยที่น่าสนใจของสัปดาห์ล่าสุด มีดังนี้ครับ
- รัฐ California มีคนขอรับสวัสดิการมากที่สุดประมาณ 661,000 คน
- รัฐ New York ประมาณ 396,000 คน
- รัฐ Georgia ตามมาเป็นอันดับ 3 ประมาณ 318,000 คน
- รัฐ Texas อยู่ในอันดับ 4 ประมาณ 274,000 คน
ความคิดเห็นของนักเศรษฐศาสตร์ชั้นนำบางส่วน
"ตัวเลขเหล่านี้นี้สัมพันธ์กับคาดการณ์อัตราว่างงานที่สูงกว่า 20% และตัวเลขล่าสุดก็แสดงให้เห็นแล้วว่าปัจจุบันเราอยู่ในระดับต่ำกว่าคาดการณ์เพียงเล็กน้อย(17%) แต่อย่างไรก็ตาม เราได้มองเห็นการลดลงอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 2 สัปดาห์ติดกัน ซึ่งอาจหมายความว่าเราได้ผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว"
Brett Ryan นักเศรษฐศาสตร์ระดับอาวุโสประจำ Deutsche Bank สหรัฐฯ
"ความเร็วและขนาดของการสูญเสียงานจะคล้ายกับภัยพิบัติทางธรรมชาติมากกว่าภาวะถดถอยทั่วไป การสูญเสียงานโดยรวมในเดือนเมษายนอาจสูงกว่าในเดือนมีนาคม 10 ถึง 20 เท่า"
Dante DeAntonio นักเศรษฐศาสตร์จาก Moody's Analytics
โดยรวมแล้วนักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ว่าอัตราการว่างงานทั้งหมดในเดือนนี้จะอยู่ที่ระดับสูงกว่าจุด Peak 10% ของ Great Recession และสูงกว่าจุด Peak 10.8% เมื่อช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ด้วยกันเช่นกัน
ทั้งหมดนี้กำลังบอกอะไรเรา ?
สิ่งนี้แสดงให้เห็นครับว่ามีแนวโน้มสูงที่ภาคเศรษฐกิจจะไม่สามารถฟื้นฟูได้อย่างรวดเร็วแบบ V-Shape หรือพูดให้ง่ายกว่านั้นคือมันอาจกินเวลาอีกหลายเดือน กว่าทุกอย่างจะกลับมาเป็นปกติครับ
ประเด็นหลักที่ 2 : ตัวเลขคนว่างงานในสหรัฐฯ ผ่านจุดสูงสุดไปแล้วหรือยัง ?
ก่อนจะเข้าประเด็นนี้ World Maker อยากพาไปดูดัชนี S&P 500 ในช่วงก่อนหน้านี้กันสักนิดนึงครับ เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนมากขึ้น
ในช่วง 7 สัปดาห์ก่อนหน้านี้ จะมีประมาณ 22 วัน ที่ดัชนี S&P 500 วิ่งขึ้นลงกว่า 3% ซึ่งถือเป็นสถิติสูงที่สุดเท่าที่เคยมีมา
คำถามแรก ทำไมต้อง S&P 500 ?
คำตอบก็เพราะว่ามันเป็นดัชนีที่รวมความเคลื่อนไหวของภาคอุตสาหกรรมเกือบทั้งหมดของสหรัฐฯ ยังไงล่ะครับ โดยสัดส่วนต่าง ๆ ของอัตสาหกรรมที่อยู่ในดัชนี S&P 500 มีรายละเอียดตามภาพด้านล่างเลยครับ
ขอบคุณภาพจาก mitrade
แล้วมันสำคัญยังไง ?
เหตุผลที่มันสำคัญก็เพราะว่า จากข้อมูลทางสถิติในภาพด้านล่างนี้ ในช่วงเดือนตุลาคมปี 1932 และเดือนพฤศจิกายน 2008 ตลาดหุ้นวิ่งทำ New High ในลักษณะเดียวกันนี้ และหลังจากนั้นก็ตามมาด้วยการที่ตลาดหุ้นร่วงถึง 40% และ 27% ตามลำดับ
ภาวะตลาดหมีในปัจจุบันนี้ เป็นหมีที่ตัวใหญ่กว่าหลาย ๆ ตัวที่เราเคยเจอมา
ประเด็นที่น่าสนใจสำหรับเรื่องนี้ก็คือ วิกฤตในครั้งนี้ มีหลายสิ่งที่แตกต่างออกไปจากครั้งก่อน ๆ รวมถึงมีหลายปัจจัยที่ส่งเสริมให้เกิดความเสี่ยงในระยะยาวสูงกว่าวิกฤตในทุก ๆ ครั้ง ดังนี้ครับ
1. วิกฤตครั้งนี้ได้รับผลกระทบต่อเนื่องมาจากวิกฤตซัพไพรม์ซึ่งยังไม่เคยสิ้นสุดไป รู้ตัวไหมครับว่าเราอยู่ในเงินเฟ้อมหาศาล ที่พิมพ์ได้ไม่จำกัด แต่เคยสงสัยกันบ้างไหม ว่าทำไมอัดตราเงินเฟ้อของโลกถึงอยู่ในระดับต่ำ ?
เหตุผลจริง ๆ แล้วไม่ยากเลยครับ ก็เพราะเงินมันกระจุกอยู่ในมือคนรวย ฟองสบู่เก็งกำไรในตลาดหุ้น รวมถึงยังซ่อนอยู่ในรูปแบบของ "หนี้" อีกมหาศาลครับ แต่เงินเหล่านี้จะไม่ถูกนำมาคิดเป็นเงินเฟ้อเลย เนื่องจากมันกลายเป็นมูลค่าในตลาดหุ้นไปแล้ว
เครื่องมือพวกนี้ในระบบการเงิน ก็เปรียบเสมือนช่องโหว่ในข้อกฎหมายนั่นแหละครับ ที่บางครั้งสามารถสับขาหลอก ปลอมแปลงตัวเลข ตกแต่งให้มันสวยงามก็ยังได้ (เคยได้ยินไหมว่า "บางครั้งสถิติก็หลอกเราได้")
2. ตลาดจะไม่สามารถฟื้นตัวได้รวดเร็วเหมือนครั้งก่อน ๆ เนื่องจากมีความไม่แน่นอนสูงมาก และความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่ลดลงนี้จะทำให้เกิด Chain Effect ต่อกันไปเป็นทอด ๆ โดยเฉพาะช่วงตรงกลางของสายโซ่ที่ Effect จะเกิดขึ้นรุนแรงที่สุด
3. วิกฤตครั้งนี้มาในรูปแบบของ "ภัยพิบัติ" + "สงคราม" และ "เกมการเมือง"
- สงครามการค้ากับจีนก่อนหน้านี้ก็ยังไม่จบ -> ตลาดหุ้นเริ่มส่งกลิ่นแปลก ๆ ช่วงนั้นใครจำได้ มีการเกิดสัญญาณที่สำคัญมาก ๆ ทางเศรษฐกิจอย่าง Inverted yield curve ใน U.S. Treasury แต่นักลงทุนกว่า 90% ก็ยังไม่รู้ตัว
- ตามมาด้วยสงครามกับอิหร่านในตะวันออกกลาง -> น้ำมันขึ้น ทองคำพุ่งอย่างรุนแรง เกิดความตึงเครียดสูงสุดในภูมิภาคตะวันออกกลาง ซึ่งธงแดงที่เป็นสัญลักษณ์ของการแก้แค้นโดยอิหร่านทุกวันนี้ก็ยังอยู่นะครับ ยังไม่เอาลง ดังนั้นก็เป็นอีกเรื่องที่น่าคิดว่าจบวิกฤตนี้ เราจะเจออะไรต่อ
- ต่อมามีกระแสข่าวออกมาว่าคนเริ่ม Panic กลัวจะเกิดสงครามโลก จากการโจมตีนายพล Qassem Soleimani -> แต่แล้วผู้เชี่ยวชาญหลายคนได้ออกมากล่าวว่า "เรื่องนี้ยังเป็นไปได้ยาก" เนื่องจากยังไม่มีความเคลื่อนไหวจาก มหาอำนาจอื่น ๆ อย่างเช่น รัสเซีย ซาอุฯ และเกาหลีเหนือ
- จู่ ๆ ก็เกิดโรคระบาดขึ้นมา ส่งผลกระทบไปทั่วโลก และทำให้หลายประเทศต้องปิดพรหมแดน -> จีนเพิ่งเซ็นสัญญาการค้ากับสหรัฐฯ ได้ Phase แรกผ่านไปหยก ๆ ก็มาเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน ที่ทำให้เศรษฐกิจทั่วโลกต้องหยุดชะงักลง
- หลังจากนั้นมหาอำนาจที่เหลือก็เริ่มสงครามน้ำมัน -> ตอนนี้ World Maker ขอถามครับ "สงครามน้ำมันครั้งนี้ ใช่ความเคลื่อนไหวของรัสเซีย และมหาอำนาจอื่น ๆ ตามที่ผู้เชี่ยวชาญทั้งหลายกล่าวถึงหรือไม่ ?" (ฝากให้คิด)
- มีข่าวออกมาว่าเกาหลีเหนือทดสอบขีปนาวุธมากขึ้นเป็นประวัติการณ์ ในช่วงที่ Coronavirus ระบาดไปทั่วโลก และเกือบทุกประเทศต้องปิดกั้นพรหมแดน รวมถึงความเคลื่อนไหวทางการทหารของแต่ล่ะประเทศดูแปลก ๆ ไป และอยู่ในความตึงเครียดที่มากขึ้น
- ทั่วโลกประสบปัญหามาได้สักพัก เศรษฐกิจทรุดลงมากขึ้นเรื่อย ๆ ประเทศตลาดเกิดใหม่ รวมถึงประเทศยากจน เป็นกลุ่มแรกที่จะขาดแคลนอุปกรณ์และอาหาร รวมถึงผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจ ดังนั้นประเทศเหล่านี้จึงต้องการ "เงิน" อย่างมากในตอนนี้ เพื่อช่วยพยุงไม่ให้เศรษฐกิจตามระบบ "ทุนนิยม" ต้องล่มสลายจากการที่ไม่สามารถชำระ "หนี้" ได้ทัน
- ทันใดนั้น FED ออกมาตรการ Q.E. แบบไม่จำกัดวงเงิน พร้อมความร่วมมือจาก IMF และ World Bank รวมถึงสถาบันการเงินยักษ์ใหญ่อีกมากมาย ไหนจะการลดดอกเบี้ย ขยายเวลาชำระหนี้ เพิ่มวงเงินกู้ยืมทั้งในและนอกประเทศ
- หากทำเช่นนี้ได้ เงินดอลลาร์ก็จะแผ่อำนาจมากขึ้นอีกในระบบการเงินโลก ประเทศตลาดเกิดใหม่และประเทศยากจนก็ต้องทำงานใช้หนี้ครั้งนี้อีกไม่รู้กี่ชั่วอายุคน
มาถึงตรงนี้แล้ว World Maker มีอีกคำถามนึงครับ
ผู้อ่านเคยคิดจะ "สงสัย" กันบ้างมั้ยครับว่า เหตุการณ์ทั้งหมดนี้ ทำไม Timeline มันถึงบังเอิญเรียงต่อกันได้เป็นจิ๊กซอที่โคตรเป๊ะขนาดนี้ ?
ถ้าเปรียบเป็นการเล่นไพ่ นี่คือการได้ไพ่เซตสุดยอดอย่าง Royal Straight Flush เลยนะครับ ซึ่งมีโอกาสเกิดขึ้นประติดประต่อกันแบบนี้น้อยมาก ๆ
อันนี้ก็เป็นมุมมอเชิงลึกที่ World Maker ฝากให้ไปคิดต่อกันครับ ว่าตอนนี้เรากำลังอยู่ในสงครามการเมืองระหว่างประเทศมหาอำนาจด้วยหรือเปล่า ?
เอาล่ะ กลับมาที่ประเด็นหลัก
มีปัจจัยหลัก ๆ อยู่ 3 อย่างที่จะทำให้เราพอคาดการณ์ได้ว่า ยอดคนว่างงานถึงจุดสูงสุดแล้วหรือยัง ?
1. คาดการณ์รายได้ต่อหัวของชาวอเมริกันยังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง
สอดคล้องอย่างชัดเจนว่า ตราบใดที่ภาคเศรษฐิจยังต้องปิดทำการ จำนวนคนว่างงานก็จะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ และนั่นทำให้รายได้ต่อหัวน้อยลง
ภาพด้านล่างนี้เป็นคาดการณ์ของ The Earnings Scout บริษัทระดับโลกที่ทำการวิเคราะห์แนวโน้มทางด้านรายได้ให้กับบริษัทอื่น ๆ
บริษัทได้ทำการปรับคาดการณ์รายได้ต่อหัวของชาวอเมริกันในไตรมาส 2 ลดลงจาก -10.25% ในวันที่ 1 เมษายน มาเป็น -17.54% ในวันที่ 10 เมษายน
ดังนั้นแล้ว ปัจจัยที่ 1 จึงยังคงส่งเสริมให้เกิดการว่างงานเพิ่มขึ้น
2. ผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานดูเหมือนจะผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว
ตั้งแต่ยอดผู้ขอยื่นรับสวัสดิการว่างงานพุ่งสู่จุด Peak ที่ประมาณ 6.8 ล้านคน พฤติกรรมของกราฟได้ลดลงมาอย่างต่อเนื่องที่ 6.6 ล้านคน และล่าสุด 5.25 ล้านคน โดยมีแนวโน้มตามที่แสดงในภาพด้านล่างนี้ครับ
แต่อย่างไรก็ตามนี่ไม่ได้หมายความว่า "จำนวนคนว่างงานจะลดลง" นะครับ เราต้องอย่าลืมว่านี่คือจำนวน "ผู้ที่ขอยื่นรับสวัสดิการ" ไม่ใช่ "ผู้ที่ได้รับสวัสดิการแล้ว"
ดังนั้นแล้ว ปัจจัยที่ 2 จึงยังคงส่งเสริมให้เกิดการว่างงานเพิ่มขึ้น
3. ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคลดลงอย่างมาก
ตัวเลขเบื้องต้นสำหรับดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค (CSI) ลดลง 18.1 จุด มาอยู่ที่ 71 จุด ซึ่งเป็นการลดลงรายเดือนที่รุนแรงที่สุดตั้งแต่เคยมีมา และใน 2 เดือนที่ผ่านมา ดัชนีดังกล่าวได้ลดลงมาแล้วประมาณ 30 จุด
สิ่งนี้แสดงให้เราเห็นว่า ผู้ซื้อในตลาดเริ่มขาดความเชื่อมั่นมากขึ้นเรื่อย ๆ นั่นหมายความว่าความต้องการซื้อสินค้าจะยิ่งลดลงไปอีกเช่นกัน และจะเสริมกับประเด็นถัดไปที่จะกล่าวอย่างมากครับ
ดังนั้นแล้ว ปัจจัยที่ 3 จึงยังส่งเสริมให้เกิดการว่างงานเพิ่มขึ้น
4. (อันนี้แถมให้) เปรียบเทียบจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการกับวิกฤตการณ์อื่น ๆ
ภาพด้านล่างที่ World Maker กำลังจะเสนอนี้ แสดงให้เห็นถึงรูปแบบการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงาน ในวิกฤตการณ์แตกต่างการกันไปดังนี้
- เส้นสีแดง คือจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการที่เพิ่มขึ้นหลังจากเหตุการณ์พายุ Hurricane Katrina ในรัฐ Louisiana ที่ถูกขยาย Scale เป็นระดับนานาชาติ*
* กล่าวคือ นี่เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในรัฐเพียงรัฐเดียว แต่ได้ทำการเอาตัวเลขของผลกระทบที่เกิดขึ้น มาหาตัวคูณที่เหมาะสมเพื่อขยาย Scale และเปรียบเทียบว่า หากเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นทั่วโลก จะมีผลกระทบขนาดไหน
- เส้นสีเหลือง คือจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการที่เพิ่มขึ้นหลังจากเหตุการณ์พายุ Hurricane Maria ใน Puerto Rico ที่ถูกขยาย Scale เป็นระดับนานาชาติ
- เส้นสีฟ้า คือจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการที่เพิ่มขึ้นหลังจากเหตุการณ์ Great Recession (หรือวิกฤตซัพไพรม์นั่นแหละ)
- เส้นสีเทา คือจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการที่เพิ่มขึ้นจากวิกฤตในปัจจุบันนี้ ซึ่งจะสังเกตได้ว่ามันรุนแรงที่สุดในทุก Case เลยทีเดียว
ดังนั้นแล้ว คำถามที่ว่า ตัวเลขคนว่างงานในสหรัฐฯ ผ่านจุดสูงสุดไปแล้วหรือยัง ? World Maker ขอตอบตรงนี้เลยว่า "ยังครับ" แต่ทั้งนี้ คงจะชะลอตัวลงเรื่อย ๆ หลังจากนี้ไปครับ เนื่องจากจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานได้ลดลงไปแล้วในเบื้องต้น (หากหลังจากนี้เพิ่มขึ้นมาอีกก็ต้องดูกันใหม่แหละครับ)
ประเด็นหลักที่ 3 : ตัวเลขการค้าปลีกของสหรัฐฯ ลดลงถึง 8.7% ซึ่งเป็นระดับต่ำที่สุดตั้งแต่เคยมีมา
ตัวเลขของภาคผู้บริโภคและการผลิตในเดือนมีนาคม แสดงให้เห็นว่าผลกระทบจาก Coronavirus รุนแรงกว่าที่คาดการณ์ไว้ จากการ Shutdown เพียงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา
Retail sales หรือตัวเลขค้าปลีกของสหรัฐฯ ลดลง 8.7% ซึ่งเป็นระดับต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์ ตั้งแต่มีการบันทึกข้อมูลโดยรัฐบาลมา
ภาคการผลิตใน New York ลดลงเป็นประวัติการณ์ถึง -78.2% ซึ่งสูงกว่า 2 เท่าของที่นักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ไว้ -32.5% โดยมันได้ทำลายสถิติที่เคยเป็นจุดต่ำสุดตลอดกาลของ New York ที่ -34.3% ในช่วงวิกฤตซัพไพรม์เมื่อปี 2008
ภาพด้านล่างแสดงให้เห็นถึงความรุนแรงของ Retail Sales ที่ลดลง
แม้ว่าตัวเลขค้าปลีกโดยรวมจะลดลงต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ถึง 8.7% แต่ยอดขายร้านของชำ และร้านเครื่องดื่มต่าง ๆ เพิ่มขึ้นถึง 25.6% เนื่องจากผู้คนทยอยกักตุนอาหารไว้ใช้ในยามจำเป็น แต่อย่างไรก็ตามนักเศรษฐศาสตร์คาดว่ายอดขายประจำเดือนเมษายน 2020 จะลดลงประมาณ 8%
รายละเอียดอื่น ๆ ที่สำคัญในเดือนมีนาคม 2020
1. ยอดขายเสื้อผ้าและเครื่องประดับลดลงกว่า 50%
2. ยอดขายเฟอร์นิเจอร์และอุปกรณ์ครัวเรือนลดลง 26.8%
3. ยอดขายตามร้านอาหารหรือสถานที่นั่งดื่มลดลง 26.5%
4. ยอดขายรถยนต์ มอเตอร์ไซค์ รวมถึงชิ้นส่วนอะไหล่ลดลง 25.6%
5. รายอื่นอื่น ๆ เพิ่มเติมตามภาพด้านล่างนี้เลยครับ
เกร็ดความรู้ : สัดส่วนของภาคการบริโภคคิดเป็นกว่า 70% ของโครงสร้างเศรษฐกิจ ดังนั้นการลดลงของ Demand ทั่วโลกจึงหมายถึงผลกระทบที่จะเกิดเป็นลูกโซ่ในระบบเศรษฐกิจนั่นเองครับ
ภาคการผลิตโดยรวมของอุตสาหกรรมทั้งประเทศลดลง 5.4% ในเดือนมีนาคม จนเกิดความกังวลในเรื่องภาวะเงินฝืด ซึ่งตอนนี้ตลาดกำลังแสดงความคาดการณ์ถึงอัตราเงินเฟ้อประมาณ 0.87% ในช่วง 5 ปีต่อจากนี้ ซึ่งต่ำกว่าเป้าหมายของ FED ที่ 2%
ปัจจุบันภาคเศรษฐกิจกว่า 90% ทั่วโลกกำลังได้รับผลกระทบเหมือนกันหมด แม้ว่าระดับความรุนแรงในแต่ละประเทศอาจจะไม่เท่ากัน และคาดการณ์ตัวเลขเหล่านี้ในเดือนเมษายนก็ดูจะเลวร้ายกว่าในเดือนมีนาคม เช่นเดียวกับคาดการณ์ตัวเลขว่างงานของสหรัฐฯ ที่ได้กล่าวไว้แล้วในข้างต้นครับ
4. ภาคอสังหาริมทรัพย์กระทบหนัก ทั้งฝ่ายขายและผู้ซื้อ ดัชนีความเชื่อมั่นลดลงมากที่สุดนับตั้งแต่ปีค.ศ. 1984
ความเชื่อมั่นของกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ลดลงอย่างมากตั้งแต่ช่วงต้นเดือนเมษายน และเป็นการลดลงมากที่สุดในรอบ 35 ปีที่ผ่านมา
ในกลุ่มอสังหาฯ สำหรับครอบครัวเดี่ยว ความเชื่อมั่นของผู้ผลิตลดลงถึง 42 จุด จากระดับ 72 มาอยู่ระดับที่ 30 จุดในเดือนนี้ ซึ่งเป็นระดับต่ำที่สุดตั้งแต่ปี 2012 อ้างอิงจากข้อมูลของสมาคมผู้ก่อสร้างแห่งชาติสหรัฐฯ (NAHB)
และเนื่องด้วยความเชื่อมั่นที่ลดลงอย่างมากของผู้ผลิต จึงส่งผลให้พวกเขาไม่อยากสร้างบ้านใหม่เพิ่ม เพราะกลัวว่าสร้างมาแล้วจะไม่มีใครซื้อ (เดี๋ยวไปดูทางฝั่งผู้ซื้อจะเห็นอะไรน่าสนใจเยอะเลยครับ)
นั่นส่งผลให้ยอดการสร้างบ้านใหม่ในเดือนมีนาคมลดลงถึง 22.3% เลยทีเดียว เมื่อเทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้ อ้างอิงจากรายงานการสำรวจสำมะโนประชากรของสหรัฐฯ
โดยระดับ 22.3% ที่ว่านี้ถือเป็นการลดลงอย่างรุนแรงที่สุดนับตั้งแต่จุด Peak ตลอดกาลที่ 26.42% ในปี 1984
ภาพรวมของทางฝั่งผู้ผลิต World Maker มองเห็นได้ว่าตัวเลขที่สำคัญทางเศรษฐศาสตร์ 3 อย่างลดลงหมดเลย รายละเอียดดังนี้ครับ
1. ใบอนุญาติก่อสร้างลดลง หมายความว่ามีผู้ประกอบการบางรายได้ออกจากตลาดไปแล้ว
2. การก่อสร้างที่อยู่ในช่วงดำเนินงานลดลง หมายความว่ามีการยกเลิกโครงการที่ยังสร้างเสร็จไปซะเฉย ๆ (ส่วนนี้จะมาจากทั้งการ Shutdown และการออกจากตลาดของผู้ประกอบการบางราย)
3. ยอดบ้านปล่อยขาย/เช่า ลดลง(ส่วนนี้จะมาจากการยกเลิกขาย รวมถึงบ้านที่ถูกซื้อไป)
ข้อสังเกต : จากกราฟด้านล่างนี้จะเห็นได้ว่าใน 3 ตัวชี้วัดนี้ ยอดบ้านปล่อยขาย/เช่า ลดลงน้อยที่สุด แม้ว่ายอดใบอนุญาตและยอดการดำเนินงานจะลดลงอย่างมาก
ทีนี้อยากให้ผู้อ่านลองคิดต่อไปว่า ในสถานการณ์เช่นนี้ กับราคาบ้านที่แพงเกินจริง จากการเก็งกำไรอย่างต่อเนื่องมานานหลายปี และยังมีที่ขายไม่ออกอยู่อีกเป็นจำนวนมาก ใครจะเป็นผู้ซื้อครับ ?
คำตอบตรงนี้ไม่สำคัญเท่ากับคำถามต่อไปที่ว่า "บ้านที่สร้างกันมาเยอะ ๆ เนี่ยกู้มาสร้างหรือเปล่า ? แล้วถ้าขายไม่ออกจะทำยังไง ? หรือต่อให้มีคนมาซื้อก็เถอะ ถ้ากู้มาซื้อ แล้วเศรษฐกิจไม่ดีขึ้น ต่อไปจะทำยังไง ? จะเอาที่ไหนมาผ่อน ?"
(ผู้อ่านต้องอย่าลืมนึกว่าเงินกู้ช่วงนี้มันเป็นเงินระยะสั้นทั้งนั้น แล้วยิ่งเรื่องผ่อนบ้านนี่แทบไม่มีเลยครับ ที่จะผ่อนแบบ 3 ปีจบ ผมไม่เคยเห็นที่ไหนเลย)
และคำถามทั้งหมดพวกนี้ ก็ไม่สำคัญเท่าปริมาณ "หนี้" ที่ World Maker กำลังจะนำเสนอให้ดูดังภาพด้านล่างนี้
โดยทั้งหมดคือ "หนี้" ที่ภาคอสังหาฯ ในสหรัฐฯ ก่อเอาไว้จนถึงปัจจุบันครับ
ด้วยระดับหนี้เกือบ 16 ล้านล้านดอลลาร์ในปัจจุบัน (คิดดูว่าเฉพาะแค่ในตลาดอสังหาฯ นะครับ) ก็คงจะชัดเจนแบบไม่ต้องบรรยายอะไรเพิ่มเติมแล้วนะครับ สำหรับขนาดของฟองสบู่ก้อนนี้
เกร็ดความรู้ : ฟองสบู่ทุกก้อนที่เกิดขึ้นมาในอดีต แตกหมดทุกก้อนครับ มันเป็นกฎของธรรมชาติในระบบการเงินปัจจุบันนี้ และที่สำคัญคือไม่มีใครรู้ด้วยว่ามันจะแตกเมื่อไหร่
เร้าใจดีไหมล่ะครับ แก่นของตลาดหุ้นและระบบการเงินโลก อารมณ์เหมือนมีอุกกาบาตที่ลูกใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ กำลังจะวิ่งชนโลก แต่ไม่รู้ว่าจะวิ่งมาถึงเมื่อไหร่นั่นแหละครับ
ทีนี้ก็มาถึงทางฝั่งของกลุ่มผู้ซื้อ ซึ่งสังเกตเห็นสิ่งที่ขัดแย้งกันอย่างมากครับ
เนื่องจากผลการสำรวจ พบว่ายอดขายบ้านใหม่ในเดือนมีนาคมพุ่งสู่ระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2007 หลักฐานก็ตามภาพด้านล่างนี้เลย
อ้าว !! ไหนบอกเศรษฐกิจไม่ดี ทำไมยอดซื้อบ้านเพิ่มล่ะ ?
มาถึงจุดนี้ World Maker ยอมรับว่ามีสิ่งนึงที่ยังไม่ได้บอกครับ....ลองสังเกตจำนวนตัวเลขระหว่างผู้ผลิตและผู้ซื้อดี ๆ ครับ เราจะเห็นได้ว่ามีการสร้างบ้านใหม่มากกว่า 1 ล้านหลังคาเรือนต่อปี ติดต่อกันมานานหลายปีใช่ไหมล่ะครับ แต่ในขณะที่ยอดการซื้อตามภาพด้านบนไม่เคยแตะถึงระดับ 1 ล้านหลังคาเรือนต่อปีเลยนะครับ ยกเว้นในช่วงปี 2008
เพราะฉะนั้นแล้วมันแปลว่ามีคนสร้างมากกว่าคนซื้อครับ ดังนั้น แค่การที่ยอดผู้ซื้อเพิ่มขึ้น ไม่ได้แปลว่าเศรษฐกิจจะดีขึ้นจริง ๆ ครับ ต้องดูภาพรวมด้วย
และที่สำคัญกว่านั้นครับ World Maker เชื่อว่าหลายคนไม่ได้สังเกตตรงนี้
หลังจากได้ดูภาพนี้ สาย Technical หลายคนคงจะเริ่มเข้าใจแล้วละครับว่า World Maker กำลังจะสื่อถึงอะไร
World Maker กำลังจะวิเคราะห์ความสอดคล้องระหว่างปัจจัยพื้นฐานและ Technical ให้ฟังดังนี้ครับ
1. ยังจำกันได้ใช่ไหมครับ ว่าที่ผ่านมาจนถึงในช่วงก่อนเกิดวิกฤต ตลาดหุ้นสหรัฐฯ All-time high เป็นว่าเล่น มุมมองต่อตลาดดีมาก ตัวเลขเศรษฐกิจแข็งแกร่งสุด ๆ ไปเลย
2. แต่ทำไมยอดการสร้างบ้านใหม่ถึงสูงกว่ายอดการซื้อมาโดยตลอด และทำไมยอดการซื้อบ้านถึงไม่สามารถทำ New High ได้เลยตั้งแต่ปี 2008 และอยากให้คิดต่อไปอีกว่า แล้วไอยอดบ้านที่สร้าง ๆ มาเนี่ยสร้างมาทำอะไร ? เพื่อเก็งกำไรหรือเปล่า ? ทำไมมันถึงไม่สอดคล้องกับ Demand ของตลาดเลย (นี่ยังไม่รวมภาคอุตสาหกรรมอื่น)
3. สำหรับสาย Technical คงรู้ดีว่าการที่กราฟไม่สามารถทำ New High ได้ใน Bull Market ที่(ดูเหมือนจะ)แข็งแกร่งและยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์เช่นนี้ แปลว่าเมื่อเกิด Bear Market มันจะทรุดลงหนักกว่าเดิมเข้าไปอีก
4. คำถามต่อมาคือตอนนี้เราอยู่ในภาวะตลาดหมีหรือกระทิงครับ ? แล้วฟองสบู่การเก็งกำไรลูกนี้ใหญ่แค่ไหน ? ลองพิจารณาตรงนี้ดูทั้งใน 2 แง่ แล้วเราจะเห็นความเป็นไปได้ของตลาดหุ้นตามวิจารณญาณของเราเองมากขึ้นครับ
5. ทั้งหมดนี้บอกได้ไหมว่า วิกฤตมันต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2008 ? คำตอบคือมันกำลังบอกเราเช่นนั้น 100% เลยล่ะครับ แต่ด้วยภาพลวงและกลยุทธ์สับขาหลอกต่าง ๆ นา ๆ ของตลาดหุ้น มันทำให้สามารถปกปิดความเป็นจริงมาได้นานอย่างนี้ไงล่ะครับ
6. ใครอยากศึกษาเชิงลึกเพิ่มลองไปศึกษาเกี่ยวกับวิกฤตซัพไพรม์ดูครับ จะรู้ว่าจริง ๆ แล้วเรายังได้รับผลกระทบจากวิกฤตนั้นอยู่จนทุกวันนี้เลยล่ะครับ
7. โดยส่วนตัวแล้ว World Maker มองว่าตลาดหุ้นนั้นยังลงไปได้อีก เนื่องจากความไม่แน่นอนเรื่อง Coronavirus เป็นหลัก รัฐบาลไม่อาจให้คำตอบที่ประชาชนพึงพอใจได้เลย รวมถึงการตัดสินใจที่จะยุติมาตรการ Lock down ต่าง ๆ นั้นยังไม่สามารถทำได้ในตอนนี้ จึงส่งผลให้ภาคเศรษฐกิจยังไม่สามารถดำเนินต่อไปได้
สำหรับบทความนี้ก็คงจะจบลงเท่านี้ละครับ เดี๋ยวถ้ายาวไปกว่านี้ กลัวว่าคนอ่านจะตาลาย เจอกันบทความหน้าครับ หวังว่าข้อมูลทั้งหมดตรงนี้ จะเป็นประโยชน์ให้กับท่านผู้อ่านในหลาย ๆ ในแง่มุม ขอบคุณมากครับ
การกดไลค์ กดแชร์ กดติดตาม และการติชมในเชิงสร้างสรรค์ของคุณ เป็นกำลังใจให้เราและเหล่าอาชีพนักเขียนทุกคนในการพัฒนาผลงานให้ดียิ่งขึ้นต่อไป ขอเชิญทุกท่านร่วมสร้างสังคมการเรียนรู้ที่ดีด้วยกันกับเรา
World Maker
สามารถติดตาม World Maker ผ่านทาง Facebook ได้แล้ววันนี้ที่

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา