Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
World Maker
•
ติดตาม
18 เม.ย. 2020 เวลา 02:29 • ข่าว
Gold Insight : เจาะลึกสถานการณ์ทองคำล่าสุด หลังจากคนไทยแห่ขายทอง ราคามีสิทธิ์ไปต่อได้อีกไหม ? โดยรวมมีอะไรน่าสนใจบ้าง ? มาดูกันครับ
2
ผ่านครึ่งแรกของเดือนเมษายนไปเรียบร้อยแล้ว วันนี้ World Maker ก็จะมาอัพเดทสถานการณ์ทองคำแบบเจาะลึกให้ได้ทราบกันครับ
โดยบทความนี้จะเป็นการเล่าเรื่องราวในภาพรวมของทองคำตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบันนี้ โดยระหว่างการบรรยายเนื้อหา จะมีการสอดแทรกบทวิเคราะห์จาก World Maker ให้เห็นในประเด็นที่ผมคิดว่าสำคัญ และควรใส่ใจ ส่วนในช่วงท้ายของบทความจะเป็นการวิเคราะห์สถานการณ์ตลาดในปัจจุบันครับ
ประเด็นหลักที่ 1 : Gold vs Cash ทองคำกับเงินสด
ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากหลายปัจจัยที่สำคัญเช่น อัตราดอกเบี้ยธนาคารกลางที่อยู่ในระดับต่ำหรือที่ติดลบในประเทศอื่น และตลาดหุ้นก็พุ่งทะยานทำ All-time High อย่างต่อเนื่อง
ประเทศสหรัฐฯ มีเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นในทุก ๆ ทศวรรษ ยกเว้นในภาวะเศรษฐกิจถดถอยครั้งใหญ่ ที่ราคาสินค้าต่าง ๆ จะลดลงเกือบ 20%
ข้อมูล CPI จาก The Bureau of Labor ตั้งแต่ปี 1800-2016 ชี้ให้เราเห็นว่า โดยเฉลี่ยแล้วเงินดอลลาร์ต้องประสบกับภาวะเฟ้อเพิ่มขึ้นประมาณ 2% ในทุก ๆ ปี ซึ่งนั่นหมายความว่าเงิน 1 ดอลลาร์ในปี 1800 จะมีค่ามากกว่าเงิน 20 ดอลลาร์ในปี 2015 เสียอีก
และที่สำคัญกว่านั้นคือเงินดอลลาร์สูญเสียมูลค่าในตัวเองไปถึง 98.2% ตั้งแต่ปี 1900 ขณะที่มูลค่าทองคำเพิ่มขึ้นกว่า 54 เท่า !! ในช่วงเวลาเดียวกัน
กราฟด้านล่างจะแสดงให้เห็นถึงมูลค่าของเงินดอลลาร์เทียบกับทองคำ ตั้งแต่ปี 1900-2015
จากข้อมูลในอดีตดังภาพด้านบนนี้ World Maker สังเกตเห็นสิ่งที่น่าสนใจอยู่อย่างนึงครับ นั่นก็คือช่วงระยะเวลาที่ค่าเงินดอลลาร์จะร่วงลงอย่างหนัก สามารถแบ่งออกเป็นช่วงเวลาได้อย่างชัดเจน ดังนี้ครับ
ช่วงแรก : ปี 1900-1930 คิดเป็นระยะเวลาประมาณ 30 ปีก่อนเกิดวิกฤตที่เงินดอลลาร์ร่วงอย่างหนัก
ช่วงที่ 2 : ปี 1930-1970 เป็นช่วงเวลาก่อนจะยกเลิก Gold Standard ในปี 1971 คิดเป็นระยะเวลาประมาณ 40 ปี
ช่วงที่ 3 : อันนี้เป็นเพียงข้อสังเกตที่ World Maker อยากเสนอให้เป็นมุมมองนะครับ เริ่มจากปี 1970-2020 ซึ่งคิดเป็นระยะเวลาประมาณ 50 ปีพอดี
ประเด็นหลักที่ 2 : Gold Demand & Supply
Demand ทองคำทั่วโลกเป็นอย่างไร ?
สัดส่วนการบริโภคทองคำ สามารถแบ่งออกได้ตามการนำไปใช้ประโยชน์ ดังนี้ครับ
1. เป็นเครื่องประดับ
2. ทางเทคโนโลยี
3. การลงทุน
4. ทรัพย์สินสำรอง
โดยภาพข้างล่างจะแสดงให้เห็นถึง Demand ทองคำทั่วโลกในแต่ละ Sectors ครับ จะสังเกตได้ว่าทองคำถูกนำไปใช้เป็นเครื่องประดับมากที่สุด รองลงมาคือทางด้านการลงทุน และการถือเป็นทรัพย์สินสำรอง ส่วนด้านเทคโนโลยีนั้นดูเหมือนจะบริโภคทองคำน้อยที่สุด
ข้อสังเกต : ในช่วงวิกฤตซัพไพรม์ปี 2008 หรือแม้แต่ในช่วงปลายปี 2011-2015 ที่ราคาทองคำปรับตัวลงมาอย่างต่อเนื่อง แต่สังเกตดูครับ ระหว่างนั้น Demand ทองคำทั่วโลกแทบจะไม่เปลี่ยนแปลงไปเลยแม้แต่น้อย
เกร็ดความรู้ : คุณสมบัติที่สำคัญอย่างหนึ่งของ Safe Heaven คือ "เป็นที่ต้องการของตลาดอยู่ตลอดเวลา" (อารมณ์คล้าย ๆ กับว่าตราบใดที่คนยังมีชีวิต ก็ยังต้องกินอาหาร)
การซื้อทองคำของธนาคารกลาง
1
Goldman Sachs ระบุว่าในปี 2018 และ 2019 ที่ผ่านมา ธนาคารกลางต่าง ๆ ได้มีการซื้อทองคำเข้าคลังมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ โดยจุด Peak อยู่ในปี 2018 ที่มียอดซื้อสุทธิจากธนาคารกลางทั่วโลกถึง 656.2 ตัน ตามมาด้วยปี 2019 ที่ 650.3 ตัน
ข้อสังเกต : ตลอดระยะเวลา 9 ปีที่ผ่านมาธนาคารกลางต่าง ๆ ซื้อทองคำเข้าคลังเป็นจำนวนมหาศาลติดต่อกันทุกปี
การถือครองทองคำของนักลงทุนในตลาด
ตั้งแต่ปี 2010 มานี้ การถือครองทองคำในภาคการลงทุนทั้งหมดอยู่ในระดับสูงกว่า 1,000 ตันมาตลอด ยกเว้นแค่ในช่วงปี 2013-2015
และจากรูปด้านล่างนี้จะสังเกตได้ว่า การถือครองทองคำในภาคการลงทุนมีผลต่อราคาทองคำอย่างมีนัยสำคัญ
ส่วนทางฝั่ง Supply มีเรื่องน่ารู้ดังนี้ครับ
1. กว่า 90% ของ Supply ทองคำมาจากการขุดเหมือง และทองคำเดิมที่หมุนเวียนในตลาด
2. การขุดเหมืองเป็นแหล่งการผลิตทองคำหลักของโลกกว่า 70%
3. ทองคำหมุนเวียนในระบบตอนนี้คิดเป็นราว ๆ 30% ของทองคำที่ผลิตออกมาใหม่
มันกำลังหมายความว่าอย่างไร ?
แน่นอนครับ วิกฤต Coronavirus นี้ทำให้ Supply ทองคำลดลงแน่นอน ซึ่งหากใครติดตามข่าวก็จะรู้ว่าอินเดียและหลาย ๆ ประเทศจำเป็นต้องปิดเหมืองขุดแร่ จากมาตรการ Social Distancing และจากมาตรการ Lockdown จะทำให้เราไม่สามารถส่งออกหรือนำเข้าทองคำได้เลยในช่วงนี้
ที่น่าสนใจคือถ้า Supply ลดลงแต่ Demand ไม่ลดลงล่ะ ?
อย่าลืมว่าตลาดทองคำยังเปิดอยู่นะครับ ทั้ง Gold Spot และ Gold Futures เนื่องจากผู้คนทั่วโลกสามารถซื้อทองคำได้ผ่านหน้าจอคอมพิวเตอร์ ไหนจะสัญญาซื้อขายทองคำแบบ Physical อีก
แนวโน้มเหล่านี้จะยิ่งผลักดันราคาทองคำให้สูงยิ่งขึ้นไปอีก
ทองคำ 1,200 ตันหายไปอย่างลึกลับ !!!
Goldman Sachs ได้ค้นพบเรื่องที่แปลกประหลาดบางอย่างในตลาดทองคำ นั่นก็คือ ตลอด 3 ปีที่ผ่านมานี้ มีกระแสการไหลของทองคำ 1,200 ตัน คิดเป็นมูลค่า 5.7 หมื่นล้านดอลลาร์ หายไปจากบันทึกการซื้อขายในตลาด
สังเกตในรูปด้านล่างนี้ รูปซ้ายแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของกระแสทองคำ 1,200 ตันที่หายไป กับดัชนีความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก ส่วนภาพทางขวาแสดงให้เห็นว่าจำนวนทองคำที่มีอยู่จริง ๆ (แบบจับต้องได้) ในภาคการลงทุน สูงกว่าการถือครองของกองทุน ETF ทั้งหมด
ลองคิดดูเล่น ๆ นะครับว่ามูลค่าที่หายไป 5.7 หมื่นล้านดอลลาร์ สามารถเปลี่ยนแปลงมูลค่าทองคำได้มากแค่ไหน หากมันถูกนำมาลงในบันทึกซื้อขายอย่างเป็นทางการ (กองทุนยักษ์ใหญ่ซื้อขายทีนึง 10 ตัน ราคาทองคำก็ +-50 $/Oz เป็นอย่างต่ำแล้วครับ แต่นี่ 1,200 ตัน)
คำถาม : ทองคำหายไปไหน ? หรือจะมีผู้ซื้อที่ไม่ประสงค์ออกนาม ??
ประเด็นหลักที่ 3 : Gold vs Crisis ทองคำกับวิกฤต
ทองคำเป็นสินทรัพย์ที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้นเกือบทุกครั้งที่อยู่ในช่วงวิกฤต เนื่องจากมันสามารถต่อต้านกับภาวะเงินเฟ้อและเงินฝืดได้ดี โดยตารางข้างล่างนี้จะแสดงให้เห็นถึงมูลค่าของทองคำเทียบกับดัชนีหุ้น S&P 500 และ Silver
วิกฤตทุกครั้งตั้งแต่ปี 1976-2011 มีเพียง 2 ครั้งเท่านั้นที่ทองคำมีมูลค่าลดลง ขณะที่ Silver นั้นจะได้รับอิทธิพลตามตลาดหุ้นเสียมากกว่า
สิ่งที่ World Maker อยากให้จำไว้ก็คือ "ประสิทธิภาพของทองคำไม่จำเป็นต้องแสดงออกมาทันทีที่เริ่มเกิดวิกฤตขึ้น" เนื่องจากเกือบทุกครั้งที่เกิดวิกฤต ราคาทองคำจะร่วงลงก่อนเสมอในตอนแรก
คำกล่าวนี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในวิกฤตหนี้ละตินอเมริกาปี 1982, วิกฤตฟองสบู่ตลาดหุ้นญี่ปุ่นปี 1990, วิกฤตทางเงินเอเชียปี 1997, วิกฤตฟองสบู่ dot-com ปี 2000 และวิกฤตซัพไพรม์ปี 2008 ตามที่เห็นในภาพด้านล่างนี้ครับ
จะสังเกตได้ว่าช่วงเริ่มของวิกฤตทองคำจะถูกเทขายและหลังจากนั้นราคาจะดีดกลับ ส่วนการดีดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ในช่วงหลังปี 2000 จนถึงปลายปี 2011 เป็นตลอดระยะเวลากว่า 10 ปี ที่ราคาทองคำพุ่งขึ้นมาอย่างมหาศาล !!! (คาดว่าเป็นการสะสมมาจากวิกฤต 4 ครั้งก่อนและระเบิดมาออกทีเดียว)
ทีนี้ลองมาเปรียบเทียบกับวิกฤต Coronavirus ในปัจจุบันกันครับ ซึ่งข้อมูลตรงนี้ World Maker จะแยกจุดสังเกตที่น่าสนใจให้เห็นเป็นข้อ ๆ ดังนี้ครับ
1
* รูปกระกอบอยู่ด้านล่าง
1. ราคาทองคำในปัจจุบันเพิ่งอยู่ในตลาดกระทิงมาเพียง 2 ปีเท่านั้น !! สังเกตจากเส้น Support ที่ 1 ตั้งแต่ปี 2015-2018 จะเห็นได้ว่าตลอดระยะเวลา 3 ปีนั้นคือช่วง Sideways หลังตลาดหมีเสร็จสิ้นครับ (ก่อนหน้านั้นราคาทองคำตกอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2011-2015)
ส่วนตลาดกระทิงที่ชัดเจนเพิ่งปรากฎขึ้นตั้งแต่ช่วงเดือนตุลาคมปี 2018 นี้เองครับ สังเกตได้จากเส้น Support ที่ 2
2. สังเกตในวงกลมสีแดงครับ นั่นคือช่วงที่ทองคำโดนเทขายหนัก ๆ ในไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมานี้ ซึ่งทำให้ราคาลดลงจากระดับประมาณ 1700 มาอยู่ที่ระดับประมาณ 1490 (-210 $/Oz) ภายในเวลาเพียง 11 วันเท่านั้น !!
และหลังจากนั้นราคาทองคำก็พุ่งจากระดับ 1490 กลับมาทะลุระดับ 1700 $/Oz ภายในเวลาเพียง 27 วันเท่านั้น !! (ตามเส้น Support ที่ 3 และ 4)
นั่นอาจเป็นสัญญาณที่บอกเราว่า "การเทขายครั้งใหญ่ได้ผ่านไปแล้ว" ต่อจากนี้ ถ้าจะมีก็เป็นเพียงการเทเล็ก ๆ น้อย ๆ เพื่อทำกำไรและดันราคาทองคำขึ้นต่อในระยะยาวครับ
ดังนั้นแล้ว World Maker ขอสรุปในส่วนนี้ว่า "มีความเป็นไปได้สูงที่ทองคำจะยังอยู่ในตลาดกระทิงต่อไปอีกนาน" ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้
- ปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจทุกอย่างกำลังส่งผลดีต่อราคาทองคำ
- การวิเคราะห์ทาง Technical กำลังบอกว่าทองคำไปต่อได้อีกเยอะ
- ทุก ๆ ครั้งที่ผ่านมา ตลาดกระทิงของทองคำล้วนยาวนานกว่า 5 ปี
- ตลาดกระทิงรอบล่าสุดเพิ่งเกิดขึ้นมาได้เพียง 2 ปีเท่านั้น
Comment : ฝากให้คิดเล่น ๆ ครับว่าถ้าทองคำไปต่อได้อีกประมาณ 8 ปีเหมือนรอบก่อน ราคาจะพุ่งไปถึงขนาดไหน ? ด้วยปัจจัยเสริมด้านเงินเฟ้อ เงินฝืด หนี้ และอีกมากมายในปัจจุบันนี้
ภาพด้านล่างนี้คือส่วนหนึ่งของการวิเคราะห์ทาง Technical ในระยะยาว โดยการอ่านสัญญาณจาก RSI และ MACD ครับ เส้นสีเหลืองแนวตั้งซ้ายมือ แสดงถึงสัญญาณขายที่เกิดขึ้นก่อนราคาทองคำจะร่วงลงอย่างหนักตั้งแต่ช่วงปลายปี 2011
ส่วนเส้นตรงกลางคือสัญญาณซื้อที่เกิดขึ้นเมื่อช่วงปลายปี 2013 ก่อนตลาดจะเริ่มปรับตัวจาก Sideways เป็นตลาดกระทิง
และเส้นขวาสุดแสดงให้เราเห็นว่าปัจจุบันราคาทองคำยังขึ้นไปไม่เต็มที่ เมื่อเทียบกับจุด Peak ในปี 2011 ซึ่งเส้นแนวนอนที่เหลือจะทำให้เราเห็นภาพชัดเจนมากยิ่งขึ้นครับ
ประเด็นหลักที่ 4 : Gold vs Debt ทองคำกับหนี้
ระดับหนี้สินทั่วโลกในปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 250 ล้านล้านดอลลาร์ โดยหนี้ส่วนใหญ่ที่ส่งผลต่อราคาทองคำจะเป็น "หนี้สาธารณะ (Public Debt)"
แน่นอนว่าประเทศที่มีหนี้สาธารณะสูงที่สุดในโลกก็คือสหรัฐฯ อเมริกา ด้วยจำนวนหนี้กว่า 23 ล้านล้านดอลลาร์ในปัจจุบัน ดังที่แสดงให้ภาพด้านล่างนี้เลยครับ
ความสัมพันธ์ระหว่างทองคำกับหนี้ สังเกตได้จากรูปด้านล่างดังนี้ครับ
1. ราคาทองคำพุ่งสูงขึ้นตามจำนวนหนี้ที่เพิ่มมากขึ้น
2. ในช่วงปี 2011 ราคาของทองคำถือว่า "มีมูลค่าสูงเกินไป" เมื่อเทียบกับหนี้ หลังจากนั้นราคาได้ลดลงมาอย่างต่อเนื่องจนถึงช่วงปลายปี 2016
3. ราคาทองคำตั้งแต่ปี 2012 จนถึงปัจจุบันยังถือว่า "มีมูลค่าต่ำเกินไป" เมื่อเทียบกับหนี้ แม้ว่าตอนนี้ราคาจะขึ้นมาอยู่ที่ประมาณ 1700 $/Oz แล้วก็ตาม
4. การพิมพ์เงินและ Q.E แบบไม่จำกัด รวมถึงมาตรการปล่อยกู้ในปัจจุบัน จะส่งผลให้หนี้ในอนาคตเติบโตขึ้นอย่างมาก และจะยิ่งดันให้ราคาทองคำสูงขึ้นไปอีก
ประเด็นหลักที่ 5 : สถานการณ์ในปัจจุบัน
1. ธนาคารกลางต่าง ๆ เพิ่มการถือครองทองคำในคลังสำรองอย่างต่อเนื่อง ขณะที่เริ่มเทขายพันธบัตรสหรัฐฯ ทิ้ง
ธนาคารกลางทั่วโลกถือทองคำเพิ่มขึ้นอีก 36 ตันในคลังสำรองของประเทศ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ซึ่งสูงกว่าการเพิ่มขึ้นในเดือนมกราคมประมาณ 33% (ข้อมูลเดือนมีนาคมยังไม่มานะครับ)
ผู้ซื้อที่เด่น ๆ ในเดือนกุมภาพันธ์คือ
1. ตุรกี : 24.8 ตัน
2. รัสเซีย : 10.9 ตัน
3. คาซัคสถาน : 1.8 ตัน
4. กาต้า : 1.6 ตัน
ขณะที่ผู้ขายมีเพียงรายเดียวคือ ประเทศอุซเบกิสถาน ซึ่งได้ลดการถือทองคำในคลังสำรองลง 3.1 ตัน
รัสเซียเป็นอีก 1 ประเทศที่เห็นได้ชัดว่าเพิ่มการถือทองคำ และเทขายพันธบัตรสหรัฐฯ ส่วนจีนนั้นไม่ได้มีการรายงานใด ๆ เรื่องการซื้อขายทองคำมา 5 เดือนแล้ว ซึ่งเป็นเรื่องที่ผิดปกติหากจีนเงียบไป และจะมาประกาศในภายหลังว่าได้เพิ่มทองคำจำนวนมากเข้าสู่คลังสำรองของประเทศ (อันนี้น่าสนใจ)
ภาพด้านล่างจะแสดงให้เห็นถึงสัดส่วนการถือทองคำในคลังสำรองของรัสเซีย เทียบกับการถือครองพันธบัตรสหรัฐฯ
เมื่อ Focus ไปที่พันธบัตรสหรัฐฯ ภาพที่ออกมาดูเหมือนจะเลวร้ายมาก
โดยเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมานี้ กล่าวได้ว่าพันธบัตรสหรัฐฯ "โดนเทขายอย่างหนัก" โดยรัฐบาลประเทศอื่น ๆ รวมถึงธนาคารกลางหลายแห่ง ซึ่งคิดเป็นมูลค่าการเทขายทั้งสิ้นถึง 1 แสนล้านดอลลาร์ภายในระยะเวลาเพียง 3 สัปดาห์เท่านั้น !! และยังเป็นการเทขายที่รุนแรงที่สุดเท่าที่เคยเกิดขึ้นมาเลย
2. ตอนนี้ใครกำลังเข้าไปซื้อพันธบัตรสหรัฐฯ ?
หลายคนอาจสงสัยว่าตอนนี้ยังมีคนสนับสนุนตลาดพันธบัตรของสหรัฐฯ อีกหรือไม่ ? คำตอบคือมีครับ เป็นเจ้ามือใหญ่เลยด้วย และแน่นอนว่าจะเป็นใครไปไม่ได้นอกจาก FED นั่นเองครับ
โดยมาตรการ Unlimited Q.E. ครั้งล่าสุดนี้จะทำ FED เข้าอุ้มตลาดพันธบัตรของสหรัฐฯ ได้ด้วยปริมาณเงินที่ไม่จำกัดเลยทีเดียว ซึ่ง Goldman Sachs ได้คาดการณ์เอาไว้ว่า FED จะเข้าซื้อพันธบัตรสหรัฐฯ ด้วยจำนวนเงินสูงถึง 3 ล้านล้านดอลลาร์ !!
เหตุผลที่ธนาคารกลางประเทศอื่น ๆ เริ่มเทขายพันธบัตรสหรัฐฯ มาจากความกังวัลเรื่องเงินเฟ้อที่จะเพิ่มสูงขึ้นในปีต่อ ๆ ไปหลังจากนี้ เนื่องจาก FED ได้พิมพ์เงินออกมาจำนวนมหาศาล และยังปล่อยกู้กันอย่างบ้าคลั่ง
(เรื่องนี้มีโอกาส 100% ที่ในระยะยาว เงินดอลลาร์จะอ่อนค่าลง)
ตั้งแต่มีมาตรการ Q.E. ครั้งนี้ FED ซื้ออะไรไปแล้วบ้าง ?
1. FED พันธบัตรสหรัฐฯ ด้วยมูลค่า 7.5 หมื่นล้านดอลลาร์/วัน
2. ต่อมาประกาศลดเหลือ 6 หมื่นล้านดอลลาร์/วัน
1
3. สองสัปดาห์ที่แล้วได้ประกาศลดอีกครั้งเหลือ 5 หมื่นล้านดอลลาร์/วัน
4. สัปดาห์ที่ผ่านมาประกาศลดลงเหลือ 3 หมื่นล้านดอลลาร์/วัน
5. ล่าสุดประกาศลดลงอีก 50% เหลือ 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์/วัน
แน่นอนว่าแผนการเข้าซื้อในสัปดาห์หน้ายังคงมีอยู่ และได้ออกกำหนดการมาเรียบร้อยแล้วด้วย ดังนั้นจึงสังเกตได้อย่างชัดเจนว่า FED จำเป็นต้องเข้าไปอุ้มตลาดอย่างต่อเนื่องตราบใดที่มาตรการ Lockdown ยังคงอยู่
ส่วนรายละเอียดการเข้าซื้อในสัปดาห์หน้า ก็ตามรูปด้านล่างนี้เลยครับ
โดยรวมแล้ว FED จะทำการซื้อ MBS/TSYs ในสัปดาห์หน้าเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 1.25 แสนล้านดอลลาร์
นอกจากนี้ FED ประกาศว่าจะปรับลดการซื้อ Mortgage-backed securities ในสัปดาห์หน้าลงจาก 1.5 -> 1 หมื่นล้านดอลลาร์/วัน
ภาพด้านล่างจะแสดงให้เห็นถึงยอดซื้อสุทธิของ FED ตั้งแต่มีมาตรการ Unlimited Q.E. ออกมา (ซึ่งเป็นเงินจำนวนมหาศาล)
สำหรับใครที่ยังนึกภาพไม่ออกว่าจำนวนเงินที่ FED เข้าอุ้มตลาดมันมากแค่ไหน ลองดูภาพเปรียบเทียบด้านล่างนี้ครับ โดยจะเป็นการเปรียบเทียบระว่าง Demand และ Supply ในตลาดพันธบัตรของสหรัฐฯ
เส้นสีแดงคือมูลค่าของพันธบัตรทั้งหมดที่ออกสัญญามาใหม่ ส่วนเส้นสีน้ำเงินคือมูลค่าที่ FED เข้าซื้อพันธบัตรเหล่านั้น
ภาพด้านล่างต่อไปนี้จะแสดงให้ถึง "อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรสหรัฐฯ อายุ 10 ปี (U.S Treasury 10-Year Yield)" ที่ลดลงมาอย่างมาก แม้ว่า FED จะเข้าอุ้มตลาดมากเพียงใดก็ตาม และนี่อาจเป็นสัญญาณที่สำคัญ ว่าตลาดหุ้นยังต้องเผชิญกับผลกระทบที่รุนแรงซึ่งกำลังจะเกิดขึ้นหลังจากนี้
3. ขณะนี้กองทุน ETF ทั่วโลกถือครองทองคำและโลหะมีค่ามากที่สุดเป็นประวัติการณ์
จากรายงานประจำเดือนของ สภาทองคำโลก (World Gold Council) ระบุว่า สัดส่วนการถือครองทองคำของกองทุน ETF ทั่วโลกเพิ่มขึ้นสูงสุดอย่างไม่เคยมีมาก่อนหลังสิ้นสุดไตรมาสที่ 1 ของปี 2020
ตลอด 12 เดือนที่ผ่านมาสัดส่วนของถือครองทองคำในกองทุน ETF เพิ่มขึ้นถึง 56% โดยตัวเลขการถือครองทองคำของ ETF ทั่วโลกย้อนหลัง 3 เดือนเป็นดังนี้
1. เดือนมกราคม 2020 ถือครองอยู่ที่ 61.7 ตัน คิดเป็นมูลค่าประมาณ 3.1 พันล้านดอลลาร์
2. เดือนกุมภาพันธ์ 2020 ถือครองอยู่ที่ 84.5 ตัน (+22.8 ตัน) คิดเป็นมูลค่าประมาณ 4.9 พันล้านดอลลาร์
3. เดือนมีนาคม 2020 ถือครองอยู่ที่ 151 ตัน (+66.5 ตัน !!) เป็นมูลค่าประมาณ 8.1 พันล้านดอลลาร์ !!
ข้อสังเกต : ยอดการสั่งซื้อทองคำในเดือนมีนาคม 2020 เพิ่มขึ้นถึง 2.9 เท่าเมื่อเทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ 2020
สัดส่วนการถือครองของกองทุนยักษ์ใหญ่ มีรายละเอียดดังนี้ครับ
1. SPDR® Gold Shares กองทุนทองคำที่ใหญ่ที่สุดในโลก ถือครองเพิ่มขึ้น 32.7 ตัน คิดเป็นมูลค่า 1.8 พันล้านดอลลาร์
2. iShares Gold Trust ถือครองเพิ่มขึ้น 13.2 ตัน คิดเป็นมูลค่า 729 ล้านดอลาร์
3. Invesco Physical Gold ถือครองเพิ่มขึ้น 33ตัน คิดเป็นมูลค่า 1.7 พันล้านดอลลาร์
4. iShares Physical ถือครองเพิ่มขึ้น 29 ตัน คิดเป็นมูลค่า 1.5 พันล้านดอลลาร์
รายละเอียดของกองทุนอื่น ๆ สามารถดูได้ตามภาพด้านล่างนี้ครับ
Conclusion : บทสรุป
1. ราคาทองคำในมุมมองของ World Maker ยังไปได้อีกไกลครับ
2. ราคาทองคำในช่วงที่ตลาดผันผวนเช่นนี้ สามารถวิ่งใน GAP ที่สูงกว่า +-200 $/Oz ในระยะเวลาสั้น ๆ (เช่นจาก 1700 ->1490 $/Oz ในเวลา 11 วัน)
3. ดังนั้นแล้วมันเสี่ยงมากที่จะลงทุนในช่วงเวลานี้ หากท่านยังขาดประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในตลาด (อย่าคิดจะเล่นเป็นการพนันเด็ดขาด)
4. หากไม่ได้เกิดจากการศึกษาอย่างถ่องแท้ด้วยตนเอง หรือไม่เคยมีประสบการณ์จริงในตลาดหุ้น ท่านก็ไม่ควรจะปักใจเชื่อบทวิเคราะห์ใด ๆ ในทันที ถึงแม้ว่ามันจะน่าเชื่อถือแค่ไหนก็ตาม
5. หากจะปักใจเชื่อในบทวิเคราะห์ใด ๆ ก็ขอให้ผ่านทุกขั้นตอนนี้ไปก่อน
"อ่าน -> คิด -> พิจารณา -> พิสูจน์ด้วยตนเอง"
6. สุดท้ายแล้วไม่มีบทวิเคราะห์ใด จะถูกต้องเสมอ 100% ดังนั้นแล้วท่านจึงควรอ่านบทความนี้ เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาและตัดสินใจ มากกว่าการอ่านเพื่อท่องจำ และเชื่อไปตามนั้น โดยไม่เคยคิดจะตั้งข้อสงสัยใด ๆ เลย
สำหรับบทความนี้ World Maker ก็ขอจบลงเพียงเท่านี้ครับ และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าบทความนี้จะสามารถให้ความรู้ รวมถึงเปิดมุมมองของผู้อ่านให้กว้างขึ้นในเรื่องราวของทองคำ เจอกันบทความหน้าครับ ขอบคุณครับ
Exclusive : ประเด็นแถมท้าย
ประเทศไหนถือครองทองคำมากที่สุด และถือครองอยู่เท่าไหร่ ?
สำหรับคำถามนี้ต้องบอกก่อนว่าตัวเลขในแต่ล่ะแหล่งข่าวคลาดเคลื่อนกันเล็กน้อยนะครับ โดยในทีนี้ขออ้างอิงจากแหล่งข้อมูลของ Statista ตามภาพด้านล่างนี้เลยครับ แต่ประเด็นคือมันมีเรื่องน่าสนใจในนั้นซ่อนอยู่ครับ
เรื่องที่ว่าก็คือ "ทองคำสำรอง 8,000 ตันของสหรัฐฯ มีอยู่จริงไหม ?"
ต้องบอกเลยว่าเรื่องนี้เป็นข่าวฉาวมากในต่างประเทศ ถึงขนาดที่มีสำนักข่าวไทยใหญ่ ๆ เขียนข่าวเรื่องนี้ลงด้วย (อ้างอิงตามลิ้งด้านล่างนี้เลยครับ) เนื่องจากในช่วงหนึ่ง เคยมีข่าวลืออย่างมากมายว่ารัฐบาลสหรัฐฯ ได้แอบขายทองคำสำรองที่มีอยู่จนแทบหมดคลัง เพื่อเอามาใช้หนี้ที่เคยก่อไว้
และที่น่าสงสัยเข้าไปอีกก็คือ "สหรัฐฯ ไม่เคยเปิดให้บุคคลภายนอกเข้าไปตรวจสอบคลังเลยแม้แต่ครั้งเดียวตั้งแต่ทศวรรษที่ 1950 เป็นต้นมา" โดยจะมีเพียงเจ้าหน้าที่ระดับ Top ของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) เท่านั้นที่สามารถเข้าไปได้ และนี่เป็นเรื่องจริงครับ ลองอ่านเพิ่มเติมจากลิ้งได้เลย
https://www.posttoday.com/finance-stock/columnist/511637
http://oknation.nationtv.tv/blog/nidnhoi/2011/09/22/entry-2
การกดไลค์ กดแชร์ กดติดตาม และการติชมในเชิงสร้างสรรค์ของคุณ เป็นกำลังใจให้เราและเหล่าอาชีพนักเขียนทุกคนในการพัฒนาผลงานให้ดียิ่งขึ้นต่อไป ขอเชิญทุกท่านร่วมสร้างสังคมการเรียนรู้ที่ดีด้วยกันกับเรา
World Maker
สามารถติดตาม World Maker ผ่านทาง Facebook ได้แล้ววันนี้ที่
https://www.facebook.com/WorldMakerTH
References :
1.
https://www.officialdata.org/us/inflation/1800?amount=1
2.
http://www.goldtelegraph.com/gold-vs-cash-what-will-happen-in-this-emerging-financial-crisis/
3.
https://www.gold.org/goldhub/data/gold-supply-and-demand-statistics
4.
https://www.mql5.com/en/blogs/post/599382
5.
https://www.zerohedge.com/commodities/central-banks-add-more-gold-their-reserves
6.
http://www.goldtelegraph.com/central-banks-add-more-gold-to-their-reserves-while-dumping-u-s-treasuries/
7.
https://www.goldmoney.com/research/goldmoney-insights/the-looming-derivative-crisis
8.
https://advantagegold.com/resources/gold-national-debt-chart/
9.
https://www.zerohedge.com/markets/fed-cut-pace-treasury-buying-again-only-15-billion-day
170 บันทึก
440
40
228
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
เจาะลึกทองคำ
170
440
40
228
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย